แรงงานไทยภาคโควิด-19 เอกชนวอนแก้ กม.-ขอโควตาส่งออก

เศรษฐกิจที่ชะลอตัวอยู่แล้ว เมื่อมีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการในรายสาขาอย่างหนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในธุรกิจส่งออกแรงงานไทยก็ได้รับผลกระทบเต็ม ๆ เพราะไม่สามารถส่งออกแรงงานไทยไปต่างประเทศได้ ผลเช่นนี้จึงทำให้ “ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ “อรัญญา สกุลโกศล” นายกสมาคมการจัดหาแรงงานไทยไปต่างประเทศ ถึงสถานการณ์ของการส่งออกแรงงานไทย รวมถึงประเด็นที่ต้องการหารือร่วมกับกระทรวงแรงงาน เช่น การจัดสรรโควตาเพื่อส่งออกแรงงานผ่านบริษัทผู้ได้รับอนุญาตจากกระทรวงแรงงาน

“อรัญญา” เล่าว่า เป้าหมายของกระทรวงแรงงานต้องการส่งออกแรงงานไทยราว 100,000 คน แต่ที่ผ่านมาไม่เคยถึงเป้าหมายที่วางไว้ ขณะที่ประเทศนำเข้าแรงงานที่ถูกต้องตามกฎหมายกว่า 2 ล้านกว่าคนเท่านั้น เท่ากับว่าประเทศไทย “ขาดดุล” ภาคเอกชนต่างมานั่งคิดว่าจะ “เพิ่มช่องทาง” การเข้าถึงงานได้อย่างไรบ้างเนื่องจากการไปทำงานต่างประเทศไม่เพียงแต่มีงาน มีเงินเท่านั้น แต่ยังได้ประโยชน์อื่น ๆ อีกคือ การเรียนรู้ภาษา วัฒนธรรม, ประสบการณ์ และองค์ความรู้ต่าง ๆ ด้านเทคโนโลยี ที่สำคัญ ยังได้ค่าตอบแทนที่ค่อนข้างสูง ประมาณ 70,000-80,000 บาท ที่ล้วนส่งเม็ดเงินเข้ามาในประเทศมากกว่า 1 แสนล้านบาท ทำให้เศรษฐกิจไทยกระเตื้องขึ้นมาได้

แต่เมื่อเร็ว ๆ นี้มีการเข้าหารือกับ “หม่อมราชวงศ์จัตุมงคล โสณกุล” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน หลังจากที่เข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ ทางสมาคมการจัดหาแรงงานไทย จึงนำเสนอสิ่งที่ภาคเอกชนต้องการ คือ

1) ต้องการให้เกิดความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนมากขึ้น เนื่องจากภาคเอกชนมีประสบการณ์ และความคล่องตัวในการดูแลแรงงานมากกว่าภาครัฐ “อรัญญา” ขยายความในเรื่องนี้ต่ออีกว่า บริษัทจัดหาแรงงานไทยไปต่างประเทศจะต้องมีคนทำงานในแต่ละด้านอย่างเพียงพอ เพื่อดูแลชีวิตแรงงานไทยในต่างแดนได้ทั่วถึง และมากกว่าเมื่อเทียบกับแรงงานไทยที่ส่งมาโดยกรมการจัดหางาน 2) ประเด็นทางกฎหมาย มีการเฉพาะเจาะจงในบางประเทศที่ว่าแรงงานชาวไทยจะต้องจัดส่งมาโดยกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน เช่น ประเทศเกาหลีใต้ ควรปรับให้เอกชนสามารถดำเนินการได้ด้วย รวมถึงการแก้ไขพระราชบัญญัติจัดหางาน พ.ศ. 2528 ที่ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขั้นตอน “ลงสื่อโฆษณา” เพื่อประกาศจัดหางาน “อรัญญา” ขยายความในประเด็นนี้ว่า

“ในส่วนของรัฐดำเนินการจัดหาได้เร็วกว่าเมื่อเทียบกับภาคเอกชน เพราะต้องตรวจเอกสารต่าง ๆ ที่ค่อนข้างใช้เวลานาน ทำให้ภาคเอกชนเสียโอกาสในการส่งแรงงานไทยไปต่างประเทศ กฎหมายระบุต้องมีเอกสารจากนายจ้างที่ได้รับการตรวจไซต์ มีใบรับรองจากกระทรวงการต่างประเทศ หลังจากนั้นจึงนำเอกสารเหล่านี้มายื่นที่กระทรวงแรงงาน ให้บริษัทจัดหางานประกาศจัดหาแรงงานอย่างเป็นทางการได้ และขั้นตอนที่ว่ามาทั้งหมดใช้เวลา 2-3 เดือน ส่งผลให้สูญเสียโอกาสให้กับแรงงานจากประเทศอื่น ๆ ที่จัดส่งแรงงานได้เร็วกว่า แต่สำหรับในต่างประเทศหากต้องการส่งออกแรงงานก็สามารถดำเนินการทันที”

