เซอร์จิโอ : วีรบุรุษผู้สร้างความหวัง

"เซอร์จิโอ วีอีรา เดอมอลโล" (Sergio Vieira de Mello)(Photo by YASUYOSHI CHIBA / AFP)

คอลัมน์ เอชอาร์ คอร์เนอร์

โดย รณดล นุ่มนนท์

“เซอร์จิโอ วีอีรา เดอมอลโล” (Sergio Vieira de Mello) ได้รับแต่งตั้งให้เป็นข้าหลวงใหญ่แห่งสหประชาชาติ ดูแลรักษาความสงบในประเทศอิรัก เมื่อเดือนมิถุนายนปี 2003 หลังจากที่กองทัพพันธมิตรสหรัฐและอังกฤษเข้ารุกรานโค่นล้มการปกครองของประธานาธิบดี ซัดดัม ฮุสเซน แต่งตั้งรัฐบาลรักษาการขึ้น แต่ไม่ได้ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้น เพราะชาวอิรักเกิดความแตกแยกไม่ไว้วางใจกันและกัน

“เซอร์จิโอ” เป็นชาวบราซิล ติดตามพ่อที่เป็นทูตไปประจำตามประเทศต่าง ๆทั่วยุโรป ศึกษาจบปริญญาตรีด้านปรัชญาจากมหาวิทยาลัยปารีส และเจริญรอยตามพ่อเข้าทำงานในสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ตั้งแต่อายุ 21 ปี เพราะมีความสนใจด้านสิทธิมนุษยชน

“เซอร์จิโอ” ไม่เพียงมีบุคลิกพิเศษที่สามารถโน้มน้าว หาทางเลือกเพื่อให้คู่ขัดแย้งสามารถเจรจาไกล่เกลี่ยกันได้ หากเขายังได้รับมอบหมายให้ไปปฏิบัติงานในพื้นที่ที่มีความขัดแย้ง โดยผลงานที่โดดเด่น คือ การเจรจากับฝ่ายเขมรแดง ปล่อยให้ผู้ลี้ภัยเดินทางกลับเข้าประเทศอย่างปลอดภัย รวมถึงการเจรจาให้ประธานาธิบดีฮาบีบีของอินโดนีเซีย จัดให้มีการหยั่งเสียงประชามติของชาวติมอร์ตะวันออก จนนำมาสู่การแยกตัวออกมาเป็นประเทศเอกราช

ด้วยผลงานสำคัญดังกล่าว เขาจึงถูกทาบทามไปอิรักเพื่อหาทางยุติความขัดแย้ง แม้ว่า “เซอร์จิโอ” ไม่เห็นด้วยกับการเข้ารุกรานอิรักของกองทัพพันธมิตรในครั้งนี้ แต่เมื่อเห็นว่าเป็นงานเฉพาะกิจเพียง 4 เดือน และเป็นโอกาสให้สหประชาชาติเข้ามามีบทบาทดูแลความสงบ และคืนอธิปไตยกลับคืนสู่ชาวอิรักโดยเร็ว เขาจึงยอมเข้ารับภารกิจนี้ 1/

เพราะเขามีความเชื่อว่า สันติสุขจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อชาวอิรักให้ความไว้วางใจในตัวเขา และสหประชาชาติ เซอร์จิโอจึงเริ่มต้นด้วยการออกไปพบปะหารือกับผู้นำทางศาสนา และพูดคุยกับผู้คนตามท้องถนน ทำให้ได้เห็นสภาพความเป็นอยู่ของชาวแบกแดดที่เริ่มขัดสน ต้องเข้าคิวรับอาหาร และน้ำประทังชีวิตในแต่ละวัน รวมถึงมีปฏิกิริยาไม่พอใจทหารต่างชาติที่มาควบคุมสถานการณ์

ด้วยเหตุผลข้างต้น “เซอร์จิโอ” ต้องการให้สำนักงานสหประชาชาติแยกเป็นอิสระออกจากกองทัพพันธมิตร ไม่ให้เป็นเหมือนค่ายทหาร จึงออกคำสั่งให้ย้ายทหารสหรัฐที่คอยดูแลความปลอดภัย ตั้งด่านตรวจพร้อมบังเกอร์แน่นหนาหน้าโรงแรม Ca-nal สถานที่ตั้งชั่วคราวของสำนักงานออกไปให้หมด เหลือแต่เพียงทหารสหประชาชาติประจำการอยู่เท่านั้น

