“เทสโก้ โลตัส” ผนึกภาครัฐ หนุนลดขยะอาหารเป็นวาระแห่งชาติ

เป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ sustainable development goals (SDGs) ของสหประชาชาติ (United Nations) ว่าด้วยการลดขยะเศษอาหารของโลกลงครึ่งหนึ่งในระดับค้าปลีกและผู้บริโภค ลดการสูญเสียอาหารจากกระบวนการผลิตและห่วงโซ่อุปทาน รวมถึงการสูญเสียหลังการเก็บเกี่ยวให้ได้ภายในปี 2030

เป็นประเด็นที่ “เทสโก้ โลตัส” ผู้ประกอบการธุรกิจค้าปลีกตระหนักถึงการมีส่วนร่วมในฐานะธุรกิจค้าปลีกที่จำหน่ายอาหารในปริมาณมาก จึงประกาศเจตนารมณ์เดินทางตามเป้าหมายดังกล่าวเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา ด้วยการไม่ทิ้งอาหารที่ยังรับประทานได้ และเป็นธุรกิจค้าปลีกแรกที่เปิดเผยข้อมูลขยะอาหารภายในธุรกิจของตนเองเมื่อเดือนกันยายน 2019

ล่าสุดเทสโก้ โลตัสเดินหน้าต่อเนื่องในการขับเคลื่อนการลดขยะอาหารให้เป็นวาระแห่งชาติ โดยร่วมมือกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หอการค้าไทย จัดประชุม Thailand”s Annual Conference on Food Waste 2019 นำเสนอกรอบการทำงานในการลดขยะอาหารให้ได้ครึ่งหนึ่งภายในปี 2030

“สมพงษ์ รุ่งนิรัติศัย” ประธานกรรมการบริหาร เทสโก้ โลตัส กล่าวว่า กรอบทำงานที่เทสโก้ โลตัสนำเสนอในงาน Thailand”s Annual Conference on Food Waste คือ 1) target คือการตั้งเป้าหมายที่ชัดเจนและประกาศให้เป็นสาธารณะ 2) measure คือ การวัดผลอย่างต่อเนื่อง และ 3) act คือการลงมือทำเพื่อลดปริมาณขยะอาหารให้ได้สำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้ ส่วนหนึ่งคือ เทสโก้ โลตัสมีความเชื่อว่าการลดขยะอาหารที่ได้ผลจำเป็นต้องเริ่มจากพื้นฐานที่ถูกต้องและทำงานอย่างเป็นระบบ โดยนอกจากทีมงานของเทสโก้ โลตัสแล้ว ภายในงานประชุมยังมีผู้แทนจากองค์กรอื่น ๆ จากหลายประเภทอุตสาหกรรมมาร่วมแบ่งปันประสบการณ์ ความสำเร็จ ความท้าทาย และทางออก ในการบริหารจัดการและลดขยะอาหารอย่างมีประสิทธิภาพ

“เราต้องการขับเคลื่อนการลดขยะอาหารให้เป็นวาระแห่งชาติ พร้อมกับสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงทุกภาคส่วนในห่วงโซ่อาหาร ไม่ว่าจะเป็นภาคการผลิต ธุรกิจจำหน่ายอาหาร ร้านค้าปลีก โรงแรม ภัตตาคาร ไปจนถึงระดับครัวเรือน ตลอดจนภาคประชาสังคม ภาครัฐ และนักวิชาการ ร่วมระดมสมองและแสดงเจตนารมณ์แก้ปัญหาขยะอาหาร”

“สมพงษ์” ยังไล่เรียงโครงการในอดีตที่ค่อนข้างประสบความสำเร็จ นับตั้งแต่ปี 2018 คือ “โครงการกินได้ ไม่ทิ้งกัน” ที่ดำเนินการรับบริจาคอาหารที่จำหน่ายไม่หมด แต่ยังมีคุณภาพดีให้กับมูลนิธิและผู้ยากไร้ ถึงปัจจุบันได้บริจาคอาหารไปแล้วกว่า 1.2 ล้านมื้อ รวมถึงยังขยายโครงการดังกล่าวไปใช้กับร้านค้าของเทสโก้ โลตัสกว่า 40 สาขา ซึ่งถือป็นส่วนหนึ่งของการช่วยลดขยะเศษอาหารของโลกลงครึ่งหนึ่งในระดับค้าปลีกและผู้บริโภค และลดการสูญเสียอาหารจากกระบวนการผลิตและห่วงโซ่อุปทาน

