4 กูรูชี้องค์กรศตวรรษ 21 “ความเร็ว+นวัตกรรม=ความยั่งยืน”

ต้องยอมรับว่าบทบาทของสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ กระทรวงอุตสาหกรรมไม่เพียงเป็นหน่วยงานที่เดินหน้าผลักดันในการยกระดับผลิตภาพ (productivity) ขององค์กรภาครัฐ และภาคเอกชนในทุกภาคส่วน หากในการเพิ่มทักษะความสามารถของแรงงานในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี และนวัตกรรมเพื่อยกระดับประสิทธิภาพขององค์กรก็นับเป็นอีกบทบาทหนึ่งของสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ

ที่ไม่เพียงเฉพาะแค่ในประเทศ

หากยังมองไปถึงการแข่งขันบนขีดความสามารถในระดับนานาชาติ ด้วยการเชื้อเชิญองค์กรต่าง ๆ เข้าสมัครตรวจประเมินรางวัลคุณภาพแห่งชาติ (Thailand Quality Award-TQA), รางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศที่มีความโดดเด่นด้านการปฏิบัติการ (Thailand Quality Class Plus-Operation) และรางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศ (Thailand Quality Class-TQC)

ซึ่งผ่านมามีหลายหน่วยงานผ่านเกณฑ์ประเมินรางวัลคุณภาพแห่งชาติจนนำองค์กรไปสร้างผลิตภาพให้กับองค์กรของตัวเอง พร้อม ๆ กับช่วยพัฒนาประเทศชาติในอีกทางหนึ่ง จนทำให้ ใครเล่าจะเชื่อว่าเส้นทางของหน่วยงานเล็ก ๆ ที่ทำงานอยู่เบื้องหลังความสำเร็จของแต่ละองค์กรเดินทางมาถึงปีที่ 25 แล้ว

เป็น 25 ปีที่สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ ดำเนินการจัดงานครบรอบเพื่อขับเคลื่อนผลิตภาพของอุตสาหกรรมไทย ด้วยการชูแนวคิด “Transforming Productivity for Tomorrow Success” ซึ่งมีหัวข้อสัมมนา และวิทยากรจำนวนมากมาร่วมแลกเปลี่ยนมุมมอง และประสบการณ์ตลอด 2 วันของการจัดงานสัมมนา เพียงแต่ในที่นี้ “ประชาชาติธุรกิจ” ขอหยิบยกเพียงบางหัวข้อ และวิทยากรบางคนมาร่วมพูดคุย

เบื้องต้น “ดร.ไพรินทร์ ชูโชติถาวร” อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมมาแลกเปลี่ยนมุมมองในหัวข้อ “ทักษะแรงงานในอนาคต ทำอย่างไรให้รอด” บอกว่าเมื่อประชากรเกิดใหม่ลดลง ประชากรวัยทำงานก็จะลดลงด้วย ที่สำคัญ จำนวนประชากรผู้สูงอายุกลับมากขึ้นตามมาด้วย

“ดร.ไพรินทร์ ชูโชติถาวร”

“ดังนั้น ถ้ามองญี่ปุ่นเขาจะชดเชยการขาดแคลนแรงงานด้วยการนำสตรีเข้ามาในภาคทำงาน เนื่องจากเดิมทีผู้ชายทำงาน ผู้หญิงเลี้ยงลูก จึงทำให้เกิดอัตราการทำงานต่ำมาก แต่ปัจจุบันผู้หญิงญี่ปุ่นเริ่มทำงานมากขึ้น แต่สำหรับคนไทยเองผู้หญิงผู้ชายต่างทำงานกันอยู่แล้ว ในทางกลับกัน ตอนนี้คนแก่ของญี่ปุ่นก็เริ่มทำงานกันมากขึ้น และในหลายอาชีพมากขึ้น ซึ่งในเรื่องนี้เราเองก็ต้องมาคุยกันเหมือนกันว่าคนแก่ของเราทำงานมีคุณภาพได้เท่ากับคนแก่ของญี่ปุ่นหรือเปล่า”

“อีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญมากคือญี่ปุ่นยอมให้ชาวต่างชาติเข้ามาทำงานในประเทศได้ ในอดีตเราเคยเชื่อว่าสังคมญี่ปุ่นเป็นสังคมปิด ซึ่งไม่จริงเลย และปัจจุบันมีกฎหมายใหม่ออกมามากมายที่สนับสนุนให้คนต่างชาติรุ่นใหม่สามารถทำงานในประเทศได้ แต่สำหรับบ้านเรา กลับทำเช่นนั้นไม่ได้ เพราะเราคิดว่างานแบบนี้เฉพาะกับคนไทย คำถามคือทำอย่างนี้ถูกหรือเปล่า และถ้าคนไทยแต่ละครอบครัวยังไม่มีลูก อนาคตเราจะทำอย่างไร แต่ในตรงกันข้ามเรากลับเปิดโอกาสให้แรงงานต่างด้าวทั้งที่ถูกกฎหมาย และไม่ถูกกฎหมายเข้ามาทำงานในบ้านเรา ทั้ง ๆ ที่พวกเขาเหล่านั้นเป็นแรงงานที่ขาดทักษะฝีมือ ผลตรงนี้ จึงไปกระทบโดยรวมกับแรงงานต่างชาติที่มีฝีมืออีกทางหนึ่งด้วย”

“คนที่มีผลต่อการสร้างเศรษฐกิจในช่วงวัยทำงานระหว่างอายุ 22-60 ปี ถ้าเขาต้องทำงาน เขาจะทำงานเพื่อซัพพอร์ตตัวเขาเอง และต้องซัพพอร์ตคนที่อยู่ตรงปลาย กับตรงต้นทางด้วย เพราะฉะนั้น คนที่อยู่ตรงกลาง 1 คนจะทำงานเกือบเท่ากับ 2 คนคือซัพพอร์ตตัวเอง 1 คน และซัพพอร์ตครอบครัวตัวเอง หรือครอบครัวใหม่อีก 1 คน และตัวเลขนี้จะหนักขึ้นเรื่อย ๆ ถ้าอัตราการเกิดของประชากรลดลงไปเรื่อย ๆ จนที่สุดกลุ่มคนเหล่านี้จะไม่ไหว เพราะตัวเลขผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตรงนี้คือความน่ากลัวอย่างหนึ่งของสังคมไทยในอนาคต”

ขณะที่มุมมองของ “ดร.สันติ กนกธนาพร” อดีตเลขาธิการองค์การเพิ่มผลผลิตแห่งเอเชีย ประเทศญี่ปุ่น มาแลกเปลี่ยนมุมมองในหัวข้อ “Productivity Movement for Future Transformation” ว่า ลำพังแค่ productivity อย่างเดียวคงไม่สามารถให้องค์กรอยู่รอดอย่างยั่งยืนได้ แต่เราต้องมีอีก 2 ตัวสำคัญคือ agility และ innovation ซึ่งทั้ง 2 ตัวนี้จะต้องเข้าไปอยู่ใน sustainable framework ถึงจะเกิดผลสัมฤทธิ์ในระยะยาว

“ดร.สันติ กนกธนาพร”

“ในยุคที่โลกทุกวันนี้เป็น internet century เรายิ่งจำเป็นที่จะต้องมี agility ค่อนข้างมาก เพราะโลกธุรกิจทุกวันนี้พัฒนาไปเร็วมาก เราในฐานะผู้นำจึงต้องปรับตัวเองอย่างรวดเร็วเช่นกัน ไม่เช่นนั้นจะตามความเปลี่ยนแปลงไม่ทัน แต่กระนั้น จะต้องอยู่บนพื้นฐานของความแม่นยำ และความต้องการของลูกค้าในการดำเนินธุรกิจด้วย”