ตรงนี้ถือเป็นจุดเปราะบางที่”เซอร์จิโอ” ไม่ได้คาดคิด จนนำมาสู่ความสูญเสียที่ร้ายแรงที่สุด นับตั้งแต่มีการจัดตั้งองค์การสหประชาชาติขึ้นในปี 1945

บ่ายวันที่ 19 สิงหาคม 2003 “จิล ลอสเชอร์” (Gil Loescher) ผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลผู้อพยพ และทำงานให้กับองค์กร openDemocracy ได้เข้าพบ “พอล เบรเมอร์” (Paul Bremer) ผู้บัญชาการระดับสูงสหรัฐในอิรัก เพื่vประเมินสถานการณ์ในอิรัก

“เบรเมอร์” บอก “จิล” ว่า สถานการณ์ในอิรักกำลังดีวันดีคืน สามารถควบคุมสถานการณ์ได้แล้ว

จากนั้น “จิล” จึงเดินทางไปพบกับ “เซอร์จิโอ” ที่ชั้น 3 ของโรงแรม Canal ซึ่งเป็นที่ตั้งของสำนักงาน ขณะที่เขาทั้งคู่ร่วมสนทนาพร้อมกับทีมงาน ทันใดนั้น พวกเขาได้ยินเสียงรถบรรทุกวิ่งชนรั้วกำแพงโรงแรม และเข้ามาหยุดแน่นิ่งอยู่ใต้อาคารตรงจุดที่พวกเขานั่งอยู่พอดี

ไม่กี่วินาทีหลังจากนั้นเสียงระเบิดดังสนั่น แรงระเบิดทำให้อาคารสำนักงานถล่มลงมา ทำให้มีผู้เสียชีวิตทันที 21 คน ร่างของ “จิล” และ “เซอร์จิโอ” ร่วงหล่นลงมาอยู่ที่ชั้น 1 ถูกซากอิฐ และเสาปูนทับร่างท่วมท้น ทั้ง 2 หมดสติไปพักใหญ่

จนเมื่อฟื้นคืนสติ “เซอร์จิโอ” จึงโทรศัพท์ขอความช่วยเหลือ แต่ด้วยสภาพที่ถูกซากเสาปูนทับเกือบค่อนตัว จึงทนพิษบาดแผลไม่ไหว และเสียชีวิตในเวลาต่อมา ขณะที่ “จิล” ถูกปูนทับเพียงช่วงขา เขาจำเป็นต้องตัดขาเหนือเข่า และสามารถช่วยชีวิตออกมาได้ โดยเขาเป็นผู้รอดชีวิตเพียงคนเดียวจากที่ทำงานบนชั้น 3

“จิล” เล่าให้ฟังภายหลังว่า?เรา 2 คนร้องขอความช่วยเหลือภายใต้ซากปรักหักพัง จนมีทหารอเมริกัน 2 นาย ปีนลงมาช่วย ทั้ง 2 เคยเป็นพนักงานดับเพลิงที่มีประสบการณ์รักษาพยาบาลในเบื้องต้น แต่ช่วงแรกไม่สามารถช่วยเหลืออะไรได้มากนัก จนไปค้นพบเลื่อยไฟฟ้าเก่า แล้วนำมาใช้ตัดขาของจิล และนำตัวเขาออกมาได้

สำหรับเซอร์จิโอโชคร้ายที่ไม่มีเครื่องจักรใหญ่พอที่จะเคลื่อนย้ายอิฐปูนเหล่านั้นออกจากร่างของเขา “แอนเดียร์ วาเลนไทน์” (Andre Valentine) หนึ่งในทหารอเมริกันที่อยู่ช่วยเหลือเซอร์จิโอจนวินาทีสุดท้าย กล่าวว่า?เราพยายามอย่างสุดกำลังความสามารถที่จะช่วยชีวิตเขา ให้เขามีชีวิตอยู่รอด และมีความมุ่งมั่นที่จะอยู่รอด แต่เขาทำไม่ได้ 2/

