พระเมตตาในหลวง ร.9 อ่างเก็บน้ำคลองหลวง รัชชโลธร

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงให้ความสนพระราชหฤทัยในกิจการอันเกี่ยวเนื่องกับการชลประทาน หรือการพัฒนาแหล่งน้ำมาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ ทั้งยังเคยมีกระแสพระราชดำรัสแก่ผู้ถวายงานใกล้ชิดว่า…ฉันสนใจชลประทานมาตั้งแต่เด็ก

ทั้งนั้นเพราะพระองค์ทรงตระหนักว่า น้ำคือชีวิต

ด้วยเหตุนี้ จึงมีโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริมากมายที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรน้ำ โดยโครงการอ่างเก็บน้ำคลองหลวง รัชชโลทร อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.เกาะจันทร์ จ.ชลบุรี เป็นหนึ่งในโครงการที่สร้างขึ้นตามพระราชดำริที่กรมชลประทานประกาศวันเริ่มโครงการเมื่อ 28 เมษายน 2552 เพื่อเก็บกักน้ำในฤดูฝน และช่วยบรรเทาปัญหาน้ำท่วม ในเขตอำเภอพานทอง, พนัสนิคม, เกาะจันทร์, บ่อทอง และอำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี

ดังนั้น ในฐานะที่มูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ มีพันธกิจในการส่งเสริมการพัฒนาตามแนวพระราชดำริอย่างเป็นระบบ จึงทำการศึกษาดูงานที่โครงการอ่างเก็บน้ำคลองหลวง รัชชโลทร อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ภายใต้โครงการ “ชุมชนเข้มแข็ง สืบสานแนวพระราชดำริ” เพื่อเผยแพร่ข้อมูลความรู้ให้กว้างขวาง จนกระทั่งเป็นแนวทางหลักในการพัฒนาประเทศ

วุฒิชัย นรสิงห์

ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาคลองหลวง รัชชโลทร กล่าวว่า คลองหลวงเป็นคลองสายสำคัญ และมีความยาวที่สุดในจังหวัดชลบุรี เพราะไหลผ่านอำเภอบ่อทอง, เกาะจันทร์, พนัสนิคม และพานทอง ซึ่งเป็นแหล่งน้ำต้นทุนสำคัญของการทำการเกษตรชุมชนในพื้นที่ แต่เมื่อความเจริญในจังหวัดเพิ่มมากขึ้น ทั้งด้านอุตสาหกรรม, การพาณิชย์, การคมนาคม, การท่องเที่ยว, การขยายตัวของเมือง และจำนวนประชากรในพื้นที่ที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้ความต้องการใช้น้ำมีปริมาณเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย

“ขณะเดียวกัน เวลาฝนตกหนัก น้ำป่าปริมาณมากจะไหลหลากลงมา สมทบกับน้ำจากด้านตะวันออกของอำเภอพานทองที่ไหลล้นเข้าไปในตัวคลอง และบ่าลงมาทางใต้ คลองหลวงไม่สามารถระบายน้ำได้ทัน จึงเข้าท่วมในเขต 3 อำเภอดังกล่าว ดังเช่นคราวเกิดอุทกภัยเมื่อปี 2539, 2555 และ 2556 จนสร้างความเสียหายกับทั้งชีวิต และทรัพย์สิน”

ด้วยเหตุผลดังกล่าว จึงเกิดโครงการอ่างเก็บน้ำคลองหลวง รัชชโลทร โดยชื่ออ่างเก็บน้ำมาจากการให้ประชาชนส่งประกวด แล้วได้ชื่อรัชชโลทร ที่มีความหมายลึกซึ้ง โดย “รัช” หมายถึง “กษัตริย์” และ “ชโลทร” หมายถึง “ท้องน้ำ” โดยมีความหมายรวม ได้แก่ ท้องน้ำขององค์พระมหากษัตริย์ที่ชื่อคลองหลวง

ต่อจากนั้น กรมชลประทานจึงเริ่มดำเนินการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำคลองหลวง รัชชโลทร มาตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคม 2552 และแล้วเสร็จทั้งโครงการในปี 2558 สามารถเก็บกักน้ำได้ 98 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยผลประโยชน์ของโครงการแบ่งได้เป็น 5 ด้าน คือ

