10 ปี “ปิดทองหลังพระ” เฟซบุ๊กไลฟ์แถลงไม่ท้อ…ไม่ถอย

นับเป็นอีกบทบาทสำคัญของมูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ ที่ปัจจุบันเดินทางมาถึงช่วง 1 ทศวรรษในปี 2563 ทั้งนั้นเพราะคณะรัฐมนตรีมีมติในการประชุมเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2552 เพื่อเห็นชอบให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ดำเนินการจัดตั้ง “มูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ” และ “สถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ” โดยมีการจดทะเบียนจัดตั้ง “มูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ” เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2553 ผ่านมา

ถึงวันนี้ครบ 10 ปีพอดี

ทางมูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ จึงจัดงานสัมมนาขึ้นเนื่องในโอกาสเข้าสู่ปีที่ 10 พร้อมกับจัดกิจกรรมเสวนาพิเศษเรื่อง “การจัดการน้ำในไทยกับพระราชดำริ” ขึ้นในวันที่ 4 มีนาคม 2563 ผ่านมา แต่ปรากฏว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ยังอยู่ในช่วงของการเฝ้าระวัง ทางคณะผู้จัดงานจึงเปลี่ยนรูปแบบของการจัดสัมมนาบนเวทีมาปรากฏในรูปแบบของเฟซบุ๊กไลฟ์แทน โดยมี “ม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิศกุล” ประธานกรรมการสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ เป็นองค์ปาฐก

เบื้องต้น “ม.ร.ว.ดิศนัดดา” กล่าวว่า วันนี้ผมมีสิ่งที่จะมารายงานที่ประชุม 3 ส่วน ได้แก่ 1.การดำเนินงาน 10 ปี 2.แผนงานใหม่สำหรับ 5 ปีข้างหน้า และ 3.แผนเร่งด่วนเพื่อช่วยผู้ประสบภัยแล้ง ซึ่งทุกท่านทราบดีว่าปีนี้แล้งที่สุดในรอบ 40 ปี และทุก ๆ ท่านคงทราบดีว่าเราเริ่มทำงานแห่งแรกในพื้นที่จังหวัดน่านเมื่อ 10 ปีก่อน จนต่อมาได้ขยายงานไปสร้างต้นแบบในพื้นที่อื่น ประกอบด้วยจังหวัดอุดรธานี, ขอนแก่น, กาฬสินธุ์, อุทัยธานี, เพชรบุรี และ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ กับ 4 จังหวัดชายแดนภาคเหนือ

สำหรับการทำงานแต่ละพื้นที่จะมีโจทย์แตกต่างกันตามภูมิสังคม ซึ่งแบ่งได้เป็น 3 กลุ่มหลัก ๆ คือ

หนึ่ง กลุ่มบริหารจัดการน้ำเพื่อพัฒนาอาชีพ ได้แก่ จังหวัดอุดรธานี, ขอนแก่น, กาฬสินธุ์

สอง กลุ่มอนุรักษ์พื้นที่ป่าไม้ และสร้างอาชีพ ได้แก่ จังหวัดน่าน บริเวณพื้นที่เขาหัวโล้น, อุทัยธานี พื้นที่ห้วยขาแข้ง และพื้นที่แก่งกระจาน เพชรบุรี เพื่อยุติการบุกรุกป่า เพื่อทำให้คนกับป่าอยู่ด้วยกันได้เป็นอย่างดี

สาม กลุ่มเป้าหมายเฉพาะใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ยาก มีความจนเรื้อรัง และมีความเหลื่อมล้ำมายาวนาน และกลุ่ม 4 จังหวัดชายแดนภาคเหนือที่มีปัญหาความเหลื่อมล้ำ และคุณภาพชีวิตของคน เพราะมีการกระตุ้นให้ยาเสพติดทะลักเข้ามาได้ง่ายในประเทศไทย