ภายหลังเหตุการณ์ กำลังทหารสหประชาชาติถอนตัวจากอิรัก ซึ่งเป็นปมที่ยังคงสร้างความขัดแย้ง และความไม่สงบภายในประเทศอิรักจนถึงทุกวันนี้ และภายหลังผู้นำกลุ่มมุสลิมอัลเคดาได้ออกมายอมรับว่า เป็นผู้สั่งให้สังหาร “เซอร์จิโอ” ด้วยเหตุผลที่ว่า?เขาช่วยเหลือให้ประเทศติมอร์ตะวันออกแยกตัวออกจากประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นชาติมุสลิม

ชีวประวัติของ “เซอร์จิโอ” ได้รับการบันทึกไว้ในหนังสือชื่อ “Chasing the Flame : One Man’s Fight to Save the World” เขียนโดย “Samantha Power” ชาวไอริสอเมริกัน และได้รับการดัดแปลงมาเป็นภาพยนตร์เรื่อง Sergio ที่เข้าฉายผ่าน Netflix ตั้งแต่วันที่ 17 เมษายน หรือเมื่อ 10 กว่าวันผ่านมา

“เกร็ก บาร์คเกอร์” (Greg Barker) ผู้กำกับภาพยนตร์ได้ให้สัมภาษณ์ว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้ถูกนำมาฉายในช่วงเวลาการระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้พวกเราได้ระลึกถึงบุคคลผู้หนึ่งที่ได้เคยผ่านเหตุการณ์ภัยสงคราม และความขัดแย้งของมวลมนุษยชาติ ที่สร้างผลกระทบต่อจิตใจ และร่างกายของคนทั่วโลก

“หลายคนคิดว่าเหตุการณ์เหล่านั้นเป็นวัฏจักรที่ไม่สามารถแก้ไข เป็นเรื่องน่าเบื่อ น่ารำคาญ แต่เซอร์จิโอกลับมองว่า ทุกเรื่องมีหนทางแก้ไข หากเรามองให้ถึงแก่นของปัญหา หรือเซอร์จิโอไม่ใช่นักวิทยาศาสตร์ นายแพทย์ แต่เขาพยายามทุกวิถีทางที่จะแก้ไขปัญหาให้สำเร็จ ทำตัวเป็นตัวกลางที่จะไกล่เกลี่ย และทำให้ทุกคนหันมาช่วยแก้ไขปัญหากันอย่างจริงจัง เราต้องการคนอย่างเซอร์จิโอที่พร้อมจะแก้ไขปัญหาภัยพิบัติ หาแสงสว่างเพื่อเล็ดลอดออกจากอุโมงค์ที่มืดมน เรื่องราวของเซอร์จิโอจึงเป็นเรื่องของความรักและความหวัง เพื่อหาทางออกจากวิกฤตโควิด-19″3/

กล่าวกันว่า สหประชาชาติได้กำหนดให้วันที่ 19 สิงหาคมของทุกปี เป็นวัน World Humanitarian Day รำลึกถึงผู้ที่อุทิศตน และพลีชีพให้กับการทำงานในด้านมนุษยธรรม “นายโคฟี อันนัน” อดีตเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ ได้กล่าวไว้อาลัยเซอร์จิโอ ในวันที่เกิดเหตุว่า “การสูญเสียบุคลากรของสหประชาชาติเป็นเรื่องที่ผมไม่สามารถทำใจได้ แต่ผมคิดถึงคนคนหนึ่งที่เราไม่มีวันที่จะหามาทดแทนได้ และจะอยู่ในความทรงจำของพวกเราตลอดไป นั่นก็คือ เซอร์จิโอ” 4/

แหล่งที่มา :

1/ En.wikipedia.org. 2020. S?rgio Vieira De Mello. [online] Available at: [Accessed 26 April 2020].

2/ openDemocracy. 2020. Researching For Humanity : The Death Of Arthur Helton & The Survival Of Gil Loescher.[online] Available at: [Accessed 26 April 2020].

3/ Npr.org. 2020. NPR Choice Page. [online] Available at: [Accessed 26 April 2020].

4/ UN News. 2020. Top UN Envoy Sergio Vieira De Mello Killed In Terrorist Blast In Baghdad. [online] Available at: [Accessed 26 April 2020].