“ก่อนหน้านั้น ภาคเอกชนลงไปบุกเบิกเอง บางเอเย่นต์ลงทุนไปเปิดสำนักงานเพื่อเตรียมความพร้อมในการคอนแท็กต์กับผู้ประกอบการที่ต้องการแรงงาน พร้อมทั้งส่งทีมไปประจำสาขาในต่างประเทศนั้น ๆ ด้วย แม้จะลงทุนเตรียมความพร้อมอย่างไร ยอดการส่งออกแรงงานไทยไปต่างประเทศก็ยังค่อนข้างน้อย โดยเฉพาะหลังจากที่ภาครัฐเข้ามาดำเนินการจัดส่งเอง อย่างเช่น ประเทศอิสราเอล ที่เห็นภาพชัดเจนว่าเมื่อแรงงานไทยมีปัญหาการติดต่อหน่วยงานที่ดูแลค่อนข้างยาก และยังไปเพิ่มงานให้กับสถานทูตที่ไม่ใช่หน้าที่หลักของเขา ทำให้การเข้าไปช่วยเหลือล่าช้า เท่ากับว่าก็เสียโอกาสให้กับแรงงานในประเทศอื่น ๆ ที่สามารถให้ภาคเอกชนเป็นผู้ร่วมจัดส่งแรงงานไทยได้”

“ในส่วนของรัฐดำเนินการจัดหาได้เร็วกว่าเมื่อเทียบกับภาคเอกชน เพราะต้องตรวจเอกสารต่าง ๆ ที่ค่อนข้างใช้เวลานาน ทำให้ภาคเอกชนเสียโอกาสในการส่งแรงงานไทยไปต่างประเทศ กฎหมายระบุต้องมีเอกสารจากนายจ้างที่ได้รับการตรวจไซต์ มีใบรับรองจากกระทรวงการต่างประเทศ หลังจากนั้นจึงนำเอกสารเหล่านี้มายื่นที่กระทรวงแรงงาน ให้บริษัทจัดหางานประกาศจัดหาแรงงานอย่างเป็นทางการได้ และขั้นตอนที่ว่ามาทั้งหมดใช้เวลา 2-3 เดือน ส่งผลให้สูญเสียโอกาสให้กับแรงงานจากประเทศอื่น ๆ ที่จัดส่งแรงงานได้เร็วกว่า แต่สำหรับในต่างประเทศหากต้องการส่งออกแรงงานก็สามารถดำเนินการทันที”

เพื่อร่วมกันแก้ไขกฎหมายที่ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ล่าสุดจึงจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหารวม 13 คน ในจำนวนนี้มาจากตัวแทนของสมาคมการจัดหาแรงงานไทยไปต่างประเทศ และตัวแทนจากกระทรวงแรงงาน เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหา โดยในการหารือครั้งล่าสุดที่ผ่านมากับกระทรวงแรงงาน “อรัญญา” ระบุว่า ได้อัพเดตให้กับกระทรวงแรงงานรับทราบว่า ภาคเอกชนต้องการให้ภาครัฐ “เพิ่มโควตา” ให้มากขึ้น เพราะในช่วงที่ผ่านมาประเทศไทยได้สูญเสียตลาดแรงงานให้กับประเทศอื่น ๆ ไปแล้ว อย่างเช่น ประเทศไต้หวัน ซึ่งแรงงานไทยเข้าไปทำงานเป็นอันดับ 1 ราว 3,000 คน และส่งแรงงานไปจีนราว 4,000 คน หากมองถึงศักยภาพแรงงานไทยแล้ว สามารถส่งแรงงานได้มากกว่า 10,000 คน แต่ติดปัญหาขั้นตอนที่มีมาก และค่อนข้างใช้เวลา

“ภาครัฐควรส่งเสริมบริษัทที่ดำเนินการต่อเนื่อง และปฏิบัติได้ตามที่กฎหมายกำหนดเอาไว้ ถ้าหากปิดกั้นคนที่ทำอย่างถูกต้อง คนที่ทำไม่ถูกต้องก็สบายไปเลย ทั้งนี้ ขั้นตอนควรผ่อนปรนคราวที่แล้วได้นำเสนอประเทศที่มีการส่งออกแรงงานไทยไปอยู่แล้ว เช่น ไต้หวัน ที่เป็นรายเดิม ๆ ไม่ต้องมีการตรวจไซต์ นอกจากประเทศแปลก ๆ ที่ยังไม่เคยไป ซึ่งก็อาจจะตรวจสัก 1 ครั้ง เพื่อให้ทำออร์เดอร์ เป็นงานยากแต่เป็นงานที่สร้างเม็ดเงินกลับมาในไทยค่อนข้างมาก แรงงานไทยในแต่ละปีที่ 100,000 คน เมื่อเทียบกับแรงงานนำเข้าราว 2-3 ล้านคน การส่งออกโดยเอกชนยังไม่ถึง 5%”

อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดโรคระบาดโควิด-19 ทำให้การจัดส่งแรงงานไทยและการนำเข้าแรงงานชะลอทั่วโลก ปัญหานี้คาดว่าจะลากยาวมากกว่า 2-3 เดือน และจะมีแรงงานราว 50,000 คน ที่ได้รับผลกระทบ คิดเป็นมูลค่า 50,000 ล้านที่ต้องเสียไป ที่สำคัญคือ ผลกระทบจะกระจายต่อเป็น “ลูกโซ่” เพราะแรงงาน 1 คน ส่งรายได้กลับมาให้ครอบครัวในไทยเป็นจำนวนมาก

“อรัญญา” ทิ้งท้ายด้วยคำถามที่ว่า ไม่ว่าภายในประเทศจะเกิดปัญหาน้ำแล้ง น้ำท่วม หรือโรคระบาด แต่จะเห็นว่าคนในพื้นที่ต่างจังหวัดยังคงมีรายได้และใช้ชีวิตอย่างปกติได้อย่างไร คำตอบคือเพราะมีคนในครอบครัวไปทำงานต่างประเทศและส่งเงินกลับมาให้ครอบครัวนั่นเอง