30 ปีที่ผูกพัน

คอลัมน์ เอชอร์คอร์เนอร์

โดย รณดล นุ่มนนท์

 

การทำงานในองค์กรใดองค์กรหนึ่งครบ 30 ปี ถือเป็นเรื่องไม่ธรรมดา เพราะใช้เวลาเกินครึ่งชีวิตผูกพันกับองค์กรแห่งนั้น ผมหยิบหนังสือรุ่น “ผูกสัมพันธ์” ที่พนักงานน้องใหม่แบงก์ชาติ รุ่น 4 ปี 2532 จำนวน 29 คน ซึ่งมีผมร่วมอยู่ด้วย ได้จัดทำขึ้นในช่วงปฐมนิเทศร่วมกันที่สำนักฝึกอบรมสุรวงศ์ เป็นเวลา 2 สัปดาห์ขึ้นมาอ่าน พี่ ๆ หลายคนลาออกไปบ้าง เกษียณไปบ้าง จนถึงตอนนี้ยังเหลืออยู่อีก 13 คน ที่จะได้รับของที่ระลึกในการทำงานครบ 30 ปีที่แบงก์ชาติ ในวันที่ 11 ธันวาคมนี้ หลายคนคงไม่คาดคิดว่าจะอยู่ดื่มน้ำส้มคั้นร้านพี่นกหน้าแบงก์ชาติได้ทุกวันจนถึงวันนี้

ผมหลับตาย้อนเวลากลับไปทบทวนความทรงจำนับจากช่วงเริ่มแรกที่เข้าทำงาน จำได้ว่าเช่าห้องพักอยู่ฝั่งตรงข้ามกับแบงก์ชาติ แม้จะใช้เวลาเดินทางเพียง 15 นาที แต่ต้องตื่นแต่เช้ามาทำงานให้ทันก่อน 7 โมง เพื่อจัดทำข้อมูลให้ผู้บริหารกำหนดค่าเงินบาท จากหอพัก ผมต้องเดินเลาะมาตามซอกซอยเล็ก ๆ ที่มีห้องเล็ก ๆ ทึบ ๆ แบ่งให้เช่าตั้งเรียงรายตามทางเดิน ทำให้ได้เห็นความเป็นอยู่ของชาวบ้าน แล้วก็มาลงเรือข้ามฟากที่ลุงเจ้าของเรือคอยให้บริการเที่ยวละ 50 สตางค์ มาส่งที่ท่าเทียบเรือฝั่งแบงก์ชาติที่ตั้งของร้านอาหารยกยอ ร้านอาหารหรูร้านเดียวที่เป็นหน้าเป็นตาในละแวกนั้นสำหรับเป็นที่เลี้ยงรับรองแขก จนผมหลับตาจำภาพเมนูอาหารได้ครบ

เมื่อเดินออกมาจากท่าเทียบเรือจะพบแผงขายของตั้งเรียงรายเต็มหมดหน้ารั้วโรงพิมพ์ธนบัตร (อาคารศูนย์การเรียนรู้ในปัจจุบัน) รวมทั้งท่ารถเมล์เล็กสาย 6 ที่พาพวกเราไปบางลำพูในช่วงทานอาหารกลางวัน แต่ด้วยเวลาที่เร่งรีบ ผมจึงไม่ค่อยได้ shopping เท่าไหร่นัก เพียงแต่สังเกตเห็นพนักงานผู้หญิงสนุกกับการต่อรองราคากับแม่ค้า อย่างไรก็ดี แผงขายของตั้งอยู่ได้ไม่นานก็ถูกขอให้ย้ายออกไปด้วยเหตุผลของการรักษาความปลอดภัยบริเวณโรงพิมพ์ธนบัตร จนเป็นที่มาของตลาดนัดรวมยางด้านถนนสามเสนในปัจจุบัน

ผมกับพนักงานหลายคนโดยเฉพาะหน่วยวิเคราะห์ตลาดเงิน จะไปยืนรอที่หน้าประตูอาคารสำนักงานใหญ่ (ปัจจุบันคือด้านหลังของอาคาร 2) เพื่อคอยให้พนักงานรักษาความปลอดภัยมาไขกุญแจ เปิดบานประตูกระจกในเวลา 07.00 น. และเมื่อเข้าไปจะพบกับ “พี่มงคล หงส์เจริญ” หัวหน้าฝ่ายรักษาความปลอดภัย ซึ่งนั่งอยู่ที่เคาน์เตอร์ต้อนรับ คอยดูแลให้คนที่ได้รับอนุญาตเข้าอาคาร (หากเป็นบุคคลภายนอกจะต้องให้พนักงานลงมารับ และแลกบัตรก่อนอนุญาตให้เข้าไป)

