“ฟิลิปส์” ช่วยผู้ป่วยโรคหัวใจ มอบเครื่องมือ เข้าถึงการตรวจเพิ่ม

ฟิลิปส์มุ่งมั่นที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิต และความเป็นอยู่ของคนทั่วโลกด้วยนวัตกรรมที่มีคุณค่า โดยมีเป้าหมายที่จะช่วยพัฒนาความเป็นอยู่ของผู้คนทั่วโลกประมาณ 3 พันล้านคน ภายในปี 2568 เพื่อให้ถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ จึงฟิลิปส์ทำโครงการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพของคนบนโลกอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุด บริษัท ฟิลิปส์ (ประเทศไทย) จำกัด ริเริ่มโครงการช่วยเหลือสังคม ภายใต้ชื่อ “ดูแลกาย ห่วงใยหัวใจ เริ่มที่ตัวคุณ” ด้วยการสนับสนุนการทำงานของสมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และชมรมคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจแห่งประเทศไทย เพื่อออกหน่วยตรวจโรคหัวใจด้วยเครื่องตรวจคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจ (echocardiography) พร้อมรณรงค์เรื่องการให้ความรู้เกี่ยวกับโรคหัวใจแก่ประชาชนทั่วไป ณ โรงพยาบาลกระบี่ อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่

โดยเล็งเห็นว่าโรคหัวใจถือเป็นโรคที่คร่าชีวิตคนไทยเป็นอันดับต้น ๆ รองจากมะเร็ง ซึ่งจากสถิติของกระทรวงสาธารณสุขพบว่า คนไทยเสียชีวิตจากกลุ่มโรคหัวใจ และหลอดเลือด สูงถึง 20,855 คนต่อปี หรือเฉลี่ยชั่วโมงละ 2 คน และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นทุกปี

“วิโรจน์ วิทยาเวโรจน์” ประธานและกรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟิลิปส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ธุรกิจหลักของฟิลิปส์ คือ การผลิตผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับด้านสุขภาพ และเครื่องมือแพทย์ โดยมีวิสัยทัศน์ที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิต และดูแลความเป็นอยู่ที่ดีของผู้คน ดังนั้น การจัดกิจกรรมซีเอสอาร์ครั้งนี้จึงเล็งเห็นถึงความสำคัญของโรคหัวใจ ซึ่งพบผู้ป่วยจำนวนมากในประเทศไทย และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ปัจจุบันสิทธิรักษาพยาบาลในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจะช่วยให้อัตราการเข้าถึงบริการระบบสาธารณสุขของคนไทยเพิ่มมากขึ้น แต่จำนวนแพทย์ยังคงไม่เพียงพอต่อการดูแลผู้ป่วย

“จากสถิติในปี 2561 พบว่า อัตราแพทย์ 1 คนต่อประชากรเฉลี่ย 1,771 คน แต่จำนวนแพทย์ต่อประชากรไม่ได้กระจายอย่างเท่ากันทุกพื้นที่ อย่างในกรุงเทพมหานคร อัตราแพทย์ 1 คนต่อประชากรเฉลี่ย 601 คน ในขณะที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อัตราแพทย์ 1 คนต่อประชากรเฉลี่ย 2,719 คน ส่วนภาคใต้ อัตราแพทย์ 1 คนต่อประชากร 2,115 คน เราจึงตั้งเป้าโครงการนี้ 2 ด้าน คือ หนึ่ง รณรงค์ และให้ความรู้กับประชาชนคนไทยเห็นความสำคัญของโรคหัวใจ เพื่อเข้าถึงสาเหตุและการป้องกันโรคหัวใจ เพราะการดูแลสุขภาพต้องเริ่มต้นที่ตัวเราเอง การป้องกันไม่ให้ป่วยเป็นโรคหัวใจย่อมดีกว่าการรักษา สอง สนับสนุนองค์กรแพทย์ และสถานพยาบาลในการส่งเสริม และพัฒนาการเข้าถึงระบบสาธารณสุขของคนไทยให้มากขึ้น”

