ความเหลื่อมที่ล้ำลึก

แฟ้มภาพ

คอลัมน์ CSr Talk

โดย สุรีพันธุ์ เสนานุช สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ

ภาพความโกลาหลจากการจลาจลในเมือง Gotham ในตอนจบของภาพยนตร์เรื่อง Joker ชวนให้คิดอีกครั้งว่า ปัญหาความเหลื่อมล้ำอาจถลำลึกไปจนถึงจุดวิกฤตแล้ว ถ้ายังไม่มีแนวทางจัดการที่ชัดเจน

บทความ “บทเรียนจาก Gotham ในภาพยนตร์ Joker สู่ฮ่องกง และประเทศไทย” ของ “ผศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม” ใน The Standard คลี่ภาพที่มาของสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำในสังคม ความกดดัน คับแค้น จนนำไปสู่ความบ้าคลั่ง ที่น่ากลัวคือเหตุการณ์เหล่านั้นไม่ใช่ว่าจะไม่มีในสังคมไทย

ข้อมูลจาก “ไทยรัฐ” เมื่อวันที่ 12 ตุลาคมที่ผ่านมาระบุว่า ในปี พ.ศ. 2559 มีผู้ลงทะเบียนรับสวัสดิการแห่งรัฐผ่านเกณฑ์ 7.5 ล้านคน ในปี พ.ศ. 2560 เพิ่มขึ้นเป็น 11.4 ล้านคน และในปี พ.ศ. 2561 เพิ่มขึ้นอีก 3.1 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นคนว่างงาน 4.94 ล้านคน กลุ่มที่มีรายได้ต่อปีที่เป็นกลุ่มใหญ่ที่สุด คือ 5,001-10,000 บาท จำนวน 2.61 ล้าน รายได้น้อยที่สุด คือ 1-5,000 บาท จำนวน 1.15 ล้าน ส่วนที่มีรายได้สูงสุด คือ 90,001-100,000 บาท มีจำนวน 231,000 คน

“รวยกระจุก จนกระจาย” คือ สภาพสังคมไทยในปัจจุบันที่รับรู้กันหลายปี แต่ไม่ควรเป็นสิ่งที่ต้องยอมรับ และไม่ควรอย่างยิ่งที่จะมองว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดา เพราะความเหลื่อมล้ำจะสร้างความเสียหายกับสังคมได้มากกว่าที่คิด

ประเทศจีนเป็นตัวอย่างประเทศที่มีนวัตกรรมเชิงนโยบายในการลดปัญหาความยากจนอย่างเป็นรูปธรรม มีการวางเป้าหมายที่ชัดเจนว่า ในปี ค.ศ. 2020 อัตราการเติบโตของรายได้ชาวนาในพื้นที่ยากจนจะต้องสูงกว่าอัตราการเติบโตโดยเฉลี่ยของประเทศ ลดความยากจนในพื้นที่ชนบททุกแห่ง ใช้กลยุทธ์ลดความยากจนด้วย นโยบาย “5-Batches” อันได้แก่ การพัฒนาอุตสาหกรรม, การโยกย้ายถิ่น, การชดเชยสิ่งแวดล้อม, การพัฒนาการศึกษา และสร้างความมั่นคงทางสังคม

พร้อมกับสร้างระบบที่สำคัญ 7 ระบบ ได้แก่ ระบบความรับผิดชอบ, ระบบนโยบาย, ระบบการลงทุน, ระบบการให้ความช่วยเหลือ, ระบบการเลื่อนชั้นทางสังคม, ช่องทางการสื่อสารที่หลากหลายรอบด้าน และระบบการประเมิน

การลดความเหลื่อมล้ำ ถ้าทำจริงอย่างมีเป้าหมาย ไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้ เกาหลีใต้ในสมัยรัฐบาล “ปาร์ก จุง ฮี”ทำสำเร็จมาแล้ว โดยการถมความแตกต่างของรายได้ระหว่างชนบทกับในเมืองในระยะเวลา 6 ปี ด้วยโมเดลที่เรียกว่า Saemaul Undong

นั่นคือภาพใหญ่ แล้วในภาพที่เล็กลงมา เราจะช่วยกันได้อย่างไร ในระดับองค์กรที่มี CSR เป็นเครื่องมือ และระดับปัจเจกชนที่เป็นส่วนหนึ่งของสังคม

