“ไอวีแอล” ผนึก “โคคา-โคลา” ตั้งโรงงานผลิตขวด rPET ฟิลิปปินส์

ปริมาณความต้องการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ผลิตจากวัตถุดิบรีไซเคิลมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทั่วโลก เนื่องจากปัญหาขยะพลาสติกที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม อีกทั้งหลายองค์กรต่างมีเป้าหมายเรื่องความยั่งยืน (sustainable development goals-SDGs) เป็นตัวชี้วัดในการประกอบธุรกิจ จึงเป็นเทรนด์ระดับโลกที่องค์กรผู้ผลิตสินค้าที่มีส่วนในการใช้พลาสติก พยายามปรับธุรกิจให้เข้ากับหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (circular economy) เพื่อนำทรัพยากรที่ใช้แล้วกลับมาแปรรูปและนำกลับมาใช้อีก

บริษัท อินโดราม่า เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) หรือไอวีแอล บริษัทเคมีภัณฑ์ชั้นนำระดับโลกที่ดำเนินธุรกิจรีไซเคิลครบวงจร เชื่อมั่นว่าความต้องการใช้วัสดุ และบรรจุภัณฑ์จากรีไซเคิลจะเพิ่มขึ้นทั่วโลก โดยนับตั้งแต่เริ่มเข้าสู่ธุรกิจรีไซเคิลในปี 2554 ยอดรีไซเคิลขวด PET (polyethylene terephthalate) ถึงเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2563 ผ่านมา มี 50,000 ล้านขวด ถือเป็นตัวเลขที่บ่งบอกถึงความต้องการ และการเติบโตของธุรกิจรีไซเคิลขวด PET

ไอวีแอลจึงเดินหน้าตอบสนองความต้องการของตลาดโลก ด้วยการขยายความร่วมมือกับโคคา-โคลา ประเทศฟิลิปปินส์ ร่วมทุนก่อตั้งโรงงานรีไซเคิล PET Value Philippines Corporation เพื่อผลิตขวด rPET (recycled PET) ใช้ในประเทศฟิลิปปินส์

“ยาโชวาดัน โลเฮีย” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านรีไซเคิล บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า จากเริ่มต้นธุรกิจรีไซเคิลในปี 2554 สามารถรีไซเคิลขวด PET ครบ 50,000 ล้านขวด ช่วยลดขยะที่ถูกนำไปฝังกลบได้ 1.1 ล้านตัน รวมถึงลดการใช้น้ำมันดิบไปกว่า 3 ล้านบาร์เรล หรือเทียบเท่าน้ำมันที่ใช้ในการขับรถไปกลับระหว่างอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย กับอำเภอเบตง จังหวัดยะลา มากถึง 365 รอบ

“ยาโชวาดัน โลเฮีย”

“บริษัทจะเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง เพราะ PET เป็นวัสดุที่สามารถรีไซเคิลได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งใช้พลังงาน และน้ำในการผลิตน้อยกว่าบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่มที่ใช้วัสดุชนิดอื่น ทั้งนี้ ภายใน 5 ปีนับจากนี้ เราตั้งเป้าเพิ่มการรีไซเคิล PET เป็น 50,000 ล้านขวดต่อปี เพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว ทั้งยังเตรียมลงทุน 1.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อขยายธุรกิจรีไซเคิลทั่วโลก กระจายการสนับสนุนสินค้าอุปโภคบริโภคแบรนด์ต่าง ๆ ที่มีความต้องการใช้ PET รีไซเคิล สำหรับบรรจุภัณฑ์”

“ตอนนี้ไอวีแอลมีโรงงานรีไซเคิลอยู่ 11 แห่ง ในเม็กซิโก, สหรัฐอเมริกา, ฝรั่งเศส, เนเธอร์แลนด์, ไอร์แลนด์ และไทย มีกำลังผลิตรวมอยู่ที่ 20,000 ตันต่อปี และจะขยายกำลังผลิตเป็น 35,000 ตันต่อปี เพื่อไปสู่เป้าหมายการรีไซเคิลขวด PET เพิ่มขึ้นเป็น 750,000 ตัน ภายในปี 2568 ซึ่งสอดคล้องกับคณะกรรมาธิการยุโรปที่ประกาศเป้าหมายที่จะให้เพิ่มสัดส่วนการใช้เม็ดพลาสติกรีไซเคิลเป็นร้อยละ 25 ของเม็ดพลาสติกที่ใช้ในการผลิตบรรจุภัณฑ์สำหรับอาหารและเครื่องดื่ม”

