AIS ลุยกำจัด e-Waste วางเป้าแสนชิ้นเกลี้ยงปี 2020

จากรายงานเฝ้าระวังขยะอิเล็กทรอนิกส์ทั่วโลก ประจำปี 2560 (The Global e-Waste Monitor 2017) โดยมหาวิทยาลัยแห่งสหประชาชาติ (United Nations University-UNU) และสมาคมขยะมูลฝอยสากล (International Solid Waste Association : ISWA) ระบุว่า ประเทศไทยปี 2560 มีปริมาณขยะอันตรายจากซากเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์มากกว่า 400,000 ตัน ซึ่งมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ หากไม่มีการจัดการที่ถูกวิธี ภายใน 5-10 ปีประเทศของเราจะเข้าสู่ปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างเข้าขั้น “วิกฤต”

ดังนั้น เอไอเอสในฐานะผู้ให้บริการดิจิทัลที่ดำเนินธุรกิจอย่างเกี่ยวเนื่องกับเรื่องเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ จึงมีความมุ่งมั่นเป็นแกนกลางในการกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์ (e-Waste) อย่างถูกวิธีและยั่งยืน พร้อมทั้งสร้างองค์ความรู้เพื่อให้คนไทยตระหนักถึงผลเสียของการทิ้งขยะอย่างไม่ถูกวิธี ภายใต้แผนภารกิจ Mission Green 2020 พร้อมร่วมมือกับพันธมิตรทุกภาคส่วนในการลดขยะอิเล็กทรอนิกส์ตกค้าง

“สมชัย เลิศสุทธิวงค์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เอไอเอส กล่าวว่า ขยะอิเล็กทรอนิกส์เป็นขยะอีกชนิดที่อยู่ใกล้ตัว และผู้คนยังขาดการใส่ใจเกี่ยวกับอันตราย ทั้งยังขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการทิ้งและการกำจัดที่ถูกวิธี จึงส่งผลให้ปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มสูงขึ้นทั่วโลกอย่างรวดเร็ว โดยมีปริมาณอยู่ที่ 50 ล้านเมตริกตันต่อปี และพบว่ามีเพียง 20% เท่านั้นที่ถูกนำไปรีไซเคิล ซึ่งขยะอิเล็กทรอนิกส์ไม่สามารถย่อยสลายได้เอง แถมยังมีสารเคมีอันตรายที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม อย่างเช่น ตะกั่ว ปรอท และแคดเมียม

“เอไอเอสจึงจัดตั้งโครงการการจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์เพื่อสร้างองค์ความรู้ให้เห็นถึงผลกระทบจากการทิ้งขยะประเภทดังกล่าวไม่ถูกวิธี และร่วมกับพันธมิตรทุกภาคส่วนเพื่อรวบรวมขยะอิเล็กทรอนิกส์เข้าสู่การกำจัดอย่างถูกวิธีและยั่งยืน เพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดีและลดปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ตกค้างในไทย”

โดยอำนวยความสะดวกให้ประชาชนสามารถนำโทรศัพท์มือถือ แบตเตอรี่มือถือ พาวเวอร์แบงก์ สายชาร์จ หูฟังที่ไม่ใช้แล้ว มาทิ้งได้ที่ถังขยะ e-Waste ที่เอไอเอสช็อปทั่วประเทศ และศูนย์การค้าของ CPN พร้อมทั้งสร้างการตระหนักรู้กับพนักงานและลูกค้าของเอไอเอส และจะขยายผลไปสู่ประชาชนทั่วไป

นอกจากนั้นยังตั้งจุดรับทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์ไว้ที่สำนักงานใหญ่ทุกภูมิภาค และยังได้จัดกิจกรรมใหญ่ชื่อว่า “กรีน พหลโยธิน” เครือข่ายรณรงค์รับทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์ e-Waste จากหน่วยงานและประชาชนตลอดเส้นถนนพหลโยธิน สร้างโมเดลต้นแบบเมืองสีเขียว ที่สามารถคัดแยก และกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์ e-Waste ได้อย่างถูกวิธี จากนั้นเราจะนำขยะอิเล็กทรอนิกส์ไปกำจัดที่โรงงานของบริษัท โทเทิล เอนไวโรเมนทอล โซลูชั่นส์ จำกัด หรือ TES ที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางว่าเป็นผู้นำระดับโลกในเรื่องของการจัดการรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์


ทั้งนี้ ภารกิจยิ่งใหญ่ Mission Green 2020 ยังมีเป้าหมายในการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) รวมกว่า 1 ล้านกิโลกรัมคาร์บอนสมมูล (kgCO2e) ให้ได้ภายในสิ้นปี 2020 ซึ่งการนำขยะอิเล็กทรอนิกส์เข้าสู่การกำจัดอย่างถูกวิธี เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้เป้าหมายดังกล่าวประสบความสำเร็จ อีกทั้งเอไอเอสยังได้วางเป้าหมายจัดการกับขยะ e-Waste ให้ได้ทั้งสิ้น 1 แสนชิ้นในปี 2020

