บริบทแห่งความยั่งยืน “เอกชนไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”

ต้องยอมรับว่าปัจจุบันกระแสความตื่นตัวในเรื่องของการพัฒนาอย่างยั่งยืนเป็นประเด็นที่หลายประเทศทั่วโลกให้ความสนใจ เพราะเรื่องดังกล่าวเกี่ยวข้องกับพลเมืองโลก สังคมโลก และกิจการของโลก ที่หลาย ๆ บริษัทต่างดำเนินธุรกิจ

ที่สำคัญ สหประชาชาติต่างให้ความสำคัญต่อเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) มาก ตรงนี้จึงเป็นเหตุ และผลให้หลายประเทศสมาชิกทั่วโลกต่างให้ความสำคัญเรื่องนี้เช่นกัน ไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทย เพียงแต่ช่วงผ่านมา “ต่างคนต่างทำ”

ต่างคนต่างนำเสนอแผนการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์กรตัวเอง ในลักษณะปัจเจกมากกว่าที่จะเป็นในรูปแบบเครือข่าย แต่มาวันนี้ ภาคเอกชนจำนวน 10 องค์กร อาทิ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์, ธนาคารแห่งประเทศไทย, ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย, สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย, สภาธุรกิจตลาดทุนไทย, กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการพลเรือน (กบข.), สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย, สมาคมธุรกิจเพื่อสังคม, SB ประเทศไทย และสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย มารวมตัวกัน เพื่อผนึกกำลังในการสร้างเครือข่ายเพื่อความยั่งยืนแห่งประเทศไทย

ภาษาอังกฤษเรียกว่า “Thailand Responsible Business Network” หรือ “TRBN”

โดยมีวิสัยทัศน์ในการขับเคลื่อนบริษัทจดทะเบียนไทย และบริษัทเอกชนทั่วไป ให้ดำเนินธุรกิจเพื่อความยั่งยืน ด้วยการน้อมนำหลักการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร โดยเฉพาะเรื่อง “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา ร่วมกัน” มาเป็นปรัชญาในการขับเคลื่อนเครือข่ายบน 3 ประเด็นสำคัญ คือ การปล่อยก๊าซคาร์บอนต่ำ, การเปิดโอกาสอย่างทั่วถึง และการมีธรรมาภิบาล

ฉะนั้น ภายในงานแถลงข่าวเปิดตัวเครือข่ายเพื่อความยั่งยืนแห่งประเทศไทย เมื่อไม่นานผ่านมา จึงมีภาคของการเสวนาในหัวข้อที่สอดรับกับเรื่องนี้ คือ “เอกชนไทยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง…เราจะเติบโตไปด้วยกัน” ที่ไม่เพียงจะมี ชมพรรณ กุลนิเทศ รองประธานฝ่ายการลงทุน บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน), คุณวุฒิ ธรรมพรหมกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน), มานพ เอี่ยมสอาด รองประธานบริหาร บริษัท เรย์วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัดรวมถึงยังมี นัฐิยา พัวพงศกร Head of Business Sustainability บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) และ ธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) มาแลกเปลี่ยนมุมมอง และประสบการณ์ในเรื่องของการพัฒนาอย่างยั่งยืน (sustainability development-SD)

เบื้องต้น “ชมพรรณ” บอกว่า การพัฒนาอย่างยั่งยืนถือเป็นกลยุทธ์ของบริษัทในการวางแผนเรื่องความยั่งยืน 5 ปี และที่ผ่านมาเราทำเรื่องความยั่งยืนทุกปี ทั้งยังผนวกเรื่องนี้เข้าไปในด้านอื่น ๆ ขององค์กรด้วย

ชมพรรณ กุลนิเทศ

ฉะนั้น การวางแผนเรื่องความยั่งยืน จึงมอง 3 เสาหลัก ๆ คือ 1.การพัฒนาคน เนื่องจากไมเนอร์เชื่อว่าทรัพย์สินที่มีค่าของบริษัท คือ คน และคนในที่นี้ไม่ใช่แค่คนในองค์กร แต่เป็นคนที่มาจากลูกค้า และซัพพลายเออร์ของเราด้วย 2.sustainable value chain ด้วยการดูแลซัพพลายเชนอย่างต่อเนื่อง ไปจนถึงดูแลลูกค้าเพื่อให้เกิดความยั่งยืนในอนาคต และ 3.การดูแลสิ่งแวดล้อม

