ครอปไลฟ์ เอเชีย หนุนเกษตรกรผลิตเมล็ดข้าวพันธุ์หอมมะลิตามมาตรฐาน GAP

“แอนดริว โรเบิร์ต” ผู้อำนวยการฝ่ายกำกับดูแลการใช้สารอารักขาพืชอย่างถูกต้อง ครอปไลฟ์ เอเชีย ให้ข้อมูลว่า ครอปไลฟ์เอเชียเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร และเป็นหน่วยงานระดับภูมิภาคของครอปไลฟ์อินเตอร์เนชั่นแนล ที่มีพันธกิจสำคัญด้านสนับสนุนเรื่องความมั่นคงทางอาหาร โดยใช้นวัตกรรมทางเกษตรกรรม ภายใต้การสนับสนุนของ 15 สมาชิกในภูมิภาค

สำหรับในประเทศไทย ครอปไลฟ์ เอเชียได้เข้าไปให้ความรู้เกี่ยวกับนวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการเกษตรผ่านสมาคมและสมาพันธ์ที่มีพันธกิจเดียวกันกับครอปไลฟ์ เอเชีย ที่มุ่งให้เกษตรกรภาคการผลิตสินค้าเกษตรสำคัญของไทย อาทิ ข้าว ข้าวโพด ยางพารา อ้อย ผลไม้ ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง ผักและผลไม้

โดยร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐอย่างกรมวิชาการเกษตร สถาบันการศึกษา องค์กรท้องถิ่น เพื่อให้เกษตรกรเรียนรู้เข้าใจอย่างถูกต้องหากต้องใช้สารอารักขาพืชในกระบวนการผลิต ตั้งแต่การเลือกใช้ให้ถูกต้องกับโรคและแมลง การอ่านฉลาก การปฏิบัติตนขณะฉีดพ่น การเก็บซากบรรจุภัณฑ์ จนถึงระยะเวลาการเก็บเกี่ยวที่ปลอดภัย

“เรายกระดับคุณภาพสินค้าของเกษตรกรให้สามารถทำราคาและเป็นที่ต้องการของตลาด รวมถึงปลอดภัยสำหรับตนเอง ชุมชน และผู้บริโภค ผ่านกิจกรรมและงบประมาณ กว่า 70 ล้านบาท /ปี ตลอดระยะเวลา 6 ปีที่ผ่านมา โดยปีหน้าได้ตั้งเป้าหมายการให้การอบรมแก่เกษตรกรในพื้นที่การเกษตรภูมิภาคในในอาเซียนอีกว่า 14 ล้านบาท”

“แอนดริว โรเบิร์ต” บอกว่า หนึ่งในหลายชุมชนที่ได้เข้าไปให้การสนับสนุนคือ กลุ่มเกษตรกรบ้านดงลิง อำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งเป็นศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงชุมชนต้นแบบ ที่เป็นตัวอย่างของการเปิดรับการเรียนรู้นวัตกรรมเทคโนโลยีทางการเกษตรใหม่ๆ เข้ามาปรับใช้กับกลุ่มของตน และพัฒนาต่อยอดจนได้รับการยอมรับในการผลิตสินค้ามาตรฐาน GAP (Good Agriculture Practice) หรือสินค้าเกษตรปลอดภัย กระทั่งได้รับการคัดเลือกเกษตรกรและสถาบันเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติประจำปี 2559

“ไพศาล รัตน์วิสัย” ประธานศูนย์ส่งเสริมและผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิบ้านดงลิง เล่าถึงการบริหารจัดการกลุ่มว่า สมาชิกส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทำนาได้ 2 ครั้งต่อปี ในพื้นที่นาข้าว 1,351ไร่ เดิมประสบปัญหาข้าวปนเมื่อซื้อเมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิที่มีขายในร้านทั่วไป จึงได้รวมกลุ่มกันเพื่อพัฒนาพันธุ์ข้าวตั้งแต่ปี 2554 โดยมีหน่วยงานภาครัฐและเอกชนเข้ามาให้ความรู้ในการลดต้นทุนการผลิต การบริหารจัดการไร่นา การทำบัญชีครัวเรือน เพื่อหาต้นทุนการเกษตรที่แท้จริง จนสามารถลดต้นทุนการเกษตรให้เหลือเพียง 1,430 บาทต่อไร่

“ปัจจุบันกลุ่มของเราคัดเลือกและผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวชุมชนภายใต้ตรารับรอง GAP สินค้าปลอดภัย มีเครื่องจักรทางการเกษตรเป็นของชุมชน รถดำนา รถเกี่ยวข้าว โรงสีชุมชน มีทุน 10 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินหมุนเวียนจากกองทุนหมู่บ้าน กลุ่มออมทรัพย์ และกลุ่มอาชีพทั้ง 10 กลุ่ม นอกจากนั้น ชุมชนไม่มีปัญหาหนี้นอกระบบแต่อย่างใด”

“สมัคร สมรภูมิ” เกษตรกรสมาชิกเครือข่าย เล่าว่า ตนมีพื้นที่ปลูกข้าวแบบผสมผสานจำนวน 5 ไร่ แบ่งปลูกข้าวจำนวน 4.2 ไร่ ที่เหลือใช้สำหรับขุดบ่อเลี้ยงปลา ปลูกพืชผสมผสานไว้กิน และขายในยามที่ไม่ได้ปลูกข้าว ซึ่งหลังจากจากเกษียณจากกรมพัฒนาชุมชน ตนได้มาใช้ชีวิตตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยได้เริ่มทำนาจริงจังมา 5 ปี เรียนรู้รูปแบบการทำนามาจากปู่ย่าตายาย ประกอบกับคำแนะนำและการเข้ามาให้การอบรมจากหลายหน่วยงานผ่านศูนย์ส่งเสริมฯ

“ผมได้นำพื้นที่ 4.2 ไร่เข้าร่วมโครงการเมล็ดพันธุ์ข้าวปลูกหอมมะลิ โดยมีต้นทุนการผลิตที่ใช้ทั้งปุ๋ย ฮอร์โมน และวิธีการแบบผสมผสานหรือ IPM (Integrated Pest Management) อยู่ที่กิโลกรัมละ 5.1 บาท ได้ผลผลิตประมาณ 700 กิโลกรัมต่อไร่ โดยกลุ่มฯ รับซื้อข้าวที่ได้คุณภาพให้ราคากิโลกรัมละ 15 บาท หากขายให้นอกกลุ่มจะอยู่ที่ราคากิโลกรัมละ 25 บาท ซึ่งคาดว่าปีนี้ราคาเมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิจะสูงขึ้นแน่นอน เพราะได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมในหลายพื้นที่ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ”

จากแนวทางดำเนินงานของศูนย์ส่งเสริมและผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิบ้านดงลิงได้พิสูจน์ให้เห็นว่าการเป็น Smart Farmer ภายใต้ธงที่ภาครัฐต้องการมุ่งไปให้ถึงนั้นไม่ใช่เรื่องที่ยากเกินกว่าความพยายาม หากเกษตรกรพร้อมเรียนรู้และปรับเปลี่ยนการทำเกษตรให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ และสร้าวกระบวนการผลิตสินค้าให้เป็น “สินค้าเกษตรปลอดภัย” เพื่อตอบโจทย์และสร้างภาคการเกษตรของไทยให้มั่นคง