เงินติดล้อ ช่วย “ผู้ก้าวพลาด” ผ่านโครงการกำลังใจรู้เรื่องการเงิน

ต้องยอมรับว่าการที่บริษัท เงินติดล้อ จำกัด ให้การสนับสนุน “โครงการกำลังใจในพระดำริพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา” ในการให้ความรู้ทางการเงินเพื่อประกอบอาชีพให้กับ “ผู้ก้าวพลาด” จากเรือนจำชั่วคราวดอยฮาง จ.เชียงราย ในรุ่นที่ 11 จำนวน 100 คน และรุ่นที่ 12 จำนวน 100 คนเช่นกัน ถือเป็นการให้ “โอกาส” กับ “ผู้ต้องขัง” หรือ “ผู้ก้าวพลาด” มีชีวิตใหม่ที่สดใสขึ้น

เพราะผู้ก้าวพลาดส่วนใหญ่ของเรือนจำชั่วคราวดอยฮางประมาณ 90% มีความผิดโทษฐานคดียาเสพติด อีกทั้งผู้ก้าวพลาดส่วนใหญ่ยังเป็นชาวเขาเผ่าต่าง ๆ ประมาณ 9 ชนเผ่าด้วยกัน ที่สำคัญผู้ก้าวพลาดเหล่านี้ถูกจองจำมาแล้วประมาณ 1 ใน 3 ของระยะเวลาการถูกจองจำ จนเหลือโทษไม่เกิน 3 ปี 6 เดือน ถึงถูกย้ายมาอยู่เรือนจำชั่วคราวดอยฮาง เพราะเรือนจำชั่วคราวแห่งนี้ไม่เพียงเป็นศูนย์เรียนรู้เกี่ยวกับการทำเกษตร หากยังเป็นเรือนจำเปิดเพื่อให้หน่วยงานภาครัฐ เอกชน ประชาชน นักเรียน นิสิต นักศึกษามาหาความรู้เกี่ยวกับการทำการเกษตรกรรมตามรอยปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 ด้วย

ทั้งนั้น เพราะผู้ก้าวพลาดส่วนใหญ่มีอาชีพดั้งเดิม คือ การเกษตร หรือครอบครัวทำการเกษตรเสียส่วนใหญ่ แต่กระนั้นพวกเขายังขาดความรู้ทางด้านการบริหารจัดการธุรกิจ การเงิน และการตลาด ผลเช่นนี้จึงทำให้บริษัท เงินติดล้อ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับการปล่อยสินเชื่อทางการเงินให้กับลูกค้าระดับรากหญ้า และธุรกิจอื่น ๆ จึงนำองค์ความรู้เหล่านี้เข้ามาช่วยเหลือผู้ก้าวพลาดใน “โครงการกำลังใจในพระดำริพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา” ตามเรือนจำชั่วคราวต่าง ๆ

ที่ผ่านมาบริษัท เงินติดล้อ จำกัด ดำเนินโครงการกำลังใจในพระดำริฯ มาแล้วที่เรือนจำชั่วคราวเขาระกำ อ.เขาสมิง จ.ตราด และเรือนจำชั่วคราวแคน้อย จ.เพชรบูรณ์ แต่สำหรับเรือนจำชั่วคราวดอยฮาง จ.เชียงราย จึงเป็นแห่งที่ 3 ที่บริษัท เงินติดล้อ จำกัด เข้ามาสนับสนุุนกิจกรรม

“พุฒิพงศ์ ภักดีพิพัฒน์กุล”

“พุฒิพงศ์ ภักดีพิพัฒน์กุล” ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายสื่อสารสาขา และพัฒนาศักยภาพผู้นำฝ่ายขาย บริษัท เงินติดล้อ จำกัด บอกว่า เราดำเนินกิจกรรมการให้ความรู้ทางการเงินเพื่อการประกอบอาชีพผ่าน 3 กิจกรรมหลักด้วยกัน คือ การให้ความรู้เพื่อการประกอบอาชีพ, การให้สินเชื่อเพื่อการประกอบอาชีพ และการสนับสนุนผลิตภัณฑ์งานฝีมือจากกลุ่มผู้ก้าวพลาด อันเป็นส่วนหนึ่งของโครงการเงินติดล้อ “นำความรู้สู่ชุมชน เพื่อชีวิตหมุนต่อได้”

