“ESG” ในบริบท “SDGs” โอกาส+ความท้าทายสู่ความยั่งยืน

“ความยั่งยืน” ถือเป็นหัวข้อสำคัญที่มีการพูดถึงในหลายเวทีกว่า 193 ประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะเรื่อง SDGs (Sustainable Development Goals) รวม 17 ข้อที่เป็นเป้าหมายความยั่งยืนของสหประชาชาติ (United Nations) เช่น การแก้ปัญหาความยากจน, ความหิวโหย, ลดความเหลื่อมล้ำ ไปจนถึงการสร้างหลักประกันสุขภาพ และส่งเสริมสวัสดิภาพของประชากร ฯลฯ นอกจากนั้น“ความยั่งยืน” ยังถูกนำมาเป็นส่วนผสมของยุทธศาสตร์ชาติในการขับเคลื่อนประเทศอีกด้วย

ผลเช่นนี้ จึงทำให้เมื่อไม่กี่วันผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ร่วมกับโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ และเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กต์แห่งประเทศไทย ได้จัดเสวนาเรื่อง “From ESG to SDGs Integrating SDGs Impact Measurement and Management Framwork in Business and Investment Strategies” เพื่อกระตุ้นความร่วมมือของภาคเอกชนในการดูแลสังคม สิ่งแวดล้อม รวมไปถึงทุกส่วนที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจให้สามารถเดินคู่ขนานกันไปได้อย่างยั่งยืน


“ดร.วันฉัตร สุวรรณกิตติ” รักษาการที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนงาน สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) กล่าวในเบื้องต้นว่า ประเทศไทยดำเนินการเรื่องความยั่งยืนได้อย่างก้าวหน้า อีกทั้งภาครัฐยังเชื่อมโยง SDGs ทั้ง 17 ข้อมารวมไว้ในยุทธศาสตร์ชาติ และถ่ายทอดไปสู่การปฏิบัติได้จริง เพราะนอกเหนือจากการดำเนินการของรัฐแล้ว ภาคเอกชนเป็นส่วนสำคัญที่เข้ามาร่วมกันเป็นเครือข่ายในลักษณะ “ภาคี” พร้อมทั้งให้ทุกคนมองเรื่องความยั่งยืนเป็นเป้าหมายของตัวเองด้วย

“รวมถึงจะต้องมีการติดตามเพื่อประเมินผลว่า การดำเนินการด้านความยั่งยืนที่ผ่านมามีรายละเอียดใดที่ต้องทำเพิ่มเติม หรือขยายความร่วมมือไปสู่อื่น ๆ ได้อย่างไร แต่สิ่งสำคัญที่จะทำให้ตอบโจทย์ความยั่งยืน คือ “คน” ต้องสนับสนุนคนทั้งในระดับท้องถิ่น ชุมชน ที่สามารถยกระดับตัวเองให้ก้าวไปข้างหน้า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการหาองค์ความรู้ใหม่ ๆ การเชื่อมประสานเพื่อนำความรู้ลงไปช่วยกลุ่มเป้าหมาย”

“จอมขวัญ คงสกุล” ผู้ช่วยเลขาธิการ ก.ล.ต. มองอีกมุมหนึ่งว่า ความตระหนักรู้ในเรื่องของความยั่งยืนในช่วงที่ผ่านมา ทำให้พฤติกรรมของผู้บริโภคหันมาให้ความสำคัญกับการลงทุนในธุรกิจสีเขียวมากขึ้น รวมถึงการให้ความสำคัญในแง่ของสิทธิมนุษยชน หรือการใช้แรงงานในภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ ซึ่งล้วนกระทบต่อชื่อเสียง และการทำธุรกิจอย่างมีนัยสำคัญ รวมถึงการมีโซเชียลมีเดียในปัจจุบันทำให้ข้อมูลข่าวสารกระจายไปอย่างรวดเร็ว