“ทั้ง 3 เสาหลักนี้ เราเรียกว่า strategic 3 pilar ดังนั้น ผู้นำองค์กรของทุกแบรนด์ หรือทุกยูนิตของไมเนอร์ กรุ๊ป สามารถที่จะนำกลยุทธ์ทั้ง 3 เสาหลักนี้ ไปใช้ในการดำเนินธุรกิจได้ ยกตัวอย่างเรื่องของการพัฒนาคน ซึ่งเป็นหนึ่งในโปรแกรมที่ค่อนข้างเป็นตัวหลัก คือ การทำทวิภาคีกับทางสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ด้วยการรับนักเรียน นักศึกษาเข้ามาฝึกงานกับเรา แต่ก่อนหน้านี้ เราเริ่มจากรีครูตเมนต์ และทำการออกแบบหลักสูตรร่วมกันกับทางมหาวิทยาลัย, วิทยาลัย เพื่อนำนักเรียน นักศึกษามาฝึกงาน”

“ซึ่งไม่เพียงพวกเขาจะได้ฝึกปฏิบัติงานจริง เรายังมีโค้ชคอยสอนเขาด้วย และโค้ชส่วนหนึ่งมาจากพนักงานของเราที่พัฒนาขึ้นมาเป็นโค้ช ดังนั้น พนักงานจะถูกฝึกเรื่องของทักษะการโค้ช ขณะเดียวกัน เขาก็ได้ฝึกตัวเองในการโค้ชน้อง ๆ ทั้งยังมีโอกาสสอนน้อง ๆ ด้วย และน้อง ๆ เหล่านี้เมื่อมีความเข้าใจวิชาชีพต่าง ๆ ที่เขาฝึกงานกับเรา นอกจากเขาจะมีความรู้ทักษะแล้ว พวกเขายังมีโอกาสร่วมงานกับไมเนอร์ด้วย เพราะเขารู้จักวัฒนธรรมองค์กรเราแล้ว ตรงนี้จึงทำให้เกิดลอยัลตี้กับองค์กร และทำให้อัตราการเทิร์นโอเวอร์ต่ำมาก ๆ”

คุณวุฒิ ธรรมพรหมกุล

ขณะที่ “คุณวุฒิ” มองว่า การพัฒนาความยั่งยืนของเราจะเน้นไปที่สินค้า และบริการ ทั้งยังอยู่ในแผนกลยุทธ์ของบริษัท และปัจจุบันเราร่วมมือกับซัพพลายเออร์ในการพัฒนาสินค้าผ่านโกดัง หรือที่เราเรียกว่า eco choice เนื่องจากปัจจุบันสินค้าของเรา 30% เป็นสินค้า eco choice ที่ประกอบด้วย ความปลอดภัย, การกำจัด, การลดขยะ และปราศจากสารเคมี

“แม้แต่ไม้ที่นำมาทำเฟอร์นิเจอร์ก็นำมาจากป่าปลูก ยกตัวอย่างในร้านของเราจะมีจานที่เราเรียกว่า absorb plate ซึ่งเป็นจานที่ดูดซับความมันได้ ดังนั้น เวลาใครทอดไข่เจียว ถ้าไปวางในจานลักษณะนี้ น้ำมันจะตกลงที่ก้นของจานที่เป็นหลุม เมื่อผู้บริโภคทานเข้าไปจะไม่ทานน้ำมันเข้าไปด้วย นี่คือตัวอย่างหนึ่งที่เราพัฒนาร่วมกับซัพพลายเออร์”

“หรือแม้แต่เรื่องความปลอดภัย ตอนนี้เรามีเทียน LED กระถางธูป LED ที่ไม่เพียงจะไม่มีควัน ยังไม่เป็นปัญหาต่อสุขภาวะของผู้บริโภคอีกด้วย ที่สำคัญ ยังปลอดภัยจากเด็ก ๆ และจากไฟไหม้ เพราะฉะนั้น เวลาเราจะพัฒนาสินค้าอะไรก็ตาม จะคำนึงถึงผู้บริโภคอย่างมีความรับผิดชอบ และยั่งยืน เหมือนอย่างเรื่องการบริการก็เหมือนกัน โดยเฉพาะการบริการทางด้านช่าง เพราะอย่างที่ทราบ เวลาเราซื้อสินค้าไปแล้ว จะหาช่างมาทำให้แสนลำบาก บางครั้งช่างก็ไม่มีมาตรฐาน เราจึงพัฒนาการให้บริการหลังการขาย ด้วยการทำโครงการเถ้าแก่น้อยโฮมโปร เพื่อให้ช่างของเราไปบริการให้กับลูกค้าอย่างมีความรับผิดชอบ”

