4 มุมมอง “ภาวะผู้นำ” ธุรกิจสำเร็จได้-ต้องไม่ทิ้งคุณธรรม

เป็นประจำทุกปีกับเวที Leadership Energy Summit Asia-Thailand 2017 ของสมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) โดยปีนี้ได้ร่วมมือกับสถาบัน The ICLIF Leadership and Governance Centre ภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารแห่งชาติประเทศมาเลเซีย ภายในงานมีผู้นำที่ประสบความสำเร็จ จากสาขาอาชีพต่าง ๆ รวมถึงผู้บริหารคนรุ่นใหม่ มาร่วมถ่ายทอดประสบการณ์ และความท้าทายต่าง ๆ ในฐานะผู้นำ จนสามารถสร้างทีมไปสู่องค์กรที่แข็งแกร่งได้ บทเรียนเหล่านี้อาจคล้ายคลึงกัน หรือแตกต่าง แต่แน่นอนว่าแนวคิดในการพัฒนาองค์กรผ่านการบริหารจัดการบุคคลในองค์กร จะเป็นแนวทางที่สามารถประยุกต์ไปใช้ได้ทุกที่ ทุกขนาดธุรกิจ

ผู้นำโดยธรรม

“พระพรพล ปสันโต” เลขานุการเจ้าอาวาส วัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก ซึ่งได้เชื่อมโยงผู้นำในทางโลกและทางธรรมไว้น่าสนใจ โดยยกตัวอย่างผู้นำ 3 แบบ ประกอบด้วย 1.ผู้นำที่คิดถึงส่วนรวมมากกว่าส่วนตน เป็นผู้นำในอุดมคติ ผู้นำที่มีลักษณะเช่นนี้เด่นชัด คือ พระพุทธเจ้า เนื่องจากทรงเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณ ที่ละทิ้งความสุขสบายทุกประการ ออกมาเพื่อหาวิธีให้ประชาชนพ้นทุกข์

เพราะแต่เดิมนั้น อินเดียได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีความแตกต่างอย่างสุดขั้ว ทั้งความเป็นอยู่ แนวคิด มีลัทธิต่าง ๆ มากมาย การสร้างสิ่งใหม่นับว่าเป็นเรื่องยากมาก สะท้อนให้เห็นภาวะผู้นำอย่างเด่นชัดของพระพุทธเจ้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งการคิดถึงส่วนรวมมากกว่านั้นย่อมนำมาซึ่งพลังที่ยิ่งใหญ่ สามารถทำเรื่องที่ยากและหนักหน่วงจนสำเร็จได้

2.ผู้นำที่คิดถึงเรื่องส่วนตัวและส่วนรวมเท่า ๆ กัน ซึ่งเป็นผู้นำที่เราสามารถพบเห็นได้ทั่วไป คือ ผู้ที่ทำงานแล้วหวังผลตอบแทนด้วย และก็สร้างประโยชน์แก่องค์กรไปด้วย

และ 3.ผู้นำที่คิดถึงผลประโยชน์ส่วนตนมากที่สุด ซึ่งนับว่าเป็นผู้นำที่อันตราย เพราะจะกลายเป็นผู้นำที่มีอำนาจ แต่ขาดอุดมการณ์ เข้าลักษณะผู้ที่เห็นแก่ตัว นำสู่การกระทำในสิ่งที่ผิดได้ง่าย

หลักการง่าย ๆ คือ ผู้นำต้องมีเป้าหมายที่จะมุ่งทำในสิ่งที่ถูกต้อง และต้องมีความคิดต่าง แต่ต้องแตกต่างบนหลักเหตุผล ตรวจสอบได้ วิเคราะห์ได้ อ้างอิงได้ ไม่ใช่แตกต่างเพราะคิดเองเท่านั้น

ไม่ว่าจะเป็นผู้นำในด้านใด หากมีจิตที่คิดถึงผู้อื่นอยู่มาก ย่อมมีพลังที่จะไปได้กว้าง และพลังนั้นมาจากอุดมการณ์ที่จะสร้างสิ่งดีแก่ผู้อื่นนั่นเอง

