สติและความยั่งยืน

แฟ้มภาพ

คอลัมน์ CSR Talk

โดย ณัฐณรินทร์ อิสริยเมธา

ดิฉันเพิ่งกลับมาจากการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน 7 คืน 8 วัน ที่มูลนิธิศูนย์วิปัสสนาเชียงใหม่ค่ะ จึงขอเอาบุญมาฝากให้ทุกท่านได้ร่วมอนุโมทนานะคะ

และระหว่างที่ดิฉันร่วมปฏิบัติวิปัสสนาฯมักจะเจอคำถามต่าง ๆ มากมาย แต่คำถามหนึ่งที่มักถูกถามอยู่เสมอ ๆ คือ ไปปฏิบัติแล้วได้อะไรบ้าง ? ช่วยให้จิตใจสงบไหม ?

ยอมรับค่ะว่าช่วงแรก ๆ ที่เพิ่งเริ่มไปปฏิบัติ ดิฉันตอบไม่ค่อยถูกว่าไป ปฏิบัติแล้วได้อะไร ? เพราะอะไรถึงต้องไป ? แต่ระหว่างการปฏิบัติครั้งนี้ใจเผลอคิดไปว่า วิปัสสนากรรมฐานเกี่ยวข้องกับความยั่งยืนอย่างไร ? จึงอยากขอเอามาแบ่งปันกับคุณผู้อ่านทุกท่านค่ะ

วิปัสสนากรรมฐานเป็นการฝึกให้เรามีสติ อยู่กับปัจจุบันขณะ ซึ่งสำหรับดิฉันนี่คือส่วนที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน เมื่อมีสติเราจะสามารถรู้เท่าทันอารมณ์ ความรู้สึกของตัวเองว่าอารมณ์หรือความรู้สึกที่เกิดขึ้นนี้เป็นกุศลหรืออกุศล และทำให้สามารถละหรือวางอารมณ์ ความรู้สึกเหล่านั้นลงได้แต่ตัวดิฉันยังอยู่เพียงขั้นเริ่มต้น
เท่านั้นค่ะ ยังรู้เท่าทันอารมณ์ของตัวเองเพียงบางครั้งเท่านั้น

แล้วสติเกี่ยวข้องอย่างไรกับความยั่งยืน ?

ลองหันมองรอบตัวเราสิคะ ทั้งเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความพยายามลดอุณหภูมิของโลกไม่ให้
สูงขึ้นเกิน 2 องศา ขยะพลาสติก การละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล สิทธิมนุษยชน ความวุ่นวายทางการเมือง ฯลฯ ในมุมมองของดิฉันสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นเพราะเราขาดสติค่ะ

ในยุคของ capitalism ที่ธุรกิจต่างคิดว่าต้องผลิตให้ได้มาก เพื่อขายให้ได้มาก นำมาซึ่งผลกำไรที่สูงขึ้น คือ สาเหตุหลักประการหนึ่งของสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เรากำลังเผชิญอยู่ ณ ตอนนี้ เราใช้ทรัพยากรเพื่อผลิตให้ได้มากตามหลัก economy of scale แต่ไม่ได้นึกถึงว่าเมื่อผลิตมาแล้วอายุการใช้งานของสินค้านั้น ๆ คุ้มค่ากับทรัพยากรที่ต้องเสียไปหรือเปล่า และจะออกสินค้าตัวใหม่ รุ่นใหม่มาเรื่อย ๆ แล้วทำการตลาดเพื่อกระตุ้นให้เกิดการบริโภคอย่างต่อเนื่องไม่สิ้นสุด นำไปสู่สถานการณ์ต่าง ๆ ที่ได้กล่าวไปเบื้องต้นนั่นเองค่ะ

แต่ยังมีบริษัทที่ไม่ได้คิดแบบนั้นนะคะ

ดิฉันมีเพื่อนสนิทคนหนึ่งทำงานที่บริษัท เจ.บี.พี. อินเตอร์เนชั่นแนล เพ็นท์ จำกัด บริษัทสีของคนไทยที่ดำเนินธุรกิจมานานกว่า 40 ปี เขาเล่าให้ฟังว่า ในช่วงแรกของการดำเนินธุรกิจบริษัทประสบปัญหาภาวะขาดทุนถึงขั้นอาจต้องปิดตัว แต่ “คุณจงกล รัชนกูล” ประธานกรรมการผู้จัดการ มองว่า หากบริษัทปิดตัวลงจะสร้างผลกระทบต่อพนักงานเป็นร้อยชีวิตที่จะไม่มีงานทำ จึงไม่มีความคิดที่จะปิดบริษัท แต่ดำเนินธุรกิจต่อไปและพัฒนาปรับปรุงสินค้าให้ดีขึ้น เรียกคืนสินค้าที่ไม่ได้คุณภาพกลับคืน ใช้ความซื่อสัตย์และความจริงใจในการดำเนินธุรกิจ

เขาใช้เวลาประมาณ 5 ปี สถานการณ์ต่าง ๆ จึงดีขึ้นตามลำดับ

ปัจจุบันแม้สถานการณ์ด้านการขายจะไม่ค่อยดีนัก เนื่องมาจากเศรษฐกิจทั่วประเทศที่ซบเซา แต่แทนที่ท่านจะให้คิดแคมเปญการตลาดเพื่อกระตุ้นยอดขายให้กลับมาสูงตามเดิม “คุณจงกล” กลับปลอบพนักงานว่าไม่เป็นไร เรื่องเหล่านี้เป็นตามกฎของธรรมชาติ มีขึ้น มีลง เป็นปกติ ให้พนักงานทำหน้าที่ของตนเองให้เต็มความสามารถ รักษาคุณภาพสินค้า และเตรียมความพร้อมเอาไว้ เมื่อถึงเวลาที่วงจรของธุรกิจเริ่มกลับมาดีอีกครั้ง เราจะพร้อมรับโอกาสเหล่านั้น

