James Taylor ฉีกกรอบความคิด-ฝ่าวิกฤตยุคดิจิทัล

เนื่องเพราะ digital disruption เข้ามาในชีวิตเราโดยไม่ทันรู้ตัว จนทำให้สมรรถนะทางเทคโนโลยีสูงมากขึ้น แต่ในทางกลับกันก็ทำให้เทคโนโลยีต่าง ๆ กลับมีราคาถูกลง จนส่งผลให้เกิดคู่แข่งในตลาดมากขึ้น ทั้งยังทำให้แรงงานคนถูกแทนที่ด้วยปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI (artificial intelligence) แต่ไม่ได้หมายความว่า องค์กรต่าง ๆ จะไม่ต้องการ “คน” เพียงแต่ต้องการ “คน” มีลักษณะเปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะ “คน” ที่มีความคิดสร้างสรรค์ (creativity) อันเป็นหนึ่งในกลุ่ม talent ที่องค์กรต้องการ

ด้วยความสำคัญดังกล่าว M academy จึงเชิญกูรูระดับโลก “เจมส์ เทย์เลอร์” (James Taylor) ผู้เชี่ยวชาญด้านความคิดสร้างสรรค์ และนวัตกรรม มาจัดเวิร์กช็อปเพื่อฉีกกรอบความคิด ฝ่าวิกฤตยุคดิจิทัลในหัวข้อ “Unlock Your Creative Potential & Building a More Creative Culture” เพื่อช่วยปลดล็อกพลังครีเอทีฟ ปลดปล่อยไอเดียสร้างสรรค์ ต่อยอดทุกธุรกิจให้พร้อมสู้ศึก AI ยืนหนึ่งเป็นตัวจริงชนะกระแส digital disruption โดยเขาเป็นที่ปรึกษาทางธุรกิจให้กับซีอีโอ, เจ้าของกิจการ, รัฐบาล ที่ได้รับการยอมรับจากผู้เรียนทั่วโลก

“เจมส์ เทย์เลอร์” กล่าวในเบื้องต้นว่า สภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum-WEF) จัดอันดับทักษะที่จำเป็นในโลกปัจจุบันโดยระบุว่า ความคิดสร้างสรรค์จะเป็นทักษะการทำงานที่มีความสำคัญมากขึ้น โดยเพิ่มจากอันดับที่ 10 ไปสู่อันดับที่ 4 ในปี 2020 เพราะเหตุผลว่าคนไม่สามารถแข่งกับเครื่องจักร หรือเทคโนโลยีในแง่ความเร็ว และความถูกต้องได้ แต่คนมีความได้เปรียบด้านความคิดสร้างสรรค์

“เราอยู่ในยุคดิจิทัลที่มีการคาดการณ์ว่า AI ตลอดจนเทคโนโลยีทันสมัยต่าง ๆ จะเข้ามาแทนที่การทำงานของมนุษย์เกินกว่าครึ่งของงานที่มีอยู่บนโลกนี้ ทำให้ผู้บริหารหลายคนมองหาทรัพยากรมนุษย์ที่มีความคิดสร้างสรรค์ ไม่ว่าจะอยู่ในธุรกิจแบบไหน ทำอาชีพอะไร คนจำเป็นต้องพัฒนาตนเองเพื่อสามารถทำงานให้เข้ากับตลาดแรงงานในยุคใหม่นี้ได้ รวมถึงสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ให้เกิดขึ้น และพร้อมก้าวไปกับงานหรือตำแหน่งหน้าที่ใหม่ ๆ ที่ต่างไปจากยุคก่อน”

ทุกคนเกิดมาพร้อมกับทักษะความคิดสร้างสรรค์ แต่ไม่ค่อยนำออกมาใช้อย่างเต็มศักยภาพ เนื่องจากไม่ได้รับการกระตุ้นและพัฒนา ผลเช่นนี้ จึงทำให้ “เจมส์ เทย์เลอร์” เชื่อว่าการนำความคิดสร้างสรรค์ไปใช้ประโยชน์ให้เกิดขึ้นจริงกับองค์กรต่าง ๆ จะต้องมี 5 เทคนิคประกอบกัน คือ

หนึ่ง เทคนิค PNC (positive ผลเชิงบวก, negative ผลเชิงลบ, curious ไม่แน่ใจ/สงสัย) เป็นกระบวนการฝึกคิด 3 มิติ คือ คนเราควรมองเรื่องใด ๆ ให้ครบทั้ง 3 ด้าน เป็นการฝึกการหาเหตุผลแล้วค่อยทำการตัดสินใจ