“เทสโก้ โลตัสมีการวัดผลตั้งแต่กระบวนการวัดปริมาณอาหารที่จำหน่ายทั้งหมด ปริมาณอาหารที่เหลือจากการจำหน่าย และปริมาณขยะอาหาร ตลอดทั้งปีงบประมาณ โดยเทสโก้ โลตัสเป็นซูเปอร์มาร์เก็ตแรกในทวีปเอเชียที่วัดและเปิดเผยข้อมูลนี้”

ด้าน “วราวุธ ศิลปอาชา” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า เรื่องของขยะอาหารเป็นปัญหาที่มีความสำคัญ และยังส่งผลกระทบต่อหลายส่วน ทั้งประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม คือการช่วยลดก๊าซเรือนกระจก แต่ยังเกี่ยวข้องถึงประเด็นอื่น ๆ เช่น ความมั่นคงทางอาหาร การขจัดความหิวโหย สุขภาพอนามัยของประชาชน และการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน

“ขณะนี้ประเทศไทยยังอยู่ในช่วงการเริ่มต้นการดำเนินงานการเก็บข้อมูลและการจัดการเรื่องการสูญเสียอาหารและขยะอาหาร นอกจากนี้ ประเทศไทยในอนาคตยังต้องดำเนินการจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อกำหนดมาตรการและเป้าหมายที่ชัดเจนสำหรับแต่ละภาคส่วน เกิดความร่วมมือกับหน่วยงานอื่น ๆ และที่สำคัญความร่วมมือกับภาคเอกชนเพื่อช่วยกันลดขยะอาหาร และสร้างระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (circular economy)”

ขณะที่ “เจเน็ต ซาเลม” เจ้าหน้าที่โปรแกรม Resource Efficiency and Sustainable Consumption and Production โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) กล่าวว่า ได้เริ่มทำงานด้านลดขยะจากอาหารกับทางสหประชาชาติตั้งแต่ปี 2015 ซึ่งในช่วงเริ่มต้นโครงการยังไม่แน่ใจว่าปัญหาขยะเศษอาหารในประเทศไทยอยู่ในระดับใด จนกระทั่งได้ทำการสำรวจไปตามร้านอาหารทั้งในโรงแรมและร้านอาหารอื่น ๆ ในกรุงเทพฯ จนได้พบว่ามีปริมาณอาหารที่ถูกทิ้งไม่ก่อให้เกิดประโยชน์เป็นจำนวนมาก

“หลายคนไม่เข้าใจว่าขยะจากอาหารก่อให้เกิดผลเสียกับโลกอย่างไร เพราะพวกเขาไม่รู้ว่า การย่อยสลายขยะอาหารก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกที่ส่งผลต่อโลกร้อน ทั้งนี้กระบวนการผลิตอาหารยังมีคาร์บอนฟุตพริ้นต์ที่ส่งผลต่อโลกร้อนด้วยเช่นกัน โดยจำนวนอาหาร 1 ใน 3 บนโลกสูญเสียไปเป็นขยะ หรือคิดเป็นปริมาณขยะ 1.30 พันล้านตันต่อปี ก่อให้เกิดปริมาณก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้น 8% และอาหารที่สูญเสียไปดังกล่าวมีมูลค่ากว่า 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่บนโลกใบนี้ยังมีคนกว่า 821 ล้านคนอดอยากไม่มีอาหารเพียงพอ นี่จึงเป็นเหตุผลที่เราต้องให้ความสำคัญและช่วยกันลดปริมาณขยะจากเศษอาหาร”

ที่ผ่านมาเราทำโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ ประจำภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ที่ชื่อว่า Think.Eat.Save โดยร่วมมือกับองค์กรออซฮาเวสต์ ซึ่งเป็นองค์กรชั้นนำทางด้านการช่วยเหลือกอบกู้อาหาร เพื่อให้ความรู้และสร้างความตระหนักเรื่องขยะอาหาร ความมั่นคงและความยั่งยืนของอาหารโลกเพื่อสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และในปี 2020 นี้เราจะดำเนินการส่งเสริมให้หลายประเทศในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกทำดัชนี food waste index เพื่อวัดปริมาณขยะอาหารของประเทศตนเอง โดยจะเป็นประโยชน์ต่อการใช้เปรียบเทียบและเป็นเกณฑ์พัฒนาประเทศตนเองให้ดียิ่งขึ้นอีก