“นัฐิยา พัวพงศกร” หัวหน้าแผนกงานพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน เอไอเอส กล่าวเสริมถึงแผนงานในอนาคตว่า เอไอเอสจะจับมือร่วมกับมหาวิทยาลัยชั้นนำ นำถังขยะ e-Waste ไปตั้งในแหล่งศึกษาตามจุดต่าง ๆ นอกจากนี้ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชน เอไอเอสยังมีแผนที่จะไปรับขยะอิเล็กทรอนิกส์ให้คนไทยถึงที่บ้าน โดยนำขยะที่ได้ไปส่งให้กับพาร์ตเนอร์ที่มีความเชี่ยวชาญในการกำจัดขยะเหล่านี้อย่างถูกวิธี และนำเงินที่ได้รับจากการขายขยะไปบริจาคให้กับมูลนิธิ โดยสามารถดูจำนวนของขยะที่ถูกเก็บ และศึกษาองค์ความรู้ในด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับเรื่องขยะอิเล็กทรอนิกส์ได้ที่ www.ewastethailand.com


ในส่วนการให้บริการลูกค้าเอไอเอส บริษัทยังได้ทยอยเปลี่ยนมาใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ลดปริมาณการใช้ อาทิ เปลี่ยนจากขวดน้ำพลาสติก เป็นแก้วกระดาษและเครื่องกดน้ำ ตลอดจนการรณรงค์ให้พนักงานภายในองค์กร ตระหนักถึงสิ่งแวดล้อม และปรับวิถีไลฟ์สไตล์ในที่ทำงานให้สอดคล้องกับนโยบายรักษ์สิ่งแวดล้อม ส่วนภายในองค์กร เอไอเอสเลือกที่จะใช้พลังงานสะอาดจากธรรมชาติมาผสมผสานในการบริหารจัดการเครือข่าย โดยแสวงหาโซลูชั่นใหม่เพื่อสิ่งแวดล้อมอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็น การเลือกใช้พลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานลม ซึ่งเป็นพลังงานทดแทนหมุนเวียนมาใช้แทนถ่านหินที่ใช้แล้วหมดไป รวมไปถึงการพยายามควบคุมและลดการใช้ไฟฟ้าในการปฏิบัติงานต่าง ๆ

ขณะที่ “กรวิกา ชัยประทีป” ผู้จัดการฝ่ายขายและการตลาด บริษัท โทเทิล เอนไวโรเมนทอล โซลูชั่นส์ จำกัด (TES) กล่าวว่า บริษัทรับขยะอิเล็กทรอนิกส์จากเอไอเอส ซึ่งประกอบไปด้วย โทรศัพท์มือถือ สายชาร์จ หูฟัง พาวเวอร์แบงก์ แล้วนำอุปกรณ์ทั้งหมดเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล ซึ่งขั้นตอนแรก คือ การคัดแยกส่วนประกอบต่าง ๆ ของโทรศัพท์มือถือออกจากกัน โดยจะได้วัสดุ เช่น พลาสติก housing+keypads, PCB board, li-ion battery เหล็ก อะลูมิเนียม และทองแดง หลังจากนั้นจะส่งวัสดุหลักที่ประกอบไปด้วย เหล็ก พลาสติก และอะลูมิเนียม เข้าสู่โรงหล่อเพื่อเริ่มกระบวนการรีไซเคิล ในขั้นตอนนี้สามารถทำที่เมืองไทยได้

แต่ในส่วนของวัสดุอื่น เช่น PCB board และ li-ion battery จะต้องเข้าโรงหล่อที่สิงคโปร์ เพื่อสกัดโลหะมีค่า โดยที่ PCB board จะสามารถสกัดออกมาเป็น ทอง เงิน และพัลลาเดียม ซึ่งโลหะมีค่าเหล่านี้ TES จะขายคืนกับให้ผู้ผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ต่อไป หรือทองและเงินก็สามารถขายร้านจิวเวลรี่ เพราะเป็นทอง 99.99% เพื่อนำไปทำเป็นทองแท่ง ทองรูปพรรณ หรือเครื่องประดับ ในขณะที่ li-ion battery สกัดออกมาเป็นโคบอลต์และลิเทียม เพื่อขายให้กับผู้ประกอบการประเภทยา เซรามิก หรือแก้ว


เป็นการช่วยลดการใช้ทรัพยากรทางธรรมชาติที่มีอยู่อย่างจำกัด และเพื่อให้สอดคล้องกับการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือที่เรียกว่า carbon footprint อีกทั้งเอไอเอสยังให้ความสำคัญในเรื่องของการรีไซเคิลโดยไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม มุ่งเน้นการรีไซเคิลแบบ zero landfill เพราะขยะอิเล็กทรอนิกส์เป็นอันตราย ฉะนั้นการจัดการที่ถูกวิธีจึงเป็นสิ่งที่จำเป็น !