ทุกคนยอมรับว่า “พี่มงคล” เป็นผู้มีอัธยาศัยดี ยิ้มแย้ม ดูน่าเกรงขาม คนแปลกหน้า หรือคนที่มีพิรุธไม่เคยรอดสายตาไปได้ พวกเราต้องติดบัตรประจำตัวที่มีรูปถ่ายไว้ที่กระเป๋าเสื้อตลอดเวลา

ในสมัยนั้น ไม่มีประตูปีกผีเสื้อที่สามารถนำบัตรมาแตะให้เข้าไปข้างใน แต่จะมีพนักงานรักษาความปลอดภัย 2 คน คอยตรวจสอบอยู่หน้าลิฟต์ เมื่อผ่านเข้าไปแล้ว พนักงานสามารถเข้าพื้นที่ทำงานได้ทั่วอาคารทั้ง 7 ชั้น ยกเว้น บริเวณฝ่ายออกบัตรธนาคาร ที่ต้องมีใบอนุญาตจากหัวหน้าให้เข้าพื้นที่ โดยแลกบัตรพนักงานกับบัตรเข้าเขตหวงห้าม เมื่อเข้ามาถึงหน้าประตูห้องทำงานแล้ว ยังต้องรอนักการไปเบิกกุญแจห้องที่ห้องธุรการมาเปิดให้ ภายในห้องทำงานของหน่วยงานจะเห็นโต๊ะทำงานมีกระจกใสวางไว้ด้านบน เป็นโต๊ะ 2 แถว ไล่เรียงตามอาวุโส ไปจนถึงโต๊ะหัวหน้าหน่วยที่เป็นโต๊ะทำงานตัวเดียวนั่งหลังสุด สามารถมองเห็นบรรยากาศได้รอบห้องทำงาน

คงไม่ต้องพูดถึงพนักงานใหม่ที่นั่งหน้าสุดว่าจะรู้สึกเกร็งแค่ไหน แต่บรรยากาศจะเปลี่ยนไปเมื่อหัวหน้าหน่วยไม่อยู่ในห้อง ซึ่งในสมัยนั้นหัวหน้าหน่วยส่วนใหญ่จะมีอายุงานนาน มีความอาวุโส ดูแลพวกเราแบบผู้ใหญ่เอ็นดูเด็ก

สิ่งแรกที่ต้องทำเมื่อเข้ามาคือการลงเวลาเข้าทำงานในแฟ้มสีดำที่มีชื่อของแต่ละคน และแบ่งเป็นช่อง ๆ แต่ละวันเพื่อให้ลงเวลา และลายเซ็นเข้าออก เมื่อถึงเวลา 08.30 น. พนักงานสารบรรณจะนำไปให้หัวหน้าหน่วยลงชื่อรับรอง ถ้าใครต้องการลาป่วย หรือลาพักผ่อน จะมีใบที่ต้องกรอกรายละเอียดเพื่อขออนุญาต โดยที่พนักงานสารบรรณจะตรวจสอบจากการบันทึกเวลาก่อนว่ายังมีสิทธิ์หรือไม่

ขอย้อนเวลากลับไปถึงวันแรกที่ผมเข้าทำงาน (3 มกราคม 2532) ผมจำได้ดีว่าผมมารายงานตัวที่ฝ่ายการพนักงาน และนั่งฟังกฎระเบียบ จรรยาบรรณของพนักงานอยู่พักใหญ่ ก่อนจะมีคนพาไปที่หน่วยงาน และได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีจาก “พี่สุวรรณี วงษ์พันธุ์” หัวหน้าหน่วย ซึ่งได้อธิบายถึงลักษณะงานที่ถูกมอบหมายจนถึงพักเที่ยง ก่อนมานั่งที่โต๊ะทำงานที่มีการจัดเตรียมอุปกรณ์เครื่องใช้ในการทำงานให้ล่วงหน้า ตั้งแต่สมุดจดบันทึก ปากกา ดินสอ และแม้กระทั่งที่เขี่ยบุหรี่ เป็นภาพที่ผมประทับใจมาจนถึงทุกวันนี้

การทำงานในสมัยนั้นไม่ต้องพูดถึงการนำเทคโนโลยีมาช่วยในการทำงาน เพราะมีเครื่องคอมพิวเตอร์ประจำหน่วยเพียงเครื่องเดียว โปรแกรมที่ใช้งานยังไม่ใช่ตระกูล Microsoft การพิมพ์งานจึงอาศัยเครื่องพิมพ์ดีดที่พนักงานสารบรรณจะคอยพิมพ์ และตรวจทานให้ ดังนั้น จึงต้องเขียนด้วยกระดาษที่ส่วนใหญ่ใช้ดินสอเขียน เพราะแก้ไขได้สะดวก ก่อนส่งไปเพื่อแก้ไขเป็นทอด ๆ จนถึงมือหัวหน้าหน่วย จนบางครั้งพนักงานสารบรรณโยงใยไม่ถูกว่าจะต่อข้อความกันอย่างไร ทำให้ก่อนพิมพ์แต่ละครั้งจะต้องระมัดระวัง และให้แน่ใจว่าเป็นชุดที่ผ่านความเห็นชอบจากหัวหน้าแล้ว เพราะเกรงใจพนักงานสารบรรณ ถ้าต้องเริ่มพิมพ์ใหม่หมด

