อินโดรามา เวนเจอร์ส ตั้งเป้าส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน

เศรษฐกิจแบบหมุนเวียน (circular economy) เป็นระบบเศรษฐกิจที่มุ่งเรื่องการใช้ทรัพยากรคุ้มค่าอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน ทั้งในมิติด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยบริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) หรือไอวีแอล ผู้ดำเนินธุรกิจรีไซเคิลครบวงจรในประเทศไทยมานานกว่า 8 ปี ได้ยึดถือระบบเศรษฐกิจแบบหมุนเวียนเป็นหลักในการดำเนินธุรกิจ

จุดเด่นของบริษัท คือ การมีเทคโนโลยีล้ำหน้าจากยุโรป ในการรีไซเคิลพลาสติก PET (polyethylene terephthalate) อย่างครบวงจรสู่ผลิตภัณฑ์เม็ดพลาสติกรีไซเคิล rPET และ rHDPE ที่โรงงานในจังหวัดนครปฐม โดยแต่ละปีสามารถรีไซเคิลขวด PET เฉลี่ย 1.65 พันล้านขวด ซึ่งช่วยประเทศไทยลดการใช้น้ำมันดิบกว่า 530,000 บาร์เรล ลดการผลิตก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากถึง 118 ล้านกิโลกรัม

“ริชาร์ด โจนส์” รองประธานอาวุโสและหัวหน้าฝ่ายสื่อสารองค์กร ความยั่งยืน และทรัพยากรบุคคล บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในช่วง 15 ปีแรก บริษัทของเราอยู่ในนามอินโดรามา โฮลดิ้ง เริ่มต้นจากการเป็นผู้ผลิตเส้นใยขนสัตว์รายแรกของประเทศไทย ก่อนจะก้าวเข้าสู่ธุรกิจเคมีภัณฑ์ และประสบความสำเร็จในฐานะผู้ผลิต PET และเส้นใยโพลีเอสเตอร์รายใหญ่ที่สุดในประเทศ จากนั้นจึงมีการขยายธุรกิจไปยังภูมิภาคต่าง ๆ โดยเข้าซื้อกิจการในทวีปอเมริกา และทวีปยุโรป จนทำให้เป็นผู้ผลิตสารตั้งต้น PTA รายใหญ่ในอุตสาหกรรมและเป็นผู้ผลิต PET ระดับโลก

“เราเริ่มเข้าสู่ธุรกิจรีไซเคิลเป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี 2554 เพื่อตอบสนองความท้าทายในการจัดการพลาสติกอย่างเป็นรูปธรรม ปัจจุบันมีโรงงานรีไซเคิล 11 แห่งทั่วโลก ในเนเธอร์แลนด์, ไอร์แลนด์, ฝรั่งเศส, สหรัฐอเมริกา, เม็กซิโก รวมถึงโรงงานรีไซเคิลในประเทศไทย ซึ่งไอวีแอลก่อตั้งโรงงานรีไซเคิลโพลีเอสเตอร์และพลาสติก PET ครบวงจรในประเทศไทย เป็นครั้งแรกในปี 2557 และเป็นโรงงานรีไซเคิลแห่งแรกในประเทศไทยที่ใช้เทคโนโลยีการผลิตจากยุโรป”

“ปัจจุบันลูกค้าของอินโดรามา เวนเจอร์ส ในภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลก มีความต้องการใช้วัสดุ และบรรจุภัณฑ์ที่ผลิตจากรีไซเคิลของเราอย่างต่อเนื่อง เช่น ประเทศญี่ปุ่น, ออสเตรเลีย และสหภาพยุโรป ซึ่งประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปทั้ง 28 ประเทศ ยอมรับการนำเม็ดพลาสติกรีไซเคิลมาผลิตเป็นบรรจุภัณฑ์สำหรับอาหาร แสดงให้เห็นว่าเม็ดพลาสติกรีไซเคิลได้มาตรฐานและปลอดภัย โดยเยอรมนีมีอัตราการนำขวดพลาสติกมารีไซเคิลสูงสุดในสหภาพยุโรป มากถึงร้อยละ 94 ส่วนในเอเชีย ประเทศญี่ปุ่นมีอัตราการนำพลาสติกมารีไซเคิลสูงสุด มากถึงร้อยละ 83”

“ผลเช่นนี้จึงทำให้เราตั้งเป้าหมายการรีไซเคิลขวดพลาสติก PET เพิ่มขึ้นเป็น 750,000 ตัน ในปี 2568 ซึ่งสอดคล้องกับคณะกรรมาธิการยุโรปที่ประกาศเป้าหมายที่จะให้เพิ่มสัดส่วนการใช้เม็ดพลาสติก PET รีไซเคิล (rPET) เป็นร้อยละ 25 ของเม็ดพลาสติกที่ใช้ในการผลิตบรรจุภัณฑ์สำหรับอาหารและเครื่องดื่ม นอกจากนั้น เรากำลังร่วมมือกับ 2 สตาร์ตอัพระดับโลก ได้แก่ Loop Industries ในอเมริกาเหนือ และ Ioniqa ในยุโรป เพื่อพัฒนานวัตกรรมเคมิคอลส์รีไซเคิล ซึ่งจะสามารถทำให้ PET ที่ผ่านการใช้งานแล้วแตกตัวจนถึงระดับโมเลกุลพื้นฐาน โดยเทคโนโลยีนี้จะทำลายข้อจำกัดในการรีไซเคิล PET ที่มีสี ซึ่งเป็นปัญหาของอุตสาหกรรมรีไซเคิลมายาวนาน โดยคาดว่าการพัฒนาเทคโนโลยีอันล้ำสมัยจะแก้ไขปัญหาขยะทั่วโลกนี้สำเร็จในปี 2563”

“อนิเวช ติวารี” หัวหน้าโรงงานอินโดรามา โพลีเอสเตอร์ อินดัสตรี้ส์ นครปฐม เปิดเผยว่า โรงงานรีไซเคิลในไทยที่จังหวัดนครปฐมดำเนินธุรกิจรีไซเคิลขวดพลาสติก ผลิตเส้นใยและเม็ดพลาสติก PET รีไซเคิล (rPET) โดยมีกำลังผลิตเส้นใยโพลีเอสเตอร์ จำนวน 120,000 ตันต่อปี และเม็ดพลาสติกรีไซเคิล 29,000 ตันต่อปี เพื่อรองรับลูกค้าในตลาดหลากหลายกลุ่ม

“เพื่อสร้างคุณค่าสูงสุดให้กับวัสดุที่ใช้งานแล้ว เราจึงพัฒนาความสามารถในการรีไซเคิลฝาขวด HDPE และฉลาก PP ส่วนฉลาก PVC ซึ่งปัจจุบันได้จ้างบริษัทรับจัดเก็บตามข้อกำหนดของรัฐบาล อยู่ระหว่างการคิดค้นวิธีนำมาใช้ประโยชน์ได้ใหม่อีกด้วย นอกจากนี้ เรายังหมุนเวียนน้ำในโรงงานให้กลับมาใช้ใหม่ได้ถึงร้อยละ 80”

นับเป็นบริษัทที่ดำเนินงานสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนตามกรอบสหประชาชาติ (The UN Sustainable Development Goals) ที่ส่งเสริมการใช้ทรัพยากรและการผลิตอย่างยั่งยืน