“กฟผ.” สานต่อดูแลสังคม ดันแนวคิดรถเบอร์ 5 ช่วยลดฝุ่น

ถือเป็นองค์กรใหญ่ของรัฐที่ดูแลความมั่นคงระบบผลิตไฟฟ้าของประเทศ สำหรับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) อีกทั้งยังมีภารกิจที่ต้องทำคู่ขนานกันไปคือ การดูแลสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อมไปด้วย ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา กฟผ.มีโครงการในการดูแลที่ครอบคลุมทุกมิติทั้งในเรื่องของน้ำ อาหาร และพลังงาน “ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสสัมภาษณ์ “ฤดีมาส ปางพุฒิพงศ์” ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารและประชาสัมพันธ์ กฟผ. เกี่ยวกับภารกิจการดูแลทุกส่วนที่เกี่ยวข้องในปี 2563 โดยเน้นไปที่การต่อยอด และสานต่อโครงการเดิมให้เข้มข้นและยั่งยืน

ตลอดระยะเวลากว่า 50 ปีที่ผ่านมา กฟผ.ดำเนินการโครงการปลูกป่า พัฒนาอาชีพสร้างรายได้ให้ชุมชนสามารถดูแลตัวเองอย่างยั่งยืนในหลายโครงการ ซึ่งทุกโครงการได้รับแรงบันดาลใจมาจากพระราชเสาวนีย์ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงที่มีต่อพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ว่า “หากสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นน้ำ ฉันจะเป็นป่า” พร้อมทั้งในแต่ละโครงการของ กฟผ.ยังน้อมนำศาสตร์พระราชามาปรับใช้อย่างได้ผล “ฤดีมาส”ระบุถึงแผนการดำเนินการด้าน CSR ของ กฟผ.ในปี 2563 นี้ว่า จะปักธง “สานต่อ” และ “ต่อยอด” ไม่ว่าจะเป็นโครงการปลูกป่าโครงการชีววิถีในระดับครัวเรือน เพื่อพัฒนา และยกระดับทุกโครงการให้เป็นระดับประเทศ โดยยึดโยงเรื่องความยั่งยืน ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs (sustainable development goals) รวม 17 ข้อ เพื่อเป็นทิศทางที่องค์การสหประชาชาติ หรือ UN (United Nation) โดยเฉพาะเรื่องน้ำ เพื่อบริหารจัดการน้ำมาสู่ภาคการเกษตรให้ได้อย่างทั่วถึง ซึ่งจะนำไปสู่การผลิตอาหารของชุมชน

“การเกษตรไม่ใช่แค่เรื่องอาหาร กฟผ.มองว่าแม้แต่อาหารก็สามารถแปลงไปเป็นพลังงานได้ด้วย อีกทั้งกระทรวงพลังงานที่เป็นหน่วยงานกำกับดูแล มีนโยบายที่ชัดเจนว่าต้องการให้ภาคพลังงานมาช่วยผลักดันเศรษฐกิจของประเทศ หากว่าชุมชนสามารถพึ่งพาการใช้พลังงานเองได้นั้น จะยิ่งช่วยลดต้นทุนในการใช้ชีวิตของผู้คนได้ อีกทั้งลดต้นทุนด้านพลังงานให้กับประเทศได้อีกด้วย”

“ฤดีมาส” โฟกัสให้เห็นภาพชัดในการดูแล 3 เรื่องหลักคือ 1) น้ำ 2) อาหาร และ 3) พลังงานว่าได้เริ่ม “คิกออฟ” ไว้ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2562 ที่ผ่านมา โดย กฟผ.ร่วมมือกับภาคีเครือข่ายในกิจกรรมวันดินโลก 2019-2020 ภายใต้แนวคิด “พลังงานสรรค์สร้างพลังแผ่นดิน เพื่อการฟื้นฟูโลก” ไปเมื่อเร็ว ๆ นี้ที่เขื่อนภูมิพล จังหวัดตาก และภารกิจสานต่อที่ชัดเจนมากขึ้นคือการพัฒนาลุ่มน้ำคือรวม 7 เขื่อนพระนาม 3 โรงไฟฟ้า กฟผ.ต้องการมุ่งไปที่ “ต้นน้ำ” เหตุผลคือเพราะน้ำเป็นตัวเชื่อมต่อกับทุกอย่างได้ และอีกเหตุผลคือ กฟผ.ยังมีหน้าที่ดูแลเขื่อนต่าง ๆ ของประเทศ (ไม่รวมหน้าที่ในการจัดสรรน้ำ) ส่วนหนึ่งเพื่อใช้ประโยชน์จากเขื่อนในการผลิตไฟฟ้า และยังสามารถพัฒนาไปสู่การเป็นสถานที่ท่องเที่ยว

“ต้องย้อนกลับไปดูที่ต้นทางว่าน้ำมาจากไหน ก่อนจะมาลงที่เขื่อน คำตอบที่ได้คือชุมชนในพื้นที่ถือเป็นฟันเฟืองที่สำคัญในการช่วยดูแลต้นน้ำ ก่อนหน้านี้ กฟผ.ได้จัดกิจกรรมให้รางวัลกับโครงการสร้างฝายที่แม่แจ่ม เนื่องจากแม่แจ่มคือต้นทางของเขื่อนภูมิพล ไล่ลงมาจนถึงชุมชนที่อาศัยอยู่โดยรอบ ในทางปฏิบัติ กฟผ.ก็ดูแลสังคม ชุมชนเหล่านั้นอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว แต่สำหรับแม่แจ่ม เป็นพื้นที่ค่อนข้างห่างไกล และยังไม่ได้เข้าไปดูแล”

