58 ปี “ไทยออยล์” ผุดศูนย์ฝึกอาชีพสร้างรายได้ชุมชน

หลังจากที่คณะกรรมการบริหาร (บอร์ด) บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP ได้อนุมัติให้ “วิรัตน์ เอื้อนฤมิต” นั่งในตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ (CEO) นอกเหนือจากภารกิจในการนำธุรกิจการกลั่นน้ำมันฝ่าวงล้อมราคาน้ำมันตลาดโลกที่ผันผวนอยู่ในขณะนี้แล้ว ยังต้องสานต่อนโยบายด้านการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อมต่อจากนายอธิคม เติบสิริ อดีต CEO ที่วางรากฐานการดูแลทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง นับเป็นองค์กรที่แข็งแกร่งทั้งธุรกิจและเข้มแข็งในการดูแลผู้ที่มีความเกี่ยวข้องทั้งด้านสังคม สิ่งแวดล้อม ตลอดระยะเวลา 58 ปีที่ผ่านมา จนได้รับความไว้ใจและเชื่อมั่นจากชุมชนที่อยู่รอบพื้นที่โรงกลั่นน้ำมันไทยออยล์ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี

สิ่งที่ทำให้โรงกลั่นน้ำมันไทยออยล์สามารถอยู่ร่วมกับสังคมและชุมชนในพื้นที่ใกล้เคียงได้นั้น “วิรัตน์ เอื้อนฤมิต” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP ระบุว่า ไม่ว่าจะทำธุรกิจอะไรก็ตาม ผู้ประกอบการต้องดูแลชุมชนให้ได้อย่างทั่วถึง มีความตั้งใจที่จะดูแลและร่วมกันพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็ง เนื่องจากไทยออยล์ทำธุรกิจการผลิตน้ำมันและปิโตรเคมี จึงต้องให้น้ำหนักไปที่เรื่องสังคมและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยกำหนดเป็นกรอบไว้ชัดเจน 3 ส่วนคือ 1) เป็นบริษัทที่มีธรรมาภิบาล มีจริยธรรม มีการบริหารจัดการที่ดี good corperate governance

2) คำนึงถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกด้าน ทั้งคู่ค้า ลูกค้า และผู้ถือหุ้น รวมไปจนถึงชุมชน สังคม หรือแม้แต่องค์กรเอกชน (NGO) ที่ดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อม

และ 3) ยึดหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืนเพื่อสร้างดุลยภาพใน 3 มิติ คือ สังคม เศรษฐกิจ และด้านสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ การดำเนินการด้านดูแลสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมที่กล่าวมาข้างต้น ที่ดำเนินการภายใต้หลัก “sustainable energy for health care” ล่าสุดได้สนับสนุนการก่อสร้างอาคารไทยออยล์ มูลค่ากว่า 100 ล้านบาท เพื่อใช้เป็นอาคารอุบัติเหตุและฉุกเฉินให้กับโรงพยาบาลแหลมฉบัง พร้อมทั้งเพิ่มศักยภาพในการรักษาและพยาบาลให้กับผู้ป่วยจากอุบัติเหตุและเหตุฉุกเฉินต่าง ๆ ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดการเสียชีวิตและทุุพพลภาพ

“วิรัตน์” ขยายความถึงเหตุจำเป็นที่จะต้องมีอาคารเพื่อรองรับเหตุการณ์ฉุกเฉินว่า ในช่วงที่ผ่านมามีการเข้ารับบริการของโรงพยาบาลมีอัตราที่เพิ่มขึ้นทุกปี จึงตัดสินใจช่วยเหลือลงทุน 100 ล้านบาท เพื่อขยายพื้นที่ในการรับบริการจากประชาชนได้ดีขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นยังต่อยอดการช่วยเหลือสังคมโดยใช้ประโยชน์จากหลังคาของอาคารอุบัติเหตุและฉุกเฉินดังกล่าวในการติดตั้ง

แผงพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (solar rooftop) ให้กับสถานพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขทั่วประเทศ เพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน แล้วนำเงินจากส่วนที่ประหยัดได้นั้น ไปพัฒนาส่วนอื่น ๆ แทน ถือเป็นโครงการเพื่อสังคมแบบ create share value (CSV) การดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องและเป็นมิตรกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมด

นอกจากนี้ไทยออยล์ยังได้ร่วมมือกับบริษัทในเครือ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ในการพัฒนาตามแนวทางที่เรียกว่า “social enterprise” หรือ SE เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชน ด้วยการตั้งบริษัท สานพลังวิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด เพื่อดำเนินการด้าน SE โดยเฉพาะ และยังใช้บริษัทในเครืออย่างบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์จี้ จำกัด หรือ GPSC ที่บริษัทแม่ต้องการให้เป็น flagship ด้านไฟฟ้า มาดูแลติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปเพราะเป็นบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญด้านไฟฟ้า รับหน้าที่ติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์ให้กับโครงการของไทยออยล์

“ในกลุ่ม ปตท.ถือว่าเป็นผู้บุกเบิกเรื่องกิจกรรมเพื่อสังคมอยู่แล้ว เราทำมาตั้งแต่เริ่มทำธุรกิจโรงกลั่นน้ำมัน เพราะเรามองว่าทุกอย่างต้องเดินไปด้วยกันอย่างยั่งยืน ทั้งภาคธุรกิจ สังคม และชุมชน” นายวิรัตน์กล่าว

ด้าน “วิโรจน์ มีนะพันธ์” รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ด้านกำกับองค์กรและกิจการสัมพันธ์และปฏิบัติงานในตำแหน่งรักษาการผู้จัดการฝ่ายกิจการสัมพันธ์ ระบุถึงการดำเนินการเพื่อดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อมว่า ในแง่ของเศรษฐกิจของจังหวัดชลบุรีถือว่ามีการขยายตัวอย่างมาก อีกทั้งมีแรงงานต่างถิ่นเข้ามาทำงานจำนวนมาก โดยเฉพาะในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง ทำให้เกิดภาวะ “over load” ในแง่ของงบประมาณที่จะจัดสรรด้านการรักษาพยาบาล เพราะไม่สามารถปฏิเสธการรักษาได้ แต่สำหรับไทยออยล์มองว่าประเด็นเหล่านี้ต้องเข้ามาช่วยกันแก้ปัญหาอย่างต่อเนื่อง จึงมองไปที่การก่อสร้างอาคารของโรงพยาบาลเพิ่มเติม

แม้ว่าจะแก้ไขเรื่องความแออัดของผู้ป่วยที่เข้ามารักษาพยาบาลแล้ว ยังมีปัญหาขาดแคลนพยาบาลพ่วงเข้ามาอีกด้วย ไทยออยล์จึงจัดตั้ง “โครงการบัณฑิตรักษ์ถิ่น” คือการให้ทุนกับนักศึกษาด้านพยาบาล แต่มีเงื่อนไขคือ เมื่อเรียนจบต้องกลับมาทำงานที่นี่ และยังมีกองทุนโรงพยาบาลก็เข้ามาสนับสนุน ภายใต้โครงการของไทยออยล์ จะใช้พื้นที่โรงพยาบาลศรีราชาเป็นศูนย์กลาง นอกจากนี้ยังมีศูนย์สุขภาพและการเรียนรู้ ที่ดำเนินการมากว่า 10 ปี อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกับโรงกลั่นน้ำมันของไทยออยล์ นอกจากนี้ยังมีบริการด้านสุขภาพอื่น ๆ คือคลินิกทำฟัน การทำระบบน้ำประปา เป็นต้น