มานพ เอี่ยมสอาด

สำหรับมุมมองในส่วนของบริษัทที่ทำวิสาหกิจเพื่อสังคม “มานพ” กลับเล่าในมุมแตกต่างให้ฟังว่า ผมเองมาจากมูลนิธิพระมหาไถ่เพื่อการพัฒนาคนพิการ ในมูลนิธิจะมีการฝึกอบรมคนพิการให้มีงานทำ เรามีศูนย์จัดหางาน, ศูนย์พัฒนาธุรกิจเพื่อสังคม นอกจากนั้น เรายังมีบริษัทที่อยู่ภายใต้มูลนิธิ เพื่อตั้งใจให้คนพิการมีงานทำ มีอาชีพที่มั่นคง ยั่งยืน และเหตุที่มาสนใจเรื่องวิสาหกิจเพื่อสังคม เพราะมองว่ามูลนิธิจะไม่ยั่งยืน ต้องพึ่งเงินบริจาคเป็นส่วนใหญ่

“หลังจากที่ทำงานมา 30 กว่าปี และคุณพ่อเรย์มอนด์ เบรนเนน ผู้ก่อตั้งมูลนิธิมรณภาพไป เราประสบปัญหาเรื่องหาเงินมาดำเนินการโดยตลอด จึงคิดว่าเราน่าจะทำอะไรให้อยู่ได้ โดยพึ่งเงินบริจาคให้น้อยที่สุด ตรงนี้จึงทำให้เรามองธุรกิจเพื่อสังคม ที่น่าจะเป็นคำตอบอันหนึ่ง และเราสนใจเรื่องนี้มาเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว จากนั้นจึงมีโอกาสร่วมมือกับเอไอเอส ด้วยการส่งคนพิการไปเป็นพนักงานคอลเซ็นเตอร์ เริ่มจากคนพิการประมาณ 10 คน”

“ปัจจุบันทีมงานของเราทำคอลเซ็นเตอร์ ประมาณ 100 คน และมีบริษัทต่าง ๆ ที่มาจ้างน้อง ๆ ของเรา ประมาณ 15 บริษัท แต่ในอนาคตอาจมีเรื่องของแชตบอต ไอโอทีอะไรต่าง ๆ ที่จะมาทดแทนคนพิการของเรา ผมจึงมองว่าเราต้องพัฒนาพวกเขาไปอีกขั้น เพื่อสร้างงานอะไรใหม่ ๆ ที่ยังต้องใช้คนอยู่ เพราะเราทำงานเกี่ยวข้องกับคนพิการ และคนพิการที่จดทะเบียนในประเทศไทย มีอยู่ประมาณ 2 ล้านคน คำถามคือ เราจะทำอย่างไรให้เขามีงานทำ จนตอนหลังเราพัฒนาน้อง ๆ ที่พิการทางสายตาไปทำ QC เพื่อคอยฟังว่าเขาพูดกับลูกค้าถูกต้องหรือไม่”

“ส่วนผู้พิการทางด้านอื่น ๆ ผมส่งพวกเขาไปทำงานให้กับบริษัทแห่งหนึ่งที่ส่งน้ำมันให้กับ ปตท. เพื่อคอยดูกล้อง CCTV ว่ารถขนส่งคันนั้นเดินทางตามเป้าหมายหรือเปล่า วิ่งตามเส้นทางที่จะไปส่งน้ำมันหรือเปล่า หลับในบ้างหรือเปล่า หรือมีการขโมยน้ำมันหรือเปล่า พวกเขาก็จะคอยดูกล้องเพื่อรายงานเข้ามา ที่สำคัญ องค์กรของเราอยู่ในพื้นที่ EEC และหลายบริษัทที่อยู่ในพื้นที่นี้มีความต้องการแรงงานจำนวน 4 แสนคน โดยเฉพาะด้านไอที ซึ่งเรามองเห็นโอกาสตรงนี้ในการจ้างคนพิการทำงานตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ที่กำหนดให้สถานประกอบการที่มีพนักงานจำนวน 100 คน จ้างคนพิการ 1 คน ก็คือประมาณ 4,000 คน เราจึงไปจับมือกับบริษัทไมโครซอฟท์ และบริษัทไอทีอื่น ๆ เพื่อพัฒนาทักษะคนพิการของเราไว้รองรับงานในอนาคต”

