ความยั่งยืน “สยามพิวรรธน์” Cocreation Shared Value

"ชฎาทิพ จูตระกูล" ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท สยามพิวรรธน์

ต้องยอมรับว่าตลอดระยะเวลากว่า 60 ปี ที่บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด เจ้าของและผู้บริหารโครงการ อาทิ สยามพารากอน, สยามเซ็นเตอร์, สยามดิสคัฟเวอรี่ และหนึ่งในพันธมิตรเจ้าของไอคอนสยาม ได้ยึดมั่นวิสัยทัศน์ของการดำเนินธุรกิจที่เอื้อประโยชน์ให้กับสังคมไทย พร้อมทั้งเป็นส่วนสำคัญในการยกระดับและพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ให้กับชาวไทย

โดยใช้กลยุทธ์ “การสร้างคุณค่า สมประโยชน์ร่วมกันสู่ความยั่งยืน” ที่ถูกบรรจุเข้าไปในทุกขั้นตอน ทุกกระบวนการ ทุกธุรกิจของสยามพิวรรธน์ เพื่อสร้างความยั่งยืนให้ครอบคลุมมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

“เพราะเราต้องการให้สยามพิวรรธน์เป็นองค์กรที่สร้างคุณค่าต่อผู้คน ชุมชน สังคม และประเทศชาติ และเราไม่ได้ทำกิจกรรมเพื่อสังคมเป็นครั้งคราว แต่มุ่งปลูกฝังการสร้างประโยชน์ให้เกิดขึ้นแก่ผู้อื่นในวงกว้าง และเข้าไปอยู่ในการดำเนินธุรกิจทุก ๆ วันของเรา เพื่อนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนอย่างแท้จริง”

คำพูดเบื้องต้นเป็นสิ่งที่ “ชฎาทิพ จูตระกูล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท สยามพิวรรธน์ กล่าวถึงที่มาของกลยุทธ์ด้านความยั่งยืนขององค์กร

“เพราะเป็นวิถีการดำเนินธุรกิจที่ชัดเจนที่สุดของสยามพิวรรธน์ โดยเฉพาะความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) ที่เรามองว่าไม่ได้เป็นแค่กิจกรรมเท่านั้น แต่เรานำเข้าไปอยู่ในโมเดลธุรกิจตั้งแต่วันแรกของการดำเนินธุรกิจ ทำให้วิสัยทัศน์และพันธกิจของสยามพิวรรธน์ไม่ได้มองที่ตัวเองเท่านั้น แต่ต้องนำเสนอความแปลกใหม่ให้กับประเทศไทยตลอดเวลา ทำให้สถานที่ของเราเอื้ออำนวยทุกคนในสังคม ตลอดจนการสนับสนุนเศรษฐกิจ ยกคุณภาพชีวิตของผู้คนที่อยู่โดยรอบ หรือผู้ที่มาใช้บริการ สุดท้ายคือนำชื่อเสียงมาสู่ประเทศไทย”

“ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นอย่างชัดเจน คือ ไอคอนสยาม ถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่ง่าย แต่เราสามารถนำเสนอ และทำให้เกิดสิ่งที่เป็นคุณค่าร่วมของธุรกิจ และสังคมได้ ขณะพื้นที่ในสยามทั้งหมด เราทำเรื่องนวัตกรรมและเศรษฐกิจสร้างสรรค์มาโดยตลอด ซึ่งกลยุทธ์ของสยามพิวรรธน์วางไว้ใน 5 ปีข้างหน้า คือ เราจะเป็นผู้นำเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ที่จะนำไทยไปบนเวทีโลก ฉะนั้น แนวคิด cocreation shared value ที่เรานำมาใช้เป็นแนวทางในการดำเนินธุรกิจ จะเป็นส่วนที่ทำให้เกิดความยั่งยืน ทั้งในมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ตรงนี้จะเห็นได้อย่างชัดเจนอีกใน 5 ปีข้างหน้า”

