พามาดูโครงการไอเดียเเจ่ม “ธนาคารหมู” เพิ่มรายได้ สร้างชุมชนเข้มเเข็ง

การสร้างความเข็มเเข็งในชุมชน ถือเป็นฐานของความยั่งยืนระยะยาว เบื้องต้นนั้นจำเป็นต้องให้ความสำคัญไปยังสิ่งที่ขาดไม่ได้อย่าง “อาหารการกิน” ซึ่งเป็นปัจจัยสื่ ตามมาด้วยการนำไปต่อยอดเป็นช่องทางสร้างรายได้ให้ครอบครัว

วันนี้เราจะพามารู้จัก โครงการไอเดียเก๋ที่มีชื่อว่า “ธนาคารหมู” ความความร่วมมือของธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย กับโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านเขาสารภี และชาวบ้าน ต.ทับพริก อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว ชุมชนผู้อยู่อาศัยห่างจากชายเเดนกัมพูชาเพียง 3 กิโลเมตร นับเป็นอีกหนึ่งโครงการนำร่องที่มีระบบการจัดการที่น่าสนใจไม่น้อย

จากโครงการเกษตรอาหารกลางวันตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง สู่กลไกการทำงานของธนาคารหมู ที่เริ่มต้นจากคอกหมูที่มีอยู่แล้วถูกนำมาปรับปรุงให้ถูกสุขลักษณะ เทพื้น ทำผนัง จัดทำโซนผลิตอาหาร เดินท่อระบบน้ำทำความสะอาด เมื่อโรงเรือนพร้อม…หมูแม่พันธุ์พร้อม…ธนาคารหมูจึงเริ่มเปิดอย่างเป็นทางการ

ณ โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านเขาสารภี ต.ทับพริก แห่งนี้มีนักเรียนทั้งสิ้น 76 คน อยู่ภายใต้การดูแลของครูใหญ่คือดาบตำรวจสมพร บุตรสมบัตร พร้อมครูตำรวจตระเวนชายแดนอีก 6 นาย ครูดูแลเด็ก 4 คน

โดย “ธนาคารหมู” จะนำหมูแม่พันธุ์จะถูกนำไปผสมพันธ์กับพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ที่เคยออกลูกมาแล้ว การตั้งครรภ์ครั้งที่ 2 เป็นต้นไป จะสามารถรับประกันจำนวนลูกหมูได้ไม่ต่ำกว่า 13 ตัว เมื่อแม่หมูคลอดลูกแล้ว ลูกหมูตัวเมียจะถูกนำไปกระจายให้คนในชุมชนด้วยระบบกู้ยืม (เเม่หมูตัวเเรกของที่นี่ชื่อว่า ชมพู่ >.<)

จากนั้น ผู้ยืมจะนำลูกหมูตัวเมียไปผสมพันธุ์ เมื่อคลอดลูกออกมาแล้ว ผู้กู้จะนำหมูกลับมาคืนธนาคารหมูจำนวน 1 ตัว ส่วนตัวที่เหลือทั้งหมดตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้กู้ สำหรับหมูที่ได้รับคืนมา ธนาคารหมูจะนำไปปล่อยกู้ให้คนอื่นๆ ในชุมชนนำไปผสมพันธุ์และนำมาคืนต่อไปหมุนเวียนเช่นนี้

“ต่อไปนี้้จากเดิมที่มีลูกหมูไม่กี่ตัว ก็เริ่มมีสมาชิกเพิ่มขึ้นๆ เรื่อย คนในชุมชนก็จะมีหมูสร้างอาชีพ สร้างอาหาร”

 

นายประภาส ทองสุข รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สื่อสารองค์กรธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า โครงการธนาคารหมูเป็นอีกก้าวของกิจกรรม CSR กิจกรรมที่ทำต่อเนื่องมาโดยตลอดได้ปลุกความต้องการทำเพื่อชุมชนให้เกิดขึ้นในหมู่พนักงานแบงก์ ซึ่งโครงการนี้ได้เกิดจากความร่วมมือระหว่างสายงานภายในธนาคาร ได้แก่ บริหารเงิน ธุรกิจรายใหญ่ และสื่อสารองค์กร ผนึกกำลังผลักดันให้เกิดโครงการนี้ขึ้น

