Real Recycler ก้าวที่ยั่งยืนของ “MBK Group”

อาจเป็นเพราะธุรกิจในเครือบริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน) มีหลายกลุ่มธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นศูนย์การค้า, โรงแรม และการท่องเที่ยว, กอล์ฟ, อสังหาริมทรัพย์, อาหาร, ธุรกิจการเงิน, อื่น ๆ และธุรกิจสนับสนุน

จึงทำให้ทุกกลุ่มธุรกิจต่างเกี่ยวข้องกับสังคมและชุมชน

โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจศูนย์การค้า ที่มีสถานที่ตั้งอยู่บริเวณเขตปทุมวัน จึงทำให้นโยบายการทำกิจกรรมเพื่อสังคมของเอ็ม บี เค กรุ๊ป ปรากฏโฉมออกมาบนคอนเซ็ปต์ Real Recycler ที่ไม่เพียงแต่จะทำกิจกรรมภายในองค์กร หากภายนอกองค์กร และการทำเวิร์กช็อปกับชุมชนต่าง ๆ ที่อยู่โดยรอบเอ็ม บี เค ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ให้ความสำคัญไม่แพ้กัน

ทั้งนั้นเพราะ “ศิรฐา สุขสว่าง” ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการสายการตลาด บริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน) เชื่อว่า…การทำกิจกรรมเพื่อสังคมต้องเริ่มจากใจที่อยากทำเสียก่อน เพราะถ้าเริ่มจากใจ จะทำให้เราเกิดความคิดสร้างสรรค์ ที่จะทำให้กิจกรรมต่าง ๆ เหล่านั้นปรากฏออกมาดี และมีความสุข สนุกสนานทุกครั้งที่ทำร่วมกับพนักงานและชุมชนใกล้เคียงของเรา

ศิรฐา สุขสว่าง

“เราจึงมาโฟกัสเรื่องของสิ่งแวดล้อม แต่กระนั้น จะทำอย่างไรถึงจะได้รับความร่วมมือมากที่สุด จึงมาคุยกันว่าเรื่องของขยะเป็นปัญหาใกล้ตัว ทั้งขยะสำนักงาน ขยะในธุรกิจของเราเอง รวมไปถึงขยะของชุมชนโดยรอบที่อยู่ใกล้ ๆ กับเอ็ม บี เค และเราจะจัดการกับปัญหาขยะอย่างไร ที่สุดจึงร่วมมือกับมูลนิธิการจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน (มูลนิธิ 3R) เพื่อทำการอบรมแนวทางในการจัดการกับขยะ พร้อมกับฝึกปฏิบัติการคัดแยกขยะ และศึกษารูปแบบการจัดการขยะ”

“ที่ไม่เพียงจะนำพนักงานของเราเข้าไปร่วมอบรม หากยังเชิญชวนผู้นำชุมชนและกลุ่มซาเล้งที่เขามีอาชีพเก็บขยะอยู่แล้วไปร่วมอบรมด้วย ที่สุดจึงเกิดเป็นโครงการ Real Recycler เมื่อปี 2559 ผ่านมา ดังนั้น Real Recycler จึงเป็นร่มคันใหญ่ของการทำกิจกรรมเพื่อสังคมของเอ็ม บี เค กรุ๊ป และภายใต้ร่มคันใหญ่ เรามีการทำกิจกรรมเพื่อสังคมภายในองค์กรด้วยคือโครงการซุก สุข สิ้นเดือน”

“ด้วยการให้พนักงานกว่า 3,000 คนของเอ็ม บี เคเก็บสะสมขยะรีไซเคิลที่ตนเองใช้ ไม่ว่าจะเป็นกระดาษ A4 ที่เหลือใช้ หนังสือพิมพ์ นิตยสาร และขวดน้ำพลาสติก ที่ตนเองใช้แล้วมาแลกสินค้าอุปโภคบริโภคในทุกศุกร์สิ้นเดือน ซึ่งเราจะใช้โมเดลของร้านศูนย์บาท และธนาคารขยะมาปรับใช้จนเกิดกิจกรรมต่าง ๆ โดยเฉพาะการนำมาต่อยอดกับโครงการ Gift for Sharing เปลี่ยนขยะ…เป็นอนาคต ซึ่งเป็นโครงการซีเอสอาร์ภายนอกองค์กรของเรา”