“การทำงานทุกกลุ่มล้วนเริ่มจากศึกษาปัญหาความต้องการของชาวบ้าน ไม่ใช่เราคิดอะไรแล้วไปบังคับให้เขาทำ แต่เราต้องหาแนวทางแก้ไขให้กับชุมชน โดยดึงเอาความร่วมมือจากชุมชน ข้าราชการ และเอกชนมาบูรณาการร่วมกัน โดยกลุ่มแรกที่ขอเสนอ คือ กลุ่มบริหารจัดการแหล่งน้ำที่พัฒนาอาชีพ ประกอบด้วย จังหวัดอุดรธานี, ขอนแก่น และกาฬสินธุ์ ทุกจังหวัดล้วนแล้วแต่มีปัญหาแหล่งน้ำที่ไม่ใช้งานเต็มที่ หรือพังบ้าง แตกบ้าง อย่างนี้เป็นต้น เราจึงเข้าไปร่วมมือปรับปรุง ไม่ได้สร้างใหม่ แต่ไปซ่อมของเก่าให้ดี และน้ำก็จะสมบูรณ์ดังที่ตั้งใจทำตั้งแต่ต้น เมื่อทำเช่นนี้ได้จะส่งเสริมอาชีพใหม่ ๆ ซึ่งผลคือครัวเรือนที่ทำงานกับเราประมาณ 1,758 ครัวเรือน มีรายได้ทางการเกษตรสะสม 493 ล้านบาท จากนั้นจึงพัฒนามาเป็นกลุ่มผลิตอาชีพสินค้า 16 กลุ่ม โดยมีการบูรณาการให้หน่วยงานทั้งภาครัฐบาล เอกชน สถาบันการศึกษาเข้ามาช่วยกันเป็นครั้งคราวรวม 56 องค์กร”

“กลุ่มต่อมา คือ กลุ่มที่มูลนิธิปิดทองหลังพระฯเข้าไปร่วมฟื้นฟูป่า และส่งเสริมอาชีพทางเลือกให้แก่ประชาชนที่จังหวัดน่าน, อุทัยธานี และเพชรบุรี ซึ่งเราบรรลุเป้าหมายหลัก และเป้าหมายรอง กล่าวคือจังหวัดน่าน มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ เข้าไปร่วมปลูกป่า 3 อย่าง รวมพื้นที่ 2 แสนไร่ ส่วนจังหวัดอุทัยธานี เราสามารถคืนพื้นที่ป่าจากการทำเกษตรเชิงเดี่ยวได้ 6,000 ไร่ ส่วนที่เพชรบุรี ไม่มีการบุกรุกป่าเพิ่มเติม นับตั้งแต่โครงการเข้าไป โดยมี 2,234 ครัวเรือนที่ร่วมงานกับเรา จนสามารถสร้างรายได้ 1,223 ล้านบาท โดยเราทำงานบูรณาการกับหน่วยงานต่าง ๆ 63 แห่ง”

“สำหรับกลุ่มสุดท้าย คือ กลุ่มที่เป็น issue based คือ พื้นที่เหล่านี้มีปัญหาแตกต่างจากพื้นที่อื่น ๆ เพราะมีความรุนแรง ถ้าปล่อยไว้จะส่งผลกระทบอย่างมากต่อคนทั้งประเทศ คือ พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 จังหวัดชายแดนภาคเหนือ สำหรับทางใต้ เราหวังช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจจากความเหลื่อมล้ำและรุนแรงที่ยาวนาน ส่วนทางเหนือ เราหวังจะสร้างอาชีพที่มั่นคงเพื่อลดปัญหายาเสพติด ขณะที่ทางใต้เรามีประชากรร่วมงานด้วย 607 ครัวเรือน สร้างรายได้สะสม 86 ล้านบาทในปี 2562 และปี 2563 น่าจะมากขึ้นเรื่อย ๆ”