“สำหรับเรื่อง innovation ในมุมมองของผมมีอยู่ 3 แบบคือ ทำให้ตัวเองอยู่รอดไปนาน ๆ (making good product better) อย่างเช่น รถยนต์ที่ดีอยู่แล้วก็ต้องพัฒนาให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นไปอีก, ทำอย่างไรให้ถูกลง และทำให้ได้เยอะ ๆ (to do more with less) และการเปลี่ยนรูปแบบของธุรกิจ (build a new business model)”

“แต่การจะเป็นองค์กรอย่างนั้นได้เราต้องมองไปข้างหน้า และจะต้องเป็นองค์กรที่พร้อมสำหรับอนาคต (future ready organization) โดยเราจะต้องมี future proof ready หรือไปได้ในอนาคตข้างหน้า ที่สำคัญจะต้องมีกลยุทธ์เพื่ออนาคตด้วย ไม่ใช่คิดเพื่อแก้ปัญหาในปัจจุบัน แต่ต้องมองไปข้างหน้า มองไปไกล ๆ แล้วองค์กรนั้น ๆ จะปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว ที่สำคัญ จะต้องนำนวัตกรรมมาปรับใช้ด้วย และสิ่งที่ผมกล่าวมาคือสิ่งสำคัญที่องค์กรในยุคศตวรรษที่ 21 จำเป็นต้องมี”

สำหรับ “ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์” ประธานสถาบันการสร้างชาติ (Nation-Building Institute-NBI) มาแลกเปลี่ยนมุมมองในหัวข้อ “Driving Public and Private Sectors to Enhance Productivity and Transform for Future” บอกว่าจากทฤษฎีการเปลี่ยนผ่านทางสังคมที่มีคลื่นอารยะ 7 ลูก แต่ปัจจุบันโลกกำลังอยู่ในคลื่นอารยะลูกที่ 3 ยุคข้อมูลข่าวสาร (information society) และกำลังเคลื่อนไปสู่คลื่นลูกที่ 4 ยุคสังคมแห่งความรู้ (knowledge society) แต่เมื่อหันมามองการเคลื่อนที่ของประเทศไทยในหลายปีที่ผ่านมาพบว่ายังไม่สามารถเพิ่มผลิตภาพเพื่อก้าวไปสู่คลื่นอารยะลูกที่ 4 ได้

“ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์”

“การเคลื่อนที่ของแต่ละประเทศควรจะมี 3 ด้านที่เรียกว่า 3P คือ public sector-ภาครัฐ, private sector-ภาคเอกชน และ people sector-ภาคคน โดยทั้ง 3 ด้านจะต้องเคลื่อนไปพร้อม ๆ กันอย่างบูรณาการถึงจะทำให้ผลิตภาพของประเทศโตได้เต็มที่ แต่ภาครัฐของไทยยังตามหลัง และไม่กระตือรือร้นในการปรับตัวมากนัก อาจเป็นเพราะไม่ต้องกังวลใจว่าจะต้องปิดตัว ส่วนภาคเอกชนดิ้นรนและยังเอาตัวรอดได้บ้าง แต่ภาคคนของเรายังไม่ไปไหน ยังยืมความรู้จากคนต่างชาติมาใช้เป็นส่วนมาก”

“ซึ่งความไม่สอดคล้องกันของ 3P ทำให้ไทยก้าวไปไม่ถึงยุคสังคมแห่งความรู้ และถึงแม้ภาครัฐจะมีความจริงใจในการผลักดัน แต่หากไม่เข้าใจวิธีการก็ไม่ประสบความสำเร็จ รัฐต้องเข้าใจว่า knowledge society ไม่ได้สร้างในมหาวิทยาลัยอย่างเดียว ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่รัฐต้องมองให้กว้างขึ้น เราจึงต้องมองเรื่องความท้าทายให้ออก จัดลำดับความสำคัญให้ได้ ทั้งแผนงานระยะสั้น และระยะยาว ต้องไม่ขัดกัน เป้าหมายระหว่างเศรษฐกิจและสังคมต้องสอดคล้องกัน และต้องสามารถระบุผลที่ต้องการว่าต้องการแค่ผลผลิต หรือผลลัพธ์”

