“ดวงฤทธิ์” ภายใต้โจทย์ใหม่ “อยากทำงานต้องได้งาน”

ภาคแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจชะลอตัวเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เมื่อมีไวรัสโควิด-19 เข้ามาซ้ำอีกปัจจัย จำนวนผู้ว่างงานในระบบจึงเพิ่มมากขึ้น กระทั่งกลายเป็นโจทย์ใหญ่ของกระทรวงแรงงานที่ต้องตั้งรับแก้ไข “ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์ “ดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล” ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ถึงการทำงานของศูนย์ปฏิบัติการรองรับการว่างงานที่จะเป็นเสมือนตู้รับเรื่องร้องเรียนของแรงงานทุกระดับ

“ดวงฤทธิ์” เล่าถึงบทบาทหน้าที่ของศูนย์ปฏิบัติการดังกล่าวว่า กระทรวงแรงงานจัดตั้งศูนย์นี้ขึ้นเพื่อร่วมกันรับมือปัญหาของแรงงาน และเป็นการรวมตัวของหน่วยงานในสังกัดที่มีอยู่คือกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน, กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน, กรมการจัดหางาน และสำนักงานประกันสังคม ลงพื้นที่ตั้งโต๊ะรับเรื่องร้องทุกข์ว่างงาน ซึ่งก่อนหน้านี้มีการลงพื้นที่สำรวจว่าทั้งนายจ้าง และลูกจ้างต้องการความช่วยเหลืออย่างไร หลังจากนั้นกรมการจัดหางานจะนำข้อมูลตำแหน่งงานที่ยังว่าง รวมถึงในประเด็นอื่น ๆ ใน “เชิงลึก” อย่างเช่น แนวโน้มของผู้ประกอบการที่เตรียม “ปิดกิจการ” มาใช้เป็นข้อมูลวางแผนในการลงพื้นที่ มาสอบถามความต้องการของผู้ประกอบการในพื้นที่

“ศูนย์ปฏิบัติงานดังกล่าวจะเข้าไปช่วยประคับประคองให้เดินต่อไปได้ ทั้งในฝ่ายของเจ้าของกิจการ และลูกจ้างเพื่อให้เดินต่อไปให้ได้ ด้วยการเข้าไปแนะนำหาทางออกให้เขา มีมาตรการอะไรที่จะยืดหยุ่นให้ได้ อันดับแรกต้องให้คนในบ้านได้หารือกันก่อน คนในกันเองจะรู้ดีว่าสถานการณ์ของธุรกิจในปัจจุบันมันเป็นอย่างไร ขาดทุน หรือว่ากำไร หรือว่ายังมีปัญหาอะไรบ้าง ต้องมาหาจุดตรงกลางร่วมกัน แต่ถ้าไม่ได้ก็จะมีตัวกลางเข้าไปช่วยไกล่เกลี่ย ทำความเข้าใจกัน”

การแก้ปัญหาผู้ว่างงานนั้น “ดวงฤทธิ์” บอกว่า ปัญหาจะอิงจากผู้ประกอบการเป็นหลัก กรมพัฒนาแรงงานจัดอบรมทักษะให้ฟรีตามที่ตลาดแรงงานต้องการ และสามารถส่งลูกจ้างเข้าไปทำงานในสถานประกอบการต่าง ๆ หรือแม้กระทั่งในช่วงที่ยังว่างงาน ก็สามารถเข้ามาอบรมเพื่อเพิ่มทักษะได้ อีกทั้งสิทธิ์ต่าง ๆ ที่แรงงานแต่ละคนควรจะได้รับ เช่น ถ้าตกงาน ประกันสังคม จะเข้ามาดูแลเยียวยาที่ 50% ของเงินเดือนที่เคยได้รับ ในกรณีที่ถูกเลิกจ้างประกันสังคมจะให้เงินผู้ประกันตนไม่เกิน 15,000 บาท แต่ในกรณีที่ลาออกจะได้ 30% รวม 3 เดือน เป็นต้น

ดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล

ก่อนหน้านี้้ชุดปฏิบัติการดังกล่าวลงพื้นที่ภาคใต้ ในจังหวัดปัตตานี, สงขลา ตามมาด้วยจังหวัดสุราษฎร์ธานี เนื่องจากกระทรวงแรงงานมองว่าพื้นที่ดังกล่าวคือหัวใจเศรษฐกิจของพื้นที่ในภาคใต้ การลงพื้นที่ทำให้รู้ว่าในแต่ละพื้นที่มีความต้องการอย่างไร และคาดการณ์ว่า เมื่อประเทศผ่านพ้นวิกฤตโควิด-19 ไปแล้วนั้น ความต้องการแรงงานที่อั้นไว้จะเทกลับมา นอกจากนี้แรงงานหรือคนทำงานที่ต้องการในขณะนี้คือ ผู้ที่สามารถได้ภาษารัสเซีย, ภาษาจีน และภาษาอังกฤษได้ดี โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดสงขลา และสุราษฎร์ธานี และในขณะนี้กระทรวงแรงงาน และสภาหอการค้าจังหวัด กำลังอยู่ในระหว่างเตรียมการจัด “ฝึกอบรม” ให้กับบรรดาลูกจ้างที่ว่างงาน โดยเปิดโอกาสให้แสดงความเห็นด้วยว่าต้องการ “เพิ่มทักษะ” การทำงานตามความสนใจ หรือตรงกับความเชี่ยวชาญที่มีอยู่เดิมได้

“ก.แรงงานมีงบประมาณเพื่อ reskill และ upskill ฉะนั้น ในภาวะวิกฤตแบบนี้ หากจะทำแผนอย่างเดียวโดยไม่ฟังเสียงของผู้ประกอบการ ผมเชื่อมั่นว่าทำไม่ได้แน่นอน เพราะอาจจะเป็นเรื่องที่เขาไม่ต้องการได้ ต่อจากนี้ต้องฝึกคนให้ได้ทั้งความรู้ ได้ทำงาน และได้เงินด้วย เราต้องการคุยกับเขาเลยว่าขาดอะไร อยากได้คนทำงานอย่างไร ฝึกแบบไม่มีแผนงานไม่ได้ และต้องให้ผู้ประกอบการเข้ามาดูตอนฝึก เพื่อที่จะไม่ต้องไปฝึกต่อ และผู้ประกอบการต้องรับเข้าทำงานด้วย”

“ดวงฤทธิ์” เสริมข้อมูลอีกว่า ในการประชุมของศูนย์ปฏิบัติการ เมื่อเร็ว ๆ นี้ ในเบื้องต้นพบว่า ขณะนี้มีตำแหน่งงานที่ว่างอยู่ทั่วประเทศ 56,000 อัตรา อีกทั้งกำลังอยู่ในระหว่างจัดทำข้อมูลงานว่างและคนว่างงานเป็น “รายจังหวัด” เพื่อให้ผู้ว่างงานใช้เป็นฐานข้อมูลในการหางานต่อไปด้วย อย่างที่กระทรวงแรงงานเน้นย้ำมาตลอดว่า “ใครอยากทำงานต้องได้ทำงาน”

สำหรับแรงงานไทยที่กลับจากต่างประเทศเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากประเทศเกาหลีใต้นั้น หากในอนาคตยังคงต้องการไปทำงานในต่างประเทศต่อ กระทรวงแรงงานจะทำหน้าที่ “จัดส่งเอง” โดยไม่ต้องใช้ “นายหน้า” ที่มีการคิดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการสูงถึง 70,000-80,000 บาท ในขณะที่กระทรวงแรงงานคิดค่าใช้จ่ายเพียง 40,000 บาทเท่านั้น ในแต่ละปีเกาหลีใต้ต้องการแรงงานไทยอยู่ที่ประมาณ 5,000 คนต่อปี ซึ่งปัจจุบันใช้วิธีการเจรจาจัดหาแบบรัฐต่อรัฐ (G to G) เพื่อจัดหาคนทำงานได้ตรงกับงานที่ตลาดเกาหลีใต้ต้องการ นอกจากนี้ยังเตรียมจัดหาแรงงานเพื่อรองรับความต้องการของประเทศญี่ปุ่น ส่วนหนึ่งต้องการแรงงานเพื่อดูแลผู้สูงอายุ และแรงงานสำหรับรองรับการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่ประเทศญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพ

สำหรับแรงงานไทยที่ต้องการไปเกาหลีใต้โดยใช้นายหน้าก่อนหน้านี้นั้น”ดวงฤทธิ์” บอกว่า ส่วนใหญ่การดำเนินการฝ่ายบริษัทนายหน้านั้นจะมุ่งหวังในเรื่องการ “ทำกำไร” แต่สำหรับกระทรวงแรงงานจะมุ่งไปที่การทำเพื่อประชาชน อีกทั้งยังการันตีได้ว่า เป็นแรงงานที่ถูกต้องตามกฎหมาย พร้อมกับได้รับการดูแลในเรื่องสิทธิ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับแรงงาน ในช่วงท้าย “ดวงฤทธิ์” ย้ำว่าเมื่อวิกฤตโรคโควิด-19 จบแล้ว ต่อจากนี้ใครจะไปทำงานต่างประเทศจะต้องไปอย่างถูกต้องไม่ว่าจะเป็นแรงงานไทยในประเทศใดก็ตาม