“ส่วนทางเหนือยังมุ่งเน้นการฝึกอบรมเพื่อกระตุ้นให้นำแนวทางพระราชดำริไปพัฒนาด้วยตนเอง และตอนนี้อบรมไปแล้ว 119 ตำบล เมื่อเป็นเช่นนี้ ผมจึงต้องพูดถึงการขยายแนวพระราชดำริไปยังนอกพื้นที่ต้นแบบ ซึ่งได้แก่ จังหวัดน่าน และอุดรธานี ที่สำคัญ มูลนิธิปิดทองหลังพระฯยังร่วมกับกระทรวงมหาดไทย ในการพัฒนาแหล่งน้ำทั่วทั้ง 2 จังหวัด โดยสามารถชักชวนชาวบ้าน 71,215 ครอบครัว ทำการเกษตรนอกฤดู และเขาสร้างรายได้จากการประกอบอาชีพการเกษตรสูงถึง 1,144 ล้านบาท”

“ม.ร.ว.ดิศนัดดา” สรุปโดยย่อว่า ระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา เราทำงานร่วมกับชุมชน และข้าราชการในการพัฒนาแหล่งน้ำ และสร้างฝายทั้งหมด 6,259 ตัว ส่งเสริมอาชีพให้เกิดรายได้ทำการเกษตรในพื้นที่ต้นแบบ และขยายผลรวม 2,956 ล้านบาท ประชาชนเข้าร่วมตามแผนพัฒนาพระราชดำริในพื้นที่ต้นแบบ และขยายผล 75,841 ครอบครัว นอกจากนั้น เรายังร่วมกับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯในการเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ได้ 200,9000 ไร่ ในจังหวัดน่าน, เพิ่มพื้นที่ป่า 6,000 ไร่ ที่อุทัยธานี และยุติการบุกรุกป่าเพิ่มขึ้นอย่างสมบูรณ์ในอำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี

“จนทำให้ประชาชนบางพื้นที่ผ่านจากความอยู่รอด และเริ่มเข้าสู่ระดับความพอเพียง ทั้งยังมีการจัดตั้งกลุ่มอาชีพบริหารจัดการกันเองรวม 67 กลุ่ม มีเงินทุน 72 ล้านบาท และมีการรวมตัวบริหารทรัพยากรธรรมชาติ 55 กลุ่ม การฝึกอบรมตามแนวพระราชดำริให้แก่หน่วยงานต่าง ๆ 11,347 คน เพื่อให้เกิดการนำไปใช้ในพื้นที่อื่น ๆ ดังนั้นจะเห็นได้ว่างานที่ทำมีความครอบคลุมทั้งด้านรายได้ ตลอดจนกิจกรรมเพื่อความยั่งยืนทั้งด้านสังคม คือ การพัฒนาคน ด้านทรัพยากรสิ่งแวดล้อม”

ผลเช่นนี้ จึงทำให้ “ม.ร.ว.ดิศนัดดา” ตั้งข้อสังเกตว่า ภายหลังจากการหารือกับสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และสำนักนายกรัฐมนตรี สามารถแบ่งงานออกได้ 2 ส่วน คือ

หนึ่ง ยึดแนวพระราชดำริส่งเสริมชุมชนให้ผ่านความอยู่รอดไปสู่ความพอเพียง เพราะในที่สุดสิ่งที่ทำ คือ ความหวังของทุกคน เพื่อไปจุดสุดท้าย คือ ความยั่งยืน เพราะเมื่อทุกพื้นที่เกิดความยั่งยืน เราจะถอนตัว เพื่อให้พวกเขาไปอยู่ในการดูแลของภาครัฐ เพื่อเราจะได้มีเวลาทำงานในพื้นที่อื่นต่อไป

สอง เร่งรัดการดำเนินงานพื้นที่เป้าหมาย โดยเฉพาะ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 จังหวัดชายแดนภาคเหนือ ซึ่งอยู่ในแผนพัฒนาระยะปี 2564-2568 โดยกำหนดด้วยตัวชี้วัด ดังนี้ สำหรับพื้นที่ต้นแบบเดิมจะส่งเสริมชุมชนให้ผ่านความอยู่รอดอย่างพอเพียง และยั่งยืนตามแนวพระราชดำริ และคาดว่าเมื่อสิ้นแผน จะมีครัวเรือนตามทฤษฎีใหม่ 6,433 ครัวเรือน และมีรายได้ 3,088 ล้านบาท จากการทำการเกษตร