สอง เทคนิค VOD (variations ความหลากหลาย, options ตัวเลือก, decisions การตัดสินใจ) เป็นการหัดคิดสร้างสรรค์ไอเดียใหม่ ๆ ที่ต่างจากเดิมที่เคยคิดมา ผู้คิดต้องเข้าใจว่าแต่ละสิ่งมีความหลากหลายด้านใดบ้าง แล้วมีทางเลือกใหม่ ๆ อะไรที่เหมาะสม จากนั้นค่อยตัดสินใจ

สาม เทคนิค OUT (outrageous ideas แนวคิดหลุดโลก) เมื่อคุณมีปัญหาการแก้ปัญหาอาจไม่ชัดเจน หรือง่ายเสมอไป ดังนั้น บางครั้งในสถานการณ์คุณไม่มีทางเลือก นอกจากต้องหาทางออกด้วยความคิดแหวกแนว และบ่อยครั้งที่เป็นความคิดที่ฟังดูบ้าบอ แต่มักจบลงด้วยการทำงานได้ดีที่สุด

สี่ เทคนิค random words (การสุ่มเลือกคำ) เป็นเทคนิคการสุ่มเลือกคำศัพท์จากแหล่งต่าง ๆ ซึ่งมีหลายเว็บไซต์ที่รวบรวมคำศัพท์ดี ๆ มาช่วยสร้างแรงบันดาลใจได้ เช่น randomword generator.com โดยให้ฝึกพิจารณาคำศัพท์ที่คุณสุ่มเลือกว่า คำคำนั้นมีผลกระทบต่อสิ่งที่คุณคิดขึ้นมาอย่างไร

ห้า เทคนิค future pacing (วาดภาพในหัว) เพื่อคาดการณ์อนาคต โดยจัดคิดถึงภาพในอนาคตเกี่ยวกับเรื่องใด ๆ เป็นช่วงเวลา เช่น วาดภาพในหัว 1 เดือนข้างหน้า จากนั้น 1 ปีข้างหน้า ไปจนถึง 10 ปี จะต้องหัดจินตนาการให้เหมือนว่าเราอยู่ในช่วงเวลานั้นจริง ๆ เพื่อมองภาพความท้าทาย และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น

“เจมส์ เทย์เลอร์” อธิบายเพิ่มเติมว่า ทุกคนสามารถใช้ 5 เทคนิคดังกล่าวรังสรรค์ความคิดใหม่ ๆ ที่เมื่อผนวกกับการทำงานร่วมกันกับปัญญาประดิษฐ์แล้วจะยิ่งเพิ่มประสิทธิภาพของตนได้อย่างมากมายมหาศาล

เพราะการฝึกหัดสร้างความคิดที่ต่างไปจากเดิมมีความสำคัญมาก สิ่งที่เคยทำแล้วได้ผลในอดีต แต่วันนี้อาจไม่ใช่อีกต่อไป หากวันนี้คุณยังคงคิดและทำแบบเดิม ๆ ก็แทบไม่มีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จในโลกปัจจุบัน

“ดังนั้น 5 เทคนิคจะช่วยให้คุณพบทางออก ตลอดจนเปลี่ยนวิธีการดำเนินธุรกิจได้ทั้งกระบวนการ ที่สามารถปรับใช้กับสายงานทุกด้าน เช่น องค์กรธุรกิจ ไม่ว่าภาครัฐ/เอกชน หรือคนทำธุรกิจ startup เพราะหลายคนมีไอเดียเยอะ แต่ทำให้เกิดขึ้นจริงไม่ได้ และหันไปไหนก็เจอแต่คู่แข่งที่มีสินค้าบริการคล้ายคลึงกัน ความคิดสร้างสรรค์ยังช่วยสร้างนวัตกรรมใหม่ที่ตอบโจทย์ลูกค้า ลดต้นทุนไม่จำเป็น เพิ่ม productivity และเพิ่มประสิทธิภาพให้คนในองค์กร หรือปรับตัวจากการสุ่มเสี่ยงที่จะถูก disrupted”

นับเป็นเวิร์กช็อปที่ต้องการผลักดันสร้างคนในองค์กรให้กล้าคิด กล้าฉีกความคิดจากรูปแบบเดิม เพื่อก้าวให้ทันต่อโลกยุคดิจิทัลที่ขณะนี้กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว