APO เผยผลกระทบต่อผลิตภาพองค์กรจากโควิด-19

เมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ หรือ COVID – 19 ยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง เพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือต่อสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นหลังจากนี้ องค์การเพิ่มผลผลิตแห่งเอเชีย หรือ APO (Asian Productivity Organization) องค์การระหว่างประเทศของรัฐบาลในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก จึงได้จัดรายการถ่ายทอดสด Productivity Talk ผ่านทางยูทูป ภายใต้หัวข้อ “The Economics of COVID-19 and its Implications for Productivity in the Asia-Pacific Region”

โดยวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ “ศาสตราจารย์กิตติคุณ ฮัก กิล เปียว” (Hak Kil Pyo) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งชาติโซล ประเทศเกาหลีใต้

“ศาสตราจารย์กิตติคุณ ฮัก กิล เปียว” กล่าวถึงผลกระทบด้านการจ้างงานในทวีปเอเชียในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2020 (เมษายน-มิถุนายน) จากการรายงาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization – ILO) ว่า มีอัตราการว่างงานอยู่ที่ 125 ล้านคน อันเป็นผลกระทบจากการปิดตัวของโรงงานและร้านค้า

ส่วนฝั่งของสหรัฐอเมริกา UBS Group รายงานว่า ไตรมาสที่ 2 อัตราการว่างานจะพุ่งสูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 1940 โดยอัตรการว่างงานในสหรัฐอเมริกาในเดือนกุมภาพันธ์ 2020 อยู่ที่ 3.5% เพิ่มขึ้นเป็น 5.5% ในเดือนมีนาคม และคาดว่าจะพุ่งถึง 13% ในอีกหลายเดือนข้างหน้า ส่วนฝั่งยุโรปรายงานโดย Capital Economics ว่า ยูโรโซน (Eurozone) มีอัตรการว่างงาน 7.4% ในเดือนมกราคม 2020 และจะเพิ่มเป็น 9% ในเดือนมิถุนายน 2020

“ศาสตราจารย์กิตติคุณ ฮัก กิล เปียว” ยังคาดการผลกระทบของการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ต่อผลิตภาพ (productivity) ว่าจะแบ่งออกเป็น 4 ประการคือ

ประการที่ 1 เกิดผลกระทบต่อผลิตภาพของอุตสาหกรรมประเภท การท่องเที่ยวและการโรงแรม การบิน น้ำมันและแก๊ส ยานยนต์ สินค้าอุปโภคบริโภค และเครื่องใช้ไฟฟ้า

ประการที่ 2 อัตราการว่างงานในส่วนของงานที่ใช้ทักษะต่ำจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ส่งผลต่ออุปสงค์โดยรวม ส่วนกลุ่มงานทักษะสูงในทุกอุตสาหกรรมจะทำงานที่บ้านเป็นส่วนใหญ่ไปอีกหลายเดือน

ประการที่ 3 ผู้ประกอบการเผชิญกระแสเงินสดขาดสภาพคล่อง และอาจส่งผลการล้มละลาย เช่น สายการบิน Eastar ของประเทศเก่หลีใต้ ที่ถูกฟ้องล้มละลายไปเมื่อไม่นานนี้

ประการที่ 4 ผลจากความตึงเครียดด้านการเงิน ผู้ประกอบการจะเริ่มตัดกำลังคนออก ทั้งคนงานประจำและพาร์ทไทม์ และจะมีการเลื่อนการลงทุนในโปรเจกต่าง ๆ ต่อไป

“ศาสตราจารย์กิตติคุณ ฮัก กิล เปียว” ยังกล่าวอีกว่า แต่ละประเทศจำเป็นต้องกำหนดนโยบายเฉพาะที่เหมาะสมกับสถานการณ์จริงของประเทศปัจจุบัน ไม่ต้องพูดถึงว่าจะพัฒนาอย่างไร แต่จะเป็นการดีที่จะรักษาระดับการผลิตที่มั่นคง

ตัวอย่างเช่น เกาหลีใต้ที่คาดว่าการส่งออกในปีนี้จะลดถึง 30% ดังนั้น นโยบายที่ดีที่สุดที่สามารถทำได้ตอนนี้คือการลดทรัพยากรคน มันเป็นเรื่องน่าเศร้า แต่ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้หากต้องการกู้สถานการณ์ทางเศรษฐกิจ

นอกจากนี้ประเทศที่เคยรุ่งเรื่องด้านการท่องเที่ยว เช่น ลาว เวียดนาม ไทย และอื่น ๆ กำลังจะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง ดังนั้นประเทศเหล่านี้ควรพัฒนาการเติบโตทางเศรษฐกิจเชิงรุก และมุ่งเน้นการสร้างสุขภาพและโครงสร้างพื้นฐานทางสังคมก่อน เพื่อจะได้ฟื้นฟูเศรษฐกิจและผลิตภาพได้ในภายหลัง

โลกทั้งโลกกำลังเผชิญกับศัตรูตัวฉกาจ “การระบาดของโรคระบาด Covid-19” มาตรการกอบกู้เศรษฐกิจควรทำควบคู่ไปกับด้านสุขภาพและความปลอดภัยของแรงงาน ไม่เช่นนั้นผลที่ตามมาจะรุนแรงมากขึ้น