“ศิรฐา” บอกว่า โครงการกิจกรรมเพื่อสังคมภายนอกองค์กรมีอยู่ 2 โครงการหลัก ๆ คือโครงการพัฒนาศักยภาพซาเล้ง และโครงการ Gift for Sharing เปลี่ยนขยะ…เป็นอนาคต สำหรับโครงการพัฒนาศักยภาพซาเล้ง เราร่วมมือกับกรุงเทพมหานคร ซึ่งเฟสแรกเราทำสำเร็จไปแล้ว และตอนนี้อยู่ในช่วงของการทำเฟส 2

“หลายคนอาจเห็นรถซาเล้งจนชินตา จึงไม่สนใจอะไร แต่เราไปร่วมมือกับนิสิต นักศึกษา คนในชุมชน และผู้ประกอบอาชีพซาเล้ง เพื่อให้พวกเขาเกิดการเชื่อมโยงกัน ด้วยการให้นิสิตนักศึกษาออกแบบรถซาเล้งให้ดูเก๋ไก๋ทั้งหมด 12 คัน พูดง่าย ๆ เราออกแบบรถซาเล้งเพื่อทำเป็นสื่อสัญลักษณ์เคลื่อนที่ในการปลุกกระแสสังคมให้คนทั่วไปรู้จักการนำขยะไปสร้างมูลค่าเพิ่ม”

“เพราะอาชีพเขาอยู่กับขยะอยู่แล้ว และเขาก็รู้ด้วยว่าขยะแบบไหนขายได้ ขายไม่ได้ หรือขยะแบบไหนสามารถแปรสภาพเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ได้ เราให้ทางมูลนิธิ 3R เข้ามาช่วยตรงนี้ เหมือนอย่างล่าสุดที่เราพาตัวแทนชุมชนจากเขตปทุมวันไปอบรมให้ความรู้ ณ แหล่งเรียนรู้การจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน บริเวณชุมชนอ่อนนุช 14 ไร่ ซึ่งเป็นชุมชนต้นแบบของการจัดการขยะ และดำเนินชีวิตตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง ก็ทำให้พวกเขาเข้าใจเรื่องการสร้างมูลค่าเพิ่มจากขยะมากขึ้น”

“กระทั่งต่อยอดมาทำโครงการ Real Recycle รักษ์โลกจริง เลิกทิ้ง เลิกเท ในปีนี้ เพราะคิดว่าธุรกิจของเรามีร้านอาหาร, สุกี้ยากี้นัมเบอร์วัน, โรงแรม ซึ่งแต่ละแห่งใช้ถาดไข่เยอะแยะเลย จนทำให้คิดว่าถังขยะมีความสำคัญ เราจึงมาคุยกับชุมชนให้เขารู้ว่าถาดไข่ที่บ้านสามารถนำมาทำเป็นถังขยะได้ โดยเราชักชวนเยาวชนที่อยู่ใกล้ ๆ กับเรามาช่วยกันออกแบบถาดไข่เพื่อทำเป็นถังขยะ โดยทำเป็นรูปสัตว์ต่าง ๆ แทนสัญลักษณ์ของสี เช่น สีเหลือง (รูปเสือ) รับรองขยะที่สามารถนำมารีไซเคิลได้ สีเขียว (รูปกบ) รับรองขยะย่อยสลาย และอินทรียวัตถุที่ย่อยสลายง่าย หรือสีน้ำเงิน (นกเพนกวิน) รับรองขยะที่ย่อยสลายยาก อะไรเหล่านี้”

พร้อมกับติดตั้งระบบเซ็นเซอร์เพื่อให้ถังขยะพูดได้ ดังนั้นพอน้อง ๆ เยาวชนจะทิ้งขยะ เขาจะรู้เลยว่าควรใส่ในใบไหน

“ศิรฐา” บอกว่า ก่อนที่เราจะทำเรื่องถังขยะจากถาดไข่ เราเคยแนะนำการทำสวนแนวตั้งมาก่อน เพื่อให้ชาวบ้านในชุมชนปลูกผักสวนครัวชนิดต่าง ๆ ไว้สำหรับกินใช้ภายในครอบครัว ปรากฏว่าตอนนี้ทุกบ้านมีสวนแนวตั้งกันทั่ว ตรงนี้เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่เราส่งเสริมอย่างต่อเนื่อง

“ส่วนโครงการ Gift for Sharing เปลี่ยนขยะ…เป็นอนาคต ก็เช่นกัน เราต้องการต่อยอดความคิดสร้างสรรค์ขึ้นมาอีกระดับหนึ่ง โดยไปร่วมมือกับทีมดีไซเนอร์รุ่นใหม่ทั้งหมด 4 คน จาก 3 บริษัทเพื่อดีไซน์สินค้าจากขยะให้เป็นผลิตภัณฑ์ใน 3 หมวด เช่น หมวดของใช้ เราเชิญ พลอยพรรณ ธีรชัย และเดชา อรรจนานันท์ จาก Think Studio มาสร้างผลงาน Kadas เพื่อออกแบบจากขยะ ด้วยการขึ้นรูปจากแม่พิมพ์รอบ ๆ ตัว ซึ่งเป็นของใช้ประจำวัน โดยใช้รูปทรงและสีสันจากธรรมชาติ”

“ส่วนหมวดของแต่งบ้าน เราเชิญ ธนิษฐ์ วชิรปราการสกุล จาก MOHO Studio มาสร้างผลงาน Belephant ด้วยการพับกระดาษแบบ Geometric Shape เพื่อนำกระดาษมาผ่านกระบวนการ และขึ้นรูปเป็นรูปช้าง โดยผสานระหว่างความเชื่อมั่นในฝีมือผู้พิการ และช้างที่อยู่คู่ประเทศไทยมานาน ส่วนอีกหมวดหนึ่งคือเครื่องประดับ โดยเราเชิญ จักรกฤษณ์ อนันตกุล กราฟิกดีไซเนอร์ชื่อดัง มาสร้างผลงาน Manna ด้วยการทำเป็นสตรีตอาร์ตและแคแร็กเตอร์ดีไซน์ พร้อมกับใส่ไอเดียสนุก ๆ ทำให้คนที่เห็นสนุก และมีความสุข โดยมีแรงบันดาลใจมาจากฟิงเกอร์บอร์ด”

ถามว่า ทำไมถึงต้องเป็นเช่นนั้น ?

“ศิรฐา” บอกว่า เพราะเราต้องการส่งต่อความรู้ไปให้กับนักออกแบบรุ่นใหม่อายุระหว่าง 18-30 ปี ด้วยการจัดโครงการประกวด WOW Design Awards โดยจะทำการคัดเลือกผู้สมัครจากทั้งหมด 10 ทีม ให้เหลือผู้ชนะเลิศ 3 ทีม และใน 3 ทีมจะไปเวิร์กช็อปเพื่อร่วมกันออกแบบ และพัฒนาผลิตภัณฑ์ร่วมกับดีไซเนอร์แต่ละทีม

“เพื่อสร้างผลงานออกมาอีก 3 แบบรวมกับดีไซเนอร์ก็จะมีทั้งหมด 6 แบบ เพื่อเป็นต้นแบบในการให้น้อง ๆ ผู้พิการสร้างผลงานจากกระดาษเหลือใช้จนเป็นผลิตภัณฑ์ต่อไป ซึ่งจะมีทั้งหมด 900 ชิ้น เป็นลิมิเต็ด เอดิชั่นที่ไม่สามารถหาซื้อทั่วไปได้ เพราะเราจำหน่ายผ่านเว็บไซต์ออนไลน์ และที่ MBK Social Corner ร้านค้าเพื่อสังคมแห่งแรกของเรา โดยนำรายได้ทั้งหมดมอบให้กับมูลนิธิเพื่อเด็กพิการต่อไป”

สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้กำลังดำเนินต่อไปอย่างต่อเนื่อง

พร้อม ๆ กับกิจกรรมอื่น ๆ อาทิ โครงการเอ็ม บี เค การันตี มินิมาราธอน เพื่อนำรายได้ไปช่วยเหลือเต่าทะเล, โครงการ Eat Fit Firm กิน สร้าง สุข และโครงการ Natural Remedy กิน อยู่ แบบธรรมชาติบำบัด

“ทั้งนั้นเพราะเราเชื่อว่าการทำกิจกรรมเพื่อสังคมต้องเริ่มจากใจที่อยากทำเสียก่อน เพราะถ้าเริ่มจากใจ จะทำให้เราเกิดความคิดสร้างสรรค์ ที่จะทำให้กิจกรรมต่าง ๆ เหล่านั้นปรากฏออกมาดี และมีความสุข สนุกสนานทุกครั้งที่เราทำร่วมกับพนักงาน และชุมชนใกล้เคียงของเรา”

อันเป็นคำเกริ่นและคำตอบสุดท้ายของ “ศิรฐา”

ที่พร้อมจะวางโรดแมปซีเอสอาร์ของเอ็ม บี เค กรุ๊ป เพื่อก้าวไปสู่ความยั่งยืนในอนาคต