หนึ่ง เพิ่มพื้นที่ชลประทานในฤดูฝประมาณ 44,000 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเกาะจันทร์ และอำเภอพนัสนิคม รวม 11 ตำบล สามารถส่งน้ำเพื่อการเพาะปลูกในฤดูแล้ง 8,500 ไร่

สอง ส่งน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค ประมาณ 11.90 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี สนับสนุนน้ำเพื่อการอุตสาหกรรม ปศุสัตว์ และรักษาสมดุลของระบบนิเวศ

สาม ช่วยป้องกันและบรรเทาอุทกภัย ในจังหวัดชลบุรี พื้นที่อำเภอพานทอง อำเภอพนัสนิคม และอำเภอเกาะจันทร์

สี่ เป็นแหล่งน้ำเพื่อการประมงและขยายพันธุ์สัตว์น้ำ

ห้า เป็นแหล่งท่องเที่ยวและแหล่งพักผ่อนหย่อนใจของราษฎรในบริเวณใกล้เคียง

“โครงการอ่างเก็บน้ำคลองหลวงฯเป็นแหล่งแพร่ขยายพันธุ์ปลาที่มีความสำคัญ สามารถสร้างรายได้ให้กับชาวประมง บริเวณพื้นที่รอบอ่างเก็บน้ำมีการจัดตั้งกลุ่มแพปลาจำนวน 3 กลุ่ม ด้วยการรับซื้อปลาที่จับได้จากอ่างเก็บน้ำ, มีการสร้างผลผลิตแปลกใหม่จากมะนาว และสับปะรดที่ช่วยสร้างรายได้มั่นคงให้แก่ชาวบ้าน ส่วนการประเมินผลประโยชน์ด้านการท่องเที่ยว เราใช้จำนวนนักท่องเที่ยวปี 2554 เป็นฐานการประเมิน ซึ่งมีนักท่องเที่ยว 4,667,700 คน พบว่าได้ผลประโยชน์ประมาณ 69.72 ล้านบาท/ปี”

“วุฒิชัย” อธิบายต่อว่า หลังจากสร้างอ่างเก็บน้ำแล้วเสร็จ กรมชลประทานมีงานขยายผลต่อยอดโครงการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บน้ำอ่างเก็บน้ำคลองหลวง รัชชโลทร 2 ด้าน โดยคาดว่าจะลงสัญญาและเริ่มการปฏิบัติงานเดือนธันวาคม 2562 หนึ่ง งานปรับปรุงเขื่อนดิน โดยติดตั้งกำแพงกันคลื่นบนสันเขื่อนด้านเหนือน้ำแบบกล่องลวดตาข่าย ติดตั้งแผ่นดินเหนียวสังเคราะห์ (GCL) บริเวณลาดท้ายเขื่อน ติดตั้งตาข่ายเสริมเสถียรภาพชั้นทางรอยแยกตามขวางบนสันเขื่อน เพิ่มเสถียรภาพลาดเขื่อนด้านท้ายแบบกำแพงกันดินต้านการเลื่อนไถล และติดตั้งเครื่องมือวัดพฤติกรรมเขื่อน ด้านท้ายเขื่อนเพิ่มเติม จำนวน 6 แห่ง

“สอง งานปรับปรุงอาคารทางระบายน้ำล้น เราติดตั้งบานระบายแบบพับได้สูง 1.25 เมตร บนสันฝายที่ตัดลง 0.25 เมตร ติดตั้งอาคารควบคุมและระบบเซ็นเซอร์และควบคุมอัตโนมัติ ติดตั้งเครื่องมือวัดพฤติกรรมเขื่อนด้านข้างอาคาร จำนวน 4 แห่ง วัดแรงดันน้ำข้างอาคาร”

