“เนสท์เล่” ช่วย “ชาวเขา”

คอลัมน์ ตามรอยฟ้า

เพราะการส่งเสริมการผลิตผลิตผลทางการเกษตรแบบยั่งยืน เป็นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญในการพัฒนาด้านการเกษตร และชุมชน ของ “เนสท์เล่” จึงทำให้เนสท์เล่ เข้ามามีส่วนร่วมในการสนับสนุนแปลงทดสอบ และพัฒนากาแฟพันธุ์อราบิก้า บนพื้นที่โครงการพัฒนาดอยตุง ที่นอกจากจะพัฒนาสายพันธุ์กาแฟอราบิก้า นำไปเพาะต้นกล้า เพื่อแจกจ่ายแก่ชาวเขาในการนำไปเพาะปลูก ยังเป็นการมุ่งยกระดับคุณภาพชีวิตชาวเขาให้ดีขึ้น ทั้งในแง่ของการพัฒนาอาชีพให้ชาวเขามีอาชีพอย่างยั่งยืน และมีรายได้ต่อครอบครัวที่เพิ่มมากขึ้น

ที่สำคัญ ยังเป็นการสนองพระราชปณิธาน และพระราชประสงค์ของ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ในการขจัดยาเสพติดให้สิ้นจากแผ่นดินไทย ด้วยการปลูกพืชทดแทนการปลูกฝิ่น ซึ่งกาแฟอราบิก้าดอยตุง นับเป็นอีกผลผลิตหนึ่งที่สร้างรายได้ให้แก่ชาวบ้านในพื้นที่ ทั้งยังเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาอย่างยั่งยืน

“ทาธฤษ กุณาศล” ผู้จัดการฝ่ายบริการการเกษตร บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด กล่าวว่า การเข้าไปสนับสนุนแปลงทดสอบ และพัฒนากาแฟพันธุ์อราบิก้า บนพื้นที่โครงการพัฒนาดอยตุง เพื่อสร้างอาชีพปลูกกาแฟอย่างยั่งยืนให้แก่ชาวเขาของเนสท์เล่ เป็นการสนองพระราชปณิธานของสมเด็จย่า ในการขจัดยาเสพติดให้สิ้นจากแผ่นดินไทย

นับเป็นเกียรติอันสูงสุดของเนสท์เล่ ที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จย่าให้ร่วมโครงการพัฒนาดอยตุง ด้วยการส่งเสริมการปลูกพืชเศรษฐกิจทดแทนการปลูกฝิ่น เพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ให้ดีขึ้น ซึ่งเนสท์เล่ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านกาแฟ จึงมีการจัดทำแปลงทดสอบ และพัฒนากาแฟพันธุ์อราบิก้า บนพื้นที่ประมาณ 85 ไร่ บนดอยผาช้างมูบ ต.เวียงพางคำ อ.แม่สาย จ.เชียงราย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาดอยตุง

ตลอดระยะเวลาของการเข้าไปมีส่วนร่วมในการสนับสนุนแปลงทดสอบ และพัฒนากาแฟพันธุ์อราบิก้า เนสท์เล่มุ่งมั่นพัฒนา และคัดเลือกสายพันธุ์กาแฟอราบิก้าที่เหมาะสำหรับการเพาะปลูกกับสภาพพื้นที่ดอยตุง โดยแรกเริ่มนำต้นกล้าสายพันธุ์ดีหลากหลายสายพันธุ์ จากหลายประเทศ และจากศูนย์วิจัยและพัฒนากาแฟบนที่สูง กรมวิชาการเกษตร ไปทำการทดสอบหาสายพันธุ์ที่แข็งแรง ทนทานต่อโรค เพื่อให้ผลผลิตต่อไร่สูง และเหมาะสำหรับการปลูกบนดอย

จากความพยายามอย่างต่อเนื่องกว่า 10 ปี เนสท์เล่ประสบความสำเร็จในการคัดเลือกพันธุ์ที่เหมาะสมกับพื้นที่ ทั้งยังมีการทำแปลงทดลอง และสาธิตแก่ผู้ปลูกกาแฟ และยังมอบเมล็ดพันธุ์กาแฟที่ผลิตได้ให้แก่โครงการพัฒนาดอยตุง เพื่อนำไปเพาะเป็นต้นกล้าแจกจ่ายให้แก่ชาวเขาเพื่อนำไปเพาะปลูกต่อไป

