สแกนแรงงานต่างด้าวสกัดไวรัส กทม. ไล่เช็ก 392 แคมป์ทั่วกรุง

“หม่อมเต่า” จี้แรงงานจังหวัดปิดจุดเสี่ยงโควิด โฟกัสกลุ่มแรงงานต่างด้าว สุ่มตรวจสถานประกอบการ-โรงงาน ย้ำหากไม่ร่วมมือใช้ไม้แข็ง สั่งปิดโรงงานทันที กทม.หวั่นโควิด-19 ระบาดไซต์ก่อสร้างสั่ง 50 เขตสำรวจคัดกรองโรคเข้ม พบทั่วกรุงมีแคมป์แรงงานไทย-ต่างด้าว 392 โครงการ กว่า 6 หมื่นคน

สถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ที่คลี่คลายลง ทำให้รัฐบาลเตรียมผ่อนคลายมาตรการคุมเข้ม ขณะเดียวกันเพื่อไม่ให้โควิดย้อนกลับมาแพร่ระบาดรอบใหม่ ได้มีนโยบายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโฟกัสไปที่การควบคุมป้องกันกลุ่มคนที่มีความเสี่ยง โดยเฉพาะอย่างยิ่งแรงงานที่ทำงานและพักอาศัยในไซต์ก่อสร้าง และโรงงานอุตสาหกรรม

ดร.ดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หม่อมราชวงศ์จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้มอบหมายให้โฟกัสกลุ่มแรงงานต่างด้าวในสถานประกอบการเข้มข้นมากขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยง เช่น สมุทรสาคร, นครปฐม, สงขลา ฯลฯ ให้ลงพื้นที่ตรวจสอบที่พักอาศัยของแรงงานรับจ้างทั่วไป แรงงานที่อาศัยในบ้านพักหรือที่พักชั่วคราว ต้องมีสถาพไม่แออัด และสุ่มเสี่ยงติดเชื้อโควิด หากพบว่าสถานประกอบการที่มีแรงงานต่างด้าวติดเชื้อโควิดเพิ่มขึ้น จะอาศัยอำนาจภายใต้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินสั่งปิด

กทม.สแกน 392 ไซต์ก่อสร้าง

นายชวินทร์ ศิรินาค ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดต่อโควิด-19 กทม. วันที่ 22 เม.ย.ที่ผ่านมา ที่ประชุมมอบหมายสำนักงานเขตทั้ง 50 เขต จัดส่งรายชื่อกลุ่มเสี่ยงที่ทำงานในกลุ่มก่อสร้างเพื่อเป็นการเฝ้าระวัง ป้องกันและแก้ไขการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด โดยขอความร่วมมือสำรวจแคมป์ก่อสร้าง สถานที่ตั้ง จำนวนผู้พักอาศัยภายในแคมป์ รวมทั้งรายชื่อและหมายเลขโทรศัพท์ผู้ประสานงานของแคมป์ ส่งสำนักอนามัยภายใน 28 เม.ย. 2563

โฟกัสแรงงาน 6 หมื่นคน

จากการสำรวจข้อมูลเบื้องต้นที่แต่ละเขตรวบรวมให้ มีโครงการก่อสร้างทั้งของรัฐและเอกชนจำนวน 392 แคมป์ มีแรงงานก่อสร้างไทยและต่างชาติ 60,866 คน แยกเป็น ต่างชาติที่จดทะเบียนถูกกฎหมาย 34,886 คน แรงงานไทย 25,980 คน

จำนวนมากที่สุดอยู่ในพื้นที่โซนกลุ่มกรุงเทพฯใต้ ได้แก่ เขตปทุมวัน บางรัก สาทร บางคอแหลม ยานนาวา คลองเตย วัฒนา พระโขนง สวนหลวง และบางนา 57 แคมป์ มีแรงงานไทยและต่างชาติ 16,304 คน

โซนกรุงเทพฯกลาง ได้แก่ เขตพระนคร ดุสิต ป้อมปราบศัตรูพ่าย สัมพันธวงศ์ ดินแดง ห้วยขวาง พญาไท ราชเทวี และวังทองหลาง 72 แคมป์ 16,590 คน

โซนเหนือ ได้แก่ เขตจตุจักร บางซื่อ ลาดพร้าว หลักสี่ ดอนเมือง สายไหม และบางเขน 65 แคมป์ มีแรงงานไทยและต่างชาติ 11,474 คน

10 มาตรการคุมเข้มแรงงาน

สำหรับมาตรการที่ใช้ดูแลแรงงานต่างด้าวได้นำ 10 มาตรการที่ใช้ดูแลแรงงานไทยมาใช้กับแรงงานต่างด้าวด้วย คือ 1) ชะลอการอนุมัตินำเข้าแรงงานต่างด้าว

