“ชาร์ป ไทย” สานต่อกิจกรรม ส่งเสริมเด็กไทยเรียนรู้สู้ภัยฝุ่น

ในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรีเป็นจังหวัดที่มีค่าเฉลี่ยคุณภาพอากาศในระดับวิกฤตติดอันดับต้น ๆ เพราะมีฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM 2.5 ปกคลุมไปทั่วอาณาบริเวณของจังหวัด ซึ่งเกิดจากการเผาไร่อ้อย วัชพืชในหลายจุด บริษัท ชาร์ป ไทย จำกัด มีความรู้สึกประหวั่นในภัยฝุ่น PM 2.5 เพราะนอกจากจะกระทบสุขภาพเด็กและเยาวชน ยังเดินหน้าจัดกิจกรรมเพื่อสังคมในโครงการ “Write to Breathe” ครั้งที่ 2 ด้วยการมอบเครื่องฟอกอากาศให้กับโรงเรียนและมูลนิธิเด็ก 15 หน่วยงาน ใน จ.กาญจนบุรี พร้อมกับจัดเวิร์กช็อปให้เด็กเรียนรู้

“มณีนภา ดวงดารา” ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ชาร์ป ไทย จำกัด กล่าวว่า กาญจนบุรีเป็นหนึ่งในจังหวัดที่มีค่าคุณภาพอากาศอยู่ในระดับวิกฤต เพราะมีค่าเฉลี่ยฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐานมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้คุณภาพชีวิตของเด็ก ๆ ที่นี่น่าเป็นห่วง ที่สำคัญชาร์ป ไทยมีความเชื่อว่าเด็กไทยทุกคนมีสิทธิ์ได้รับอากาศบริสุทธิ์ เพราะลมหายใจของเด็กคือลมหายใจของสังคม เราจึงริเริ่มโครงการ Write to Breathe ขึ้นเมื่อปลายปี 2562 ด้วยการจัดกิจกรรมครั้งแรกเพื่อมอบเครื่องฟอกอากาศเทคโนโลยีพลาสมาคลัสเตอร์ให้กับโรงเรียนและมูลนิธิใน จ.เชียงใหม่ พร้อมกับนำวิทยากรมาให้ความรู้เด็ก ๆ

“ตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา หลายจังหวัดในประเทศไทยยังเจอปัญหาฝุ่น PM 2.5 และทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ เราจึงสานต่อความสำเร็จของโครงการ Write to Breathe ด้วยการจัดกิจกรรมขึ้นเป็นครั้งที่ 2 ที่ จ.กาญจนบุรี โดยนอกจากจะมอบเครื่องฟอกอากาศให้เด็ก ๆ มีอากาศสะอาดหายใจในระหว่างการเรียนการสอนและทำกิจกรรม เรายังเพิ่มเติมในความร่วมมือกับทางศูนย์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ออกแบบกิจกรรมเพื่อการเรียนรู้ และตระหนักภัยฝุ่น PM 2.5 ตลอดจนวิธีการดูแลตนเองให้ปลอดภัย เพื่อหวังขยายผลไปยังครอบครัวและชุมชน”

“เรามอบเครื่องฟอกอากาศทั้งสิ้น 42 เครื่อง มูลค่ารวม 629,580 บาท ให้แก่โรงเรียนและมูลนิธิเกี่ยวกับเด็กในจังหวัดกาญจนบุรี 15 แห่ง และหลังจากนี้เรามุ่งเดินหน้าสร้างการรับรู้ และความตระหนักถึงสิทธิ์ในการหายใจท่ามกลางอากาศบริสุทธิ์ของเด็ก ๆ ผ่านการจัดกิจกรรม และมอบเครื่องฟอกอากาศภายใต้โครงการ Write to Breathe ในจังหวัดอื่น ๆ ที่ประสบปัญหาด้วยเช่นกัน โดยคาดหวังว่ากิจกรรม Write to Breathe จะเป็นส่วนหนึ่งที่เยียวยาปัญหาและจุดประกายให้เกิดความร่วมมือกันแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนผ่านการเปิดพื้นที่ให้เด็ก ๆ แสดงความคิดเห็นต่อสิทธิ์ในการหายใจที่ตนเองควรได้รับ พร้อมกระตุ้นให้ทุกฝ่ายออกมาลงมือแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อนำคุณภาพชีวิตที่ดีให้กลับคืนมาสู่พื้นที่ ไม่เพียงแต่เด็กและเยาวชนเท่านั้น แต่หมายรวมถึงทุกชีวิตที่อยู่รวมกัน”

