TCP โอบอุ้มลุ่มน้ำไทย พัฒนาแหล่งน้ำ-พัฒนาชีวิตยั่งยืน

ต้องยอมรับว่ากิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อม โครงการเพื่อสังคม หรือการช่วยเหลือชุมชนในด้านต่าง ๆ เป็นสิ่งที่ “เฉลียว อยู่วิทยา” ผู้ก่อตั้งอาณาจักร “กระทิงแดง” ได้ทำมาอย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการดำเนินธุรกิจ ซึ่งไม่ใช่แค่เพียงความอยากของผู้บริหารที่จะทำ พร้อมที่ลงมือช่วยเท่านั้น

แต่หากมองในมุมขององค์กรแล้ว กลุ่มธุรกิจในเครือ “กระทิงแดง” หรือที่วันนี้ถูกผนึกกำลังเปลี่ยนมาเป็น “กลุ่มธุรกิจ TCP” ภายใต้การนำของ “สราวุฒิ อยู่วิทยา” ในฐานะประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ได้ให้ความสำคัญกับการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคม การช่วยเหลือชุมชน และการอนุรักษ์รักษาสิ่งแวดล้อม ที่เป็นเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกับกระบวนการทางธุรกิจมาจนถึงปัจจุบัน

มาวันนี้แม้ว่าแนวทางการช่วยเหลือกิจกรรม หรือโครงการเพื่อสังคมต่าง ๆ จะเปลี่ยนแปลงไปสู่การสร้างความยั่งยืนให้เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม แต่การคำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากกระบวนการผลิต การขาย และการกระจายสินค้า ซึ่งจะส่งผลต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างไร ยังถือเป็นแนวคิดสำคัญของกลุ่มธุรกิจ TCP ที่ถูกคิดและวางแผนควบคู่ไปกับการดำเนินธุรกิจ จนเรียกได้ว่าเป็นดีเอ็นเอที่ถูกส่งผ่านจากรุ่นพ่อมาสู่รุ่นลูก

เช่นเดียวกับ “โครงการ TCP โอบอุ้มลุ่มน้ำไทย” ที่กลุ่มธุรกิจ TCP ร่วมกับ “มูลนิธิอุทกพัฒน์ในพระบรมราชูปถัมภ์ (อพ.)” และ “สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (สสน.)”

มีเป้าหมายเพื่อการพัฒนาทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน บรรเทาปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง และมุ่งหวังให้ชุมชนได้มีแหล่งน้ำไว้ใช้ในการอุปโภคบริโภคอย่างเพียงพอ พัฒนาคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจของชุมชน เสริมสร้างรายได้เพิ่มขึ้นให้กับเกษตรกรอย่างยั่งยืน

ล่าสุด “กลุ่มธุรกิจ TCP” ร่วมกับ อพ. สสน. พร้อมด้วยเครือข่ายชุมชนบ้านแม่ขมิง จ.แพร่ และจิตอาสาภายในกลุ่มธุรกิจ TCP เดินหน้าโครงการบริหารจัดการแหล่งน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำยม เพื่อเรียนรู้การบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ จ.แพร่ และร่วมกันทำกิจกรรมปรับปรุงระบบส่งน้ำที่เป็นภูมิปัญญาชาวบ้านล้านนา ที่เรียกว่า “แตต้าง” ซึ่งเป็นการผันน้ำจากแหล่งน้ำเข้าสู่พื้นที่เกษตรกรรม รวมถึงสร้างรายได้ให้กับชุมชนผ่านการเรียนรู้เกษตรตามแนวทฤษฎีใหม่

“สราวุฒิ” เริ่มต้นเล่าให้ฟังว่า เพราะน้ำเป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับมนุษย์ทุกคน ทั้งยังเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตเครื่องดื่มของกลุ่มธุรกิจ TCP ฉะนั้นแล้วการทำงานในเรื่องการอนุรักษ์ และพัฒนาทรัพยากรน้ำ เพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง จึงเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องร่วมมือกัน

“อย่างในพื้นที่ที่เรามาทำงานในครั้งนี้ถือเป็นแหล่งต้นน้ำที่สำคัญของประเทศ และเราในฐานะภาคธุรกิจจะทำอย่างไรที่ช่วยให้เกิดการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ และยั่งยืน ซึ่งผู้ที่จะได้รับประโยชน์เป็นกลุ่มแรก คือ ชุมชนในพื้นที่ ส่วนปลายทางที่น้ำไหลไป คือ คนส่วนใหญ่ของทั้งประเทศ และนี่ถือเป็นโครงการที่เกี่ยวข้องกับชุมชน สิ่งแวดล้อม ที่เราดำเนินการภายนอกองค์กร”

“ขณะที่ภายในองค์กร กลุ่มธุรกิจ TCP ได้มีการดำเนินงานด้านความยั่งยืนมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งได้มีการวางกรอบการทำงานที่ชัดเจน โดยเฉพาะแผนธุรกิจที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน และอนาคต จำเป็นต้องคำนึงถึงผลกระทบทางด้านสังคม และสิ่งแวดล้อม อย่างในโรงงานเราใช้น้ำเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตสินค้า ซึ่งตั้งแต่ยุคของคุณพ่อ (เฉลียว อยู่วิทยา) ที่ย้ายโรงงานไปยัง จ.ปราจีนบุรี ได้วางแผนให้พื้นที่กว่าครึ่งหนึ่งของโรงงานเป็นบ่อเก็บน้ำ”