สำหรับการจะนำไทยไปเวทีโลกนั้น “ชฎาทิพ” กล่าวเพิ่มเติมว่า เราพัฒนาธุรกิจโดยเฉพาะค้าปลีกที่ไม่ได้เป็นห้างสรรพสินค้าแบบทั่วไป (department store) แต่โมเดลธุรกิจค้าปลีกสยามพิวรรธน์ คือ speciality store ซึ่งได้สร้างสรรค์ร้านที่มีความแตกต่าง ไม่เหมือนใคร และนำเสนอสินค้าที่เป็นภูมิปัญญา ความสามารถของคนไทย

“ตั้งแต่ระดับท้องถิ่นที่เราเปิดโอกาสให้ชาวบ้านผลิตสินค้าที่เป็นตัวตน เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น จาก 77 จังหวัดทั่วประเทศเข้ามาค้าขายในกรุงเทพฯ ผ่านแพลตฟอร์มสุขสยาม ซึ่งนอกจากจะเป็นการเปิดพื้นที่ให้แล้ว เรายังสอนเรื่องวิธีการค้าขายแบบโมเดิร์นเทรด การทำการตลาดด้วยการนำเอาข้อมูล และความเชี่ยวชาญที่มีอยู่มาช่วยให้เขาสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ กระบวนการทางธุรกิจให้สามารถแข่งขัน ตอบสนองต่อความต้องการลูกค้าได้ จนไปสู่การค้าขายอีคอมเมิร์ซในอนาคต”

“วิธีการนี้จึงเป็นเหมือนสนามจริง พื้นที่จริงที่ชาวบ้านที่ผลิตสินค้าได้มาค้าขาย และเข้าใจวิธีการเป็นผู้ประกอบการ ได้สัมผัสและมีความเข้าใจลูกค้า ทำให้เห็นแนวทางการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ ตอบสนองต่อความต้องการ อีกทั้งเรายังร่วมมือกับธนาคารต่าง ๆ เข้ามาให้ความรู้ในเรื่องการบริหารจัดการเงิน เพื่อให้ผู้ผลิตสินค้าเหล่านี้นำไปต่อยอดเป็นธุรกิจที่มีความแข็งแกร่ง เป็นเจ้าของกิจการ เกิดการรวมกลุ่ม เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ ยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น และที่สำคัญ ยังทำให้เกิดการสืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่น งานฝีมือของครอบครัวและบรรพบุรุษ จนเกิดแพลตฟอร์มใหม่ในการยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชนมาสู่ความเป็นสากล”

“ขณะที่ผู้ประกอบการระดับกลางที่เป็นเอสเอ็มอี ซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ที่อยากจะทำธุรกิจของตนเอง มีการสร้างแบรนด์ สร้างสินค้าขึ้นมาแล้ว หรือร่วมกับชาวบ้านในการต่อยอด พัฒนาสินค้า สร้างแบรนด์จากภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยคนกลุ่มนี้ถือเป็นกลุ่มที่เพิ่งเริ่มต้นทำธุรกิจได้ประมาณ 1-5 ปี และยังไม่มีเงินเปิดร้าน หรือทำการตลาด ทำให้สินค้ายังไม่เป็นที่รู้จัก ตรงนี้จึงเป็นแพลตฟอร์มที่ 2 ของสยามพิวรรธน์ ที่จะส่งเสริมและสนับสนุน เพราะปัจจุบันเรามีเอสเอ็มอีในกลุ่มนี้กว่า 3,000 ราย”

“ชฎาทิพ” กล่าวเพิ่มเติมว่า เอสเอ็มอีเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ มีความเก่ง มีความคิดสร้างสรรค์ สามารถต่อยอดจนออกมาเป็นสินค้าใหม่ มีเรื่องเล่าในแบรนด์ของตัวเอง แต่ส่วนใหญ่จะมีปัญหาเรื่องการบริหารธุรกิจ การทำการตลาด เราจึงเปิดพื้นที่ไอคอนคราฟต์ (ICONCRAFT) บนพื้นที่กว่า 2,500 ตารางเมตร ให้เอสเอ็มอีเข้ามาค้าขาย ซึ่งกลุ่มนี้จะต้องเข้าระบบเพราะจะได้รู้ว่าสินค้าแบบไหนขายดีหรือไม่ เพื่อให้เกิดการพัฒนาสินค้าและบริการที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้า และในกลุ่มนี้เรายังร่วมมือกับธนาคารในการให้ความรู้ด้านการบริหารจัดการเงิน ตลอดจนการกู้ยืมเงินเพื่อต่อยอดธุรกิจ

