“ชาร์ป” ใช้จุดแข็งดูแลสังคม ชูพลาสม่าคลัสเตอร์สู้ฝุ่น PM 2.5

ปัญหาโลกร้อน (climate change) ยังมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้นในทุกปีแล้ว และปัญหาเรื่องฝุ่น PM 2.5 ที่เป็นปัญหาและส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ทำให้ บริษัท ชาร์ป ไทย จำกัด ในฐานะผู้ผลิตเครื่องฟอกอากาศ จึงใช้จุดแข็งด้านเทคโนโลยีที่มีอยู่นำมาผสมผสานระหว่างการทำการตลาดและและรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมขององค์กร หรือ CSR (corporate social responsibility) ให้ดำเนินการไปพร้อมกันได้ ในโครงการ “Write to Breathe” ด้วยการบริจาคเครื่องฟอกอากาศให้กับพื้นที่ที่ต้องเผชิญปัญหาฝุ่นมลพิษ PM 2.5 รวมทั้งสิ้น 40 เครื่อง รวมมูลค่า 559,600 บาท ให้กับสถานศึกษาในจังหวัดเชียงใหม่ คือ โรงเรียนสันกำแพง, อนุบาลเชียงใหม่, พุทธิโสภณ, บ้านสันกำแพง, บ้านเชิงดอย (ดอยสะเก็ดศึกษา), คำเที่ยงอนุสรณ์, วัดดอนจั่น, วัดสวนดอก, สถานสงเคราะห์เด็กกำพร้าวัดดอนจั่น เชียงใหม่ และสถานสงเคราะห์เด็กกำพร้าบ้านเวียงพิงค์

“นายโรเบิร์ต อู๋” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ชาร์ปไทยและชาร์ปมาเลเซีย เล่าถึงที่มาที่ไปของโครงการ Write to Breathe ว่า ชาร์ปทำธุรกิจอยู่ในประเทศไทยมากว่า 80 ปีแล้ว และเห็นถึงความสำคัญในการให้ประชาชนตระหนักรู้ในการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เพราะขณะนี้ปัญหามลพิษมีแต่เพิ่มความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ในขณะเดียวกันก็ยังไม่สามารถหาวิธีป้องกันไม่ให้เกิดฝุ่น PM 2.5 เพิ่มขึ้น ดังนั้น เพื่อบรรเทาปัญหาดังกล่าวเครื่องฟอกอากาศจึงกลายเป็นความจำเป็นที่ต้องมีไว้เพื่อป้องกันฝุ่นและเชื้อโรคต่าง ๆ ในอากาศ จึงนำมาเป็นเครื่องมือที่จะช่วยเหลือสังคมไปพร้อมกับการทำการตลาดไปด้วยในตัว

การดำเนินการด้าน CSR ต่อจากนี้ของชาร์ปจะดำเนินการอย่างเป็นทางการและมีความต่อเนื่องมากขึ้นด้วยการขยายโครงการ Write to Breathe ในพื้นที่กรุงเทพฯและตามจังหวัดใหญ่ที่มีปัญหาเรื่องฝุ่น PM 2.5 โรเบิร์ตระบุเพิ่มเติมอีกว่า ในเครื่องฟอกอากาศของชาร์ปมีจุดแข็งอยู่ที่เทคโนโลยีที่เรียกว่า “พลาสม่าคลัสเตอร์” (plasmacluster) สามารถฆ่าเชื้อราและเชื้อโรคอื่น ๆ

ที่อยู่ในอากาศได้ ทั้งนี้ ชาร์ปได้เริ่มโครงการดังกล่าวในสถาบันการศึกษาในระดับชั้น “เด็กเล็ก” ก่อน อย่างเช่น โรงเรียนอนุบาลเชียงใหม่ หลังจากนั้นจะขยายการบริจาคไปยังพื้นที่อื่น ๆ ในอนาคต