“ยาโชวาดัน โลเฮีย” กล่าวเพิ่มเติมว่า ด้วยความที่ประเทศจีนเลิกนำเข้าขวด PET ที่ใช้แล้วตั้งแต่ 2 ปีที่แล้ว และในขณะเดียวกันประเทศฟิลิปปินส์มีความต้องการใช้บรรจุภัณฑ์สำหรับอาหารและเครื่องดื่มที่ผลิตจาก PET รีไซเคิล (rPET) คุณภาพสูง ทำให้อุปสงค์และอุปทาน rPET ในประเทศฟิลิปินส์ มีความเหมาะสมต่อการผลิต

“การใช้ rPET บรรจุอาหารและเครื่องดื่มในฟิลิปปินส์ รัฐบาลอนุญาตให้ใช้มานานแล้ว เฉกเช่นเดียวกับประเทศในยุโรป มีเพียง อินเดีย, จีน, ไทย ที่ยังอยู่ในขั้นพิจารณา เนื่องจาก หน่วยงานภาครัฐยังไม่มีความมั่นใจในเทคโนโลยีปัจจุบันว่าสามารถทำให้ขวดสะอาดได้ ขณะนี้ไอวีแอลกำลังร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ผลักดันให้ประเทศไทยมีการยอมรับใช้ rPET บรรจุอาหารและเครื่องดื่มได้”

เราเซ็นสัญญาร่วมกับโคคา-โคลา ประเทศฟิลิปปินส์ ร่วมทุนก่อตั้งโรงงานรีไซเคิล PET Value Philippines Corporation เพื่อผลิตขวด rPET ใช้ในประเทศฟิลิปปินส์ ด้วยงบประมาณ 20 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ โดยจะก่อสร้างเสร็จใน 15 เดือนต่อจากนี้ และจะเริ่มเปิดดำเนินงานในปี 2564

“โดยก่อนหน้านี้ไอวีแอลเป็นพันธมิตรกับโคคา-โคลา ประเทศฟิลิปปินส์อยู่แล้ว โดยมีโรงงานผลิตขวดพลาสติกที่ใช้ PET บริสุทธิ์ตั้งอยู่ในโรงงานโคคา-โคลา ประเทศฟิลิปปินส์ 4 แห่ง แต่สำหรับโรงงาน PET Value Philippines Corporation เป็นการลงทุนใหม่ (greenfield) ตั้งอยู่ใกล้กับกรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ โดยไอวีแอลมีสัดส่วนการถือหุ้นในโรงงานนี้ร้อยละ 70 ขณะที่โคคา-โคล่า ประเทศฟิลิปปินส์ ถือหุ้นร้อยละ 30”

“โรงงาน PET Value Philippines Corporation จะรีไซเคิลขวดที่ใช้แล้วผลิตเป็นขวดอีกครั้ง (bottle to bottle) ใช้เทคโนโลยีลิขสิทธิ์ของไอวีแอลจากยุโรป มีกำลังการผลิตหรือจำนวนขวดพลาสติกใช้แล้ว ที่คาดการณ์ว่าจะสามารถนำเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลได้นั้น ประมาณ 30,000 ตันต่อปี หรือราว 2,000 ล้านชิ้นของขวดพลาสติก ซึ่งจะสามารถผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิล (PET resin) ได้จำนวน 16,000 ตันต่อปี”

นอกจากนั้น “ยาโชวาดัน โลเฮีย” ยังกล่าวว่า การร่วมกิจการครั้งนี้เป็นจุดเริ่มต้นของความร่วมมือเชิงกลยุทธ์ที่จะช่วยยกระดับความแข็งแกร่งในการดำเนินธุรกิจรีไซเคิลที่ยั่งยืน โดยโคคา-โคลาจะใช้โครงสร้างพื้นฐาน และห่วงโซ่อุปทานที่มีอยู่เพิ่มขีดความสามารถในการเก็บ และสรรหาขวด PET ที่จะนำมารีไซเคิล ส่วนไอวีแอลจะผลิตและจัดส่ง rPET อย่างน้อยร้อยละ50 ของปริมาณที่ผลิตได้ให้กับโคคา-โคลาภายใต้สัญญาการจัดหาระยะยาว การร่วมกิจการนี้จึงจะสร้างประโยชน์ และกระชับความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างทั้ง 2 บริษัท เราเชื่อว่าโมเดลธุรกิจที่ร่วมกับโคคา-โคล่าฟิลิปปินส์ สามารถจะนำไปใช้ในพื้นที่ใดก็ได้ เพราะแบรนด์ระดับโลกที่มีความต้องการใช้พลาสติกรีไซเคิลมีอยู่ในทุกประเทศ