“ดังนั้น จุดเริ่มต้นจึงมาจากพนักงานกลุ่มเล็ก ๆ ในบริษัทที่มองเห็นเหมือนกันว่า การให้ความรู้ทางการเงินสอดคล้องกับสิ่งที่โครงการกำลังใจในพระดำริฯ ทำอยู่ก่อนแล้ว และเราเองก็ได้ยินบ่อยครั้งว่าโครงการกำลังใจในพระดำริฯ นำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาต่อยอด เพราะผู้ก้าวพลาดเดิมทีเขามีความรู้ทางการเกษตร แต่ถ้าจะเสริมให้ดีหลังจากที่พวกเขาออกจากโครงการ พวกเขาจะต้องรอดได้ด้วยตัวเอง ดังนั้น เขาจึงต้องมีความรู้เรื่องของการทำธุรกิจเบื้องต้นที่จะต้องรู้ว่าต้นทุนเป็นอย่างไร การตั้งราคาขายเป็นอย่างไร เพราะเรื่องเหล่านี้เกี่ยวข้องกับกำไรและรายได้ของเขา ไม่เช่นนั้นพอเขามีผลผลิต แต่ไม่รู้จักการตั้งราคา ไม่รู้ว่าต้องไปขายที่ไหน อันนี้จะเป็นปัญหาระยะยาว”

“ดังนั้น หลักสูตรการให้ความรู้ทางการเงินเพื่อการประกอบอาชีพภายใต้หลักการเศรษฐกิจพอเพียง จึงมีเรื่องเหล่านี้ด้วย คือ ต้องรู้ก่อนประกอบอาชีพ, ชวนคิดจากอาชีพตัวอย่าง, วิธีการเพิ่มกำไรและแผนธุรกิจ โดยส่วนแรก จะเป็นกิจกรรมการให้ความรู้แก่กลุ่มผู้ก้าวพลาดโดยตรง และส่วนที่ 2 จะเป็นการจัดอบรม train the trainer ด้วยการให้ความรู้แก่ผู้คุมเรือนจำ และผู้คุมประพฤติอาสาสมัคร เพื่อให้พวกเขาสามารถส่งต่อความรู้พื้นฐานทางด้านการเงินต่อไป และการทำอย่างนี้ถึงจะยั่งยืนในอนาคต”

“สำหรับในส่วนของสินเชื่อเพื่อการประกอบอาชีพ เราตระหนักดีว่าเงินทุนในการประกอบอาชีพยังเป็นปัจจัยสำคัญ เนื่องจากการมีประวัติเป็นผู้ต้องขังอาจส่งผลต่อความสามารถในการเข้าถึงแหล่งทุนในระบบได้ ผลตรงนี้จึงทำให้เราปลดล็อกด้วยการให้สินเชื่อเพื่อการประกอบอาชีพเป็นทุนตั้งต้นตั้งแต่ 20,000-70,000 บาท แต่ทั้งนั้นผู้ก้าวพลาดจะต้องเขียนแผนธุรกิจของตัวเองขึ้นมาว่าจะทำอะไร และจะส่งมอบเงินต้นอย่างไรบ้าง ขณะที่การสนับสนุนผลิตภัณฑ์งานฝีมือจากกลุ่มผู้ก้าวพลาด เรามีแผนที่จะสั่งซื้อผลิตภัณฑ์เพื่อมาใช้ในกิจกรรมต่าง ๆ ของบริษัท ซึ่งถือเป็นการช่วยเหลือและส่งเสริมงานฝีมือของผู้ก้าวพลาดอีกทางหนึ่งด้วย”

“ภวัต พลวัฒน์”

“ภวัต พลวัฒน์” หัวหน้าเรือนจำชั่วคราวดอยฮาง จ.เชียงราย กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับผู้ก้าวพลาดที่เข้าร่วมโครงการกำลังใจในพระดำริฯ ส่วนใหญ่มีพื้นฐานการทำเกษตรมาก่อน ซึ่งเขาอาจปลูกข้าวโพดบ้าง สับปะรดบ้าง หรือพืชผักผลไม้เมืองหนาวบ้าง แต่พอมาอยู่ที่นี่เราสอนเขาในเรื่องการทำการเกษตรตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เช่น ทำปุ๋ย ปลูกพืชผักสวนครัว และอบรมจากภายนอกเรื่องวิชาชีพระยะสั้น อย่างที่เงินติดล้อมาอบรมเรื่องของแหล่งทุน การบริหารธุรกิจว่าทำอย่างไร จะไปหาทุนจากที่ไหน หรือทำอย่างไรให้มีผลกำไร ผมว่าเป็นสิ่งที่ดีมาก เพราะผู้ก้าวพลาดเหล่านี้ไม่มีความรู้เรื่องนี้เลย

“ที่สำคัญ การเพาะปลูกแปลงเกษตรต่าง ๆ เราออกแบบให้มี 10 กองงาน แต่ละกองงานจะมีเจ้าหน้าที่เรือนจำคอยดูแล 10 คน และจะมีผู้ก้าวพลาดประจำแต่ละกองงานที่ตัวเองมีความถนัดหมุนเวียนมาทำงาน และแบ่งความรับผิดชอบในการดำเนินงาน เพราะฉะนั้น ผู้เกี่ยวข้องโดยตรงจะได้ 12 คะแนน ส่วนคนที่รับผิดชอบรองลงมาก็จะมีตั้งแต่ 11 คะแนนไปจนถึง 1 คะแนน เพราะเรามีปันผลรายได้จากผลผลิตที่พวกเขาดูแลแต่ละกองงานด้วย”