นายวิโรจน์อธิบายต่อถึงความคืบหน้าโครงการติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์ให้กับกลุ่มเป้าหมายไปแล้ว 2 โครงการ คือ 1) โรงเรียนเกาะสีชัง เนื่องจากระบบสายส่งยังไม่ครอบคลุมไปถึง จำเป็นต้องผลิตไฟฟ้าใช้เอง โดยใช้น้ำมันดีเซลที่มีราคาสูงเป็นเชื้อเพลิง และ 2) โรงพยาบาลธนารักษ์ จังหวัดแม่ฮ่องสอน นอกจากจะได้ลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานแล้ว ยังได้รับการสนับสนุนจากกองทุนเพื่อส่งเสริมและอนุรักษ์พลังงาน การดำเนินการในลักษณะนี้ เพราะไทยออยล์ต้องการเน้นให้เกิดการมีส่วนร่วมกับชุมชน

“การให้อยู่ฝ่ายเดียว ทั้งที่ผู้รับอาจไม่ต้องการก็ได้ ความยั่งยืนก็ไม่มี ในโรงกลั่นน้ำมันก็ใช้หลัก 3 ประสาน โรงกลั่น ชุมชน และหน่วยงานภาครัฐ ที่มีการประชุมทุกเดือน เพราะในบางช่วงที่โรงกลั่นหยุดซ่อมบำรุงจะใช้เวทีนี้ในการสื่อสาร หรือในกรณีที่ชุมชนมีปัญหาที่ต้องการบอกก็ใช้เวทีนี้ เสมือนเป็นเครื่องมือสื่อสารไปยังชุมชน หากมีความเดือดร้อนต้องการให้ช่วย อย่างเช่น โรงพยาบาลแห่งนี้ก็เป็นตัวอย่างของภาคธุรกิจและชุมชนที่ร่วมมือกันพัฒนา”

เมื่อถามถึงโครงการที่จะเกิดขึ้นในอนาคตนั้น “วิโรจน์” ฉายภาพว่า ขณะนี้กำลังพิจารณาที่จะพัฒนา “ศูนย์ฝึกอาชีพ” ให้ตอบโจทย์ต่อความต้องการของตลาด ซึ่งคาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ในปี 2563 นี้ โดยเริ่มจากการฝึกแบบง่าย ๆ ก่อน เช่น การฝึกอาชีพด้านอาหาร เพื่อให้ผู้เข้ารับการฝึกสามารถออกไปสร้างอาชีพของตัวเองได้ ซึ่งขณะนี้ไทยออยล์อยู่ระหว่างสำรวจความต้องการฝึกอาชีพของชุมชนและต้องแยกลำดับอายุและประเภทอาชีพที่ชุมชนสนใจ อีกทั้งอาชีพที่มีความเฉพาะก็จะนำวิศวกรของไทยออยล์เข้ามาช่วยฝึกอาชีพให้ด้วย และเมื่อผ่านการอบรมแล้วยังสามารถเข้าทำงานกับไทยออยล์ได้อีกด้วย


“เพราะชุมชนถือเป็นเพื่อนบ้านที่ดีและเป็นรั้วบ้านที่ดีให้กับไทยออยล์ เราไม่ได้มาฉาบฉวย พิสูจน์ได้จากการทำธุรกิจของเราที่อยู่มานานถึง 58 ปีแล้ว เราจะทำงานดูแลสังคมไปตามสภาพปัญหาเป็นที่ที่ไป ตอนนี้กำลังดูแนวคิดของทางจังหวัด และจะเข้าไปร่วมมือ ไม่ว่าเราจะทำโครงการในรูปแบบใดก็ตาม เรามองความยั่งยืนก่อนเป็นอันดับแรก รวมถึงในข้อเท็จจริงนั้น การร่วมดูแลสังคม ชุมชนและสิ่งแวดล้อมนั้น ทั้ง 2 ฝ่ายคือผู้ประกอบการและชุมชนต้องได้รับประโยชน์แบบ win-win”