2) ผ่อนปรนแรงงานต่างด้าวให้อยู่ในราชอาณาจักรจนถึง 30 พ.ย.นี้

3) ให้ความรู้ความเข้าใจกับแรงงานในการป้องกันโควิด โดยนำร่องที่ จ.สมุทรสาคร ซึ่งมีแรงงานต่างด้าวกว่า 200,000 คน นครปฐม 80,000 คน และเตรียมกระจายไปจังหวัดอื่น ๆ

4) ตรวจสอบสถานประกอบการให้สามารถทำงานได้โดยไม่ติดเชื้อเพิ่มขึ้น

5) แจ้งมาตรการให้ผู้ประกอบการคัดกรองลูกจ้างแรงงานต่างด้าว และเฝ้าระวังโควิด

6) ตรวจสอบคัดกรองและเฝ้าระวังแรงงานต่างด้าว ณ ศูนย์ควบคุมการเข้า-ออกเรือประมง (PIPO)

7.ร่วมมือกับสถานประกอบการให้ความรู้และปฏิบัติตนตามการแนะนำของกองควบคุมโรค

8) ให้บริการทางการแพทย์กับผู้ประกันตนที่ป่วยโควิด-19

9) ปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์กรณีว่างงาน

10) ลดหย่อนอัตราเงินสมทบและขยายกำหนดเวลายื่นแบบอัตราเงินสมทบ

 

รฟม.-กรมทางหลวงคุมเข้ม

ในส่วนของหน่วยงานภาครัฐ นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า รฟม.กำชับให้ผู้รับเหมาก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม สายสีชมพู และสายสีเหลือง ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโควิด-19 อย่างเคร่งครัด ทุกครั้งที่เข้าปฏิบัติงาน เช่น มีจุดตรวจคัดกรอง วัดอุณหภูมิ, มีจุดบริการเจลแอลกอฮอล์ ล้างมือ, สวมหน้ากากอนามัย ฯลฯ ไม่ต่างไปจากมาตรการของกรมทางหลวงที่ นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยว่า กรมมีโครงการอยู่ระหว่างก่อสร้างทั่วประเทศ 222 โครงการ มีแรงงานกว่า 10,000 คน ซึ่งได้กำชับให้ผู้รับเหมาบริหารจัดการไซต์ก่อสร้างอย่างเคร่งครัด

บิ๊กรับเหมาพร้อมร่วมมือรัฐ

นายพลพัฒ กรรณสูต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เนาวรัตน์พัฒนาการ กล่าวว่า บริษัทมีไซต์ก่อสร้างในพื้นที่กรุงเทพฯ คือ รถไฟฟ้าสายสีส้ม สีชมพู และสีเหลือง ที่บริษัทได้ซับคอนแทร็กต์ให้ผู้รับเหมา รองรับแรงงานได้ 3,000 คน แต่ปัจจุบันประสบปัญหาแรงงานขาดหายไปจากระบบ 1,000 คน เหลืออยู่ 2,000 คน มีการบริหารจัดการแคมป์และไซต์งานก่อสร้างตามมาตรฐานสุขอนามัยป้องกันโรคโควิด รวมถึงไซต์ก่อสร้างต่างจังหวัดด้วย ทำให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นบ้าง

เช่นเดียวกับแหล่งข่าวจาก บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ที่ระบุว่า มาตรการคุมเข้มไซต์ก่อสร้างมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นบ้าง จากการซื้อุปกรณ์ป้องกันโควิด เช่น ค่าหน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ แต่ถือเป็นการป้องกันเพราะเป็นไซต์ก่อสร้างใหญ่ หากเกิดปัญหาจะกระทบเป็นวงกว้าง

มหาชัยสุ่มตรวจต่างด้าว

ด้านนายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร เปิดเผยว่า วานนี้ (27 เม.ย.) รองนายกฯและ รมว.สาธารณสุข นายอนุทิน ชาญวีรกูล ได้ลงพื้นที่มาตรวจเยี่ยมการป้องกันโรคโควิดในกลุ่มแรงงานต่างด้าว และมีนโยบายให้ตรวจค้นหาเชิงรุก เก็บตัวอย่างจากน้ำลายด้วยวิธี RT-PCR โดยมอบหมายให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ดำเนินการ ตั้งเป้าสุ่มตรวจ 2,100 ตัวอย่าง ใน 3 อำเภอที่มีแรงงานต่างด้าวพักอาศัยจำนวนมาก ได้แก่ อ.เมืองสมุทรสาคร อ.กระทุ่มแบน และ อ.บ้านแพ้ว ทั้งที่หอพัก แฟลต อพาร์ตเมนต์ รวม 300 แห่ง

ทั้งนี้ที่ผ่านมา สมุทรสาครมียอดรวมตัวเลขผู้ติดเชื้อ 18 ราย หายกลับบ้านแล้ว 17 ราย เหลือเพียง 1 ราย ที่อยู่ระหว่างการรักษา และไม่พบผู้ติดเชื้อมาแล้วถึง 18 วัน