อีกทั้งยังมีทีมนักวิชาการเกษตรของเนสท์เล่ เข้าไปให้ความช่วยเหลือผู้ปลูกกาแฟอย่างใกล้ชิดในด้านวิชาการ ทั้งการอบรมให้ความรู้ด้านต่าง ๆ ตั้งแต่การให้ปุ๋ย การตัดแต่งกิ่ง การเก็บเกี่ยว ขบวนการหลังการเก็บเกี่ยว การติดตั้งเครื่องผลิตเมล็ดกาแฟ และการสีกาแฟอย่างถูกต้อง รวมถึงการสนับสนุนทางด้านเทคโนโลยีที่เหมาะสมในการเพาะปลูก เพื่อให้ชาวเขาสามารถนำไปปฏิบัติจริงและเกิดเป็นความชำนาญในที่สุด

ที่สำคัญ เนสท์เล่ ยังส่งเสริมให้มีการปลูกกาแฟให้ตรงตามหลัก 4 C-Common Code for Coffee Community ที่มุ่งเน้นการผลิต เพื่อความยั่งยืนในมิติทางสังคม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ เพื่อให้มั่นใจว่า เกษตรกรจะได้รับผลตอบแทนที่คุ้มค่าจากการเพาะปลูกกาแฟด้วยวิธีการที่เหมาะสม

ไม่เพียงเท่านี้ คนงานที่แปลงทดสอบและพัฒนากาแฟพันธุ์อราบิก้าดอยตุง เนสท์เล่ยังจ้างแรงงานที่เป็นชาวเขาเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งพวกเขาเหล่านี้จะมีงานทำตลอดทั้งปี และโดยเฉพาะเดือนพฤศจิกายน-มีนาคม จะมีการจ้างชาวเขาเพิ่มขึ้น เพื่อให้ทันกับฤดูเก็บเกี่ยว ทำให้การทำงานเป็นไปโดยพึ่งพาอาศัยกัน เกิดเป็นการทำงานร่วมกันอย่างมีความสุข

ถึงตรงนี้ “ทาธฤษ” กล่าวเพิ่มเติมว่า การส่งเสริมอาชีพการปลูกกาแฟอย่างยั่งยืนในประเทศไทย ถือเป็นโครงการภายใต้ เนสกาแฟ แพลน (Nescafe Plan) ซึ่งเป็นโครงการระดับโลกของเนสกาแฟ ที่มุ่งสร้างความยั่งยืน ผ่านการเพาะปลูก การผลิต และการจัดหาเมล็ดกาแฟ อย่างมีความรับผิดชอบ

“เพื่อพัฒนาชุมชนเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟให้แข็งแกร่ง และมีรายได้ที่มั่นคง ยั่งยืน และตั้งเป้าที่จะพัฒนากาแฟพันธุ์ดีสู่เกษตรกร และตรงนี้เองสะท้อนถึงเจตนารมณ์ของเนสท์เล่ ในการเพิ่มพูนคุณภาพชีวิต เสริมสร้างสุขภาพดีสู่อนาคต (Enhancing quality of life and contributing to a healthier future) และมุ่งจุดประกายให้เกษตรกรผู้ปลูกกาแฟชาวไทยหันมาปลูกกาแฟคุณภาพมากขึ้น เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับอนาคตของกาแฟไทย

และจากการที่เนสท์เล่ เข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดทำแปลงทดสอบและพัฒนากาแฟพันธุ์อราบิก้า รวมถึงการส่งเสริมให้ชาวเขาในพื้นที่โครงการพัฒนาดอยตุง ให้ปลูกกาแฟอย่างยั่งยืนนั้น สะท้อนเป็นความสำเร็จ 3 ด้าน คือ

หนึ่ง ด้านเศรษฐกิจ เกษตรกรผู้ปลูกกาแฟมีรายได้เพิ่มขึ้น และยั่งยืนจากการปลูกกาแฟ มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สามารถส่งลูกหลานให้ได้เรียนหนังสือได้ ซึ่งแตกต่างจากเดิมที่เคยปลูกฝิ่นมีรายได้ และคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ไม่ดีเท่าที่ควร

สอง ด้านสังคม เมื่อชาวบ้านมีอาชีพมั่นคง เกษตรกรผู้ปลูกกาแฟก็สามารถใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัว ชุมชน ไม่จำเป็นต้องเดินทางไปขายแรงงานในเมือง และที่สำคัญ เมื่อยาเสพติดหมดไป ชาวบ้านก็มีความสุขมากขึ้น

สาม ด้านสิ่งแวดล้อม เนื่องจากโครงการพัฒนาดอยตุง ตั้งอยู่บนพื้นที่ต้นน้ำ ดังนั้นการปลูกกาแฟที่ไม่ใช้สารเคมีใด ๆ จะทำให้ลดการปนเปื้อนของสารเคมีลงสู่แหล่งน้ำ ทั้งยังเป็นพื้นที่ที่มีความปลอดภัยทางสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

จึงนับเป็นการเข้าไปมีส่วนร่วมในการยกระดับคุณภาพชีวิตชาวเขาให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน