Trusted Partner “เชลล์” สร้างโอกาสสู่ชีวิตที่ยั่งยืน

ตลอดระยะเวลาของการดำเนินธุรกิจในประเทศไทย บริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด มุ่งสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชน เชื่อมโยงสิ่งแวดล้อม พร้อมกับส่งเสริมศักยภาพทางเศรษฐกิจให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อเปลี่ยนผ่านพลังงานสู่อนาคต พร้อมร่วมกันพัฒนาและยกระดับสังคมในมิติต่าง ๆ ผ่านความร่วมมือกับทุกภาคส่วน ในหลากหลายโครงการ และหลากหลายกิจกรรม

ไม่ว่าจะเป็น “โครงการเชลล์เติมสุข” หรือ “โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตและทักษะอาชีพให้กับนักเรียนผู้สมควรได้รับโอกาสและบกพร่องทางร่างกายและการเคลื่อนไหว” ที่ถือเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตสำหรับทุกคนในชุมชน “โครงการเชลล์ชวนชิม” ที่ส่งเสริมธุรกิจให้กับผู้ประกอบการร้านอาหารรายย่อยในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศที่มีความอร่อย ที่มีเอกลักษณ์จนสามารถเติบโตอย่างแข็งแกร่ง ตลอดจนการจัดให้สถานีบริการน้ำมันเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาทักษะอาชีพ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในระดับชุมชน

โดยล่าสุด เชลล์จัดกิจกรรมลงพื้นที่เยี่ยมชมโครงการเชลล์เติมสุขที่โรงเรียนศรีสังวาลย์ เชียงใหม่ ซึ่งเป็น 1 ใน 12 แห่งที่เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ตลอดชีวิตสำหรับทุกคนในชุมชน ทั้งยังเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาให้นักเรียนและครอบครัวมีทักษะในการประกอบอาชีพจนสามารถพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน

“ฐิติภา ลักษณพิสุทธิ์” ผู้จัดการใหญ่ฝ่ายสื่อสารองค์กร บริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า เป็นเวลากว่า 128 ปีที่เชลล์ดำเนินธุรกิจในประเทศไทย ในฐานะผู้นำด้านพลังงานที่นอกจากจะส่งมอบพลังงานที่สะอาด และเพิ่มประสิทธิภาพแล้ว เชลล์ยังให้ความสำคัญในเรื่องความปลอดภัย และความมั่นคงทางพลังงาน ควบคู่ไปกับการทำงานร่วมกับชุมชน ภายใต้โมเดล Trusted Partner

“เพราะเชลล์เชื่อว่าการทำงานร่วมกับชุมชนในแบบ Trusted Partner จะเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับการดำรงชีวิต ช่วยเพิ่มโอกาสให้กับผู้คน ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม และยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับผู้คนในศตวรรษที่ 21 ซึ่งเป็นยุคของการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีข้อมูลข่าวสาร ส่งผลกระทบผู้คนและสิ่งแวดล้อม ขณะเดียวกัน ความแตกต่างความเหลื่อมล้ำทางด้านสังคมเพิ่มสูงขึ้น ทั้งทางด้านการศึกษา ด้านการเข้าถึงโอกาส และด้านเศรษฐกิจ”

“โดยการทำงานร่วมกับชุมชนของเชลล์ในทุกกิจกรรม ทุกโครงการจะต้องสร้างผลกระทบเชิงบวกให้มากที่สุด จากศักยภาพหรือจุดแข็งของบริษัทในฐานะผู้ที่ดำเนินธุรกิจพลังงาน และทำให้เกิดผลกระทบเชิงลบให้น้อยที่สุด หรือไม่ให้เกิดขึ้นกับทุก ๆ ส่วนที่เชลล์เข้าไปเกี่ยวข้อง ซึ่งการจะทำให้โครงการหรือกิจกรรมต่าง ๆ ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายได้ สิ่งสำคัญคือการทำงานที่เกิดความร่วมมือ และความร่วมมือที่เกิดจากการเป็นพันธมิตรที่ไว้วางใจได้ ซึ่งเราเชื่อว่า 128 ปีที่ผ่านมาเป็นเครื่องมือที่พิสูจน์ได้ว่าเชลล์แห่งประเทศไทยอยู่เคียงข้างและสร้างความผูกพันกับสังคมไทยมาอย่างต่อเนื่อง”

สำหรับโมเดล Trusted Partner เป็นการทำงานร่วมกับชุมชนซึ่งเป็นพันธมิตรที่ได้รับความไว้วางใจ ประกอบด้วย 3 ด้านหลัก ๆ คือ

หนึ่ง การมีส่วนร่วมของสังคม (collaborative society) เพราะการดำเนินธุรกิจของเชลล์ นอกจากจะส่งมอบพลังงานที่มีประสิทธิภาพ ตอบสนองความต้องการของธุรกิจและผู้บริโภคแล้ว เชลล์ยังให้ความสำคัญกับการส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดี มีสุขภาวะความมั่นคง คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้คนและสิ่งแวดล้อม เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนด้วยการทำงานกับชุมชน ผ่านการรับฟังปัญหาและความต้องการของผู้คนในทุกพื้นที่ที่เข้าไปดำเนินธุรกิจ

“ปัจจุบันเชลล์มีสถานีบริการกว่า 600 แห่งครอบคลุมทั่วประเทศ ทำให้การลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องสำคัญ ด้วยการส่งเสริมให้เกิดวัฒนธรรมความปลอดภัยทั้งในระดับบุคคลและระดับชุมชน อย่างที่ผ่านมาเชลล์มีการติดตั้งระบบดับเพลิงและท่อส่งน้ำเข้าไปในชุมชนคลองเตย ที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงคลังน้ำมันเชลล์ช่องนนทรี พร้อมกับฝึกซ้อมดับเพลิงร่วมกันอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงการให้ความรู้และรณรงค์ความปลอดภัยทางถนน ด้วยการจัดทำเครื่องมือการให้ความรู้ผ่านสื่อดิจิทัลสำหรับเด็ก เยาวชน ผู้ปกครองและครูในพื้นที่กรุงเทพฯอย่างต่อเนื่อง”

สอง การเชื่อมโยงกับธรรมชาติ (connecting nature) “ฐิติภา” บอกว่า ในฐานะที่เชลล์ดำเนินธุรกิจด้านพลังงาน การให้ความสำคัญและคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมในมิติต่าง ๆ ถือเป็นเรื่องสำคัญโดยเฉพาะการเปลี่ยนผ่านพลังงานเพื่อปัจจุบันและอนาคต ในรูปแบบของพลังงานใหม่ พลังงานทดแทน และพลังงานสะอาด ควบคู่ไปกับการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และก๊าซเรือนกระจกในรูปแบบต่าง ๆ

“รวมถึงการศึกษาแบบการจำลองอนาคต (Shell Scenario) เพื่อรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงไปของโลก ตลอดจนปรับเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ให้เหมาะสม ลดการใช้พลาสติก และการจัดให้สถานีบริการน้ำมันเป็นศูนย์กลางในการคัดแยก รวบรวมขยะอันตราย”

สาม การส่งเสริมศักยภาพด้านเศรษฐกิจ (collective prosperity) เชลล์พร้อมทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนในการลดความเหลื่อมล้ำในด้านต่าง ๆ พร้อมกับการสร้างโอกาสให้กับผู้คนเข้าถึงเศรษฐกิจที่ดี อย่างโครงการเชลล์เติมสุขของโรงเรียนศรีสังวาลย์ เชียงใหม่ ที่นอกจากสร้างทักษะอาชีพ สร้างรายได้แก่เยาวชนที่สมควรได้รับโอกาสและกลุ่มบกพร่องทางร่างกาย หรือการเคลื่อนไหวแล้ว ยังเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ของชุมชนที่เปิดโอกาสให้ชุมชนเข้ามาเรียนรู้ทักษะอาชีพ เพื่อนำไปต่อยอดในการดำรงชีวิต สร้างรายได้ ยกระดับคุณภาพชีวิตให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

“ไม่เพียงเท่านี้ เชลล์ยังเปิดโอกาสให้นักเรียนจากโรงเรียนในโครงการเชลล์เติมสุขเข้ามาฝึกทักษะอาชีพด้วยการฝึกงานที่ปั๊มเชลล์ เนื่องจากเชลล์มีธุรกิจที่หลากหลาย ตรงนี้ถือเป็นความมุ่งหมายที่ต้องการให้เชลล์เป็นสถานีบริการที่เติมความสุขให้ชุมชน”

“อรอุทัย ณ เชียงใหม่” กรรมการบริหาร-ธุรกิจการตลาดค้าปลีก บริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด กล่าวเสริมว่า สำหรับโครงการเชลล์เติมสุข เป็นโครงการที่เชลล์ร่วมกับมูลนิธิมีชัย วีระไวทยะ ในการส่งเสริมพัฒนาโรงเรียนสำหรับผู้สมควรได้รับโอกาส บกพร่องทางร่างกาย และการเคลื่อนไหว ด้วยการจัดให้มีศูนย์การเรียนรู้ตลอดชีวิตสำหรับนักเรียนและชุมชน

“ช่วงแรกของโครงการลูกค้า พันธมิตร รวมถึงพนักงานของเชลล์ร่วมกันระดมเงินทุนกว่า 27 ล้านบาท เพื่อจัดให้โรงเรียน 12 แห่งเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้สำหรับชุมชน โดยนักเรียนจะได้รับการส่งเสริมให้สร้างธุรกิจเล็ก ๆ ตั้งแต่การทำแปลงเพาะปลูกไปจนถึงงานฝีมือ ด้วยการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล และการให้โอกาสในการเข้าถึงการสร้างรายได้ ทำให้เด็ก ๆ ในโครงการมีอาชีพและสามารถเลี้ยงตัวเองได้ภายใน 2-3 ปี”

“นอกจากนี้ ยังสนับสนุนการทำเกษตรแบบอัจฉริยะ ซึ่งสามารถช่วยให้ผู้สมควรได้รับโอกาสโดยเฉพาะเด็ก ๆ ที่มีความบกพร่องทางร่างกาย และการเคลื่อนไหวให้สามารถทำการเกษตรได้ ไม่เพียงเท่านี้สถานีบริการน้ำมันของเชลล์ยังเป็นตลาดให้นักเรียนนำผลิตผลทางการเกษตรมาวางจำหน่าย ทั้งยังให้นักเรียนที่เข้าร่วมโครงการมาฝึกงานที่สถานีบริการอีกด้วย”

“สิ่งเหล่านี้ล้วนส่งผลให้เกิดการพัฒนาศักยภาพของเด็กและชุมชนในวงกว้าง ทำให้กลุ่มเป้าหมายสามารถสร้างคุณค่าในตัวเอง และสร้างประโยชน์ให้กับสังคม ปัจจุบันมีการขยายโครงการไปกว่า 86 โรงเรียน มีนักเรียนเข้าร่วมโครงการกว่า 32,000 คน”

ส่วนโครงการเชลล์ชวนชิม “อรอุทัย” บอกว่า โครงการนี้ถือเป็นการส่งเสริมธุรกิจผู้ประกอบการร้านอาหารรายย่อยให้เติบโตอย่างแข็งแกร่ง โดยนำสัญลักษณ์เชลล์ชวนชิมมาสานต่อ พร้อมกับนำเอาแพลตฟอร์มดิจิทัลทั้งเว็บไซต์, เฟซบุ๊ก และยูทูบมาช่วยให้ผู้ประกอบการที่ได้รับสัญลักษณ์เชลล์ชวนชิม เพื่อให้เข้าถึงผู้บริโภคกลุ่มใหม่ ๆ มากขึ้น

“ในอนาคตเรายังมีแผนที่จะนำร้านที่ได้รับสัญลักษณ์เชลล์ชวนชิมมาเปิดให้บริการในสถานีบริการน้ำมันเชลล์ รวมถึงนำสินค้าจากร้านเชลล์ชวนชิมมาขายในร้านสะดวกซื้อซีเล็ค และร้านกาแฟเดลี่ คาเฟ่ มาทำให้สถานีบริการน้ำมันเชลล์เชื่อมโยงกับชุมชน ผู้คน และผู้ประกอบการ เพื่อให้เป็นสถานีเติมสุขให้แก่ผู้บริโภคอย่างแท้จริง”

อันเป็นการสร้างโอกาสให้กับผู้คน ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม และยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนในสังคม ภายใต้โมเดล “Trusted Partner” พันธมิตรที่ไว้วางใจได้เสมอ มีความจริงใจและดำเนินการอย่างจริงจังในการเติมสุขให้ทุกชีวิตเพื่อสังคมไทยต่อไป