“ส่วนพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้จะเกิดครูภูมิปัญญาเกษตรขึ้น 200 คน ดังนั้น สิ่งที่เราทำคือสร้างคน ขอย้ำทั้งหมดที่มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ และมูลนิธิปิดทองหลังพระฯทำ คือ การสร้างคน และคนเหล่านี้ก็สร้างคนต่อ ๆ ไป จนทำให้มีรายได้ทางการเกษตรที่เกิดจากครูภูมิปัญญา 200 คนสูงถึง 1,800 ล้านบาท ส่วนพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคเหนือ เราจะร่วมกันพัฒนาโครงการกับท้องถิ่น 280 หมู่บ้าน”

“สิ่งสำคัญอีกอย่าง คือ การรับมือกับภัยแล้งครั้งนี้ ทำให้เห็นภาพคนสามารถเดินลงไปกลางแม่น้ำโขงได้ และในรอบ 40 ปี ไม่เคยแล้งขนาดนี้มาก่อน ทางมูลนิธิปิดทองหลังพระฯจึงคิดว่าเราจะทำอย่างไรถึงจะแก้ไขภัยแล้งครั้งนี้ให้ดูเป็นตัวอย่างสำหรับหน่วยงานต่าง ๆ ได้ดู ผมคิดว่าพวกเราที่มาจากต่างจังหวัดจะเข้าใจลึกซึ้งว่า น้ำมีความสำคัญต่อชีวิตมากน้อยแค่ไหน อย่างไร และตอนนี้ที่จังหวัดอุดรธานี เราสร้างเครือข่ายขึ้นมา ประกอบด้วย ทางจังหวัด, ภาคเอกชนที่พัฒนาอาชีพเกษตรสมัยใหม่ที่ใช้น้ำน้อย ซึ่งกำลังประเมินผลเพื่อนำไปปรับใช้ในพื้นที่อื่น ๆ โดยมีการดำเนินงานครบวงจร คือ ชาวบ้านยินดี และพร้อมร่วมมือ ซึ่งผมได้คุยกับชาวบ้าน 19 คนที่ร่วมมือกับเรา ผมถามเจ้าหน้าที่ของผมว่าทำไมถึงเลือกที่นี่ ก็เพราะผมทำงานกับคนเหล่านี้มา 8 ปี ผมรู้ดีว่าครอบครัวไหนขยัน และซื่อสัตย์ ซึ่ง 2 ข้อนี้ของมูลนิธิปิดทองหลังพระฯ และมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯเชื่อว่า คนเราถ้าไม่มีความซื่อสัตย์ และขยัน เราจะไม่ทำด้วย เพราะจะไม่มีทางสำเร็จ”

“ดังนั้น ที่นี่ผมทำมา 8 ปี ผมรู้จักชาวบ้านแถวนั้นหมดว่า ใครดี ใครเอาเปรียบคน ผมเข้าใจหมด เพราะ 8 ปีผมคลุกอยู่กับเขามา เมื่อเป็นเช่นนั้นเราจึงเลือกคนเหล่านี้ขึ้นมา เพราะเราคำนึงถึงความอยู่รอด อยู่อย่างพอเพียง และกำลังจะไปสู่ความยั่งยืน ผมจึงเชื่อว่าจังหวัดอุดรธานีเป็นตัวอย่างแรกของมูลนิธิปิดทองหลังพระฯที่เราจะทำให้เขายั่งยืนให้ได้ โดยยกระดับวิกฤตทางด้านน้ำแล้งเอามาเป็นตัวตั้ง ซึ่งชาวบ้านยินดี และพร้อมที่จะร่วมมือกับเรา”

“ม.ร.ว.ดิศนัดดา” กล่าวต่อว่า ที่สำคัญเรายังมีระบบสนับสนุนทรัพยากรความรู้ที่นำมาจากมูลนิธิปิดทองหลังพระฯ ส่วนองค์ความรู้มาจากหลายด้าน ด้วยการนำมาจาก ซี.พี. (เครือเจริญโภคภัณฑ์), เบทาโกร (บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน)) และเทสโก้ โลตัส ซึ่งบริษัทเหล่านี้คือบริษัทเอกชน และจะมีข้าราชการจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทั้งในส่วนภูมิภาค และส่วนกลางมาร่วมมือกัน รวมถึงข้าราชการจากกรมชลประทานอีกด้วย

