ห้องเรียนธรรมชาติ “เอ็กโก+ไทยรักษ์ป่า” มุ่งรักษ์ป่าต้นน้ำ

ต้องยอมรับว่าในบทบาทของบริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือเอ็กโก กรุ๊ป ไม่เพียงให้ความสำคัญต่อทรัพยากรธรรมชาติ สังคม และสิ่งแวดล้อม หากอีกนัยหนึ่งเอ็กโก กรุ๊ป ยังมีพันธกิจขององค์กรตั้งแต่เริ่มดำเนินการในปี 2535 ด้วยการให้ความสำคัญต่อการอนุรักษ์ดูแลป่าต้นน้ำ พร้อมกับส่งเสริมการปลูกจิตสำนึกรักษ์สิ่งแวดล้อมในใจเยาวชนมาโดยตลอด

จนปี 2545 จึงก่อตั้งมูลนิธิไทยรักษ์ป่า ซึ่งเป็นองค์กรสาธารณกุศล โดยมีเจตนาที่จะสนับสนุนการอนุรักษ์ และฟื้นฟูป่าต้นน้ำ และความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ป่าต้นน้ำสำคัญของประเทศ เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในอนาคต

ผลเช่นนี้ จึงทำให้เอ็กโก กรุ๊ป โดยมูลนิธิไทยรักษ์ป่าจึงจับมือกับอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และกลุ่มมัคคุเทศก์ท้องถิ่นทำการปรับปรุงเส้นทางศึกษาธรรมชาติกิ่วแม่ปาน อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ หลังจากที่เคยเปิดให้บริการเส้นทางดังกล่าวมากว่า 20 ปีแล้ว

ทั้งนั้นเพราะเส้นทางศึกษาธรรมชาติกิ่วแม่ปานคือป่าต้นน้ำสำคัญ ทั้งยังเป็นป่าเมฆ 1 ใน 3 แห่งของประเทศบนพื้นที่สูงสุดของประเทศไทย ที่ไม่เพียงจะเป็นต้นกำเนิดแม่น้ำปิงที่ไหลรวมกันเป็นแม่น้ำเจ้าพระยา หากยังมีความหลากหลายทางชีวภาพที่มีคุณค่าต่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ จนทำให้ในปี 2540 เอ็กโก กรุ๊ปเคยจับมือกับกรมป่าไม้ในการบุกเบิกเส้นทางเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ป่าต้นน้ำของประเทศ

กระทั่งในปี 2550 มูลนิธิไทยรักษ์ป่าจึงพัฒนาเส้นทางดังกล่าวให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นจนถึงปัจจุบัน

“ธงชัย โชติขจรเกียรติ” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่สายบริหารองค์กร เอ็กโก กรุ๊ป และกรรมการมูลนิธิไทยรักษ์ป่ากล่าวว่าจริง ๆ แล้วเรื่องของซีเอสอาร์ เอ็กโก กรุ๊ปทำทั้งหมด 3 ด้านหลัก ๆ คือ หนึ่ง ด้านชุมชน ซึ่งเราจะดูแลคุณภาพชีวิตของชุมชนที่อยู่รอบ ๆ บริเวณโรงไฟฟ้าที่เข้าไปดำเนินธุรกิจ สอง ด้านสังคม เราจะเน้นเรื่องการส่งเสริมการเรียนรู้เรื่องของพลังงานที่ดำเนินธุรกิจ และมีความชำนาญ สาม ด้านสิ่งแวดล้อม ก็จะครอบคลุมเรื่องการบริหารจัดการน้ำ การจัดการมลพิษทางอากาศ และการจัดการของเสีย ขณะที่อีกส่วนหนึ่งเราจะให้ความสำคัญกับเยาวชน เพราะเยาวชนเป็นต้นทางอนาคตของประเทศ

“ธงชัย โชติขจรเกียรติ”

“ดังนั้น เราจะโฟกัสไปที่ต้นทางของทั้ง 3 ด้าน เพราะชุมชนเป็นต้นทางของสังคม เพียงแต่เราเลือกที่จะดูแลชุมชนใกล้ ๆ บ้านของเราก่อน เพราะชุมชนคือส่วนหนึ่งของสังคมที่อยู่บริเวณรอบ ๆ โรงไฟฟ้านั่นเอง ส่วนเรื่องสิ่งแวดล้อมเราจะโฟกัสไปที่ป่าต้นน้ำ เพราะฉะนั้น ทั้ง 3 ด้าน จึงเป็นเรื่องของต้นทางที่เราให้ความสำคัญ เพื่อจะให้เกิดปลายทางที่ดีในอนาคต ฉะนั้น ถ้าถามว่าทำไมเอ็กโก กรุ๊ปถึงให้ความสำคัญกับป่าต้นน้ำ คงต้องบอกว่าเพราะน้ำเป็นต้นกำเนิดของพลังงาน แม้แต่โรงไฟฟ้าก็ใช้น้ำ ที่สำคัญ น้ำเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับธรรมชาติ โดยเฉพาะป่าไม้ น้ำจะท่วม ดินจะแห้งแล้งก็เกิดจากป่าต้นน้ำทั้งสิ้น”

“แต่ถ้าจะมองให้ลึกไปกว่านั้น ต้องบอกว่ามูลนิธิไทยรักษ์ป่าก่อตั้งขึ้นจากเจตนารมณ์ของเอ็กโก กรุ๊ป ที่ต้องการสนับสนุนการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และผืนป่าต้นน้ำลำธารที่สำคัญของประเทศ เพื่อให้เกิดความยั่งยืน ตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงแนะนำให้พสกนิกรหันมาดูแลอนุรักษ์ป่าไม้ต้นน้ำลำธารให้มีความสมบูรณ์ เพราะจะทำให้ประชาชนทุกคนมีโอกาสใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน”

“ฉะนั้น ทุนเริ่มต้นของมูลนิธิไทยรักษ์ป่าจึงนำขึ้นทูลเกล้าฯถวายสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถฯ เพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดช มหาราชฯ ในวโรกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ ทั้งยังได้รับพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานให้เป็นทุนเริ่มแรกในการจัดตั้งมูลนิธิ โดยได้รับใบอนุญาตจัดตั้งอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2545 โดยเอ็กโก กรุ๊ป สนับสนุนการดำเนินงานของมูลนิธินับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา”

สำหรับระยะเริ่มแรก มูลนิธิดำเนินงานต่อยอดจากโครงการอนุรักษ์ป่าต้นน้ำ อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ จ.เชียงใหม่ ที่เอ็กโก กรุ๊ป ริเริ่มไว้ แต่ปัจจุบันมีการขยายพื้นที่การดำเนินงานไปยังป่าต้นน้ำที่สำคัญในภาคใต้ จ.นครศรีธรรมราช และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.ชัยภูมิด้วย

“มานนีย์ พาทยาชีวะ” เลขาธิการมูลนิธิไทยรักษ์ป่า กล่าวเสริมว่าภารกิจของไทยรักษ์ป่ามีอยู่ 3 เรื่องหลัก ๆ คือ หนึ่ง คนอยู่กับป่า สอง เส้นทางศึกษาธรรมชาติ และสาม ทำงานกับเยาวชน สำหรับพื้นที่เชียงใหม่เรื่องเส้นทางศึกษาธรรมชาติอาจเป็นเรื่องหนึ่ง แต่จริง ๆ แล้วเราทำเรื่องคนอยู่กับป่าค่อนข้างเยอะ ทั้งในเรื่องส่งเสริมสร้างคนต้นน้ำ สร้างจิตสำนึก สร้างเครือข่าย สนับสนุนเจ้าหน้าที่ และภารกิจพิทักษ์ผืนป่าต้นน้ำ

“มานนีย์ พาทยาชีวะ”

“นอกจากนั้น เรายังทำเรื่องวิถีชุมชนกับความเชื่อต่าง ๆ รวมถึงการถอดบทเรียนจากประสบการณ์การทำงาน รวมไปถึงการทำกิจกรรมป่าต้นน้ำ ต้นทางชีวิต และอื่น ๆ อีกมากมาย ทั้ง ๆ ที่สำนักงานไทยรักษ์ป่าที่เชียงใหม่มีทีมงานเพียง 8 คนเท่านั้นเอง โดยเจ้าหน้าที่ 3 คน เป็นชนเผ่าปกาเกอะญอที่ทำงานในพื้นที่ แต่เขาก็มีแรงผลักดันที่ดีที่อยากจะทำงานให้บ้านเขากับชุมชนอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข เพราะฉะนั้น ในกระบวนการทำงานเราจึงต้องประสานกับทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติฯ ตัวแทนชุมชนชาวบ้าน โดยมีเราอยู่ตรงกลางเพื่อเป็นโซ่ข้อกลางเพื่อให้เขาทำงานกันอย่างราบรื่น”

“สำหรับเส้นทางศึกษาธรรมชาติกิ่วแม่ปานภายใต้การสนับสนุนของเอ็กโก กรุ๊ป เราทำงานร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โดยอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์, บริษัท ป่าเหนือ สตูดิโอ จำกัด โดยมีอาจารย์จุลพร นันทพาริช สถาปนิกนักอนุรักษ์ และชุมชนมัคคุเทศก์ท้องถิ่นมาสรุปภาพการทำงานร่วมกันด้วยการทำทางเดินยกระดับ (บอร์ดวอล์ก) โดยใช้เข็มเหล็กเจาะเฉพาะจุดที่เป็นฐานราก เนื่องจากวิธีนี้จะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน้อยที่สุด จากนั้นเราจึงใช้แผ่นไม้เนื้อแข็งทำเป็นทางเดินยกระดับเพื่อความกลมกลืนกับธรรมชาติ”

