หุ่นยนต์เฝ้าระวังโควิด-19

คอลัมน์ CSR Talk

จากสถานการณ์เกี่ยวกับเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ผ่านมา บุคลากรทางการแพทย์เป็นหนึ่งในกลุ่มผู้ปฏิบัติหน้าที่ดูแลกลุ่มผู้ถูกเฝ้าระวังและผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด โดยล่าสุด คณะวิศวกรรมศาสตร์ และคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับเอไอเอส โดย “วสิษฐ์ วัฒนศัพท์” หัวหน้าฝ่ายงานปฏิบัติการและสนับสนุนด้านเทคนิคทั่วประเทศ เล็งเห็นถึงความสำคัญของบุคลากรทางการแพทย์ในการปฏิบัติหน้าที่ควบคุมสถานการณ์ในประเทศไทย ตลอด 24 ชั่วโมง จึงร่วมพัฒนาเพื่อนำเทคโนโลยี 5G และ 4G มาช่วยเสริมขีดความสามารถการทำงานของหุ่นยนต์บริการทางการแพทย์

ซึ่งคิดค้นและพัฒนาจากฝีมือคนไทย โดย “ศ.ดร.วิบูลย์ แสงวีระพันธุ์ศิริ” อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และหัวหน้าศูนย์ Regional Center of Robotics Technology “ศ.พญ.นิจศรี ชาญณรงค์” ผู้อำนวยการศูนย์เชี่ยวชาญครบวงจรโรคหลอดเลือดสมอง, “ศ.ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล” คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อนำมาใช้ติดตามอาการกลุ่มผู้ถูกเฝ้าระวังและดูแลรักษาผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นครั้งแรกของประเทศไทย

โดยหุ่นยนต์บริการทางการแพทย์นี้ เริ่มต้นคิดค้นด้วยจุดมุ่งหวังในการสร้างนวัตกรรมเพื่อนำมายกระดับการให้บริการทางการแพทย์ ซึ่งแพทย์สามารถเข้าถึงผู้ป่วยได้โดยไม่ต้องสัมผัสหรืออยู่ใกล้ผู้ป่วย ด้วยการรักษาและให้คำปรึกษาผ่านทางไกลผ่านระบบ telemedicine ที่ตัวหุ่นยนต์ เพื่อขยายขีดความสามารถในการดูแลและรักษา เมื่อมีปัญหาเชื้อไวรัสโควิด-19 ระบบที่พัฒนาขึ้นนี้จะนำมาดัดแปลงเพื่อช่วยเหลือแพทย์และพยาบาลสำหรับดูแลผู้ติดเชื้อหรือสงสัยว่าจะติดเชื้อ ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงให้กับบุคลากรทางการแพทย์

ในเบื้องต้น หุ่นยนต์บริการทางการแพทย์เริ่มถูกนำไปใช้งานเพื่อเฝ้าระวังการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 แล้ว 3 แห่ง โดยได้ทำงานร่วมกับ“นพ.สมบูรณ์ ทศบวร” ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี และ “นพ.เขตต์ ศรีประทักษ์” ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ โรงพยาบาลโรคทรวงอก ได้แก่ 1.โรงพยาบาลราชวิถี จำนวน 2 ชุด เป็นแบบตั้งโต๊ะ 2.โรงพยาบาลทรวงอก จำนวน 1 ชุด เป็นแบบ mobile robot และ 3.โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี จำนวน 1 ชุด เป็นแบบตั้งโต๊ะ นอกจากนี้ยังอยู่ในระหว่างการสร้างจำนวนมากขึ้น และการพัฒนาโปรแกรมใหม่โดยเฉพาะ ทั้งยังอยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมด้านเครือข่ายสัญญาณ 5G ไปยังสถานพยาบาลในพื้นที่ต่างจังหวัดเพิ่มเติมอีกด้วย

สำหรับคุณสมบัติเด่นในการใช้งานหุ่นยนต์บริการทางการแพทย์ ในการติดตามอาการกลุ่มผู้ถูกเฝ้าระวังและดูแลรักษาผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้แก่

1.ทำหน้าที่เป็นตัวกลางระหว่างแพทย์ และกลุ่มผู้ถูกเฝ้าระวังหรือผู้ป่วย ได้สื่อสารโต้ตอบผ่านระบบ VDO conference ด้วยภาพความละเอียดสูง ช่วยให้แพทย์สามารถคัดกรอง ประเมินความเสี่ยง ตลอดจนการวินิจฉัยโรคเบื้องต้นได้

2.แพทย์ พยาบาล สามารถควบคุม สั่งการการทำงานของหุ่นยนต์ได้จากระยะไกล เช่น ติดตามอาการของผู้ถูกเฝ้าระวังผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยไม่ต้องเข้าไปสัมผัสกับผู้ถูกเฝ้าระวังด้วยตนเอง

3.หุ่นยนต์บริการทางการแพทย์สามารถเชื่อมต่อกับอุปกรณ์วัดและบันทึกสัญญาณชีพ (vital sign) เช่น วัดความดัน, วัดคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (ECG), วัดชีพจร, วัดอุณหภูมิ และส่งต่อข้อมูลไปยังแพทย์ เพื่อประเมินผลได้ทันที (ในส่วนของหุ่นยนต์ชุดแรกยังไม่ได้ติดเครื่องวัดสัญญาณชีพนี้ แต่ในรุ่นถัดไปจะมีการติดตั้งอุปกรณ์เหล่านี้แล้ว ตามความจำเป็น)

ความร่วมมือครั้งนี้ถือเป็นการร่วมทำงานอย่างต่อเนื่องจาก 4G สู่ 5G ที่จะเสริมประสิทธิภาพการทำงานได้ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะระบบการสื่อสารโต้ตอบผ่านกล้อง VDO ความคมชัดสูง ที่ช่วยให้การทำงานมีเสถียรภาพ และการตอบสนองของหุ่นยนต์ที่รวดเร็ว ทั้งยังรองรับจำนวนหุ่นยนต์ที่ทำงานพร้อมกันได้มากขึ้นด้วย


นับเป็นครั้งแรกของเมืองไทยในการพัฒนาหุ่นยนต์ เข้ามาช่วยลดอัตราความเสี่ยงในการติดตามเฝ้าระวังอาการระหว่างผู้ถูกเฝ้าระวังผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโควิด-19 กับบุคลากรทางการแพทย์ เช่น แพทย์ พยาบาล รวมถึงล่ามภาษาจีน เนื่องจากในปัจจุบันยังต้องมีการเฝ้าระวังการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างเคร่งครัด ทางการทดสอบเบื้องต้นทำให้เรามั่นใจได้ว่า เทคโนโลยี 5G จะมีบทบาทสำคัญมากกับวงการแพทย์และการให้บริการทางการแพทย์อย่างไม่มีข้อสงสัย