ผู้นำการเปลี่ยนแปลง

“ศุภจี สุธรรมพันธุ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มดุสิต อินเตอร์เนชั่นแนล หนึ่งผู้นำหญิงแกร่งที่ทำงานในหลากหลายสายงาน ทั้งด้านเทคโนโลยี มาจนถึงธุรกิจบริการ ทำให้มุมมองเกี่ยวกับภาวะผู้นำของเธอมีมิติ หลากหลาย และสามารถปรับเปลี่ยนได้

 

มุมมองที่สำคัญ คือ ผู้นำ ต้องมีภาวะของผู้นำการเปลี่ยนแปลง ซึ่งสอดคล้องกับความเป็นไปของโลก ที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ และใช้เวลาสั้นลงเรื่อย ๆ ดังนั้นผู้นำที่มีความสามารถในการปรับเปลี่ยนได้ทันท่วงทีจึงมีความสำคัญมากในการทำธุรกิจในยุคปัจจุบัน

ในด้านการตลาด เดิมธุรกิจโรงแรมมีปัจจัยสำคัญ คือ “ทำเล” แต่ ณ ปัจจุบัน “เรตติ้ง” ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่จะทำให้ลูกค้าเลือกหรือไม่เลือก เพราะอิทธิพลของโซเชี่ยล นอกจากนี้ยังมีการปรับตัวเพื่อแข่งขันกับธุรกิจรูปแบบใหม่ เช่น Airbnb ซึ่งไม่มองว่าคือ คู่แข่ง แต่จะมองหาวิธีทำให้เค้กมีขนาดใหญ่ขึ้น ดังที่กลุ่มดุสิตฯร่วมลงทุนในสตาร์ตอัพ อย่างเฟฟสเตย์ (favstay) เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าที่ต้องการบริการอีกรูปแบบ

นั่นเป็นเพียงตัวอย่างการปรับเปลี่ยน มุมมอง และทิศทางธุรกิจ ก่อนจะทิ้งท้ายว่า ผู้นำจะต้องนำประสบการณ์มาใช้ให้เกิดประโยชน์ พร้อมกัน นั้นคือ ต้องดูแลพนักงานให้มีวิสัยทัศน์ไปในทิศทางเดียวกันอีกด้วย

ไม่ใช่ CEO แต่คือ Head Coach

“ทิวา ยอร์ค” Head Coach ของเว็บไซต์ Kaidee.com เผยถึงการเรียนรู้ที่จะเป็นผู้นำทีม มากกว่าผู้นำองค์กรแบบเดิม โดยยกทฤษฎีจากหนังสือ The E Myth ของนักเขียน ไมเคิล เกอร์เบอร์ ว่าสิ่งแรกที่ต้องเรียนรู้คือ ในคนหนึ่งคน สามารถแบ่งบุคลิกออกไปได้อีกถึง 3 คน นั่นคือ 1.Technician 2.Manager 3.Leader ซึ่งทั้งสามมีบุคลิกที่แตกต่างกัน

Technician คือ กลุ่มคนที่อยู่กับปัจจุบัน มุ่งทำงานให้เสร็จสิ้นเห็นผลทันที Manager คือ กลุ่มบุคคลที่อยู่กับอดีต ต้องการระเบียบแบบแผน ไม่ต้องการความเสี่ยง ส่วน Leader เป็นกลุ่มคนที่อยู่กับอนาคต ทำงานตามวิสัยทัศน์ที่วาดไว้