“โดยผู้ก้าวพลาดจะได้เงินปันผล 50% ของกำไร ส่วนเจ้าหน้าที่เรือนจำได้ 15% และเดือน เดือนหนึ่งผู้ก้าวพลาดจะได้เงินปันผลประมาณ 600-1,000 กว่าบาท ขณะเดียวกัน เราก็มีรับจ้างแรงงานข้างนอกด้วย ซึ่งเขาจะได้ค่าจ้างขั้นต่ำประมาณวันละ 310 บาท ดังนั้น ผู้ก้าวพลาดเหล่านี้กว่าเขาจะพ้นโทษจะมีเงินอยู่ในบัญชีประมาณ 1 หมื่นกว่าบาท ซึ่งเขาเองอาจนำเงินจำนวนนี้ หรือในแต่ละเดือนส่งให้กับพ่อแม่พี่น้องและครอบครัวได้ด้วย ขอให้เขาแจ้งความประสงค์มาเราจะดำเนินการให้”

“พยอม ราชสม”

“พยอม ราชสม” หัวหน้ากลุ่มนวัตกรรม และพัฒนาระบบงาน กองพัฒนานวัตกรรมการยุติธรรม และผู้แทนโครงการกำลังใจในพระดำริพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา กล่าวเสริมว่า เราเริ่มอบรมโครงการกำลังใจในพระดำริฯ ตั้งแต่ปี 2553 ถึงตอนนี้เราทำการอบรมไปแล้วประมาณ 11-12 รุ่น เพื่อต้องการให้เขาออกไปสู่สังคมแล้วไม่หวนกลับคืนมา เพื่อจะได้ใช้ชีวิตในสังคมที่ดี มีอาชีพที่จะเลี้ยงดูครอบครัว และมีสติในการใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเข้ามาดำเนินชีวิตของพวกเขา

“ที่สำคัญคือ ไม่อยากให้เขาทำผิดซ้ำ และกลับเข้ามาอีก พระองค์ภาฯ เคยตรัสว่า ถ้าปีหนึ่งเราทำให้คนสามารถเลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้สัก 1-2 คนก็ดีใจแล้ว เพราะพระองค์อยากให้โครงการนี้เป็นโครงการที่ช่วยทำให้ผู้ก้าวพลาดกลายเป็นคนดี และน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาปรับใช้กับชีวิต และถือว่าโชคดีเพราะจากโครงการนำร่องจากเรือนจำชั่วคราวทั้ง 5 แห่ง และอีก 1 แห่ง คือ ทัณฑสถานเกษตรอุตสาหกรรมเขาพริก อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา ปรากฏว่าจำนวนผู้ก้าวพลาดที่เข้าโครงการกำลังใจต่างมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น”

“ที่สำคัญ ตอนนี้เราบรรจุหลักสูตรการให้ความรู้ทางการเงินเพื่อการประกอบอาชีพภายใต้หลักการเศรษฐกิจพอเพียงเข้าไปงบประมาณของเรือนจำชั่วคราวทุกแห่ง แล้วว่าจะต้องมีการอบรมเรื่องนี้ทุกปี เราก็เลยหวังว่าผู้ก้าวพลาดที่เข้ารับการอบรมคงจะนำองค์ความรู้ทั้งที่จากเรือนจำชั่วคราวต่าง ๆ และจากเงินติดล้อไปปรับใช้กับชีวิต แม้เราจะมีทุนตั้งต้นในการประกอบอาชีพจากกองทุนของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด หรือ ป.ป.ส. ทุนละ 2 หมื่นบาทต่อทุน แต่เรามองว่าถ้าเขาไม่มีความรู้ในการบริหารการเงินเพียงพอ เขาอาจประสบการขาดทุนได้”

“จริง ๆ ทุนของ ป.ป.ส.เราให้ปีหนึ่งไม่เกิน 50 ราย และเป็นทุนให้เปล่าด้วย แต่เขาจะต้องได้รับการรับรองจากพนักงานคุมประพฤติว่าเขาเป็นผู้ต้องขังชั้นดี และมีความประสงค์ที่อยากจะเปลี่ยนชีวิตด้วยการทำมาหากินอย่างสุจริต และที่สำคัญเขาจะต้องเขียนแผนธุรกิจชี้แจงให้ชัดเจนว่าเขาอยากทำอะไร เพื่อที่เราจะได้ดูความตั้งใจจริงของพวกเขา และที่ผ่านมาเราค่อนข้างภูมิใจที่ผู้ก้าวพลาดส่วนใหญ่มักไม่หวนกลับมายังทัณฑสถานอีก”

ซึ่งนับเป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างยิ่งสำหรับความร่วมมือระหว่างบริษัท เงินติดล้อ จำกัด และโครงการกำลังใจในพระดำริพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ที่ช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้”ผู้ก้าวพลาด” กลับมามีคุณภาพชีวิตดียิ่งขึ้น