“เพราะเพียงลำพังฟิลิปส์เองคงไม่สามารถทำเรื่องช่วยสังคมได้ง่าย จึงขอร่วมสนับสนุนสมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และชมรมคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจแห่งประเทศไทย ในการจัดกิจกรรมออกหน่วยตรวจโรคหัวใจด้วยเครื่องตรวจคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจ และมอบเครื่องตรวจคลื่นหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจแบบ 4 มิติเข้ามาช่วย เพื่อให้การตรวจมีความแม่นยำมากขึ้น โดยทางสมาคมได้คัดเลือกโรงพยาบาลกระบี่ เป็นผู้ได้รับเครื่องมือนี้ เพราะที่นี่ยังมีผู้ป่วยกว่า 100 ราย รอรับการตรวจวินิจฉัยโรคหัวใจที่มีประสิทธิภาพ และยังขาดแคลนบุคลากรแพทย์โรคหัวใจ”

“นอกจากนั้น เรายังจัดกิจกรรมส่งเสริมความรู้เกี่ยวกับโรคหัวใจ โดยเฉพาะด้านโภชนาการกับกิจกรรม Healthy Heart with Philips AirFryer เพื่อให้ประชาชนเรียนรู้การเลือกรับประทานอาหารไขมันน้อย และมีประโยชน์ต่อสุขภาพในระยะยาว ซึ่งหากว่าเรามีโอกาสก็จะต่อยอดขยายโครงการนี้ไปสู่พื้นที่จังหวัดอื่น ๆ ในอนาคตด้วย”

“ผศ.พญ.สมนพร บุณยะรัตเวช สองเมือง” ประธานชมรมคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจแห่งประเทศไทย กล่าวว่า มีผู้ป่วยโรคหัวใจที่โรงพยาบาลกระบี่จำนวนมาก และเครื่องมือที่มีอยู่ไม่เพียงพอ จึงถือเป็นโอกาสที่ดีที่ฟิลิปส์เข้ามาช่วยเหลือ ทำให้การร่วมมือกันครั้งนี้เป็นการทำงานที่ลงตัว โดยเครื่องตรวจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจแบบ 4 มิติ เป็นเครื่องตรวจวัดหัวใจได้ระดับหนึ่ง และมีประโยชน์มาก

“การตรวจหัวใจทำได้หลากหลายวิธี แต่การตรวจที่จัดว่าเป็นหนึ่งในการตรวจที่สำคัญ คือ การตรวจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจขั้นสูง (echocardiography) โดยใช้หลักการของคลื่นอัลตราซาวนด์ ซึ่งคลื่นเสียงดังกล่าวสามารถผ่านหน้าอกผู้ป่วยไปยังหัวใจ สามารถตรวจการทำงาน และโครงสร้างของหัวใจ ได้แก่ การบีบ และการคลายตัวของหัวใจ, การปิดเปิดของลิ้นหัวใจ, การตรวจลิ้นหัวใจรั่วหรือตีบ, การตรวจว่ากล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดหรือไม่ หรือหลอดเลือดหัวใจอุดตัน เป็นต้น โดยการตรวจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจนี้ถือเป็นการตรวจที่มีความปลอดภัย ผู้ป่วยตั้งครรภ์ก็สามารถตรวจได้โดยไม่มีอันตรายต่อทารกในครรภ์”

“ดังนั้น ทางสมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทยฯ และชมรมคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจแห่งประเทศไทย จึงเลือกวิธีการตรวจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจมาใช้ในการออกหน่วยตรวจในครั้งนี้ เพื่อให้การวินิจฉัยโรคหัวใจประเภทต่าง ๆ ถูกต้องแม่นยำ ช่วยให้เกิดผลลัพธ์ในการรักษาที่มีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกันการมาโรงพยาบาลกระบี่ เป็นโอกาสที่เราจะได้ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เรื่องโรคหัวใจ และโรคหลอดเลือดด้วย เพราะผู้ป่วยและญาติที่ว่าเป็นคนกลุ่มแรกที่จะป้องกันโรคนี้ได้”

“สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับการรักษาโรคหัวใจ ต้องวินิจฉัยให้ได้ว่าเป็นโรคหัวใจประเภทไหน และความรุนแรงระดับใด เพื่อการรักษาที่มีประสิทธิภาพต่อชีวิตผู้ป่วย หากพวกเขาได้รับรู้ข้อมูลที่มีประโยชน์ก็จะช่วยเหลือตนเองได้ เพราะโรคหัวใจบางครั้งอาจไม่แสดงอาการอะไรเลย จนอาจเกิดการเสียชีวิตเฉียบพลัน สำหรับอาการแสดงของโรคหัวใจ ได้แก่ เหนื่อยหอบง่าย นอนราบแล้วอึดอัดต้องลุกขึ้นมานั่งช่วงกลางคืน เจ็บหน้าอกซึ่งมีลักษณะเฉพาะ ใจสั่นเต้นเร็ว หรือเป็นลมหมดสติที่ไม่ได้เกิดจากการเป็นลมแดด หรือการยืนนาน เป็นต้น”

สำหรับสาเหตุของโรคหัวใจเกิดจากพันธุกรรม ความเครียด การไม่ออกกำลังกาย การรับประทานอาหารที่ไม่ถูกหลักโภชนาการ โดยเฉพาะอาหารที่ประกอบด้วยไขมัน เกลือ น้ำตาล หรือคอเลสเตอรอลปริมาณสูง ๆ การสูบบุหรี่ และการดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ หรืออาจเกิดจากผลของโรคอื่น เช่น โรคเบาหวาน, โรคความดันโลหิตสูง และการใช้ยาบางชนิด เป็นต้น

“นพ.สุพจน์ ภูเก้าล้วน” ผู้อำนวยการโรงพยาบาลกระบี่ กล่าวว่า สถิติประชากรในกระบี่เสียชีวิตด้วยโรคหลอดเลือดในปี 2562 จำนวน 256 คน เรายอมรับว่าเรายังมีแพทย์ที่เชี่ยวชาญเฉพาะทางไม่เพียงพอต่อความต้องการต่อจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มมากขึ้นทุกปี โดยเราไม่มีอายุรแพทย์เรื่องโรคหัวใจประจำ แต่มีแพทย์ที่เป็นจิตอาสามาเพียงสัปดาห์ละ 1 วัน คือ วันอังคารเท่านั้น

“โครงการดูแลกาย ห่วงใยหัวใจ เริ่มที่ตัวคุณ ถือเป็นเรื่องที่ดีต่อประชาชนที่อยู่ในกระบี่ เพราะนอกจากจะไม่ต้องรอคิวนานในการรับการตรวจโรคหัวใจเฉพาะด้านแล้ว ยังสร้างการตื่นตัว และการรับรู้ให้ประชาชนหันมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ทางโรงพยาบาลกระบี่ยังคงมุ่งมั่นในการพัฒนามาตรฐานของโรงพยาบาลต่อไป และจะพยายามพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์ให้เพิ่มมากขึ้น และอยากให้ทางภาครัฐช่วยผลักดันในการสร้างบุคลากรทางการแพทย์และเพิ่มการกระจายบุคลากรทางการแพทย์ให้กว้างขวางมากขึ้น”

ถึงแม้ว่าฟิลิปส์จะนำเสนอนวัตกรรมเครื่องตรวจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจแบบ 4 มิติ ที่เข้ามาช่วยให้การตรวจที่โรงพยาบาล แต่แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการตรวจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจในประเทศไทยยังมีน้อย เมื่อเทียบกับความต้องการของผู้ป่วยตามโรงพยาบาลทั่วประเทศ หากประเทศไทยต้องการพัฒนาระบบสาธารณสุขในระยะยาว คงต้องเพิ่มแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางมากขึ้น เพื่อรองรับจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มมากขึ้นในอนาคต จากการที่ประเทศไทยกำลังเข้าสู่ยุคสังคมผู้สูงอายุ