“หวังว่าธนาคารหมูแห่งนี้จะประสบความสำเร็จ กลายเป็นต้นแบบให้ชุมชนอื่นๆต่อไป ให้นักเรียนได้เรียนรู้การเลี้ยงหมู ครอบครัวมีหมูประกอบอาชีพ ชุมชนสร้างรายได้ ยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นภายใต้โครงการเกษตรอาหารกลางวัน ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่โรงเรียนดำเนินการอยู่”

สำหรับธนาคารหมูจะมี “ปศุสัตว์ตำบล” เป็นที่ปรึกษาเรื่องการเลี้ยงหมู และผลิตอาหารสัตว์ และธนาคารหมูยังมีเครื่องผลิตอาหารสัตว์ไว้ให้คนในชุมชนนำวัตถุดิบ เช่น ข้าวโพด กระถินเเละต้นกล้วย มาร่วมกันผลิตอาหารที่นี่ ซึ่งทำให้ต้นทุนอาหารลดลงถึง 70% ขณะที่ราคาขายแม่พันธุ์หมูจะอยู่ที่ ตัวละ 12,000 บาท ลูกหมู อายุ 1 เดือน ขายได้ตัวละ 1,500 บาท

คุณลุง “อำพันธ์ พึ่งพา” ปศุสัตว์ตำบล ปราชญ์ชุมชน พูดถึงโครงการธนาคารหมูว่า เป็นส่วนหนึ่งที่ปลูกฝังให้เด็กรู้จักทำงานร่วมกัน เเละได้เรียนรู้ “วิชาเลี้ยงหมู” ตั้งเเต่การดูแลแม่พันธุ์ การให้วัคซีน ให้ยา การดูแลเรื่องอาหาร รวมไปถึงการทำคลอด การเลี้ยงประจำวันเเละทำความสะอาด ซึ่งจะช่วยให้เด็กนักเรียนสามารถนำไปประกอบอาชีพเเละสร้างรายได้ในอนาคต พร้อมนำไปบอกเล่าให้ผู้ปกครองเเละถ่ายทอดให้คนอื่นๆในชุมชนได้ เป็นการกระตุ้นทั้งด้านเศรษฐกิจเเละสังคม

โดยประโยชน์ที่ชุมชนจะได้รับ ได้เเก่ 1 )เด็กนักเรียนได้เรียนรู้วิธีการเลี้ยงหมูเพื่อนำไปประกอบอาชีพได้หลังเรียนจบ โดยเฉพาะนักเรียนฐานะยากจนผู้ด้อยโอกาสทางการศึกษา ได้มีทางเลือกด้านอาชีพหลังจบประถมศึกษา

2)โรงเรียนมีรายได้จากการขายหมู นำไปเป็นทุนอาหารกลางวันแก่นักเรียนเพื่อทำให้เด็กมีโภชนาการด้านอาหารที่ดีขึ้น พร้อมตั้งเป็นสหกรณ์เพื่อบริหารจัดการเงินที่ได้ให้เป็นระบบ

3) ชุมชนที่เข้าร่วมโครงการธนาคารหมู หากปฏิบัติตามเงื่อนไขที่โครงการกำหนด จะได้รับสิทธิประโยชน์ด้านอาหารที่ใช้เลี้ยงหมูในราคาที่ถูกกว่าท้องตลาด รวมถึงได้รับความรู้เรื่องการดูแลแม่หมู การฉีดยาป้องกันโรค และการผลิตอาหารหมู เเละ 4) สร้างรายได้ให้ชุมชน ยกระดับฐานะทางเศรษฐกิจของครอบครัวให้ดีขึ้น

นอกจากโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านเขาสารภี ต.ทับพริก จะมี “ธนาคารหมู” เเล้ว ที่นี่ยังมีฟาร์มไก่ไข่ 100 ตัว มีกระชังปลา บ่อกบ มีสวนมะม่วงเเละแปลงข้าวโพด พร้อมระบบท่อน้ำสำหรับรดแปลงผัก เพื่อปลูกพืช ผัก ผลไม้ตามฤดูกาล เป็นอาหารกลางวันให้เด็กๆ โดยทำงานร่วมกับศูนย์วิจัยอาหารสัตว์ทับทิมสยาม05 จัดอบรมให้ความรู้แก่ชาวบ้านอีกด้วย