“เนื่องจากภาพรวมของธุรกิจรีไซเคิลจะเติบโตไปได้รวดเร็ว และมากขึ้น อย่างที่ทราบว่าตอนนี้จีนสั่งห้ามนำพลาสติกเข้ามารีไซเคิลในประเทศตั้งแต่ปี 2561 ทำให้แต่ละประเทศที่เคยส่งพลาสติกไปจีน ต้องมีการจัดการพลาสติกในประเทศตนเองมากขึ้น ส่งผลให้เกิดผู้ประกอบการธุรกิจรีไซเคิลรายย่อยจำนวนมาก ซึ่งภาพรวมของธุรกิจรีไซเคิลทั่วโลกอยู่ที่ประมาณ 8 ล้านตัน โดยที่กำลังการผลิตในจีนคิดเป็น 4 ล้านตัน สหรัฐอเมริกาและยุโรป 1 ล้านตัน และในอินเดีย 3 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ”

“ทางสหภาพยุโรปก็มีการตั้งเป้าหมายว่า ภายในปี 2568 การผลิตบรรจุภัณฑ์ต้องมีส่วนประกอบของ rPET อย่างน้อย 25% กฎหมายยุโรปบังคับ ร่วมกับ SDG ของแต่ละบริษัทด้วย ขณะเดียวกัน ความต้องการใช้มากขึ้น คาดว่าน่าจะมากขึ้นประมาณ 10% ในขณะที่ขวดประเภท virgin PET หรือขวดที่ผลิตใหม่ ก็ยังเติบโตอยู่ แต่อาจจะน้อยลง จากเดิม 6-7% เหลือ 3-4%”

ที่สำคัญ “ยาโชวาดัน โลเฮีย” ยังกล่าวถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยบอกว่า ไม่ค่อยส่งผลกระทบต่อธุรกิจเรามากนัก อย่างธุรกิจในจีน คิดเป็น 5% ของพื้นที่ทั้งหมด เมื่อสถานการณ์เริ่มมากขึ้น คนมีความจำเป็นที่ต้องหันมาดูแล และใส่ใจเรื่องสุขภาพมากขึ้น ดังนั้นการผลิตบรรจุภัณฑ์ต่าง ๆ น่าจะกลับมาฟื้นตัวเร็วขึ้น นอกจากนี้ไวรัสโควิด-19 มีชีวิตอยู่บนวัสดุพลาสติกได้นานประมาณ 10 ชั่วโมง และในกระบวนการรีไซเคิลมีการล้างน้ำหลายขั้นตอน ทั้งยังนำไปผ่านความร้อน ฆ่าเชื้อโรค ซึ่งมีอุณหภูมิเกิน 180 องศา กว่าจะบดเป็นเม็ด PET โดยใช้มาตรฐานเดียวกับ อย.ของสหรัฐอเมริกา, ยุโรป, ญี่ปุ่น จึงทำให้มั่นใจว่า ขวด rPET สะอาดปลอดภัย เหมือนขวดที่ผลิตจาก PET บริสุทธิ์

“ทั้งนั้นในสถานการณ์แบบนี้ สิ่งที่เราตั้งเป้าไว้ยังคงดำเนินต่อไปได้ และการผลิตสินค้าส่งในพื้นที่ยังเป็นปกติ เพราะคนยังต้องการใช้สินค้า แต่เรื่องการเจรจาเข้าซื้อกิจการอาจจะต้องชะลอไปก่อน ซึ่งมีการมองหาพาร์ตเนอร์ หรือประเทศที่จะขยายธุรกิจทั้งในยุโรป และเอเชียต่อไป”

นับว่าความร่วมมือดังกล่าวสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ที่แข็งแกร่ง และเป้าหมายระยะยาวในด้านความยั่งยืนของไอวีแอล ที่ต้องการลงทุนเพิ่มเติมในระดับโลก เพื่อส่งเสริมการสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียน ตอบสนองความต้องการในการใช้บรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น