หยุด 14 วัน ได้เงินเดือนไหม ?

แฟ้มภาพ(Photo by Karl-Josef Hildenbrand/picture alliance via Getty Images)

คอลัมน์ เอชอาร์คอร์เนอร์

โดย ธำรงศักดิ์ คงคาสวัสดิ์ http://tamrongsakk.blogspot.com

 

เรื่องไวรัส COVID-19 นี่ทำเอาปั่นป่วนวุ่นวายกันไปทั่วเลยนะครับ ตอนนี้ความวุ่นวายก็เข้ามาสู่คนทำงาน HR ด้วยแหละ

มีคำถามจากกลุ่มไลน์มา ว่า บริษัทจะสั่งให้พนักงานที่กลับมาเมืองไทยหลังจากเดินทางไปประเทศกลุ่มเสี่ยงหยุดงานไป 14 วัน โดยให้ถือเป็นวันหยุดโดยไม่ได้รับเงินเดือน (leave without pay) ได้หรือไม่ ?

เหตุผลของทางบริษัท คือ ไม่อยากให้พนักงานที่ไปประเทศกลุ่มเสี่ยงมาแพร่เชื้อในที่ทำงาน (ถ้ามีเชื้อไวรัสติดกลับมาเป็นเพื่อนด้วยจริง) เพราะจะเกิดความเสียหายกับบริษัท ดังนั้น เหตุผลของพนักงานที่มั่นใจว่าตัวเองไม่ได้ติดเชื้ออะไรมาสักหน่อย ที่อาจจะคิดแบบอาจุมม่าที่เกาหลีว่าฉันไม่เป็นอะไรทำไมต้องมาให้ฉันหยุดงาน แถมยังไม่ได้เงินเดือนอีก บริษัทมาทำงี้ได้ไง

ถ้าบริษัทจะสั่งให้พนักงานหยุดดูอาการ 14 วันโดยไม่ได้รับเงินเดือน แต่พนักงานไม่เห็นด้วยล่ะ ในที่สุดเรื่องนี้คงต้องไปให้ศาลแรงงานท่านต้องตัดสินอีก และอาจจะต้องสู้กันถึงฎีกาว่าตกลงบริษัทจะทำอย่างนี้ได้หรือไม่ เป็นธรรมกับพนักงานหรือไม่ ฯลฯ ซึ่งแน่นอนว่าคงต้องใช้เวลากันพอสมควรกว่าจะมีคำตัดสินออกมา

ดังนั้น เพื่อไม่ให้เรื่องราวดราม่ากันเยอะแยะ ผมเสนออย่างนี้ดีไหมครับ ?

1.บริษัทควรมีประกาศออกมาเลย ว่า ห้ามไม่ให้พนักงานเดินทางไปประเทศกลุ่มเสี่ยง (มีประเทศอะไรบ้างก็ระบุไปในประกาศ) ตั้งแต่วันที่…จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง โดยในประกาศก็บอกเหตุผลความจำเป็นให้ชัดเจน และบอกเอาไว้เลยว่าถ้าพนักงานฝ่าฝืนคำสั่งนี้เมื่อกลับมาเมืองไทยบริษัทมีสิทธิสั่งให้พนักงานหยุดงานเพื่อดูอาการกี่วันก็ว่าไป และระหว่างหยุดงานเพื่อดูอาการ บริษัทจะไม่จ่ายเงินเดือน แล้วเวียนประกาศแจ้งให้พนักงานทุกคนรับทราบคำสั่งนี้

2.สำหรับพนักงานที่เดินทางไปประเทศกลุ่มเสี่ยงก่อนประกาศนี้จะออกมา เมื่อกลับมาเมืองไทยบริษัทก็ควรสั่งให้อยู่บ้านดูอาการ 14 วัน (ตามข่าวที่บอกว่าระยะเวลาฟักตัวของโรคนะครับ แต่บางข่าวก็บอกว่าขยายไปถึง 27 วันก็มี ตรงนี้ก็ต้องดูเอาว่าจะใช้ตัวเลขไหนน่าจะปลอดภัยที่สุด) แต่ก็ควรจะให้หยุดโดยให้เงินเดือนตามปกติ เพราะพนักงานที่เดินทางไปต่างประเทศในกลุ่มเสี่ยงคงไม่ได้มีเยอะแยะมากมายหลายสิบคน

ซึ่งก็คงไม่มีใครอยากจะเอาเชื้อโรคกลับมาเป็นของฝากให้เป็นพิษเป็นภัยกับตัวเองและครอบครัวคนที่เรารัก หรือเอามาฝากเพื่อนฝูงในที่ทำงานหรอก การให้เขาหยุดโดยไม่ให้เงินเดือนมันก็ดูจะหนักไปสักหน่อย ก็อย่าคิดเล็กคิดน้อยจนกลายเป็นการบริหารแบบเจียะป้าบ่อสื่อเลยนะครับ บริษัทคงไม่ได้มีกำไรเพิ่มขึ้นเป็นกอบเป็นกำจากการไม่จ่ายเงินเดือนพนักงาน 14 วันหรอก

3.แต่ถ้าพนักงานคนไหนที่ทราบคำสั่งของบริษัทตามข้อ 1 แล้วยังฝ่าฝืน อันนี้สิครับ ผมถือว่าเป็นการเตือนหรือบอกกล่าวกันล่วงหน้าแล้วยังมีเจตนาฝ่าฝืน อย่างนี้ก็ทำได้ตามคำสั่งที่บอกไว้ได้เลยครับ

ในมุมมองของผมเรื่องต่าง ๆ เหล่านี้จะจบลงได้ด้วยดีถ้าเราพูดคุยกันด้วยภาษาของพี่ของน้องของเพื่อนร่วมงานด้วยเหตุด้วยผลแบบใจเขา-ใจเรา และมีการสื่อสารที่ดี มีการบอกกล่าวกันเสียก่อนว่าอะไรที่พนักงานควรทำหรือไม่ควรทำเพราะอะไร ถ้าฝ่าฝืนบริษัทจำเป็นต้องรักษาส่วนรวมเอาไว้อย่างไร

ไม่ควรทำอะไรแบบปุ๊บปั๊บไม่บอกกล่าวกันก่อนแล้วก็ไปในแนวสายเหยี่ยวทันทีทันใด ซึ่งมักจะทำให้เกิดแรงต้าน เกิดปัญหาตามมาให้แก้กันอีก

ทั้งหมดนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผมที่ผู้อ่านอาจจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย หรือจะ take action กันยังไง ต่อไปก็คงเป็นสิทธิของท่าน และคงแล้วแต่วิธีคิดของผู้บริหารแต่ละบริษัทแล้วแหละ

แต่ผมเชื่อว่าถ้าทำอย่างที่ผมแนะนำมาข้างต้นก็จะไม่ต้องเสียเวลาไปขึ้นโรงขึ้นศาล ไปเพิ่มคดีความให้ศาลท่านในเรื่องที่น่าจะทำความเข้าใจกันได้ด้วยดีระหว่างบริษัทและพนักงานนะครับ