“อากาศกำลังเลวร้ายลงเรื่อย ๆ ในหลายพื้นที่ของโลก โดยเฉพาะในไทยก็ประสบปัญหาด้วยเช่นกัน ชาร์ปจึงต้องการผลักดันเทคโนโลยีเครื่องฟอกอากาศที่ช่วย “ลดฝุ่น” จึงดึงเทคโนโลยีดังกล่าวขึ้นมาทำโครงการ CSR ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของบริษัทแม่ (ชาร์ป คอร์ปอเรชั่น จำกัด) ในประเทศญี่ปุ่น ที่ยังคงมุ่งพัฒนาเทคโนโลยีพลาสม่าคลัสเตอร์ให้ดีขึ้นเรื่อย ๆ อีกทั้งตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าในอนาคต”

เทคโนโลยีพลาสม่าคลัสเตอร์ ที่ชาร์ปภูมิใจนำเสนอนั้น “มณีนภา ดวงดารา” ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ชาร์ป ไทย จำกัด ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า จากสถานการณ์ของฝุ่น PM 2.5 เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ยอดขายเครื่องฟอกอากาศเพิ่มขึ้น ถึงขั้นที่ว่า “ขาดตลาด” เพราะนอกจากกรุงเทพฯ เชียงใหม่ ในพื้นที่ภาคใต้ก็มีความต้องการใช้เพิ่มขึ้นเช่นกัน

จากกรณีที่ฝุ่นควันจากอินโดนีเซีย ทำให้โรงงานผลิตสินค้าไม่ทันกับความต้องการใช้ เพราะโดยปกติแผนการผลิตไม่ได้รองรับแค่ความต้องการในประเทศเท่านั้น บางส่วนต้องส่งออกไปต่างประเทศ จึงไม่สามารถเพิ่มการผลิตได้ในทันที

“ปัญหาโลกร้อนเราเองก็มองว่ามันเป็นปัญหาถาวรไปแล้ว อย่างบางจังหวัดเช่น โซนพัทยา จังหวัดชลบุรี ที่เป็นสถานที่ท่องเที่ยวในบางโซนก็มีปัญหาเรื่องฝุ่นและต้องใช้เครื่องฟอกอากาศก็มี ชาร์ปเชื่อมั่นว่าตลาดจะขยายตัวต่อเนื่องได้ เพราะสามารถใช้ได้กับเด็กและผู้ป่วย ลูกค้าส่วนใหญ่คือ โรงพยาบาล ตอนนี้เรามีดีลเลอร์ทั่วประเทศ

กว่า 200 ราย ที่ส่งต่อเทคโนโลยีเพื่อให้อากาศดีขึ้น”

เมื่อถามว่า พลาสม่าคลัสเตอร์จัดการฝุ่น PM 2.5 ในอากาศได้อย่างไรนั้น

“มณีนภา” อธิบายว่า เทคโนโลยีพลาสม่าคลัสเตอร์ใช้ธรรมชาติเป็น “ต้นแบบ” อธิบายง่าย ๆ คือ สภาพอากาศในป่าจะมีการผลิตประจุบวกลบขึ้นมาทำให้อากาศสดชื่นขึ้น ทั้งนี้ โปรดักต์ของชาร์ปมีโจทย์สำคัญคือจะทำอย่างให้ชีวิตของมนุษยชาติดี สะดวกสบาย สะอาด และปลอดภัยมากขึ้น

“หากวันนี้เรายังมีพื้นที่ป่าอยู่เหมือนเดิม เครื่องฟอกอากาศก็ไม่มีความจำเป็น เทคโนโลยีของเราเลียนแบบระบบธรรมชาติ และไม่ได้จำกัดอยู่แค่ที่เครื่องฟอกอากาศเท่านั้น ในโปรดักต์อื่น ๆ ของชาร์ปก็จะวิจัยและพัฒนาจากธรรมชาติแทบทั้งสิ้น เราผลิตเครื่องที่เหมือนกับระบบของธรรมชาติในการปล่อยประจุ ฉะนั้นโปรดักต์อื่น ๆ ในอนาคตเราก็ต้องพิจารณาจากธรรมชาติก่อน