พวกเราไม่รู้จักการทำ power point หรือกราฟสวย ๆ เพื่อนำเสนอในห้องประชุม เพราะต้องใช้แผ่นใส และเขียนด้วยลายมือเพียงอย่างเดียว ดังนั้น การนำเสนอจึงเป็นการนำเสนอด้วยปากเปล่า ต้องพูดให้กระชับ ให้ผู้ฟังเข้าใจง่าย ๆ

นอกเหนือจากการทำข้อมูลเพื่อให้ผู้บริหารกำหนดค่าเงินบาทก่อน 8 โมง ทุก ๆ เช้าแล้ว เวลาในการทำงานที่เหลือจะหมดไปกับการศึกษาวิวัฒนาการตลาดเงิน รวมถึงบทบาทของธนาคารกลางในต่างประเทศต่อการพัฒนาตลาดเงิน และต้องเขียนรายงานความเคลื่อนไหวในตลาดเงินทุก ๆ วันศุกร์ รวมทั้งต้องเขียนบทวิเคราะห์ที่ได้รับมอบหมาย จำได้ว่าในแต่ละวันไม่ต้องเข้าประชุมมากนัก และหากมีการประชุมก็ไม่ได้ใช้เวลาประชุมกันแบบครึ่งเช้าครึ่งบ่าย

ดังนั้น ตอนพักเที่ยง พนักงานส่วนใหญ่จึงเลือกที่จะรับประทานอาหารภายในสโมสรริมน้ำ ซึ่งเป็นที่ตั้งของชมรมนันทนาการต่าง ๆ บนชั้นสองทุก ๆ เย็น พนักงานจะมาพบปะสังสรรค์กัน และยังเป็นที่นัดพบของบรรดาลูก ๆ หลังเลิกเรียน เป็นที่จัดงานเลี้ยงปีใหม่ จัดงานแต่งงาน ถือได้ว่าสโมสรริมน้ำเป็นศูนย์รวมของพนักงาน สร้างความผูกพันของพนักงานเหมือนเป็นพี่เป็นน้อง แม้กระทั่ง “อดีตผู้ว่าการป๋วย อึ๊งภากรณ์” ผู้ที่จัดตั้งสโมสรก็จะแวะมาที่สโมสรทุก ๆ ครั้งที่มีโอกาส เพื่อร่วมวงสนทนากับพนักงานไปจนถึงการเป่าขลุ่ยเครื่องดนตรีโปรดของท่าน

นอกจากสโมสรริมน้ำแล้ว สถานที่รวมพลของพนักงานอีกแห่งหนึ่ง คือ ที่จอดรถด้านหลังวังบางขุนพรหม เป็นลานปูนกว้าง พนักงานจะนำรถมาจอดเรียงรายแบบหน้าเรียงแถวกัน จนคิดไม่ออกว่าจะนำรถออกกันอย่างไร แต่ทุกคนต่างรู้หน้าที่ ทุกเย็นถ้าหากรถใครขวางทางออกก็จะรีบมาถอยรถ จนทำให้บริเวณที่จอดรถกลายเป็นสนามปูนโล่ง ๆ พวกที่ชอบเล่นกีฬาก็จะเนรมิตให้เป็นสนามฟุตบอล สนามบาสเกตบอล โชว์ฝีไม้ลายมือ แม้เวลาจะล่วงเลยมา 30 ปีแล้ว แต่ผมยังยิ้มทุกครั้งเมื่อหวนกลับไปคิดถึงเวลาที่ได้ทำงานในองค์กรแห่งนี้ตลอดมา

แม้สรรพสิ่งจะเปลี่ยนแปลงไป แต่จิตวิญญาณของความเป็นคนแบงก์ชาติไม่เคยเปลี่ยนแปลงครับ

หมายเหตุ – เพื่อนร่วมรุ่นของผมที่จะรับของที่ระลึกแห่งการทำงานนาน 30 ปี ร่วมกัน คือ สิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา, สมศจี ศิกษมัต, วิภา ผดุงชีวิต, อลิศรา มหาสันทนะ, ปรีมา ตั้งรัตนวิชิต, ผ่องศรี หลีวิทยานนท์, ประจักษ์ อุดมเดชชัยรัตน์, สุชาติ สะเทือนวงษา, วิสุทธิ์ จันทร์ประสิทธิ์, ไชโย ลิขิตพฤกษ์ไพศาล, ทรงธรรม ปิ่นโต และยรรยง ดำรงศิริ