“ผลประโยชน์ที่ได้รับหลังการเพิ่มประสิทธิภาพคือเพิ่มความจุอ่างเก็บน้ำจากเดิม 98.0 ล้าน ลบ.ม. เป็น 125.0 ล้าน ลบ.ม., ชะลอน้ำที่จะไหลลงไปยังพื้นที่ด้านท้ายน้ำในช่วงฤดูน้ำหลาก ป้องกันและบรรเทาอุทกภัย, พัฒนาแหล่งน้ำและเพิ่มพื้นที่ชลประทานตามศักยภาพของลุ่มน้ำให้เกิดความสมดุล, เพิ่มความมั่นคงด้านน้ำ พร้อมเสริมศักยภาพการใช้น้ำให้ทุกภาคส่วนอย่างเพียงพอและเป็นธรรม เตรียมพร้อมรับ EEC หวังสร้างเสถียรภาพการใช้น้ำในพื้นที่อย่างยั่งยืน เพื่อรองรับการขยายตัวของทุกภาคส่วนในพื้นที่ภาคตะวันออกในอนาคตต่อไป”

หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้การสร้างอ่างเก็บน้ำสำเร็จเป็นไปได้ด้วยดี คือ ความช่วยเหลือจากชาวบ้านในชุมชน จากการเสียสละที่ดินของตนเพื่อประโยชน์คนหมู่มาก

ประจวบ สืบญาติ

สำหรับเรื่องนี้ “ประจวบ สืบญาติ” ชาวบ้านกลุ่มแรก ๆ ที่เสียสละที่ดินมีค่าให้กับกรมชลประทานกล่าวว่า เมื่อรัฐต้องการที่ของเราไปทำประโยชน์ ผมจึงไม่คัดค้าน เพราะมองอนาคตเป็นสิ่งสำคัญ จึงได้มอบที่ดินให้ เพราะประเทศชาติสำคัญที่สุด และเมื่อพี่น้องชาวไทยมีความสุข เราก็พลอยสุขใจไปด้วยค่าชดเชยรัฐให้เท่าไหร่ เราก็เอาเท่านั้น ขาดทุนก็ต้องยอม เพราะเรื่องแบบนี้เรามองหากำไรเป็นหลักไม่ได้ อ่างเก็บน้ำคือประโยชน์ส่วนรวม และลูก ๆ ของผมก็ไม่คัดค้าน เพราะเขารู้ว่าพ่อชอบทำประโยชน์ และทำบุญ

“ผมมองเห็นภูเขาบริเวณอ่างเก็บน้ำในวันนี้แล้วรู้สึกว่าเป็นวิวที่สวยจริง ๆ เหมาะสำหรับการให้นักท่องเที่ยวมาเที่ยว ทั้งยังสร้างรายได้ให้กับชาวบ้านในชุมชน และรู้สึกว่าคนในอำเภอเกาะจันทร์มีบุญที่มีอ่างเก็บน้ำที่สวยงาม จากโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ของในหลวงรัชกาลที่ 9”

“วันเพ็ญ มิ่งสอน” ฝ่ายบัญชี กลุ่มแปรรูปปลาครบวงจรบ้านหนองแฟบ อ.เกาะจันทร์ จ.ชลบุรี กล่าวเสริมว่า ตั้งแต่มีอ่างเก็บน้ำคลองหลวง รัชชโลทร ทำให้คนมีรายได้มั่นคง โดยตนเองได้ทราบข้อมูลของทางกรมชลประทานที่ระบุสถิติการจับปลาระหว่างวันที่ 18-31 มกราคม 2561 ว่า ชาวประมงสามารถจับปลาได้ประมาณ 7,500 กิโลกรัม และเมื่อคำนวณผลประโยชน์ ณ ราคาสัตว์น้ำเฉลี่ย 35 บาท/กิโลกรัม จะได้มูลค่าปลาในอ่างเท่ากับ 262,500 บาท คิดเป็นมูลค่าประมาณ 4 ล้านบาท/ปี

“ตอนนี้กลุ่มแปรรูปปลาครบวงจรบ้านหนองแฟบ มีสมาชิกกว่า 60 ราย โดยได้งบประมาณสนับสนุนซื้ออุปกรณ์การจับสัตว์น้ำจากกรมชลประทาน โดยให้สมาชิกลงหุ้นกัน หุ้นละ 100 บาท ทำให้เราไม่ต้องรับจ้างทั่วไป จนทำให้สมาชิกมีชีวิตดีกว่าเดิมมาก”

อันนับเป็นแนวทางการดำเนินงานการบริหารจัดการน้ำตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุล