คิดแบบผู้นำ “CIVIL” “เราต้องสร้างอนาคตร่วมกัน”

ตลอด 5 ทศวรรษที่ผ่านมา บริษัท ซีวิลเอนจีเนียริง จำกัด ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมโยธาครบวงจรได้ทำโครงการก่อสร้างตั้งแต่ระดับท้องถิ่นจนถึงระดับประเทศมามากกว่า 1,000 โครงการ ไม่ว่าจะเป็นถนน, เขื่อน, สะพาน, สนามบิน, นิคมอุตสาหกรรม และอื่น ๆ แต่สำหรับโครงการที่ได้รับการกล่าวขานอย่างมากคือโปรเจ็กต์รถไฟความเร็วสูงไทย-จีน (กรุงเทพฯ-นครราชสีมา)

แต่กระนั้น การดำเนินธุรกิจให้ประสบความสำเร็จจนเป็นที่ยอมรับจากทุกภาคส่วนโดยได้รับมอบหมายให้ทำโครงการต่าง ๆ ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ยิ่งเฉพาะในบทบาทของผู้นำองค์กรเพื่อสร้างธุรกิจให้เติบโต รวมถึงการบริหาร “คน” ให้มีประสิทธิภาพก็เป็นเรื่องสำคัญไม่ใช่น้อย

แต่สำหรับ “ปิยะดิษฐ์ อัศวศิริสุข” กลับสร้างปรากฏการณ์เหล่านั้นได้ เพราะทางหนึ่งเขาดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีวิลเอนจิเนียริง จำกัด ขณะที่อีกทางหนึ่งเขาคือทายาทรุ่นที่ 3 ของตระกูล ซึ่งเป็นผู้บริหารหนุ่มไฟแรงที่พร้อมจะสานต่อภารกิจของบริษัท และสืบทอด “ดีเอ็นเอ” ของซีวิลเอนจิเนียริงอย่างมีประสิทธิภาพ

เพราะล่าสุด “ปิยะดิษฐ์” ได้รับการคัดเลือกจากคณะกรรมการ Eisenhower Fellowships มูลนิธิประธานาธิบดีดไวท์ ไอเซนฮาวร์ แห่งประเทศสหรัฐอเมริกา ให้เป็น 1 ใน 22 ผู้นำรุ่นใหม่จากหลายประเทศทั่วโลก (2019 Global Fellow) เพื่อให้เป็นตัวแทนไอเซนฮาวร์ เฟลโลว์ชิพ ในฐานะผู้นำยุคใหม่ด้านวิศวกรรมเทคโนโลยี

“ปิยะดิษฐ์” กล่าวว่า หลายต่อหลายครั้งองค์กรต้องเผชิญกับความท้าทายทางธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นช่วงยุควิกฤตต้มยำกุ้งที่สร้างความท้าทายเรื่องการเงิน แต่สิ่งที่ทำให้รู้ว่าเป็นเรื่องสำคัญในตอนที่เราลำบากคือทีมงาน ทั้งส่วนพนักงานที่อยู่ในออฟฟิศและส่วนที่อยู่หน้างาน ซึ่งคนของเราทำงานช่วยกันอย่างเต็มที่ในการเผชิญหน้ากับความท้าทาย และในฐานะผู้บริหาร เราต้องให้ความมั่นใจกับพวกเขาในการก้าวต่อไป และหาคำตอบไปด้วยกัน

“เรามีค่านิยมองค์กรที่เหมือนเข็มทิศ และเป็นตัวช่วยสำคัญที่คอยชี้นำให้ทุกคนก้าวเดินไปข้างหน้า ที่เรียกว่า “C-I-V-I-L” เพื่อเน้นความยึดมั่นที่จะทำตามสัญญา (C-commitment), ซื่อสัตย์โปร่งใส (I-integrity), ให้ความสำคัญกับผู้อื่น (V-value people), นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้ (I-innovation), ส่งเสริมการเรียนรู้ที่ไม่สิ้นสุด (L-learning) เพื่อส่งมอบผลงานก่อสร้างที่มีคุณภาพ และอยู่ภายในกรอบระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งค่านิยมเหล่านี้เป็นสิ่งที่เราพยายามทำมาตลอดตั้งแต่รุ่นคุณปู่ เพราะเป็นสิ่งสำคัญที่สืบทอดมาตั้งแต่ผู้บริหารรุ่นที่ 1 จนมาถึงรุ่นผม คือผู้บริหารต้องวาดภาพของค่านิยมให้ชัด ว่าเราอยากเห็นอะไรในองค์กร กำลังจะก้าวไปทิศทางไหน และต้องบอกเล่าให้พนักงานฟัง เพื่อทำให้พวกเขาต้องเชื่อก่อน เราถึงจะไปต่อได้”

“กว่า 54 ปีที่เราทำธุรกิจ ตอนนี้มีพนักงานรวม 800 คน แบ่งเป็น 80 คน อยู่สำนักงานใหญ่ และที่เหลืออยู่ตามหน้างาน เรามีพนักงานที่ผสมผสานกันหลากหลายช่วงอายุ แต่ทุกคนสามารถทำงานท่ามกลางความหลากหลายได้ดี เพราะคนรุ่นเก่า ๆ สามารถพัฒนาตัวเองให้ทันกับยุคสมัยได้เสมอ ถ้าพวกเขามีใจรักการทำงาน จะไม่มีอะไรยากเกินไป ทั้งนี้ เราเชื่อว่าการคัดสรรคนเป็นส่วนสำคัญในการมีทีมที่ดี ผมจึงมองเรื่องทัศนคติเป็นหลัก โดยเลือกคนที่คิดบวก สามารถทำงานแบบส่งเสริมกันในทีม และเห็นความสำคัญของทุกคน”

“เพราะพนักงานทุกคนเป็นทรัพย์สินอันมีค่าของบริษัท และเราต้องการส่งเสริมทุกคนให้ทำงานที่มีคุณค่า มีอาชีพที่ดี และเราให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะ การสร้างบรรยากาศการทำงานให้มีความสะดวก ตอนนี้เราพยายามทรานส์ฟอร์มการทำงานในองค์กร โดยเริ่มนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้มากขึ้น เช่น ระบบ ERP (enterprise resource planning) หรือการวางแผนทรัพยากรทางธุรกิจขององค์กรโดยรวม เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์อย่างสูงสุด เพราะเป็นระบบที่เชื่อมโยงกับระบบงานต่าง ๆ ขององค์กรเข้าด้วยกัน ตั้งแต่ระบบงานทางด้านบัญชีและการเงิน ระบบงานทรัพยากรบุคคล ระบบบริหารปฏิบัติการ ทั้งยังช่วยลดเวลาและขั้นตอนการทำงานอีกด้วย”

“ปิยะดิษฐ์” กล่าวต่อว่า สำหรับผมเองยึดหลักการบริหารแบบ builder together future และ excellence ในการขับเคลื่อนองค์กรให้บรรลุเป้าหมาย โดยคำนึงถึงทุกภาคส่วน ทั้งคู่ค้า พันธมิตรและชุมชน เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน ที่สำคัญ ผมมุ่งเน้นการนำเทคโนโลยีนวัตกรรมการก่อสร้างที่ทันสมัยมาปรับใช้ เพื่อพัฒนาศักยภาพของบริษัท จนทำให้ลดเวลาและต้นทุนในการก่อสร้าง ทั้งยังส่งมอบงานทันตามกำหนด เพราะผมเชื่อว่าบริษัทต้องมี economy of speech ไม่ใช่ economy of scale ถึงจะเติบโตได้

“ถึงแม้ธุรกิจเราจะเติบโตขึ้น แต่ผมพยายามรักษาจำนวนพนักงานให้ลีน เพื่อให้เกิดความคล่องตัว เพราะภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอย การเพิ่มจำนวนพนักงานมาก ๆ เป็นความเสี่ยง แต่ผมมีวิธีทำงานให้บรรลุเป้าหมายด้วยการร่วมกับพาร์ตเนอร์ทางธุรกิจที่มีความเชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ เข้ามาช่วยงาน จึงทำให้เราสามารถขยายตัวด้านการทำงานและมีมิติมากขึ้นอีกด้วย”

เมื่อพูดถึงการเป็นตัวแทนไอเซนฮาวร์ เฟลโลว์ชิพ “ปิยะดิษฐ์” บอกว่า โครงการไอเซนฮาวร์คือโครงการที่ให้ทุนสำหรับผู้นำทั่วโลก และเปิดโอกาสให้เดินทางไปสหรัฐอเมริกาเป็นเวลา 6 อาทิตย์ ในปี 2020 เพื่อไปพบกับผู้บริหารที่ประสบความสำเร็จ ทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน และนักวิชาการต่าง ๆ เพื่อจะมาแนะนำเรา และช่วยพัฒนาวิสัยทัศน์ให้เรามองโลกกว้างขึ้น

“โดยมูลนิธิประธานาธิบดีดไวท์ ไอเซนฮาวร์ จัดโครงการนี้มาเป็นปีที่ 60 มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างผู้นำคนรุ่นใหม่จากประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกที่มีผลงาน หรือผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอันเป็นประโยชน์ต่อประเทศและต่อโลก ทั้งยังส่งเสริมการสร้างเครือข่ายของผู้นำรุ่นใหม่ เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ซึ่งจะทำให้การดำเนินการด้านต่าง ๆ มีประโยชน์ต่อประเทศและสังคมโลก”

“สำหรับการคัดเลือกผู้นำรุ่นใหม่ในแต่ละปีจะพิจารณาจากเส้นทางอาชีพ ผลงาน และความตั้งใจ และต้องสามารถตอบคำถามที่สำคัญตั้งแต่ขั้นตอนการสมัครได้ ซึ่งคำถามที่ได้นั้นเกี่ยวกับแนวทางที่เราจะเปลี่ยนโลกได้อย่างไร เป็นคำถามที่สะกิดความคิดให้เรามองย้อนหลังไปตั้งแต่เริ่มทำธุรกิจ เป็นคำถามที่ช่วยให้เรามองความเป็นจริง และจุดประกายความคิดที่ดีมาก ซึ่งผู้ที่ได้รับการคัดเลือกจะเป็นผู้ที่พร้อมจะสืบทอดวัตถุประสงค์ของโครงการที่มี 3 ด้าน คือ peaceful สงบสุข, prosperous มั่งคั่งเจริญรุ่งเรือง และ justice ยุติธรรม”

“ผมเชื่อว่าการสร้างโลกให้มั่งคั่งเจริญรุ่งเรือง ไม่ได้หมายถึงด้านเงินทองอย่างเดียว แต่เป็นโลกที่มั่งคั่งด้วยความสุข และมองว่าโครงการนี้เป็นประโยชน์ เพราะทำให้เราได้ความรู้มาช่วยองค์กร และประเทศไทย ซึ่งผมพยายามผลักดัน GDP ของอุตสาหกรรมก่อสร้างของไทยให้เติบโต และมีความโปร่งใส เพราะผมมองว่าอุตสาหกรรมที่เราอยู่นี้เป็นอิมแพ็กต์ที่ดีต่อสังคมในวงกว้าง”

จึงนับเป็นผู้นำองค์กรที่มุ่งมั่นสร้างผลงานที่ทรงคุณค่า บนแนวทางการพัฒนาตนเองอย่างไร้ขีดจำกัด ด้วยการส่งมอบอุดมคติในการทำงานที่ดีไปสู่พนักงาน ทั้งยังตระหนักถึงการเป็นส่วนหนึ่งที่ขับเคลื่อนสังคมให้เจริญรุดหน้าด้วยโครงสร้างการคมนาคมและสาธารณูปโภคดั่งปณิธานในการทำหน้าที่ “ผู้สร้าง” ที่ “ซีวิลเอนจีเนียริง” ยึดมั่นตลอดมา