 

“วันนี้แพลตฟอร์มไอคอนคราฟต์ จึงเป็นเหมือนประตูด่านแรกให้กับธนาคาร เพราะเรามีข้อมูลในการขายสินค้า ธนาคารสามารถนำไปใช้ในการพิจารณาปล่อยสินเชื่อให้กับเอสเอ็มอี ขณะเดียวกันบางธนาคารได้ร่วมลงทุนกับผู้ประกอบการในการผลิตสินค้าและบริการ ทำให้แพลตฟอร์มนี้ถือเป็นการสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเต็มรูปแบบ จนสร้างให้เกิดการต่อยอดทางธุรกิจ และสร้างมูลค่าให้เกิดขึ้นจริงได้”

“สำหรับแพลตฟอร์มสุดท้าย คือ กลุ่มที่เป็นดีไซเนอร์ ซึ่งมีผลิตภัณฑ์เป็นที่รู้จักทั้งในและต่างประเทศ และได้รับการส่งเสริมจากหน่วยงานภาครัฐ แต่กลุ่มนี้จะประสบปัญหาเงินในเรื่องการเปิดร้าน หรือร้านต้องไปเปิดในสตูดิโอที่ไกลออกไป ตรงนี้เรามีแพลตฟอร์มโอดีเอส (O.D.S. Objects of Desire Store) ในสยามดิสคัฟเวอรี่ ที่รวบรวมเอาผลิตภัณฑ์ของดีไซเนอร์ไทยที่ได้รับรางวัลทั้งในประเทศและต่างประเทศมาจำหน่าย ทั้งแบบขายส่ง และขายปลีก โดยผู้ซื้อมีทั้งบุคคลทั่วไป หรือกลุ่มที่มาจากห้างสรรพสินค้าต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศ”

“กลุ่มนี้มีความพิเศษ คือ มีเงินทุนเป็นของตัวเอง แต่ขยายฐานลูกค้าไม่ได้ ซึ่งแพลตฟอร์มนี้จะช่วยให้สินค้าของดีไซเนอร์ไทยเป็นที่รู้จักทั้งในและต่างประเทศมากขึ้น เกิดการซื้อขายจริง ไม่เพียงเท่านี้ เรายังได้เปิดร้านแอ็บโซลูทสยามสโตร์ เพื่อรวบรวมสินค้าที่มีความแตกต่างสร้างสรรค์ครีเอตด้วยดีไซน์แปลกใหม่ โดยร่วมกับดีไซเนอร์ไทยที่มีชื่อเสียงในระดับโลก เพื่อพัฒนาสินค้า exclusive แบบไม่เคยมีมาก่อน ด้วยการคัดสรรสินค้าคอลเล็กชั่นล่าสุดที่แตกต่างไม่เหมือนใคร”

นอกจากนี้ สยามพิวรรธน์ในฐานะเจ้าของและผู้บริหารอสังหาริมทรัพย์ ยังให้ความสำคัญกับเรื่องอารยสถาปัตย์ (universal design) ในอาคารอย่างครบวงจร สำหรับเรื่องนี้ “ชฎาทิพ” บอกว่า เรามีการลงทุนออกแบบก่อสร้างอาคารที่มีสิ่งอำนวยความสะดวก ทั้งการทำทางเข้า-ออกอาคารที่เชื่อมโยงกับทางเดิน และทางลาดรอบอาคารเพื่อเชื่อมต่อกับอาคารจอดรถ ด้วยการติดตั้งนวัตกรรมอุปกรณ์ต่าง ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้พิการ ผู้ทุพพลภาพ และผู้สูงอายุ ให้เข้าถึงอย่างเท่าเทียม