“ผมว่าเรื่องนี้สำคัญมาก และประเทศไทยต้องเปลี่ยนแปลงให้คนรู้จักใช้ความคิดปฏิวัติสังคม เพราะคลื่นลูกที่ 4 เป็นการสร้างผลิตภาพด้วยการมีนวัตกรเป็นผู้ที่แปลงสภาพจากผลการค้นคว้าและวิจัยให้เป็นนวัตกรรม ใช้ความรู้เป็นตัวนำ ทำงานด้วยสมอง ประเทศใดที่สามารถขี่ยอดคลื่นการเปลี่ยนแปลงนี้ได้ก่อนจะเป็นผู้ชนะ คือสามารถก้าวกระโดดสู่การเป็นประเทศชั้นแนวหน้าที่ทรงอิทธิพลของโลก นอกจากนี้ โลกยุคอนาคตมีการแข่งขันกันในแบบไซเบอร์ ทำให้องค์กรต้องปรับเป็นองค์กรแห่งเทคโนโลยี เปลี่ยนคุณค่า และโมเดลการทำธุรกิจใหม่”

ถึงตรงนี้ “สตีเฟ่น แลนด์แมน” ผู้ก่อตั้ง และซีอีโอ Kiu Global มาแลกเปลี่ยนมุมมองในหัวข้อ “Digital Transformation” บอกว่าจากการสัมภาษณ์เจ้าของธุรกิจกว่า 600 คนในเอเชีย ทำให้รู้ว่าปัญหาหลักของผู้ประกอบธุรกิจในยุคนี้คือ การเข้าถึงด้านการเงิน และการเข้าถึงดิจิทัล ในอาเซียนที่ถูกสถาบันการเงินดั้งเดิมปฏิเสธสินเชื่อ จึงเกิดเป็นความคิดให้เราก่อตั้ง Kiu เมื่อ 6 ปีที่แล้ว และสร้างแพลตฟอร์มโดยใช้เทคโนโลยีเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อย-รายเล็ก (micro SMEs-MSEs) และธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และตอนนี้มีสาขาใน 7 ประเทศคือ ฮ่องกง, เวียดนาม, ฟิลิปปินส์, กัมพูชา, เมียนมา, บังกลาเทศ และไทย


“เราเชื่อว่าเพียงความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ไม่สามารถทำให้ธุรกิจอยู่รอดได้ และเวลาที่หลายคนพูดถึง digitalization พวกเขามักลืมส่วนที่สำคัญที่สุดคือคน องค์กรต้องช่วยให้คนทรานส์ฟอร์มตัวเองในโลกดิจิทัลได้ก่อน ถึงจะทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จ ซึ่งมีตัวอย่างของหลายองค์กรที่ล้มเหลวในการทำ digital transformation เพราะองค์กรมักโฟกัสไปที่การนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามา และลืม empower คน”

“ในประเทศไทย เราจึงสร้าง Kiu Academy ที่เหมือนกับเป็นมหาวิทยาลัยรองรับคนได้กว่า 200 คน จากในองค์กร และนอกองค์กรของเรามาเรียนรู้เพื่อปรับตัวให้เข้ากับยุคดิจิทัล โดยการเรียนที่นี่จะเป็นเชิงโต้ตอบ (interactive) โดยให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ของทุกคนไม่ว่าจะตำแหน่งใด เพราะเราเชื่อว่าคนตั้งแต่ฐานล่างต้องปรับตัวด้วยถึงจะทำให้องค์กรเข้มแข็ง”

อันเป็นคำตอบในการสร้างผลิตภาพของคนและองค์กรเพื่อความสำเร็จในวันพรุ่งนี้