Corporate Social Business วาระใหม่แห่งความยั่งยืน

คอลัมน์ CSR Talk

โดย ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ประธานสถาบันไทยพัฒน์

 

แนวคิด social business ที่ “ศ.มูฮัมหมัด ยูนุส” เป็นผู้ริเริ่มขึ้นบนพื้นฐานของการดำเนินธุรกิจเพื่อแก้ไขปัญหาสังคม ด้วยวิถีทางที่สามารถเลี้ยงตัวเองได้ มิใช่เรื่องใหม่ในแวดวงของการประกอบการเพื่อสังคม

เพราะธุรกิจเพื่อสังคม ตามนิยามของ “ยูนุส” ประเภทแรก คือ การดำเนินธุรกิจเพื่อแก้ปัญหาสังคมโดยบุคคล หรือนิติบุคคลทั่วไป ที่ไม่มีการปันผลกำไรคืนกลับแก่ผู้ถือหุ้น (กำไรทั้งหมดที่ได้จะนำมาพัฒนาและขยายธุรกิจต่อ) ประเภทที่สอง คือ การดำเนินธุรกิจโดยผู้ยากไร้ หรือผู้ด้อยโอกาสที่มีการปันผลกำไร โดยการปันผลกำไรนั้นถือเป็นการขจัดความยากจน เป็นการแก้ไขปัญหาสังคม สมตามจุดมุ่งหมายของธุรกิจเพื่อสังคมในตัวเอง

ในระยะหลัง แนวคิดธุรกิจเพื่อสังคมได้รับความสนใจจากภาคธุรกิจเอกชน และมีการนำมาขับเคลื่อนโดยองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ

ในประเทศไทย “ยูนุส” ได้เข้ามาผลักดันให้หน่วยงานทั้งในภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และภาคการศึกษาที่มีความสนใจในการขับเคลื่อนธุรกิจเพื่อสังคม โดยก่อตั้งเป็น “องค์กรยูนุส ประเทศไทย” (Yunus Thailand) ขึ้น เพื่อทำหน้าที่ในการเผยแพร่แนวคิดและผลักดันแนวทางดังกล่าวให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม

ความริเริ่มหนึ่งที่จะเกิดขึ้นในปี 2563 นี้ จะเป็นการนำเอาแนวคิดธุรกิจเพื่อสังคมมาขับเคลื่อนโดยภาคองค์กรที่เป็นกิจการขนาดใหญ่ ภายใต้รูปแบบที่เรียกว่า “corporate social business” โดยมุ่งเน้นการใช้แกนหลักของธุรกิจ (core business) มาดำเนินการเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่กลุ่มเป้าหมายที่ต้องการช่วยเหลือ หรือใช้แก้ปัญหาสังคมในประเด็นที่อยู่ในความสนใจขององค์กร

แนวคิดนี้ดัดแปลงมาจากความริเริ่ม corporate action tank ที่ “ยูนุส” ริเริ่มในประเทศฝรั่งเศส, อินเดีย และบราซิล ก่อนหน้านี้

ตัวอย่างของการใช้ core business ที่บริษัท เอสซีลอร์ (Essilor) ใช้ดำเนินการตามแนวคิด social business ได้แก่ ธุรกิจเพื่อสังคม ออปติก โซลิแดร์ (Optique Solidaire) ที่มีการทำงานร่วมกับคู่ค้าในห่วงโซ่อุปทาน รวมถึงธุรกิจประกันสุขภาพ เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายในการซื้อแว่นสายตาที่มีคุณภาพสูง สำหรับกลุ่มมีรายได้น้อย จากปกติที่จำหน่ายในราคา 230-300 ยูโร เหลือเพียงไม่ถึง 30 ยูโร

ออปติก โซลิแดร์ ใช้เวลาในการพัฒนา 15 เดือน และทดลองนำร่องที่มาร์เซย์ (Marseille) เมืองทางตอนใต้ที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของประเทศฝรั่งเศส เป็นเวลา 3 เดือน จนในที่สุดเกิดเป็นเครือข่ายร้านค้าปลีก“solidarity retailers” มากกว่า 500 แห่งทั่วประเทศฝรั่งเศส โดยมีสมาชิกเครือข่ายเป็นร้านประกอบแว่นที่สมัครใจเข้าร่วมจำหน่ายแว่นในราคาถูกดังกล่าว