“ความเท่าเทียมกันเป็นสิ่งที่เราให้ความสำคัญอย่างมาก ไม่เฉพาะแต่ความเท่าเทียมให้กับผู้ที่มาใช้บริการเท่านั้น แต่การเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการ ผู้ผลิตสินค้าในประเทศเข้ามาค้าขายในแพลตฟอร์มต่าง ๆ ที่เราทำไว้ ยังเป็นการสร้างความเท่าเทียมในการจำหน่ายสินค้าให้กับผู้ประกอบการ ผู้ผลิตสินค้า จนเกิดนิเวศทางการค้าให้กระจายไปในทุกที่ที่เราเข้าไปดำเนินธุรกิจ”

“ขณะที่ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้คนทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยให้ความสำคัญ และที่ผ่านมา สยามพิวรรธน์ดำเนินการเรื่องเหล่านี้มาอย่างต่อเนื่อง ด้วยการกระตุ้นให้พนักงานของเราเกิดการตื่นตัว และรับรู้ ผ่านโครงการต่าง ๆ เช่น การนำเอาหลัก 3Rs มาใช้จัดการสิ่งแวดล้อมของอาคารต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง โครงการประหยัดพลังงาน ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทั้งยังมีการทำระบบน้ำหมุนเวียน เป็นต้น”

“ส่วนในมุมของลูกค้า เราทำการลด ละ เลิก ใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง ด้วยการเปลี่ยนมาใช้ถุงกระดาษใส่สินค้าให้กับลูกค้ามาตั้งแต่ปี 2559 หรือการปลูกฝังจิตสำนึกโดยใช้ความคิดสร้างสรรค์ ด้วยการใช้พื้นที่ภายในสยามดิสคัฟเวอรี่เสมือนเป็นห้องเรียนการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ทั้งยังเปิดร้าน Ecotopia เพื่อสนับสนุนผลิตภัณฑ์รักษ์โลกหลากหลายหมวดหมู่ เป็นต้น”

ถึงตรงนี้ “ชฎาทิพ” บอกอีกว่า ตลอดระยะเวลา 60 ปีของการดำเนินธุรกิจ สยามพิวรรธน์เอื้อประโยชน์ให้กับสังคมไทย พร้อมทั้งเป็นส่วนสำคัญในการยกระดับ และพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ให้กับชาวไทย ซึ่งถือเป็นการสร้างคุณค่าร่วมที่ไม่เพียงสร้างความแตกต่างของธุรกิจให้สามารถแข่งขันได้ในเวทีโลก ยังทำให้สังคม ผู้ประกอบการ ชาวบ้าน ชาวชุมชนได้พัฒนาสินค้าและบริการแบรนด์ไทยให้เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก สร้างงาน สร้างรายได้ ยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น

“ความแตกต่างของสยามพิวรรธน์ที่มีผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นซึ่งถูกยกระดับให้มีความเป็นสากล ในแพลตฟอร์มต่าง ๆ วันนี้มีผู้ประกอบการรีเทล หรือห้างสรรพสินค้าจากหลายประเทศทั่วโลกเดินทางมาดูงานที่เรา และอยากให้เรานำแพลตฟอร์มต่าง ๆ ที่มีสินค้าไทย ผู้ประกอบการไทย บรรยากาศแบบไทย ไปนำเสนอและจำหน่ายที่ศูนย์การค้าของเขา โดยไม่ต้องลงทุน ซึ่งในปีนี้เราจะเข้าไปทดลองนำสินค้าไทยเข้าไปจำหน่าย โดยเริ่มจาก pop-up store ศึกษาตลาด ความต้องการผู้บริโภคเป็นอย่างไร และหากได้รับการตอบรับที่ดี อาจจะเกิดเป็นพื้นที่ขายสินค้าถาวรต่อไป”


“และทั้งหมดนี้จะเป็นก้าวต่อไปของสยามพิวรรธน์ ในการนำประเทศไทยไปสู่เวทีโลก ที่ไม่เพียงแต่จะสร้างความยั่งยืนให้เกิดขึ้นกับธุรกิจ แต่ยังสร้างคุณค่าร่วมให้กับสังคมไทย ผู้ประกอบการไทย ภายใต้แนวคิด cocreation shared value อย่างแท้จริง”