ซีเอสอาร์ “สยามคูโบต้า” เปิดศูนย์เรียนรู้ฯสร้างเกษตรกรยั่งยืน

สยามคูโบต้าฯมุ่งเน้นการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการเกษตรและเทคโนโลยี ภายใต้แนวคิดลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแก่ชุมชนเกษตรต่าง ๆ โดยสนับสนุนให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการดำเนินงานด้วยตนเองอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้คนในชุมชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีรายได้เพิ่มขึ้นจนนำไปสู่การพัฒนาภาคเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน

โดยล่าสุดเปิดศูนย์เรียนรู้ชุมชนพลังเกษตรสร้างสุขสยามคูโบต้าฯ-ตอนิมิตร “ชุมชนต้นแบบ” ด้านการเกษตรอย่างยั่งยืนแห่งแรกของภาคเหนือที่ ต.ร่องกาศ อ.สูงเม่น จ.แพร่

“ณัฐกมล ลักขณาวราภรณ์” ผู้จัดการส่วนอาวุโส-สื่อสารองค์กร บริษัท สยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่า สยามคูโบต้าฯมีนโยบายซีเอสอาร์ที่ต้องการยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของเกษตรกรให้ดีขึ้น โดยดำเนินธุรกิจภายใต้แนวคิดเกษตรสีเขียว (green agriculture) ได้แก่ การเผยแพร่ความรู้การทำเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (green knowledge), พัฒนาสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (green product) และ ใช้กระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (green process) เพื่อพัฒนาภาคการเกษตรอย่างยั่งยืน โดยตระหนักและให้ความสำคัญในทุกขั้นตอนของการดำเนินธุรกิจที่ใส่ใจและมีความรับผิดชอบต่อกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย อันได้แก่ พนักงาน, ลูกค้า, หน่วยงานภาครัฐ, ชุมชน, สังคม และประเทศชาติ

“ณัฐกมล ลักขณาวราภรณ์”

“เรามุ่งมั่นที่จะช่วยพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรไทย ผู้ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นเสาหลักในการขับเคลื่อนภาคเกษตรกรรมของประเทศ จึงดำเนินนโยบายเพื่อตอบแทนสังคมที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (sustainable development goals-SDGs) ของสหประชาชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านความมั่นคงทางอาหาร, ด้านการศึกษา, ด้านสิ่งแวดล้อม และด้านพัฒนาชุมชนและสังคม”

“สำหรับการส่งเสริมด้านพัฒนาชุมชน เราทำผ่านโครงการชุมชนพลังเกษตรสร้างสุขสยามคูโบต้า หรือ SIAM KUBOTA Community Enterprise (SKCE) ที่ริเริ่มมาตั้งแต่ปี 2554 โดยคัดเลือกกลุ่มเกษตรกรที่มีการบริหารจัดการกลุ่มอย่างเป็นระบบ โดยเราร่วมคิด ร่วมทำ ไปจนถึงร่วมแก้ปัญหากับเกษตรกร เพื่อนำไปสู่การช่วยเกษตรกรลดต้นทุน เพิ่มผลผลิตในการทำการเกษตร ส่งเสริมให้ชุมชนมีความอยู่ดีกินดี และสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน”

“ศูนย์เรียนรู้ชุมชนพลังเกษตรสร้างสุขสยามคูโบต้า-ตอนิมิตร เป็นศูนย์เรียนรู้แห่งที่ 4 ที่เราและชุมชนร่วมมือกันพัฒนาขึ้น ทั้งยังเป็นแห่งแรกในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน โดยมีความโดดเด่นด้านมาตรฐานการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวที่มีคุณภาพในระดับประเทศ และยังมีการบูรณาการองค์ความรู้ ให้สามารถแก้ปัญหาด้านการเกษตรแบบครบวงจรได้ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ”

“เรายังมีแผนจะพัฒนาชุมชนเข้มแข็งที่จะเป็นต้นแบบอย่างน้อย 1 ศูนย์ในแต่ละภูมิภาค และจะขยายผลไปยังชุมชนใกล้เคียงเพิ่มเติมต่อไป โดยศูนย์เรียนรู้ชุมชนพลังเกษตรสร้างสุขฯ ที่เปิดทำการไปก่อนหน้านี้ ได้แก่ ชุมชนพลังเกษตรสร้างสุขสยามคูโบต้า-ผักไหม ต.ผักไหม อ.ห้วยทับทัน จ.ศรีสะเกษ,ปี 2556 ชุมชนพลังเกษตรสร้างสุขสยามคูโบต้า-เกษตรทิพย์ ต.ดู่ อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ, ปี 2557 ชุมชนพลังเกษตรสร้างสุขสยามคูโบต้า-ห้วยตาดข่า ต.หนองอ้อ อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี”