เรื่องราวของ “คุณขวัญชัย ปรีดี” ผู้ทิ้งอาชีพช่างภาพแฟชั่นจากลอนดอน มาก่อตั้งหมู่บ้านนานาชาติเปรมปรีดี เป็นที่รวมของจิตอาสาจากทั่วโลก มาจัดค่ายให้เด็กไทยได้เรียนรู้ภาษาอังกฤษ คือ ตัวอย่างหนึ่งของคนที่เข้ามามีส่วนในการร่วมแก้ไขสังคม ชมรมคนรักษ์วัดไทร ในซอยประดู่ 1 ย่านพระราม 3 กรุงเทพฯ ก็เป็นคนอีกหนึ่งกลุ่มที่ร่วมกันทำสิ่งดี ๆ ให้กับชุมชน ด้วยแรงศรัทธาที่มีต่อท่านอธิการปรีชา เจ้าอาวาสผู้สมถะ มีการจัดเรียนภาษาอังกฤษฟรี ให้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ในวันเสาร์-อาทิตย์ และสอนการทำอาหาร ทำเวชภัณฑ์จากสมุนไพรให้เป็นอาชีพ โดยมีอาสาสมัครมาจากแหล่งต่าง ๆ เข้ามาเนืองแน่น

สำหรับองค์กรธุรกิจที่มีศักยภาพมากกว่า ถึงเวลาที่ต้องพิจารณาปัญหาความเหลื่อมล้ำอย่างจริงจังหรือยัง เป้าหมายสุดท้ายในการแก้ปัญหานี้คือ การช่วยให้ผู้ด้อยโอกาสในสังคมพึ่งตนเองได้ มีรายได้พอยังชีพ ไม่มีหนี้สิน มีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง มีสวัสดิการดูแลยามเจ็บป่วย เด็ก ๆ ได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียม

ดังนั้น การทำงานกับชุมชนจึงต้องทำให้ครบทุกมิติ เริ่มจากการเก็บข้อมูลเพื่อคัดแยกกลุ่มความต้องการที่แตกต่างกันตามปัญหา นำมาวางแผนการบริหารจัดการ กำหนดเป้าหมาย ติดตาม ประเมินผล เป็นงานที่ต้องการความต่อเนื่อง จึงไม่ใช่กิจกรรมที่จบไปในแต่ละปีเหมือนที่ผ่านมา คนทำงานต้องมีความรู้ ทักษะในการทำงาน กับความแตกต่างทั้งวิธีคิด และวิถีชีวิต ต้องทำความเข้าใจเพื่อให้เข้าถึง จึงนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้

ในภาพยนตร์เรื่อง Joker ความบ้าคลั่งของ “อาเธอร์ เฟล็ก” มาจากวันอันเลวร้ายเพียงวันเดียวที่โถมใส่ชีวิตที่อับจนของเขา ถูกวัยรุ่นรุมแกล้งด้วยความสนุกสนาน ถูกไล่ออกจากงานโดยนายจ้างไม่ใส่ใจว่า เขาเผชิญปัญหาอะไรบ้าง สวัสดิการรักษาโรคจิตที่ต้องรับยาประจำถูกยกเลิกจากการตัดงบประมาณของรัฐ สถานการณ์เกิดขึ้นได้เสมอกับทุกคนในทุกสังคม โดยเฉพาะผู้ด้อยโอกาสที่ไม่มีใครเคยมองเห็นตัวตนของพวกเขา

หากยังปล่อยให้ความเหลื่อมล้ำเป็นเพียงข้อมูลที่ไม่ได้นำมาพิจารณาแก้ไข โอกาสที่ปัญหาจะดิ่งลึกลงไปกว่าที่เห็นและเป็นอยู่มีโอกาสสูงมาก และเมื่อถึงวันที่ความยากจนแผ่ขยายปริมาณออกไปเรื่อย ๆ กลุ่มคนที่กระจุกตัวกลุ่มเล็ก ๆ แม้จะร่ำรวยด้วยทรัพย์สินมหาศาลขนาดไหน ก็ไม่อาจเป็นสุขได้อย่างแน่นอน

ข้อมูลอ้างอิง : https://readthecloud.co/prampredee/https://thestandard.co/joker-gotham-lesson-learned/https://: www.salika.co/2018/08/08/guizhou-use-big-data-and-cloud-reduce-poverty/ (หน้า 32, 31)