“เพราะในแต่ละปี เราใช้น้ำราว 3.7-3.8 ล้านลิตรต่อปี ขณะที่บ่อที่ใช้กักเก็บน้ำสามารถบรรจุได้ราว 3.5 ล้านลิตร และถ้าไม่มีน้ำจากภายนอก เราสามารถใช้น้ำเหล่านี้ได้ถึง 11 เดือน ซึ่งถือเป็นแนวคิดของคุณพ่อที่มองว่า หากเรามาตั้งโรงงานต้องไม่สร้างผลกระทบต่อชุมชนโดยรอบ เนื่องจากพื้นที่โดยรอบทำการเกษตร เป็นไร่นา และเมื่อถึงฤดูแล้งเราไม่ใช้น้ำจากภายนอก แต่จะใช้จากบ่อของเรา และมีบางปีที่เราส่งน้ำไปให้ชุมชนโดยรอบ ซึ่งถือเป็นการเกื้อกูลกันระหว่างธุรกิจกับชุมชน”

“สราวุฒิ” กล่าวอีกว่า เรื่องของการใช้พลังงานในโรงงานโดยเฉพาะไฟฟ้า บริษัทได้ลงทุนติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาของโรงงาน แม้ว่าจะใช้เงินลงทุนสูง และความคุ้มทุนต้องใช้ระยะเวลานาน แต่ถ้ามองความคุ้มค่าในระยะยาว ทั้งการลดต้นทุนค่าใช้จ่าย เป็นพลังงานสะอาดที่ลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ทั้งยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญมากกว่า ขณะที่เชื้อเพลิงที่เดิมใช้น้ำมันเตา แต่มาวันนี้บริษัทใช้พลังงานชีวมวลจากกะลาปาล์มในการเผาไหม้ และนำสิ่งที่เหลือจากการเผานั้นมาต่อยอดพัฒนาเป็นปุ๋ย เพื่อใช้ในการเกษตรอีกด้วย

“ฉะนั้นแล้ว กระบวนการทำงานทุก ๆ วันของเราต้องคำนึงถึงปัจจัย หรือผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่มองแยกส่วนแบบเป็นกิจกรรมเท่านั้น ตรงนี้จึงเป็นที่มาของกรอบการทำงานด้านความยั่งยืน และมีการเลย์เอาต์ไปในบริษัทอย่างชัดเจน บางส่วนมีการดึงเอาเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการทำงาน”

สำหรับกิจกรรมในครั้งนี้ถือเป็นการรวมพลังของชุมชน ตลอดจนจิตอาสาของกลุ่มธุรกิจ TCP ในการมาช่วยซ่อมแซมแตต้าง ที่อยู่ในสภาพชำรุดเสียหายให้กลับมาใช้งานได้เหมือนเดิม โดยแตต้างเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านล้านนาใช้ในการจัดการน้ำ เพื่อให้ชาวบ้านมีน้ำใช้อุปโภค บริโภค ตลอดจนใช้เพื่อการเกษตรอย่างเพียงพอ ทั่วถึง และเท่าเทียมกัน ผ่านลำเหมืองตามความลาดชันของพื้นที่ แตต้างจึงเป็นหนึ่งในวิธีการบริหารจัดการน้ำแบบพึ่งพาตนเอง โดยมีแก่เหมือง แก่ฝาย เป็นคนบริหารจัดการน้ำ และจัดสรรน้ำเข้าพื้นที่เกษตร ตามกฎหมายมังรายศาสตร์ที่มีมาตั้งแต่สมัยพ่อขุนมังราย

ถึงตรงนี้ “สราวุฒิ” บอกว่า ตามแผนการทำงานของโครงการ TCP โอบอุ้มลุ่มน้ำไทย ระยะเวลา 5 ปี ระหว่างปี 2562-2566 คาดว่าจะช่วยให้ชุมชนในลุ่มน้ำยม และลุ่มน้ำปราจีน ได้กว่า 16,000 ครอบครัว ใน 6 จังหวัด ให้เข้าถึงแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคมากกว่า 12 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็น 3 เท่าของปริมาณน้ำที่กลุ่มธุรกิจ TCP ใช้ตลอดกระบวนการ และคาดว่าจะสร้างรายได้เพิ่มขึ้นให้กับชุมชนจากการมีน้ำใช้ในการเกษตรอย่างเพียงพอ โดยกลุ่มธุรกิจ TCP ได้สนับสนุนเงินในการดำเนินโครงการไว้ราว 100 ล้านบาท

“อย่างไรก็ตาม หากเราต้องการบริหารจัดการน้ำให้เกิดผลสำเร็จ จำเป็นต้องมีวิธีการ มีนโยบายที่ชัดเจน รวมถึงต้องเกิดจากการร่วมมือร่วมใจของผู้คน อย่างเช่นที่ชุมชนบ้านแม่ขมิง จ.แพร่ ที่ชาวบ้านทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ จนเกิดการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ สร้างความอยู่ดี กินดี พัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คนในพื้นที่”

ให้ทุกคนอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข และยั่งยืน