“ณัฐกมล” อธิบายต่อว่า การเพาะปลูกข้าวของกลุ่มตอนิมิตรเป็นการเพาะปลูกเพื่อจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพให้กับกรมการข้าว และเกษตรกรทั่วไป ด้วยเหตุนี้กลุ่มตอนิมิตร จึงเน้นวิธีการเพาะปลูกข้าวแบบประณีต ซึ่งจะมีต้นทุนการผลิตค่อนข้างสูง เราจึงแนะนำให้ชุมชนเพาะปลูกด้วยวิธี KUBOTA (Agri) Solutions หรือ KAS

“KUBOTA (Agri) Solutions เกษตรครบวงจร หรือ KAS คือการจัดการเกษตรกรรมครบวงจรที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของสยามคูโบต้าฯ ด้วยการใช้เทคนิคการเพาะปลูก ตั้งแต่การปฏิรูปพื้นที่,การเตรียมดิน, การเพาะปลูก, การดูแลรักษา, การเก็บเกี่ยว, การแปรรูป และการขนส่งผลผลิต นอกจากนี้ เกษตรกรยังสามารถควบคุมปัจจัยการเพาะปลูก ได้แก่ ดินและน้ำ ในขั้นตอนต่าง ๆ ได้ด้วยตนเอง ตลอดจนสามารถคาดการณ์สภาพแวดล้อมได้”

“โดยแนวทางการปลูกข้าวด้วย KAS มีแนวคิด ดังนี้ คือ การใช้เครื่องจักรกลการเกษตรทดแทนแรงงาน เพื่อให้การบริหารจัดการแปลงสะดวกมากขึ้น ลดต้นทุนค่าแรงงานคน และลดระยะเวลาในการทำงาน รวมทั้งลดต้นทุนการจัดการศัตรูพืช และช่วยให้การจัดการพันธุ์ง่ายขึ้น การตรวจวิเคราะห์ดินและใช้ปุ๋ยสั่งตัด โดยเกษตรกรสามารถใช้ปุ๋ยในปริมาณและช่วงเวลาที่เหมาะสมกับความต้องการของพืช และยังทำให้ต้นทุนค่าปัจจัยการผลิตลดลง”

“สุนทร จำรูญ” ประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรกรผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวบ้านตอนิมิตร กล่าวเสริมว่า กลุ่มตอนิมิตรจัดตั้งอย่างเป็นทางการในปี 2553 ปัจจุบันมีสมาชิกรวม 50 คน มีพื้นที่ทางการเกษตรรวม 1,000 ไร่ เราผลิตเมล็ดพันธุ์คุณภาพ ทั้งข้าว ข้าวโพด ถั่วเหลือง และพืชผัก ทั้งยังได้รับการยอมรับว่าสามารถผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวที่มีคุณภาพดีเด่นในระดับประเทศ

“สุนทร จำรูญ”

“ซึ่งก่อนหน้านี้กลุ่มของเรายังขาดเทคนิคการทำเกษตรสมัยใหม่ที่ถูกต้อง ทำให้เป้าหมายในการพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็งจนสามารถพึ่งพาตนเองยังไม่สำเร็จ ตั้งแต่เมื่อ 3 ปีที่แล้วสยามคูโบต้าฯเข้ามาสนับสนุนให้คนในชุมชนมีความรู้ด้านเกษตร ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของทุกคนดีขึ้นจนกลายเป็นชุมชนต้นแบบที่สามารถถ่ายทอดความรู้ด้านการเกษตรไปให้ผู้อื่นได้”

“เราร่วมกับสยามคูโบต้าฯ สร้างศักยภาพใน 3 ด้าน ได้แก่ ด้านการเกษตร-ทำการเกษตรแบบครบวงจร KUBOTA (Agri) Solutions โดยนำวิธีการเพาะปลูกข้าวนาหยอดแห้ง และนาดำด้วยรถดำนามาประยุกต์ใช้ในกลุ่ม รวมไปถึงการบริหารจัดการเครื่องจักรกลการเกษตรรูปแบบกลุ่ม, ด้านการแปรรูป และการตลาด-ส่งเสริมองค์ความรู้การตลาดข้าวสาร การแปรรูปข้าวสาร และด้านการพัฒนาบุคลากร-อบรมพัฒนาศักยภาพบุคลากรเกี่ยวกับการสร้างความเป็นผู้นำ, การบริหารจัดการกลุ่ม, การแปรรูป, การตลาดออนไลน์, การเป็นวิทยากรชุมชนและการจัดการศูนย์เรียนรู้ รวมไปถึงการพาไปศึกษาดูงานในด้านต่าง ๆ เพื่อเพิ่มพูนความรู้ให้แก่เกษตรกร”

ศูนย์เรียนรู้ชุมชนพลังเกษตรสร้างสุขสยามคูโบต้า-ตอนิมิตร ถือเป็นศูนย์แห่งแรกในภาคเหนือที่ทุกหน่วยงานมีบทบาทร่วมกันในการสร้างสังคมเกษตรสมัยใหม่ที่ยั่งยืน ด้วยการสร้างความรู้ และสร้างอาชีพผ่านการพัฒนาบุคลากรในชุมชน รวมทั้งสนับสนุนเทคโนโลยีการเกษตรเพื่อให้เข้าถึงการทำเกษตรกรรมในชุมชนอย่างแท้จริง