นัฐิยา พัวพงศกร

ส่วนมุมมองของเอไอเอส “นัฐิยา” ในฐานะที่ดูแลเรื่องธุรกิจเพื่อความยั่งยืนโดยตรงมองว่า สิ่งสำคัญที่เราสนใจ คือ เรื่องความยั่งยืน, การสร้างโอกาสแก่สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งทั้ง 2 เรื่องหลัก ๆ เป็นการมองเรื่อง cyber wellness หรือการอยู่ในโลกดิจิทัลอย่างปลอดภัย และเป็นประโยชน์กับตนเอง เราจึงทำโครงการดีไซน์ ไซเบอร์กับเด็ก ๆ เพื่อที่จะบอกให้พวกเขารับมือกับการใช้ดิจิทัลอย่างชาญฉลาด และการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตอย่างปลอดภัย

“ส่วนอีกโครงการหนึ่งเรามาดูผลกระทบในเชิงทางเทคโนโลยี เพราะเทคโนโลยีน่าจะช่วยเรื่องของผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งยังช่วยลดทอน greenhouse gas ได้ รวมถึงเรื่อง electronic waste เพราะอย่างที่ทราบ electronic waste จะมีสารตะกั่ว, ปรอท, แคดเมี่ยม และอีกหลาย ๆ อย่าง ดังนั้นในอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่มีสารเหล่านี้อยู่ ถ้าเราทิ้งไม่ถูกต้อง อาจทำให้เกิดผลกระทบในวงกว้างได้ ฉะนั้น คอนเซ็ปต์คือเราต้องร่วมมือกันในเครือข่าย และใน value chain ว่าใครมีส่วนช่วยเหลือที่จะทำให้โลกนี้พัฒนาไปข้างหน้า”

“โดยเฉพาะ electronic waste กับผู้บริโภค เราพบเจอว่าหลายคนไม่รูู้ว่าจะนำขยะพวกนี้ไปทิ้งที่ไหน ส่วนหนึ่งจึงเก็บไว้ที่บ้าน บางส่วนก็ทิ้งขยะ แต่ไม่รู้ว่าปลายทางจะไปอยู่ตรงไหน และวันนี้กลุ่มประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังมีปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์ และกำลังไหลเข้ามาในกลุ่มประเทศอาเซียน ไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทย เรื่องนี้เราให้ความสำคัญอย่างมาก และล่าสุดเราจัดทริปพาสื่อมวลชนไปเยี่ยมโรงงานกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ปทุมธานี เพื่อต้องการสื่อสารว่า ถ้าเรานำไปรีไซเคิลอย่างถูกวิธี และคัดแยกอย่างถูกต้อง ของพวกนี้จะมีมูลค่ามากกว่าขยะ”

ธีรพงศ์ จันศิริ

ขณะที่ “ธีรพงศ์” มองว่า ผ่านมาเราทำ CSR แต่ในวันนี้เราหันมามุ่งเน้นการทำ SD เพราะ SD ไม่เพียงช่วยองค์กรของเรา ยังช่วยประเทศชาติด้วย เพราะเรามีแบรนด์ชั้นนำต่าง ๆ ในยุโรป และอเมริกา ที่สำคัญ ผู้บริโภคในประเทศต่าง ๆ เหล่านี้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ค่อนข้างมาก

“เราจึงคิดว่าทำดีในบริษัทคงไม่เพียงพอ แต่จะต้องทำให้ซัพพลายเชนทั้งหมดถูกต้องด้วยเช่นกัน และความยากของเรา คือ ทำให้บริษัทที่อยู่ในซัพพลายเชนทำถูกต้องด้วย เพราะเขาอยู่นอกเหนือการควบคุมของเรา ที่สุดผมจึงตั้งกลยุทธ์เรื่อง sea change ขึ้นมาในปี 2014 และในปี 2015 เราประกาศออกมาเป็นนโยบายชัดเจน โดยมีวัตถุประสงค์หลัก ๆ 3 เรื่อง คือ

1.ทำอย่างไรให้ทะเลทั้งโลกของเรามีความยั่งยืน 2.ทำอย่างไรถึงจะให้แรงงานของเราปลอดภัย และได้รับการยอมรับอย่างถูกกฎหมาย และมีโอกาสเท่าเทียมกัน 3.การทำประมงที่ถูกกฎหมาย ทั้งนั้นเพื่อทำให้บริษัทต่าง ๆ ที่เป็นคู่ค้า และพันธมิตรของเรา เข้าใจในสิ่งที่องค์กรของเราทำ เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในอนาคต”

อันเป็นคำตอบของภาคเอกชนที่จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง