มหา’ลัย ปรับตัวสู้โควิด-19 ระดมพลังช่วย น.ศ.-อาจารย์-ชุมชน

แฟ้มภาพ

เป็นเรื่องใหม่ที่ทั่วโลกต้องร่วมกันเผชิญ สำหรับการระบาดของไวรัส “โควิด-19” ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ แม้การแก้ปัญหาดังกล่าวจะยังไม่จบลงง่าย ๆ แต่ถ้าทุกคนในชาติมาร่วมมือร่วมใจกันก็เชื่อแน่ว่าสถานการณ์โควิด-19 ก็น่าจะบรรเทาเบาบางลง

โดยเฉพาะสถาบันการศึกษาในระดับอุดมศึกษา ที่ไม่เพียงจะให้ความรู้เกี่ยวกับโรคดังกล่าว หากยังแนะนำให้ทุกฝ่ายปรับการใช้ชีวิต ตัดทุกความเสี่ยงที่จะทำให้ติดเชื้อโควิด-19 ที่สำคัญยังได้เห็นบทบาทของการเป็น “ผู้ให้” กับสังคมและผู้คนที่อยู่แวดล้อมกับมหาวิทยาลัยอีกด้วย

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” ทำการสำรวจมาตรการความช่วยเหลือของแต่ละมหาวิทยาลัยที่มีความน่าสนใจ เริ่มจากมหาวิทยาลัยนอร์ทกรุงเทพ พร้อมด้วยวิทยาลัยเทคโนโลยีสยามบริหารธุรกิจ (SBAC) และสำนักงานเขตสายไหม แจกอาหารฟรี 200 ชุด ให้กับประชาชนผู้เดือดร้อนไม่มีรายได้เพราะถูกเลิกจ้าง

ด้วยการนำของนักศึกษาสาขาอุตสาหกรรมการบริการ และการประกอบอาหาร คณะศิลปศาสตร์ ร่วมกับนักศึกษาสาขาการโรงแรม และสาขาเชฟอาหารนานาชาติ ร่วมกันปรุงอาหารสดใหม่แจกประชาชนทุกวันพฤหัสบดี ณ วิทยาเขตสะพานใหม่ และทุกวันอังคาร ณ วิทยาเขตรังสิต

ขณะที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรีผุดไอเดีย “เปิดตลาดออนไลน์” ให้นักศึกษาและประชาชนทั่วไปเข้ามาฝากร้านขายสินค้าออนไลน์ เพื่อเพิ่มรายได้และช่วยผู้ที่ว่างงานที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 นอกจากนี้ คณะพยาบาลศาสตร์ยังมอบหน้ากากกันละอองฝอย (face shield) และถุงมือ (disposable) ให้แก่โรงพยาบาลสามพราน อ.สามพราน จ.นครปฐม และสนับสนุนเครื่องมือด้านสาธารณสุขให้กับบุคลากรทางการแพทย์และการพยาบาลไว้สำหรับป้องกันความปลอดภัยในการปฏิบัติงานดูแลผู้ป่วย และเพิ่มศักยภาพความพร้อมเพื่อให้การบริการผู้ป่วย ให้ความรู้ประชาชนทั่วไปที่อยู่ใกล้เคียงกับมหาวิทยาลัยในการทำเจลล้างมือด้วยตัวเอง

มก.สร้างหุ่นยนต์สู้ไวรัสโควิด

ขณะที่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เน้นเร่งพัฒนานวัตกรรมที่จะช่วยสกัดการระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ ได้ออกแบบและพัฒนาหุ่นยนต์เพื่อฉีดยาฆ่าเชื้อโรค เพราะเดิมใช้คนเป็นผู้ฉีดพ่น ซึ่งค่อนข้างมีความเสี่ยงที่อาจจะติดเชื้อโควิด-19 ได้ ทีมงานด้านการสร้างหุ่นยนต์ฉีดพ่นฆ่าเชื้อโรคมีต้นแบบมาจากหุ่นยนต์ฉีดพ่นสารเพื่อทางการเกษตรมาประยุกต์ใช้ในการแก้ปัญหาโควิด-19 ที่กำลังระบาดอยู่ในขณะนี้

“อาจารย์ปัญญา เหล่าอนันต์ธนา” ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ระบุว่า มก.ได้เผยแพร่แนวความคิดและเทคนิคต่าง ๆ ในการออกแบบการประยุกต์ใช้งานอุปกรณ์และการสร้างหุ่นยนต์ให้แก่ผู้สนใจ เพื่อให้เกิดการพัฒนา ต่อยอด และนำการผลิตไปใช้ให้เกิดประโยชน์ อีกทั้งยังช่วยในการควบคุมเชื้อโควิด-19 ให้ทันต่อสถานการณ์การระบาดที่เกิดขึ้นในขณะนี้ด้วย

“สำหรับหุ่นยนต์ฉีดฆ่าเชื้อโรคนั้น สามารถสร้างต้นแบบขึ้นมาและผลิตได้อย่างรวดเร็ว เพราะใช้เครื่องมือ อุปกรณ์ที่หาได้ง่ายตามท้องตลาด สามารถหาชิ้นส่วนสำหรับผลิตหุ่นยนต์ได้จากโรงกลึงทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีช่างที่มีประสบการณ์ก็สามารถผลิตตามแบบได้ อีกทั้งช่างที่มีความสนใจยังเข้ามาฝึกอบรมเพื่อนำไปผลิตได้เช่นเดียวกัน”

จุฬาฯออกแบบเครื่องพ่นฆ่าเชื้อ

ส่วน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยงานวิจัย “เครื่องพ่นละอองไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์” เพื่อฆ่าเชื้อภายในห้องและอุปกรณ์ทางการแพทย์ เพื่อความปลอดภัยจากเชื้อโควิด-19 และจากงานวิจัยดังกล่าวของ “ศ.ดร.สนอง เอกสิทธิ์” รองผู้อำนวยการหลักสูตรธุรกิจเทคโนโลยี และการจัดการนวัตกรรม บัณฑิตวิทยาลัย และอาจารย์ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ ร่วมด้วย “รศ.ดร.วิวัฒน์ วชิรวงศ์กวิน” และทีมวิจัยจากหน่วยปฏิบัติการวิจัยอุปกรณ์รับรู้ ภาควิชาเคมี เป็นผู้ร่วมออกแบบและพัฒนาเครื่องพ่นละอองไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์นี้ เพื่อใช้ฆ่าเชื้อไวรัส แบคทีเรีย เชื้อรา และสปอร์ของเชื้อรา เพื่อช่วยป้องกันการติดเชื้อของบุคลากรทางการแพทย์ในภาวะวิกฤตโควิด-19 ที่มีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ ยังช่วยลดการนำเข้าเครื่องมือดังกล่าวจากต่างประเทศที่มีราคาค่อนข้างแพงอีกด้วย

“ศ.ดร.สนอง” ระบุว่า โควิด-19 ได้สร้างความตื่นตระหนกในส่วนของบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 จึงคิดค้นเครื่องดังกล่าวเพื่อพ่นฆ่าเชื้อภายในห้อง สามารถใช้ได้กับโรงพยาบาล ห้องผ่าตัด โรงงานยา และโรงงานผลิตอาหารที่สามารถฆ่าเชื้อรา เชื้อไวรัส กำจัดสปอร์เชื้อราได้อย่างมีประสิทธิภาพ

มธบ.ชู 3 มาตราการช่วยทุกฝ่าย

สำหรับมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (มธบ.) ได้กำหนดมาตรการช่วยเหลือไว้ 3 ส่วน คือ 1) มาตรการช่วยเหลือสังคม ด้วยการเป็นศูนย์เฝ้าระวังให้แก่หน่วยงานภายนอก ด้วยการแจกแอลกอฮอล์ให้แก่ชุมชน จัดทำเครื่องทำความสะอาดร่างกายอัตโนมัติ และ face shield ให้ความรู้การเฝ้าระวังผ่านช่องทางการสื่อสารต่าง ๆ จัดทำกล่องป้องกันเชื้อ ลดการฟุ้งกระจายขณะใส่ท่อช่วยหายใจ และบริจาคอุปกรณ์ทางการแพทย์ให้แก่สถานพยาบาล และหน่วยงานระหว่างประเทศ 2) มาตรการช่วยเหลือคณาจารย์และบุคลากร ที่มีการจัดตั้งศูนย์เฝ้าระวังและป้องกัน ตรวจติดตามสุขภาพ

การคัดกรองตรวจวัดไข้ทุกคนที่เข้าพื้นที่ในมหาวิทยาลัย แจกหน้ากากอนามัยและเจลแอลกอฮอล์ สื่อสารให้ความรู้ การป้องกันโควิด-19 จัดทำประกันโควิด-19 ให้ทุกคน และอนุญาตให้ครอบครัวร่วมทำด้วย ปรับรูปแบบการเรียนการสอนเป็นออนไลน์ 100% ปรับรูปแบบการทำงานเป็น work from home และจัดตั้งศูนย์ภาวะฉุกเฉินเพื่อกักตัว และรถพยาบาลส่งตัวกรณีฉุกเฉิน

และ 3) มาตรการช่วยเหลือนักศึกษาประกอบด้วย การลดค่าบำรุงการศึกษา มีกองทุนช่วยเหลือนักศึกษา สามารถผ่อนชำระค่าเทอมได้โดยไม่เสียค่าธรรมเนียมผ่อนชำระ ประสานงานเฝ้าระวังกับหอพักภายนอก จัดตั้งศูนย์เฝ้าระวังตรวจคัดกรองสุขภาพนักศึกษาต่างชาติ ให้การช่วยเหลือนักศึกษาและผู้ปกครอง ในกรณีที่เป็น “กลุ่มเสี่ยง” จัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์ นอกจากนี้ ยังแจกถุงยังชีพให้กับนักศึกษาในกรณีที่ถูกกักตัว ลดค่าเช่าหอพักของมหาวิทยาลัย และจัดตั้งศูนย์ภาวะฉุกเฉินเพื่อกักตัว และรถพยาบาลส่งตัวกรณีฉุกเฉิน

สจล.ห่วงใย น.ศ.+บุคลาการ

ตามมาด้วย สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ที่ประกาศมาตรการช่วยเหลือนักศึกษา บุคลากร และประชาชนทั่วไปในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 เช่น การยกเว้นค่าเทอมในภาคเรียนพิเศษ/2562 ลดค่าธรรมเนียมการศึกษาลง 10% ภาคเรียนการศึกษาที่ 1-2 ในปีการศึกษา 2563 นี้ มอบทุนการศึกษากว่า 1,000 ทุน คืนค่าเช่าหอพักให้นักศึกษา 2 เดือน

พร้อมทั้งช่วยเจรจากับหอพักนอกมหาวิทยาลัยให้ช่วยปรับลดค่าเช่า ทำประกันโควิดให้นักศึกษาทุกคน จัดตั้งกองทุนสู้โควิด-19 โดยอนุมัติงบประมาณเริ่มต้นไว้ที่ 1 ล้านบาท ส่วนที่เป็นคู่ค้าและผู้ประกอบการภายในพื้นที่ของมหาวิทยาลัยนั้นงดเก็บค่าเช่า 2 เดือน เป็นต้น

จากวิกฤตไวรัสโควิด-19 ครั้งนี้ ถือเป็นวิกฤตครั้งใหญ่ที่ลบทุกสถิติวิกฤตที่เคยเกิดขึ้นในอดีตที่ผ่านมา แต่เพราะความร่วมมือร่วมใจของคนในชาติจึงทำให้สถานการณ์ที่หนักหน่วงตลอดหลายเดือนที่ผ่านมาค่อย ๆ เบาบางลงในที่สุด เหมือนดั่งที่เห็นอยู่ในขณะนี้