อย่างปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่เกิดขึ้นนี้ ความจริงแล้วมีมานานแล้ว เพียงแต่ไม่มากเหมือนที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ทำให้คนอยากรู้ว่าฝุ่น PM 2.5 คืออะไร และส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันอย่างไร ฉะนั้นเมื่อปัญหาเกิดขึ้นแล้ว หากยังแก้ปัญหาไม่ได้จึงต้องหาตัวช่วยอย่างเช่น เครื่องฟอกอากาศ”

ทั้งนี้ “ชาร์ป คอร์ปอเรชั่น” กำลังอยู่ในขั้นตอนการวิจัยและพัฒนา (R&D) เทคโนโลยีพลาสม่าคลัสเตอร์ให้สามารถพกพาในชีวิตประจำวันได้ รวมถึงอยู่ระหว่างพัฒนาโปรดักต์ใหม่ ที่การใช้งานมุ่งไปที่ “สร้างสมาธิ” ให้กับผู้ใช้โปรดักต์ ซึ่งคาดว่าเร็ว ๆ นี้จะทำการตลาดสินค้าดังกล่าวทั้งในประเทศญี่ปุ่นรวมถึงตลาดในไทยด้วย

อย่างไรก็ตาม สินค้าในหมวดเครื่องใช้ไฟฟ้ามีการมองยาวไปในอนาคตว่า หากสินค้าหมดอายุก็จะกลายเป็นเพียงขยะ ในขณะที่ทั่วโลกต่างพยายามพัฒนาเรื่องของการทำขยะให้เป็นศูนย์ หรือ zero west ซึ่งนโยบายของชาร์ปก็ต้องการให้สินค้า วัสดุ อุปกรณ์ต่าง ๆ สามารถย่อยสลายได้อย่างรวดเร็ว ในประเด็นนี้ต้องให้ความสำคัญเช่นเดียวกัน ผู้ผลิต-ผู้ใช้ต้องร่วมแสดงความรับผิดชอบต่อผลิตภัณฑ์ นั่นหมายถึงว่า ต้นทุนในการกำจัดต้องร่วมกันรับภาระ

ขณะนี้สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมดอยู่ในระหว่างพิจารณา ว่าในเรื่องของความรับผิดชอบต่อผลิตภัณฑ์จะต้องจ่ายอย่างไร โดยเฉพาะในแง่ของการทำลาย แต่สำหรับชาร์ปจะต้องคิดหาวิธีในการทำให้โปรดักต์ย่อยลสายได้ แต่เนื่องจากวงจรที่เกี่ยวข้องทั้งหมดมีเป็นจำนวนมาก ทำให้มีความเห็นที่แตกต่างกันของเหล่าซัพพลายเออร์ ตั้งแต่ผู้จำหน่ายไปยังผู้ใช้ จึงต้องพิจาณารายละเอียดกันมาก เพราะจะมีคำถามตามมาอีกว่า จะทำอย่างไรถึงจะเหมาะสม

และที่สำคัญคือ “ทำได้จริง” ไม่ให้สินค้าของบริษัทอยู่เป็นปัญหาให้กับส่วนอื่น ๆ ในอนาคต

ในช่วงท้ายทั้ง “โรเบิร์ต” และ “มณีนภา” ตอกย้ำแนวคิดในการทำ CSR ของชาร์ปไทยว่า จะต้องเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมแก้ไขปัญหาให้สังคม และเพื่อให้การดำเนินงานด้าน CSR มีความจริงจังและต่อเนื่องนั้น จึงนำทีมการทำการตลาด การสื่อสาร และรวมเรื่อง CSR เข้ามาไว้ร่วมกัน

นั่นหมายถึงว่านอกเหนือจากจะต้องรักษาการเป็นเบอร์ 1 ของตลาดเครื่องฟอกอากาศแล้ว ต้องคืนกำไรกลับสู่สังคมด้วยการใช้จุดแข็งที่มีใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดด้วย