เพื่อนดิฉันยังเล่าให้ฟังอีกว่า ที่นี่ดำเนินธุรกิจโดยไม่ได้คิดว่าต้องแข่งขันกับใคร การแข่งขันที่สูงเกินไปจะเป็นการเบียดเบียนทั้งตนเองและผู้อื่นเพียงเพื่อรักษามาตรฐานการทำงาน และคุณภาพของสินค้าไว้ให้สามารถดำเนินธุรกิจได้ต่อไป เพื่อดูแลพนักงานทุกคนและสังคมรอบข้างนั่นเพียงพอแล้ว

ดิฉันรู้สึกยินดีที่ได้ทราบว่ามีนักธุรกิจที่ดำเนินธุรกิจด้วยแนวคิดเช่นนี้ และเชื่อว่าธุรกิจนี้เดินอยู่บนเส้นทางแห่งความยั่งยืนที่เหมาะสมกับตัวธุรกิจเอง และสอดคล้องกับแนวคิดที่เพื่อนร่วมงานรุ่นน้องที่เคยแบ่งปันให้ฟังด้วยค่ะ

ดิฉันเคยถามเพื่อนร่วมงานรุ่นน้องที่บริษัทคนหนึ่ง ซึ่งเรียนจบปริญญาโทด้าน Sustainability and consultancy จาก Leeds University ประเทศอังกฤษ ว่า ที่นั่นสอนเรื่องความยั่งยืนอย่างไรบ้าง น้องเล่าให้ฟังว่า ที่นั่นใช้คำว่า soft (weak) sustainability และ hard (strong) sustainability ซึ่งบริษัทส่วนใหญ่ดำเนินธุรกิจในระดับของsoft เท่านั้น คือนำแนวคิดด้านความยั่งยืนมาปรับใช้ในการดำเนินธุรกิจเพื่อตอบสนองต่อสถานการณ์ภายนอก โดยให้ธุรกิจสามารถเติบโตต่อไปได้ แต่ยังมุ่งถึงผลตอบแทนด้านตัวเงินเป็นหลัก มีเพียงส่วนน้อยที่ใช้แนวคิดในระดับ hard มาดำเนินธุรกิจ คือ แม้จะรู้ว่ายังสามารถเติบโตต่อไปได้มากกว่าที่เป็นอยู่ หรือรู้ว่าสามารถสร้างรายได้มากกว่าที่ได้อยู่ แต่ไม่ทำเพิ่ม มองว่าเพียงพอแล้ว และรักษาเอาไว้ ดิฉันฟังน้องเล่าแล้ว ทำให้นึกถึงบทสนทนาที่พี่ “โจน จันได” เคยพูดให้ฟังค่ะ

“พี่โจน” บอกว่า การทำธุรกิจต้องมีทั้งสติและความพอเพียง อย่างสินค้าชนิดหนึ่ง ผู้ผลิตเคยคิดบ้างหรือไม่ว่าในปีนี้จะผลิตสินค้ารุ่นนี้จำนวน 10,000 ชิ้นเท่านั้น และจะทำให้สินค้าจำนวนนี้มีคุณภาพ สามารถใช้งานได้นาน ๆ ให้คุ้มค่ากับทรัพยากรที่ต้องเสียไปในการผลิตสินค้านี้

“พี่โจน” บอกอีกว่า ในการทำธุรกิจจะพอเพียงได้ต้องมีสติที่จะรู้เท่าทันสติที่จะอดทนต่อสิ่งเร้าและความอยาก อดทนต่อเม็ดเงินจำนวนมากที่จะเข้ามาหากธุรกิจยังขยายตัวต่อไปเรื่อย ๆ

จากที่เล่ามาทั้งหมดพอคุ้น ๆ ไหมคะว่า สอดคล้องกับทฤษฎีอะไร สำหรับดิฉันนี่คือหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวง รัชกาลที่ 9 ของเราที่ท่านทรงสอนและทรงทำให้คนไทยเห็นมากว่า 70 ปี ตลอดรัชกาลของท่านค่ะ

“เศรษฐกิจพอเพียง” เป็นแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่พระราชทานมานานกว่า 30 ปี ซึ่งเป็นแนวคิดที่ตั้งอยู่บนรากฐานของวัฒนธรรมไทย เป็นแนวทางการพัฒนาที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของทางสายกลางและความไม่ประมาท คำนึงถึงความพอประมาณ ความมีเหตุผล การสร้างภูมิคุ้มกันในตัวเอง ตลอดจนใช้ความรู้และคุณธรรมอันเป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิต ที่สำคัญจะต้องมี “สติ ปัญญา และความเพียร” ซึ่งจะนำไปสู่ “ความสุข” ในการดำเนินชีวิตอย่างแท้จริง (ที่มา : มูลนิธิชัยพัฒนา)

หมายเหตุ ขอขอบคุณผู้แบ่งปันแนวคิด และเรื่องราวดี ๆ ให้ดิฉันมาส่งต่อผ่านบทความนี้ค่ะ ขอบคุณ”พี่โจน จันได” CEO เงินเดือน 0 บาทแห่งธรรมธุรกิจ วิสาหกิจเพื่อสังคม และ “คุณชัยพร จุละจาริตต์” ที่ปรึกษาด้านความยั่งยืน ที่แบ่งปันแนวคิดดี ๆ ด้านความยั่งยืนค่ะ “คุณนภารัตน์ หาญณรงค์ชัย” Brand Manager บริษัท เจ.บี.พี.ฯ ที่แบ่งปันหลักการทำงานของบริษัทค่ะ