“ดร.พรธิดา เทพประสิทธิ์” ผู้อำนวยการศูนย์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ที่ปรึกษาของกิจกรรมครั้งนี้ กล่าวว่า จ.กาญจนบุรีเคยมีถิติ มีค่าเฉลี่ยสูงกว่ากรุงเทพมหานครอยู่หลายครั้ง โดยสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศแบบอัตโนมัติของกรมควบคุมมลพิษในพื้นที่รายงานค่าเฉลี่ยอยู่ระหว่าง 97-173 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร โดยก่อนหน้านี้เคยวัดได้มากถึง 210 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร อันเป็นระดับที่มีผลกระทบต่อสุขภาพเป็นอย่างมาก

“การป้องกันปัญหาสุขภาพจาก PM 2.5 ด้วยการใส่มาสก์หรือการใช้เครื่องฟอกอากาศ เป็นเพียงการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ แต่อยากให้ภาครัฐออกกฎหมายและการบังคับใช้ที่เข้มงวดเกี่ยวกับการควบคุมเรื่องการเผาในการเกษตร การจราจรขนส่ง หรือโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ และจะประสบความสำเร็จได้ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย”

“สำหรับกิจกรรมให้ความรู้กับเยาวชนใน จ.กาญจนบุรี เราออกแบบให้ครอบคลุมความรู้พื้นฐานทั้งหมดเกี่ยวกับฝุ่น PM 2.5 มีทั้งสิ้น 6 ฐาน ประกอบด้วย ฐานที่หนึ่ง PM 2.5 คืออะไร ให้เด็ก ๆ ได้มองดูฝุ่นผ่านกล้องจุลทรรศน์และเทียบขนาดฝุ่นกับเส้นผม ฐานที่สอง วัฏจักรของ PM 2.5 ไขข้อข้องใจให้เด็ก ๆ ได้ทราบว่าทำไมต้องเผชิญปัญหาฝุ่นอยู่ทุกปี ฐานที่สาม การก่อมลพิษ PM 2.5 ไฮไลต์อยู่ที่การสอนให้ดูแผนที่ของนาซ่าและกรมป่าไม้ เพื่อเห็นถึงจุดที่มีการเผาไหม้และทิศทางของฝุ่น”

“ฐานที่สี่ การป้องกันตนจากมลพิษ PM 2.5 สอนวิธีการดูแลตนเองโดยเฉพาะการเลือกใช้และสวมใส่หน้ากากอย่างถูกวิธี ฐานที่ห้า การเฝ้าระวังมลพิษ PM 2.5 สอนการใช้แอปพลิเคชั่นในสมาร์ทโฟน และวิธีการอ่านค่าต่าง ๆ เพื่อติดตามสถานการณ์ฝุ่นด้วยตนเอง และฐานที่หก การตรวจวัดฝุ่น PM 2.5 นำเอาเครื่องมือตรวจวัดของจริงมาให้น้อง ๆ ได้เรียนรู้กลไกการทำงาน หลังจากที่เด็ก ๆ เข้าฐานการเรียนรู้จนครบถ้วนแล้ว แต่ละกลุ่มจะระดมความคิดเห็น ตกผลึกในสิ่งที่ได้เรียนรู้เพื่อออกมานำเสนอ พร้อมออกไอเดียแนะแนวทางแก้ไขปัญหา พร้อมเรียกร้องให้ทุกภาคส่วนร่วมกันแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังและเป็นรูปธรรม”

นับเป็นโครงการที่สะท้อนไปยังผู้ใหญ่ในสังคมให้ร่วมช่วยกันแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 อย่างจริงจัง