“ที่สำคัญ เรายังจัดทำป้ายสื่อความหมายธรรมชาติใหม่ตลอดเส้นทาง เพื่อให้มัคคุเทศก์ และนักท่องเที่ยวเข้าใจอย่างง่าย ๆ นอกจากนั้น เรายังพัฒนาแอปพลิเคชั่นสำหรับการลงทะเบียนจองคิวและเดินในเส้นทางศึกษาธรรมชาติ ตรงนี้จะอำนวยความสะดวกให้แก่นักท่องเที่ยวอย่างมาก ทั้งยังช่วยลดความแออัดในการรอคอยเข้าเส้นทางบริเวณหน้ากิ่วแม่ปานอีกด้วย ทั้งนั้นเพื่อช่วยให้กิ่วแม่ปานเป็นมรดกทางธรรมชาติ หรือเป็นห้องเรียนธรรมชาติเพื่อรุ่นลูกรุ่นหลานต่อไป”

“เกษม เลายะ” ประธานกลุ่มมัคคุเทศก์ท้องถิ่น อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ กล่าวเสริมว่ากลุ่มมัคคุเทศก์ท้องถิ่นประกอบด้วยชาวเขาเผ่าต่าง ๆ กว่า 347 คน ซึ่งแต่ละคนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำไร่ ทำสวน และปลูกดอกเบญจมาศ แต่พอประมาณเดือนพฤศจิกายนของทุกปี เส้นทางศึกษาธรรมชาติกิ่วแม่ปานจะเปิดให้บริการแก่นักท่องเที่ยว ซึ่งจะมีนักท่องเที่ยวขึ้นมาเป็นจำนวนมาก

“เกษม เลายะ”

“ทางเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ และทางมูลนิธิไทยรักษ์ป่าจึงเข้ามาช่วยอำนวยความสะดวก โดยจัดให้มีมัคคุเทศก์ท้องถิ่นเป็นไกด์นำทางให้แก่นักท่องเที่ยว ซึ่งพวกเราจะใช้วิธีจับสลากว่าใครจะเป็นไกด์ในแต่ละรอบ ซึ่งบางคนก็ได้ 2 รอบ บางคนก็รอบเดียว หรือถ้าเป็นช่วงไฮซีซั่นบางคนอาจได้ถึง 3-4 รอบ ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับนักท่องเที่ยวด้วยว่าเขาสนใจศึกษาธรรมชาติมากหรือน้อย โดยพวกเราจะทำหน้าที่ให้การดูแล และให้ความรู้เท่านั้น”

“สำหรับรายได้ เราจะได้จากนักท่องเที่ยวรอบละ 200 บาท จากนั้นเราจะหัก 10% หรือประมาณ 20 บาท เพื่อนำเงินดังกล่าวเข้าไปสมทบในกองทุนพัฒนานักท่องเที่ยวเฉพาะถิ่น ซึ่งเงินจำนวนเหล่านี้นอกจากเราจะนำไปทำแนวกันไฟ และค่าอาหารกลางวันสำหรับชาวบ้านที่มาช่วยกันดับไฟป่าในยามที่เกิดเหตุไฟไหม้ หากเงินจำนวนนี้เรายังนำไปช่วยดูแลธรรมชาติ และเกื้อกูลสังคมอีกทางหนึ่งด้วย เพราะเส้นทางศึกษาธรรมชาติกิ่วแม่ปานคือป่าต้นน้ำที่สูงที่สุดในประเทศไทย”

“ที่ไม่เพียงจะช่วยหล่อเลี้ยงมนุษย์ และสรรพสิ่งนานาชนิด หากยังเป็นจุดเริ่มต้นของแม่น้ำเจ้าพระยาด้วย เพราะแม่น้ำที่ไหลผ่านอำเภอจอมทอง, แม่แจ่ม, แม่วาง และดอยหล่อ (บางส่วน)จะไหลไปรวมกันจนกลายเป็นแม่น้ำปิง และแม่น้ำปิงจะไหลไปรวมกับแม่น้ำวัง, ยม, น่าน จนกลายเป็นแม่น้ำเจ้าพระยา ดังนั้น ผมและชาวเขาทุกคนที่ทำมาหากินอยู่บริเวณดอยอินทนนท์ต่างทราบเรื่องนี้ดี และรู้ด้วยว่าเส้นทางศึกษาธรรมชาติกิ่วแม่ปานมีความสำคัญต่อผม คนเชียงใหม่ และประเทศไทยอย่างไร ผมจึงรู้สึกหวงแหนในความเป็นห้องเรียนธรรมชาติของที่นี่ เพราะที่นี่คือบ้านของพวกผม”

อันเป็นคำตอบของ “เกษม”

ผู้ที่ได้ชื่อว่าในทุกลมหายใจเข้าออกของเขาต่างมีธรรมชาติของกิ่วแม่ปานซุกซ่อนอยู่ภายใน