“ยูธ โคแล็บ” ชู “เยาวชน” สร้างนวัตกรรมสังคมอย่างเท่าเทียม

คอลัมน์ CSR Talk

“ความคิดสร้างสรรค์” เกิดจากการรวบรวมความคิดและไอเดียที่หลากหลายรูปแบบ หลากหลายทิศทาง จนนำไปสู่การขมวดปมกระทั่งเกิดเป็นนวัตกรรมทางความคิด ซึ่งก่อให้เกิดสิ่งแปลกใหม่ให้กับสังคมโลก ทั้งการเชื่อมต่อทางเศรษฐกิจ แรงขับเคลื่อนเชิงบวกทางสังคม การแลกเปลี่ยนด้านวัฒนธรรม รวมถึงเรื่องน่าอัศจรรย์เล็ก ๆ ในชีวิตประจำวัน

อย่างไรก็ตาม มีบ่อยครั้งที่ความหลากหลายเหล่านี้กลับก่อให้เกิดปัญหาและเป็นจุดเริ่มต้นของการเอาชนะ กดทับกลุ่มที่เห็นต่าง การต่อสู้ระหว่างกันจนนำไปสู่ความเหลื่อมล้ำกระทั่งพาไปสู่การใช้ความรุนแรง

เพราะข้อมูลจากองค์การสหประชาชาติคาดว่าจำนวนประชากรโลกจากปัจจุบัน 7,600 ล้านคน จะพุ่งสูงทะลุ 9,800 ล้านคนในอีก 30 ปี อันสะท้อนว่าความแตกต่างหลากหลายกำลังจะมีมากยิ่งขึ้น ซึ่งประชาคมโลกเองต้องเร่งหาหนทางรับมือความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เช่นเดียวกับมูลนิธิซิตี้ และสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ หรือ UNDP ที่ต้องการสร้างระบบนิเวศที่สร้างสรรค์และเปิดรับความหลากหลายให้กับบริบทของประเทศไทย จึงได้จัดโครงการ “ยูธ โคแล็บ” เพื่อเปิดโอกาสให้เยาวชนมีบทบาทในการร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และแก้ไขปัญหาสังคมอย่างตรงจุด ผ่านการใช้นวัตกรรมทางสังคม สู่การจัดการความหลากหลายอย่างยั่งยืน

“วันวิสาข์ โคมินทร์” ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายสื่อสารองค์กร ธนาคารซิตี้แบงก์ ประเทศไทย และตัวแทนมูลนิธิซิตี้ กล่าวว่า มูลนิธิซิตี้มีพันธกิจในการส่งเสริมความก้าวหน้า พัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ รวมถึงสร้างสภาพเศรษฐกิจชุมชมให้ดีขึ้น จึงร่วมกับสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) จัดโครงการยูธ โคแล็บ (Youth Co:Lab) ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 โดยเปิดพื้นที่ให้เยาวชนคนรุ่นใหม่นำเสนอไอเดีย และเฟ้นหานวัตกรรมที่จะช่วยรับมือและแก้ไขปัญหาสังคมอย่างมีประสิทธิภาพ

ภายใต้กรอบปัญหาที่ทวีความท้าทายมากขึ้นในปัจจุบัน ในหัวข้อ “เคารพความแตกต่าง ยอมรับความหลากหลาย” รวม 6 ด้าน ได้แก่ ความแตกต่างทางชาติพันธุ์, ความเหลื่อมล้ำทางการเข้าถึงทรัพยากร, โอกาสทางเศรษฐกิจ, การเข้าถึงโอกาสทางการศึกษา, ความเชื่อทางศาสนา, และการเข้าถึงความยุติธรรมอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม

โครงการดังกล่าวเน้นการพัฒนาศักยภาพและขีดความสามารถให้กับเยาวชน เนื่องจากมูลนิธิซิตี้เชื่อมั่นในความคิดสร้างสรรค์ และความมุ่งมั่นของเยาวชนไทยที่จะรับบทบาทผู้ขับเคลื่อนสังคมในอนาคต โดยล่าสุดจากเวทีการประกวดไอเดียนวัตกรรมทางสังคม

“ยูธ โคแล็บ ประเทศไทย 2562” มีผลงานที่โดดเด่นจำนวนมาก อาทิ

-Local Chef”s to Peace – พลัง “ความอร่อย” กับการสร้างความเข้าใจพหุวัฒนธรรม ผลงานทีมเยาวชนลูกหลานปักษ์ใต้

