AIS สร้างภูมิคุ้มกันเด็กไทย ห่างภัยออนไลน์ช่วงวิกฤตโควิด

จากรายงานของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) ระบุว่า ในปี 2562 เด็กไทย Generation Z มีอัตราการใช้งานอินเทอร์เน็ตในวันหยุดเฉลี่ยอยู่ที่ 12 ชั่วโมง 1 นาทีต่อวัน จนเมื่อเกิดวิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ประเทศไทยจึงออกมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (social distancing) อันเป็นผลมาจากวิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้โรงเรียนทุกแห่งปิดทำการเพื่อความปลอดภัยของเด็ก และเยาวชน จนทำให้พวกเขามีเวลาอยู่กับบ้านมากขึ้น อันเป็นผลทำให้การใช้งานอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นโดยปริยาย

ดังนั้น เมื่อดูข้อมูลของบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส (AIS) พบว่า ผ่านมามีการใช้งานอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้น 20% โดยเฉพาะในช่วงเดือนมีนาคม 2563 ทั้งนี้ สื่อสังคมบนโลกอินเทอร์เน็ตมีข้อดีในการช่วยค้นคว้าหาความรู้ แต่ก็มีผลกระทบด้านลบเช่นกัน โดยเฉพาะต่อกลุ่มเด็ก และเยาวชน เพราะพวกเขายังขาดประสบการณ์ชีวิต ความเข้าใจ และความเข้มแข็งในการรับมือกับปัญหาทางสื่อสังคมออนไลน์

ด้วยเหตุนี้ เอไอเอสจึงจัดโครงการ “AIS อุ่นใจไซเบอร์” ที่มีเป้าประสงค์ในการสร้างภูมิคุ้มกันปลูกจิตสำนึกให้คนไทยตระหนักรู้ ควบคู่ไปกับการพัฒนาทักษะเพื่อให้ใช้ดิจิทัลอย่างรู้เท่าทันและปลอดภัย พร้อมกับเผยผลสำรวจ COSI (child online safety index) ดัชนีความปลอดภัยของเด็กบนโลกออนไลน์ปี 2563 ที่จัดทำโดย DQ Institute (digital intelligence quotient) ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งเอไอเอสร่วมเป็นพันธมิตร

“นัฐิยา พัวพงศกร”

“นัฐิยา พัวพงศกร” หัวหน้าแผนกงานพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน เอไอเอส กล่าวว่า COSI เป็นดัชนีแรกของโลกที่สามารถรายงานค่าความปลอดภัยในประเทศต่าง ๆ ได้ตามเวลาจริง เพื่อให้ประชาชนในประเทศนั้น ๆ เกิดความตระหนักถึงการรับมือกับภัยออนไลน์ โดยดัชนีที่ได้มาจากการสำรวจเด็ก และเยาวชนจำนวน 145,426 คน ใน 30 ประเทศทั่วโลก ช่วงปี 2560-2562

“ดัชนี COSI เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ #DQEveryChild ที่ DQ Institute ต้องการกระตุ้นทั่วโลกให้เห็นความสำคัญของการพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลแก่เด็ก และเยาวชน โดยได้รับความร่วมมือจาก 100 องค์กรทั่วโลก โดยหนึ่งในนั้นก็คือเอไอเอส”

จากการเก็บข้อมูลทำให้พบว่า ความปลอดภัยบนโลกออนไลน์ของเด็กไทยถูกจัดอยู่ในอันดับต่ำสุด ถือว่ามีความเสี่ยงสูงสุดในกลุ่ม 30 ประเทศที่เข้าร่วมการสำรวจ เพราะเด็กไทยจำนวนกว่า 79% กำลังตกอยู่ในอันตรายในโลกไซเบอร์ ในขณะที่ญี่ปุ่นมีเพียง 24% เป็นประเทศที่มีความเสี่ยงน้อยที่สุด

กล่าวกันว่า เด็กไทยมีความเสี่ยงในโลกไซเบอร์ที่น่าเป็นห่วง 3 ประการด้วยกันคือ

หนึ่ง การถูกรังแกบนออนไลน์ (cyberbullying) เช่น การโพสต์ดูหมิ่นกลั่นแกล้ง การร่วมกันเพิกเฉย และชักชวนให้คนอื่นไม่คบหาพูดคุยด้วยในออนไลน์

สอง การกระทำที่ถูกทำให้เสียชื่อเสียง เช่น การโพสต์ประจานล้อเลียน การโพสต์รูป หรือคลิปแอบถ่ายที่ไม่เหมาะสม

สาม ความเสี่ยงในการติดต่อออนไลน์ เช่น การถูกล่อลวงเพื่อหลอกลวงเอาทรัพย์สินหรือข้อมูล และการล่อลวงเพื่อทำไปสู่การคุกคามในชีวิตจริง

ขณะเดียวกัน รายงานชุดนี้ยังระบุว่า ประเทศไทยได้คะแนนเฉลี่ยสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานใน 2 เรื่อง คือ หนึ่ง access ความสามารถในการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยมีโครงสร้างพื้นฐานทางด้านดิจิทัลที่ดี ทำให้ผู้คนในประเทศเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ดี สอง cyber security infrastructure นโยบายของรัฐบาล รวมถึงจริยธรรมของผู้ประกอบธุรกิจด้านโทรคมนาคม มีส่วนร่วมในการเสริมสร้างป้องกันเด็กจากภัยในโลกออนไลน์

“นัฐิยา” กล่าวต่อว่า โครงการ AIS อุ่นใจไซเบอร์ พยายามผลักดันให้ผู้ปกครองมีส่วนในการสร้างความตระหนักรู้ถึงภัยไซเบอร์ จึงร่วมมือกับ DQ Institute สร้างชุดการเรียนรู้ 360 องศา ฟรีบนเว็บไซต์ www.DQWorld.net เพื่อให้ผู้ปกครองได้ใช้เวลาร่วมกับเด็ก ๆ สอนให้เขาเรียนรู้ความฉลาดทางดิจิทัล (digital quotient-DQ) ซึ่งเหมาะสำหรับเด็กวัย 8-12 ปี โดยปัจจุบันเป็นสื่อการเรียนรู้ที่ได้รับความเชื่อถือและถูกนำไปใช้ในทุกทวีปทั่วโลก

“หลักสูตร DQ ประกอบด้วย 8 ทักษะดิจิทัลสำคัญ เช่น digital identity (อัตลักษณ์ออนไลน์) สร้างตัวตนโลกออนไลน์เหมือนตัวจริง คิด พูด ทำอย่างถูกต้อง, digital use (ยับยั้งชั่งใจ) สามารถควบคุมตนเองในการเวลาบนสื่อสังคมออนไลน์ได้, digital safety (เมื่อถูกรังแกออนไลน์) รู้ตัวเมื่อถูกกลั่นแกล้งคุกคาม และสามารถรับมือพร้อมวางตัวได้เหมาะสม, digital security (ท่องเน็ตอย่างปลอดภัย) สามารถปกป้องตัวเองโดยใช้รหัสผ่านที่แข็งแกร่ง เป็นต้น”

“ดังนั้น เมื่อเข้าสู่ระบบจะพบกับแบบเรียนรู้ในรูปแบบเกมทั้งหมด 8 ด่านทักษะทางดิจิทัล โดยเมื่อเด็ก ๆ เล่นครบทุกด่านแล้ว ระบบจะให้คะแนนทักษะด้านดิจิทัลแล้วส่งใบคะแนนมาให้ผู้ปกครอง และสามารถเปรียบเทียบคะแนนกับค่าเฉลี่ยของนักเรียนในไทยและทั่วโลกได้”

ฉะนั้น ถึงเวลาที่ทุกภาคส่วนในสังคมควรมีบทบาทสำคัญในการช่วยกันหยุดการแพร่ระบาดของภัยในโลกไซเบอร์ เพื่อความปลอดภัยสำหรับเยาวชนบนโลกออนไลน์ของสังคมไทยอย่างจริงจังเสียที