ขณะที่บริษัทประกันที่เข้าร่วมโครงการจะส่งจดหมาย พร้อมบัตรกำนัลแจ้งไปยังกลุ่มลูกค้าที่มีรายได้น้อยอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป สำหรับการรับข้อเสนอพิเศษนี้ จากร้านประกอบแว่นในโครงการที่อยู่ใกล้เคียง โดยเอสซีลอร์ตั้งเป้าที่จะสร้างเครือข่ายร้านประกอบแว่นในโครงการให้ได้ 1,000 แห่งเพื่อจัดหาแว่นสายตาให้แก่ผู้ที่ไม่สามารถซื้อแว่นสายตาในราคาสูง จำนวน 2.5 ถึง 3 แสนราย ในฝรั่งเศส (ที่มา :     https://hbr.org/2015/03/reaching-the-rich-worlds-poorest-consumers)

รูปแบบ corporate social business เป็นมากกว่ากิจกรรมเพื่อสังคม (CSR-after-process) และมีความยั่งยืนในตัวเอง เนื่องจากไม่ใช่รูปแบบของการบริจาค หรือให้ความช่วยเหลือในแบบให้เปล่า แต่เป็นการทำธุรกิจที่เลี้ยงตัวเองได้ โดยมีความมุ่งประสงค์ทางสังคม (social purpose) เป็นตัวตั้ง ก่อให้เกิดเป็นความยั่งยืนในกระบวนการสืบเนื่องต่อไป(going concern) เมื่อเทียบกับการบริจาคที่มีวันสิ้นสุด หรือต้องมีการยุติกิจกรรมในวันใดวันหนึ่งข้างหน้า

ด้วยรูปแบบนี้ องค์กรไม่มีความจำเป็นต้องจัดตั้งกิจการขึ้นมาแต่ต้นเพื่อดำเนินการ โดยที่โมเดลธุรกิจยังไม่มีความชัดเจน หรือยังไม่แน่ใจว่าจะสำเร็จหรือไม่ ครั้นเมื่อแน่ใจแล้วว่าโมเดลธุรกิจเพื่อสังคมนั้นไปต่อได้ การพิจารณาว่าจะจัดตั้งเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมรองรับหรือไม่จะเกิดขึ้นภายหลัง ทำให้ความเสี่ยงที่กิจการซึ่งตั้งขึ้นใหม่จะไม่ประสบความสำเร็จลดลง

การขับเคลื่อน corporate social business จึงเป็นการย้ายจุดเน้นจากการสร้าง “กิจการ” (enterprise) เพื่อแก้ไขปัญหาสังคม มาสู่การสร้าง “ธุรกิจ” (business) เพื่อสังคม ที่พิสูจน์ในระดับหนึ่งแล้วว่า มีศักยภาพที่จะเติบโตหรือสามารถพัฒนาในระดับที่จะสร้างกิจการขึ้นมารองรับต่อไปได้


“ยูนุส” ได้บุกเบิกการทำงานตามแนวทางดังกล่าวด้วยตัวเองมาเป็นเวลากว่า 30 ปี เกิดเป็นตัวอย่างกว่า 40 ธุรกิจ เฉพาะในบังกลาเทศที่เป็นบ้านเกิดของ “ยูนุส” และในจำนวนนั้นมีธุรกิจที่พัฒนาเติบโตจนติดอยู่ในกลุ่มกิจการขนาดใหญ่สุดของประเทศ จนสหประชาชาติ สหภาพยุโรป และองค์การระหว่างประเทศทั้งในสังกัดภาครัฐ ภาคเอกชน และภาควิชาการ ต่างให้การยอมรับแนวคิดนี้อย่างกว้างขวางในปี 2563 นี้ แนวคิดในการขับเคลื่อน corporate social business จะเป็น “วาระใหม่แห่งความยั่งยืน” หรือ “the new sustainability agenda” ที่กิจการขนาดใหญ่สามารถนำไปใช้ให้เกิดเป็นคุณค่า หรือผลได้ทางตรงแก่สังคมกลุ่มเป้าหมาย โดยมีคุณค่าหรืออานิสงส์ที่ย้อนกลับมาสู่ธุรกิจเป็นผลพลอยได้