โดยมีไอเดียเยาวชนจากภาคใต้ที่ต้องการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่คร่าชีวิตคนไปแล้วกว่า 7,000 คน อันมีสาเหตุมาจากการแบ่งแยกพื้นที่ทางสังคม ด้วยการหยิบเอาอาหารที่มีส่วนผสมจากหลายวัฒนธรรมให้ผู้คนที่แตกต่างกัน มาสร้างเป็นพื้นที่ในการพูดคุยกันอย่างเป็นอิสระ เกิดการจัดโต๊ะเจรจา เปิดใจกันบนโต๊ะอาหาร ระหว่างกลุ่มคนไทยมุสลิม ไทยพุทธ และไทยจีน

เพื่อให้คนในท้องถิ่นมาร่วมรับประทานอาหาร และแลกเปลี่ยนความหลากหลายทางวัฒนธรรมร่วมกัน ซึ่งสามารถต่อยอดสู่กิจกรรมเวิร์กช็อปและไอเดียแนวคิดการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมในพื้นที่ เพื่อช่วยเพิ่มรายได้ เพิ่มให้กับสมาชิก อันนำไปสู่แนวคิดการอยู่ร่วมกันได้อย่างเท่าเทียม

-Media for Citizenship – มัลติมีเดียเพื่อการขอสัญชาติ กับปณิธานแก้ปัญหาชนกลุ่มน้อย ผลงานทีมเยาวชนไร้สัญชาติกว่า 11 ปี ซึ่งไอเดียมาจากทีมเยาวชนนักกิจกรรม ผู้ประสบปัญหาการขอสัญชาติด้วยตัวเองมายาวนานกว่า 11 ปี เพื่อแก้ปัญหาชนกลุ่มน้อย และผู้ไร้สัญชาติที่ต้องการได้รับสัญชาติไทยเพื่อสิทธิขั้นพื้นฐาน ด้วยแนวคิดการสร้างสื่อให้กับชนกลุ่มน้อย และผู้คนไร้สัญชาติตามแนวชายแดน เพื่อให้เข้าถึงแหล่งเรียนรู้กระบวนการขอสัญชาติ ทั้งการทำ infographic ข้อมูล และรายการสารคดีติดตามกระบวนการยื่นขอรับรองตั้งแต่เริ่มจนจบผ่านสื่อโซเชียล

นอกจากนี้ ยังวางแผนทำรายการสะท้อนวิถีชีวิตและอัตลักษณ์ของคนในท้องถิ่น ลงพื้นที่ให้ความรู้และสร้างแกนนำเยาวชนคนทำสื่อเพื่อขยายเครือข่ายในการกระจายองค์ความรู้ให้กว้างขึ้น เพื่อเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนความรู้ให้กับผู้ได้รับความเดือดร้อน

-I KAN – ออนไลน์แพลตฟอร์ม พื้นที่เพื่อการวิจารณ์ถกเถียงอย่างเป็นธรรม ผลงานทีมเยาวชนนิสิตสิงห์ดำ โดยไอเดียมาจากนิสิตสิงห์ดำ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต่อยอดจากผลวิจัยว่าผู้คนส่วนใหญ่ไม่กล้าแสดงความคิดเห็นในหลายเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องการเมือง สาเหตุเพราะคิดว่าความคิดเห็นของตนเองไม่ดีพอ ความคิดเห็นจะไม่เป็นที่ยอมรับ และไม่ชอบการแสดงความคิดเห็นในที่สาธารณะ จึงเป็นที่มาของไอเดียการสร้าง online debate community ซึ่งเป็นพื้นที่เพื่อรับฟัง และแสดงความคิดเห็นในประเด็นต่าง ๆ โดยไม่ต้องระบุตัวตน

ซึ่งผู้ใช้สามารถสร้างตัวละคร หรืออวาตาร์ตัวแทนตนเอง ก่อนจะเข้าไปในแอปพลิเคชั่น และสามารถร่วมแสดงความคิดเห็นผ่านการพิมพ์ หรือการโหวตความเห็นที่ตรงกับใจได้ผ่านแอปพลิเคชั่น โดยสามารถประยุกต์ใช้ได้หลากหลายตั้งแต่ระดับกลุ่มคน บริษัท ไปจนถึงระดับนโยบายทางการเมือง

นอกเหนือจากไอเดียดังกล่าว ยังมีอีกหลากหลายไอเดียสร้างสรรค์จากฝีมือเยาวชนไทยร่วม 10 ทีม หรือจำนวน 36 คน ซึ่งทางมูลนิธิซิตี้เชื่อว่าไอเดียนวัตกรรมเหล่านี้จะสามารถพัฒนาขึ้นได้จริง และเข้ามาช่วยจัดการปัญหาสังคมในหลากหลายมิติ สู่การพัฒนาสังคมที่เท่าเทียม สร้างสรรค์ และยั่งยืน