นอกจากนี้ “ฤดีมาส” ยังกล่าวถึงเขื่อนสิริกิติ์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ 7 เขื่อนพระนาม 3 โรงไฟฟ้า ที่มีต้นน้ำอยู่ในพื้นที่จังหวัดน่าน ทั้งนี้พื้นที่ดังกล่าวมีหลากหลายองค์กรเข้ามาดูแล และพัฒนาแล้ว แต่ กฟผ.จะเข้าไปดำเนินการในเรื่องของ “การบูรณาการ” เพื่อให้เครือข่ายที่มีอยู่ในพื้นที่มาร่วมกันทำงานมากขึ้น เนื่องจาก กฟผ.มองว่าในแต่ละพื้นที่ต่างมีบริบทที่แตกต่างกันออกไป จึงต้องอาศัยผู้ที่เชี่ยวชาญในพื้นที่เพื่อวางเป้าหมายให้เกิดการร่วมมือไปในทิศทางเดียวกัน อีกทั้งยังนำศาสตร์พระราชามาประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนาเฉกเช่นเดียวกัน แตกต่างกันแค่เพียงจะหยิบยกเรื่องใดมาแก้ปัญหาและพัฒนา

ทั้งนี้การดำเนินการด้านซีเอสอาร์ในปี 2563 ที่จะมุ่งเน้นไปที่การสานต่อแล้ว ยังมีนโยบายจาก “วิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย” ผู้ว่าการ กฟผ.ว่าจะต้องมุ่งไปที่ให้ประชาชนในพื้นที่สามารถ “พึ่งพาตัวเอง” ให้ได้ นั่นคือการพัฒนาสร้างอาชีพตามแนวทางกิจการเพื่อสังคม หรือ social enterprise ที่มีแนวทางมุ่งแก้ไขปัญหาสังคม และสิ่งแวดล้อม โดยใช้กลไกการบริหารจัดการที่ดีของภาคธุรกิจมารวมเข้ากับความรู้ และนวัตกรรมสังคม และมีความยั่งยืนทางการเงิน ซึ่งเป็นรายได้ที่มาจากการจำหน่ายสินค้าและบริการโดยที่ไม่พึ่งพาเงินบริจาค ทั้งยังนำผลกำไรที่ได้มาขยายผลต่อได้ด้วย ซึ่ง กฟผ.จะโฟกัสไปที่ “การท่องเที่ยว” รวมถึง “สินค้าชุมชน”

“ฤดีมาส” ยังบอกถึงการพัฒนาโปรเจ็กต์ใหม่ต่อจากนี้ที่มี “แนวคิด” จากฝ่ายบริหารที่จะทำโครงการ “มอเตอร์ไซค์เบอร์ 5” และ “รถยนต์เบอร์ 5” รวมไปจนถึงรถยนต์ไฟฟ้าก็จะเริ่มเห็นมากขึ้น โดย กฟผ.มองว่าแนวคิดเหล่านี้จะสามารถ “ลงลึก” ถึงประชาชนรากหญ้า โดยมีเป้าหมายให้ลดการใช้พลังงานที่ไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม ที่สำคัญคือยังสามารถช่วยลดผลกระทบจากฝุ่น PM 2.5 ที่กำลังส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนอยู่ในขณะนี้

นอกจากนี้ในปี 2563 กฟผ.ยังให้น้ำหนักไปที่การสร้าง “นวัตกรรม” เนื่องจากเทคโนโลยีที่มีการพัฒนาไปไกลมาก อีกทั้งการขับเคลื่อนประเทศต่อไป จึงจำเป็นต้องมีความรู้เท่าทันเทคโนโลยี ที่สำคัญ กฟผ.มีเป้าหมายที่จะส่งเสริมการสร้างนวัตกรรม ไม่ว่าจะเป็นนวัตกรรมพลังงานไฟฟ้า หรือนวัตกรรมเพื่อชุมชน ด้วยการเตรียม “ให้ทุน” ในการคิดค้น วิจัย และพัฒนานวัตกรรมที่จะเป็นประโยชน์ต่อชุมชนด้วย

“เป็นความมุ่งหวังของ กฟผ.ที่จะดำเนินการในเรื่องนี้ วิธีการคือ กฟผ.มีแนวร่วม เพราะมีผลิตภัณฑ์เบอร์ 5 ทุกอย่าง ซึ่ง กฟผ.จะต้องหาผู้ผลิต ด้วยการเชิญชวนให้ผลิตรถจักรยานยนต์ และช่วยกันรณรงค์ให้มีการใช้รถเบอร์ 5 เพิ่มขึ้น ซึ่งได้ประโยชน์ทั้งลดการเกิดฝุ่น ประหยัดน้ำมัน รวมถึงลดการเกิดคาร์บอนมอนอกไซด์ออกสู่สิ่งแวดล้อม”


ในช่วงท้าย “ฤดีมาส” บอกว่าพลังงานกับชุมชนเป็นเรื่องที่แยกออกจากกันไม่ได้ เพราะเกี่ยวข้องกับชีวิตและความเป็นอยู่ ไม่ว่า กฟผ.จะหยิบยกเรื่องใดขึ้นมาพัฒนาก็ถือว่าจัดการได้ถูกจุด ทั้งนี้เมื่อมองภาพของ กฟผ.ที่มีธุรกิจหลักคือการผลิตไฟฟ้าแล้ว ยังต้องตระหนักถึงการผลิตไฟฟ้าให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม พร้อมกับสร้างชุมชนให้อยู่ดีมีสุขต่อไป