“ดังนั้น องค์ความรู้จึงไม่ใช่มาจากภาครัฐ แต่จะต้องนำภาคเอกชนมาด้วย เพื่อให้เขามาถกเถียงกันต่อหน้าเรา และต่อหน้าชาวบ้าน และในที่สุดจะให้ชาวบ้านเป็นคนเลือกเองว่า เขาต้องการวิธีไหน

ที่สำคัญ ต้องมีตลาดรองรับสินค้า เพราะปัจจุบันโครงการต้นแบบที่จังหวัดอุดรธานี มีการคัดเลือกเกษตรกรมาร่วมงานกับเรา 19 คน โดยเจ้าของที่ดินที่ติดกับแหล่งน้ำเขาเปิดทางให้เพื่อนบ้านเข้ามาดำเนินงานได้ โดยไม่คิดเงินในพื้นที่ของเขา ส่วนมูลนิธิปิดทองหลังพระฯจะช่วยทุนล่วงหน้าเกี่ยวกับโรงเรือน และระบบน้ำหยด แต่เกษตรกรจะต้องจ่ายเงินคืนภายหลัง ด้วยการทยอยจ่าย โดยเราไม่คิดดอกเบี้ย”

“จากระบบการทำงานแบบเกษตรทฤษฎีใหม่อย่างประณีต และแม่นยำ เพราะเราทำวันต่อวัน ชั่วโมงต่อชั่วโมง พูดง่าย ๆ เราเช็กลิสต์กันเลย อันนี้สำคัญมาก เราทำอย่างเคร่งครัดเพื่อให้เกษตรกรได้เรียนรู้การทำเกษตรให้ได้มาตรฐาน และเกรดทุกอย่างที่ออกไปจากมูลนิธิปิดทองหลังพระฯจะต้องเป็นเกรดพรีเมี่ยม ซึ่งเราคาดว่าการบูรณาการเหล่านี้จะทำให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ เพื่อนำไปขยายผล และคาดว่าโครงการนี้จะคืนทุนภายใน 3 ปี”

“เมื่อถึงเวลานั้นเกษตรกรจะเป็นเจ้าของโรงเรือน และระบบน้ำ มีความรู้ในการผลิตพืช ผักที่มีมาตรฐานสูง และมีตลาดรองรับอย่างสม่ำเสมอ ทั้งยังขายได้ในราคาที่สูงกว่าราคาตลาด ซึ่งจะทำให้เขามีคุณภาพชีวิตดีขึ้นจากการทำนาแบบเดิม ๆ จนกลายเป็นเกษตรกรผู้ประกอบการที่มีความรู้ นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่มูลนิธิปิดทองหลังพระฯจากทุก ๆ พื้นที่จะเข้ามาร่วมเรียนรู้ขบวนการ และไม่ใช่เรียนรู้เฉย ๆ แต่เราสั่งการให้เจ้าหน้าที่ของเรา และอาสาพัฒนาของเรา มาเรียนรู้จากสิ่งที่ทำเรื่องการแก้น้ำแล้งด้วย เพื่อนำไปขยายผลในพื้นที่ของตนเองอีก 12 จังหวัด ด้วยการนำไปช่วยประชาชนให้ผ่านภัยแล้งที่รุนแรงครั้งนี้ พร้อมกับยกระดับความสามารถของพวกเขาเพื่อให้เกิดความยั่งยืนในชีวิตต่อไป”

สุดท้ายนี้ “ม.ร.ว.ดิศนัดดา” กล่าวย้ำสั้น ๆ ก่อนเลิกทำการเฟซบุ๊กไลฟ์ว่า…ผมขอฝากทุกท่าน…ไม่ท้อ และไม่ถอย