“หากภาคธุรกิจไม่รับผิดชอบต่อธุรกิจ ก็สามารถถูกผู้บริโภค “แบนสินค้า” ได้ง่ายขึ้น และเพื่อให้มีการยึดโยงเรื่องความยั่งยืนไว้ในทุกธุรกิจ ก.ล.ต.เตรียมออก “แนวปฏิบัติ” เพื่อให้เห็นถึงความสำคัญ และเป้าหมายในแต่ละข้อของ SDGs ด้วยการ “อัพเกรด” รายงานประจำปี (one report) ที่บริษัทจดทะเบียนจะต้องจัดส่งให้ ก.ล.ต. พร้อมทั้งต้องเผยแพร่รายงานดังกล่าวออกสู่สาธารณชน เพื่อสร้างความเชื่อมั่น ซึ่งจะมีผลใช้อย่างเป็นทางการในปี 2565 เป็นต้นไป อีกส่วนคือการระดมทุนเพื่อนำมาลงทุนในโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม เช่น กรีนบอนด์ โซเชียลบอนด์ เพื่อนำไปลงทุนผลิตพลังงานทางเลือก”

“ดร.เนติธร ประดิษฐ์สาร”

ขณะที่ “ดร.เนติธร ประดิษฐ์สาร” ผู้ช่วยบริหาร ประธานคณะผู้บริหาร รองกรรมการผู้จัดการ ด้านความยั่งยืนและการสื่อสาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ มองในมุมธุรกิจว่า ธุรกิจของเครือเจริญโภคภัณฑ์ประสบความสำเร็จอย่างมาก ส่วนหนึ่งมาจากการให้ความสำคัญต่อ ESG และ SDGs เข้ามาดำเนินการ กับแผนดำเนินการของบริษัทกว่า 200 บริษัท ใน 22 ประเทศที่เข้าไปลงทุน ทั้งนี้ มองว่าเรื่องของ SDGs เป็นทั้งโอกาสและความท้าทาย ที่ทำให้ต้องพิจารณากันอย่างรอบด้าน

“ตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทานมาจนถึงปัจจุบันถือว่าเครือเจริญโภคภัณฑ์ได้ดำเนินการตาม 17 ข้อของเป้าหมาย SDGs และสิ่งที่ต้องดำเนินการต่อไป คือ การช่วยกันประคองบริษัทเล็ก ๆ ให้ร่วมกันนำ SDGs มาปรับใช้ พร้อมทั้งแบ่งปันองค์ความรู้ และการวัดผลด้วย เพราะความสำเร็จขององค์กรขนาดใหญ่ จะต้องมีความสำเร็จขององค์กรเล็ก ๆ อยู่ด้วย”

“สุเมธ เลอสุมิตรกุล”

สำหรับ บริษัท มุ่งพัฒนา อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้ประกอบการรายเล็ก (SMEs) สามารถประสบความสำเร็จในการดำเนินการด้านความยั่งยืน “สุเมธ เลอสุมิตรกุล”  ประธานคณะกรรมการระบุว่า บริษัทด้วยการยึดหลักคิดที่ว่าต้องใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าที่สุด ประหยัด และต้องแบ่งปันให้กับสังคม ทำให้สะท้อนไปถึงความสำเร็จในธุรกิจผลิตสินค้าที่เกี่ยวข้องกับเด็ก ด้วยการเป็นเบอร์ 1 ในธุรกิจมาตลอด 38 ปีที่ผ่านมา

ส่วน “ดร.อารักษ์ สุธีวงศ์” ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ระบุว่า บทบาทสำคัญในฐานะสถาบันการเงินที่ต้องปล่อยสินเชื่อให้นักลงทุนนั้น ได้ใช้หลักการปล่อยสินเชื่อให้เหมาะสม ในการพิจารณาสินเชื่อให้กับโปรเจ็กต์ใหญ่ สิ่งที่นำมาใช้เป็นเหตุผลเพื่ออนุมัติสินเชื่อ คือ โปรเจ็กต์นั้นมีการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อมหรือไม่ รวมถึงการลงทุนด้านธุรกิจสีเขียวก็จะให้ความสำคัญในการพิจารณาปล่อยสินเชื่อให้มากขึ้นด้วย

“ดร.อารักษ์ สุธีวงศ์”

เพราะดั่งที่ทุกคนทราบ “ความยั่งยืน” ล้วนเป็นบริบทสำคัญของโลกใบนี้ ดังนั้น การที่องค์กรธุรกิจต่างมองเห็นความสำคัญของ SDGs และ ESG เพิ่มมากขึ้น ทั้งยังนำเรื่องราวเหล่านี้เข้ามาใส่ใน core value หรือการพิจารณาในการปล่อยสินเชื่อให้กับภาคลงทุนในธุรกิจต่าง ๆ จึงนับเป็นก้าวที่กล้าของภาคธุรกิจเหล่านั้นอย่างแท้จริง