ซีเอสอาร์ “เจียไต๋” “เติบโตไปด้วยกันอย่างยั่งยืน”

อาจเป็นเพราะบริษัท เจียไต๋ จำกัด ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2464 บนถนนทรงสวัสดิ์ เยาวราช กระทั่งย้ายสำนักงานมาตั้งอยู่บนถนนสุขุมวิท 60 เมื่อปี 2562 โดยมีบริษัทสาขาทั้งหมด 7 แห่งกระจายอยู่ทั่วภูมิภาคเอเชียและอเมริกา มีพนักงานทั้งหมดกว่า 1,300 คน

กล่าวกันว่า ในปี 2564 บริษัท เจียไต๋ จำกัด จะเดินทางถึงอายุองค์กรแห่ง 100 ปี ที่มุ่งเน้นค่านิยมองค์กรบน 4 แนวทาง คือ

หนึ่ง การทำงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริต

สอง คิดค้นพัฒนาสิ่งใหม่ ๆ อยู่เสมอ

สาม มีความมุ่งมั่น ทุ่มเท

สี่ เพื่อยืนหยัดเคียงข้างลูกค้าทุกภาคส่วน

ที่สำคัญยังมีวิสัยทัศน์ในการส่งมอบนวัตกรรมการเกษตรเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าอย่างยั่งยืนของผู้คนทั่วทั้งภูมิภาค ผลเช่นนี้จึงทำให้ไม่นานที่ผ่านมาบริษัท เจียไต๋ จำกัด จึงตอกย้ำความมุ่งมั่นในการยกระดับเกษตรกรรมไทย ด้วยการจัดงาน “Chia Tai International Field Day 2020” พร้อมกับเปิดสถานีวิจัยและพัฒนาพันธุ์พืช ณ อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่

ภายใต้แนวคิด “เติบโตไปด้วยกันอย่างยั่งยืน” หรือ “Growing better together”

เบื้องต้น “มนัส เจียรวนนท์” ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เจียไต๋ จำกัด กล่าวว่า จริง ๆ เราจัดงาน Chia Tai International Field Day มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกษตรกรตลอดจนพันธมิตรธุรกิจของเราจากทั่วโลกเห็นถึงศักยภาพด้านการวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ของเจียไต๋ผ่านการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมในการปรับปรุงพันธุ์พืชในระดับแนวหน้า เพื่อให้ได้มาซึ่งเมล็ดพันธุ์คุณภาพ ทนทานต่อโรค และสภาพแวดล้อม

“เพราะเชื่อว่าการเพาะปลูกที่ดีต้องเริ่มจากเมล็ดพันธุ์คุณภาพ ดังนั้น งาน Chia Tai International Field Day จึงถือเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของเราในการเป็นบริษัทที่นำเสนอนวัตกรรมการเกษตรครบวงจรที่ให้บริการครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ไปสู่ปลายน้ำ โดยเริ่มต้นจากปัจจัยการผลิตที่มีคุณภาพไปจนถึงการส่งมอบผลผลิตสดใหม่ที่ปลอดภัย เพื่อสร้างความมั่นคงให้กับเกษตรกร และมอบความมั่นใจให้กับผู้บริโภคด้วย”

“ที่สำคัญธุรกิจนี้ทำคนเดียวไม่ได้ ต้องมี value chain ตั้งแต่คนเพาะเมล็ดพันธุ์พืชผัก, คนขายวัสดุเพาะปลูก, เกษตรกร และพ่อค้าแม่ค้าทั้งหลาย เพราะเมล็ดพันธุ์จะดีอย่างเดียวไม่ได้ ถ้าคนปลูกไม่เก่ง หรือตลาดดี แต่ถ้าผลผลิตไม่ดีก็ไม่มีคนซื้อ ดังนั้น ทุกอย่างจึงต้องเกื้อหนุนกันเป็นห่วงโซ่คุณค่า ซึ่งเหมือนกับแนวคิดของการจัดงานครั้งนี้ที่บอกว่า Growing better together หรือเติบโตไปด้วยกันอย่างยั่งยืน แต่กระนั้นแนวคิดนี้ก็อยู่ภายใต้วิสัยทัศน์ใหญ่ของเราที่บอกว่านวัตกรรมการเกษตรเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าอย่างยั่งยืน”

ถึงตรงนี้จึงให้อดถาม “มนัส” ถึงเรื่องการวิจัยซึ่งนำมาใช้กับนวัตกรรมเพื่อการยั่งยืนไม่ได้ ซึ่งเขาบอกว่าการจะนำนวัตกรรมการเกษตรมาใช้เพื่อให้เกิดความยั่งยืน เรามองเรื่องของความร่วมมือเป็นหลัก โดยเฉพาะเจียไต๋เรามีความร่วมมือกับมหา”ลัยทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงสถาบันวิจัยพันธุ์พืชทั้งในประเทศและต่างประเทศด้วย ถามว่าทำไมเราถึงต้องให้ความสำคัญกับความร่วมมือ เพราะเรื่องของเทคโนโลยีทางการเกษตรก้าวหน้าเร็วมาก และไม่มีใครคิดค้นเองได้ เพราะแต่ละคนก็เก่งไปกันคนละอย่าง เราถึงต้องมีความร่วมมือกัน

“ดังนั้น เราจึงร่วมมือกับทุกฝ่ายในการพัฒนาเพื่อให้เกิดสายพันธุ์ใหม่ ๆ และวิธีการพัฒนาใหม่ ๆ ด้วย บางทีสิ่งที่เราเห็นอาจดูธรรมดา แต่เทคโนโลยีที่อยู่เบื้องหลังเยอะมาก ยกตัวอย่างโรคที่เกี่ยวกับพืช, แมลง หรือเรื่องที่เกี่ยวกับวิตามินที่ไม่ใช่อาหารแต่เป็นยา เรื่องพวกนี้เป็นเรื่องของนวัตกรรมทางเทคโนโลยี ที่สำคัญอีกอย่างคือการทำการเกษตรขึ้นอยู่กับแต่ละสภาพพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นดิน ฟ้า อากาศ น้ำ ในอเมริกา, ยุโรปก็อย่างหนึ่ง ขณะที่ประเทศไทยก็อีกอย่างหนึ่ง ฉะนั้น ในเรื่องของความเชี่ยวชาญทางเทคโนโลยีจึงเป็นพื้นฐานที่เรานำมาทำการเกษตร”

“ผมเชื่อว่าเราเป็นคิงทางด้านเมล็ดพันธุ์พืช ดังนั้น ถ้าคนอื่นจะมาแข่งก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ ขณะเดียวกัน เราจะคอยให้คนอื่นมาพัฒนาให้ก็ไม่ดี เจียไต๋จึงต้องพัฒนาเอง และการที่เรารวบรวมเทคโนโลยีดีที่สุดจากทั่วโลกมาอยู่กับเรา ก็เพื่อต้องการนำสิ่งดี ๆ มามอบให้กับเกษตรกรทั่วภูมิภาค ฉะนั้น จึงไม่แปลกที่เจียไต๋จะมีสำนักงานอยู่หลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็นเซาท์อีสต์เอเชีย, เซาท์เอเชีย, จีนตอนใต้ และที่สำคัญเรามีพนักงานอยู่หลายประเทศ และเราก็ค้าขายกับเกษตรกรทุกประเทศ”

“ผมชอบพูดว่า ถ้าคุณมีรถยนต์ เติมน้ำมันคุณก็สามารถวิ่งไปประเทศไหนก็ได้ แต่สำหรับเจียไต๋เราทำการเกษตร และการเกษตรคือวัฒนธรรมของบ้านเรา ซึ่งเป็นสิ่งที่ธรรมชาติประทานมาให้เรา เช่น ดิน ฟ้า อากาศ น้ำ กอปรกับเรามีการพัฒนาเทคโนโลยีทางด้านนวัตกรรมทางการเกษตร เราแค่นำสิ่งเหล่านี้มาประยุกต์ใช้พร้อม ๆ กับธรรมชาติ และพัฒนาตัวเองอยู่ตลอด ในท้ายที่สุดเกษตรของเราก็จะไปไหน ๆ ได้ทุกที่บนโลกใบนี้โดยไม่ต้องเติมน้ำมันเลย”

นอกจากนั้น “มนัส” ยังเล่าให้ฟังถึงเรื่องโลกของการเกษตรในอนาคต ว่า ผมว่าตอนนี้สายพันธุ์ทางการเกษตรดีขึ้นเยอะ แต่ในแง่ของความร่วมมืออาจยังไม่เท่าไหร่ ด้วยเหตุนี้ การที่เจียไต๋เข้ามาจึงไม่ได้แค่ช่วยเกษตรกรอย่างเดียว แต่เราเข้ามาช่วยพัฒนาในเรื่องของการเพาะปลูกด้วย เพื่อให้เกิดผลผลิตดีขึ้น คุณภาพดีขึ้น และท้ายที่สุดอาจนำการบริหารเข้าไปช่วยทำให้ chef มีเมนูใหม่ ๆ ในการรังสรรค์อาหารจากผลผลิตของเรามาก ๆ ขึ้นด้วย

“เพราะทุกวันนี้เรานำองค์ความรู้ของเราไปช่วยเกษตรกร เพียงแต่ต้องบริหารจัดการให้เกษตรกรอยู่กันเป็นกลุ่ม ๆ เนื่องจากทุกวันนี้เกษตรกรเหมือนไม้จิ้มฟัน หรือตะเกียบที่ไม่ได้ถูกมัดให้อยู่รวมกัน ดังนั้น สิ่งเหล่านี้สามารถแตกหักได้ แต่ผมจะเข้าไปบริหารจัดการไม้จิ้มฟัน ตะเกียบให้เกิดเป็นกลุ่มก้อนด้วยการนำแปลงเกษตรแปลงเล็ก ๆ ของเกษตรกรแต่ละแห่งมัดรวมกันเพื่อให้เกิดการรวมกลุ่ม จากนั้นเราจะนำเทคโนโลยีเข้ามา หรือนำวัสดุการเกษตรเข้ามาเพื่อให้ผลผลิตดีขึ้น จนที่สุดเกษตรกรก็มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น ผู้บริโภคก็ได้กินของดี มีคุณภาพ และสิ่งเหล่านี้คือแนวทางของเราในอีก 5 ปีข้างหน้า”

“เนื่องจากในอดีตเราอยู่เบื้องหลัง ทำหน้าที่แค่ขายเมล็ดพันธุ์พืชผัก แต่วันนี้เราจะขอมาอยู่เบื้องหน้าบ้างเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร สำหรับสาเหตุที่เรามาช้าเพราะการทำอะไรสักอย่างหนึ่งต้องใช้เวลาในการพัฒนานานมาก ทั้งยังต้องใช้เงินลงทุนและเวลาค่อนข้างเยอะ แต่ตอนนี้เราคิดว่าเจียไต๋พร้อมแล้ว เราจึงขันอาสามายืนอยู่เบื้องหน้า ทั้งนั้น เพราะอย่างที่บอกเราไม่ใช่แค่ทำการเกษตร แต่เราต้องการให้ทุกคนเติบโตไปด้วยกันอย่างยั่งยืน”

“สิ่งนี้คือปณิธานของเรา”

“มนัส เจียรวนนท์” กล่าวย้ำอย่างหนักแน่นในตอนท้าย