แต่พนักงาน หรือแม้แต่เจ้าของกิจการแต่ละคน ไม่จำเป็นต้องมีบุคคลทั้งสามพร้อม ๆ กัน หน้าที่ของผู้บริหารที่ดีคือ หาบุคคลเหล่านั้นให้เจอว่าแต่ละคนมีบุคลิกอย่างไร แล้วทำให้เขาเหล่านั้นรู้สึกดีในสิ่งที่เขาเป็น เพื่อให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ “ทิวา” ยังเรียนรู้การทำงานจากเกมกีฬา ซึ่งเน้นการทำงานแบบทีม (team) ไม่ใช่ทำงานกลุ่ม (working group) ซึ่งเขาอธิบายรูปแบบการทำงานที่แตกต่างกันระหว่าง team กับ working group ว่า การทำงานเป็นทีม คือ การที่ผู้เล่นคนอื่น ๆ เดินมาบอกคุณว่า คุณต้องปรับปรุงตรงไหน เพื่อที่ทีมเราจะพัฒนาไปด้วยกัน ขณะที่การทำงานแบบทีมเวิร์กนั้น คือ การที่คุณทำงานตามที่ตัวเองได้รับมอบหมายเท่านั้น

นั่นทำให้เขามองว่า ที่จริงแล้วการทำงานเป็นทีมไม่ได้ต้องการ CEO แต่สิ่งที่ต้องการคือ head coach คนที่จะคอยดูว่าลูกน้องของตนเองมีศักยภาพอะไร แล้วผลักดันเขาไปให้สุด โดยไม่ต้องลงเล่นเอง และนี่คือเป้าหมายสูงสุดของการเป็นผู้นำในแบบฉบับของเขา

อย่ากลัวที่จะล้ม (เหลว)

ขณะที่ “ดร.ก้องภพ อยู่เย็น” วิศวกรไมโครเวฟอาวุโส ศูนย์การบินอวกาศก็อดเดิร์ด องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (NASA) กล่าวว่า สำหรับในองค์กรนาซ่าทุกคนจะมีโอกาสได้เรียนรู้ภาวะผู้นำจากการทำงาน ผ่านการเป็นผู้นำทีมในการทำภารกิจ และเรียนรู้การเป็นผู้นำที่ผิดพลาดและล้มเหลวได้

เนื่องจากนาซ่าเป็นองค์กรที่มีระบบการแบ่งงานกันทำ ทุกคนต้องคิดค้นสิ่งใหม่ ๆ มีการระดมสมอง แบ่งงานกันทำไปตามภารกิจ หรือที่เรียกว่า mission แต่ละภารกิจก็จะผลัดกันเป็นหัวหน้าทีม ผลัดกันเป็นลูกทีม ไม่ได้เป็นผู้นำเพียงคนใดคนหนึ่งอยู่ตลอด ในการทำงานในองค์กรที่เต็มไปด้วยคนเก่งมากมาย ทุกคนละ “อีโก้” ของตนเอง แต่มองไปที่เป้าหมายเดียวกัน นั่นคือ ภารกิจที่สำเร็จ โดยมีพื้นฐานที่สำคัญในการทำงานร่วมกัน คือความซื่อสัตย์ และไว้วางใจกัน

แต่หากเป้าหมายไม่สำเร็จ ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลก ในองค์กรที่ต้องคิดนวัตกรรมใหม่ ๆ ทำในสิ่งที่คนส่วนใหญ่มองว่าเป็นไปไม่ได้อยู่เสมอ สิ่งที่ทุกคนต้องเรียนรู้ก็คือ การจัดการกับความล้มเหลวผ่านโปรแกรมการจัดการความเสี่ยง คนที่นี่จึงมองเห็นความผิดพลาดเป็นเรื่องธรรมดา เพื่อท้ายที่สุดแล้วจะไม่เกิดกำแพงในใจที่กลัวความผิดพลาดล้มเหลว จนต่อต้านการคิดค้นสิ่งใหม่ และสามารถนำทีมไปสู่การทำงานชิ้นใหม่ได้นั่นเอง

โดยสรุป สิ่งสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนพนักงาน คือ ผู้นำ และสิ่งที่ขับเคลื่อนผู้นำ คือ คุณธรรม และอุดมการณ์ ที่จะนำประโยชน์แก่คนในวงกว้างนั่นเอง