บอร์ดประกันสังคมไม่จ่าย75% กฎหมายเปิดช่อง รัฐมนตรีชงครม.ชี้ขาด

หม่อมราชวงศ์จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน

“บอร์ดประกันสังคม” ตีแสกหน้า“หม่อมเต่า” ลงมติเอกฉันท์ไม่อนุมัติเพิ่มเงินเยียวยาเป็น 75% ทั้งฝ่าย “ลูกจ้าง-นายจ้าง” หวั่นเงิน “กองทุนว่างงาน” 1.6 แสนล้าน ถูกถลุงเกลี้ยง ชี้ไม่มีแผนสำรองดูแลปัญหาในอนาคต ขณะที่การจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนลดลงต่อเนื่อง จี้เฝ้าระวังช่วงท้ายปีหลังโควิด-19 คลี่คลาย ต้องใช้เงินอีกมาก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หม่อมราชวงศ์จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ระบุว่า จะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพิ่มการจ่ายเงินกรณีว่างงานจากเหตุสุดวิสัยที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ให้ผู้ประกันตนมาตรา 33 เพิ่มขึ้นจาก 62% เป็น 75% แต่ไม่เกินเพดาน 15,000 บาท ให้เท่ากับกรณีนายจ้างสั่งให้หยุดงานและจ่ายเงินให้ลูกจ้าง 75% ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน เพื่อเป็นการช่วยเหลือทั้งนายจ้างและลูกจ้างในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19

บอร์ดเอกฉันท์ไม่จ่ายเงินเพิ่ม

นายธีระวิทย์ วงศ์เพชร หนึ่งในคณะกรรมการประกันสังคม ตัวแทนฝ่ายลูกจ้าง (ชุดที่ 13) เปิดเผย“ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในการประชุมบอร์ดประกันสังคมครั้งล่าสุด (7 พ.ค. 63) ได้มีการนำเสนอวาระพิจารณา 2 เรื่อง คือ เพิ่มสัดส่วนชดเชยผู้ประกันตนที่ได้รับผลกระทบและเป็นเหตุสุดวิสัยเพิ่มจาก 62% เป็น 75% ของค่าจ้างรายวัน โดยไม่เกิน 15,000 บาท/เดือน พร้อมกับเสนอให้ขยายเวลาชดเชยจาก 3 เดือน เป็นยาวถึงสิ้นปี และ 2.การปรับลดส่งเงินสมทบของนายจ้างเหลือเพียง 1% จากเดิมที่ 4% โดยให้เหตุผลว่าสัดส่วนเดิมที่เยียวยาไม่พอใช้ในแต่ละเดือน อีกทั้งคาดการณ์ว่าปัญหาโควิด-19 น่าจะลากยาวไปจนถึงสิ้นปี

อย่างไรก็ตาม บอร์ดประกันสังคมมีมติเป็นเอกฉันท์ “ไม่อนุมัติ” ทั้ง 2 ประเด็น ซึ่งได้รับเสียงสนับสนุนทั้งจากฝั่งนายจ้าง ลูกจ้าง ที่ปรึกษา รวมถึงตัวแทนจากกรมบัญชีกลาง ก็ยังมีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันอีกด้วย โดยฝ่ายลูกจ้างแสดงความเห็นว่า เมื่อประเมินจากสถานการณ์ปัจจุบันแล้ว “ไม่มีความจำเป็น” อีกทั้งเมื่อเร็ว ๆ นี้ บอร์ดประกันสังคมได้พิจารณาให้การเยียวยาผู้ประกันตนว่างงานไปแล้ว (14 เม.ย. 63)

หวั่นกองทุน 1.6 แสนล้าน เกลี้ยง

โดยมติบอร์ดให้เหตุผลว่า 1) เมื่อสถานการณ์โควิดคลี่คลาย จะมีผู้ตกงานตามมาอีกเป็นจำนวนมาก 2) กังวลว่าเงินใน “กองทุนว่างงาน” จะถูกใช้จนหมด โดยที่ไม่มีแผนสำรองว่าจะบริหารจัดงานอย่างไร และ 3) จะมีผู้ตกงานจากส่วนที่เป็นสัญญาจ้าง (subcontract) จากรัฐวิสาหกิจต่าง ๆ เพิ่มขึ้นอีกมาก ซึ่งหากนำเงินจากกองทุนว่างงานที่มีอยู่ 1.6 แสนล้านบาท มาใช้โดยไม่จำเป็น ในอนาคตจะบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประกันตนในอนาคตอย่างไร

“ในข้อเท็จจริงที่ผ่านมา กลุ่มสมาพันธ์ลูกจ้างต่าง ๆ ได้นำเสนอให้ใช้เงินจากกองทุนว่างงานเพียง 50% เท่านั้น ซึ่งที่ประชุมบอร์ดก็คุยกันตัวเลขนี้ แต่ในการประชุมบอร์ดครั้งก่อนก็เสนอตัวเลข 62% เข้ามาพิจารณาและอนุมัติเพื่อชดเชยให้กับ 2 กลุ่ม คือ กลุ่มธุรกิจที่ภาครัฐสั่งปิดกิจการ และนายจ้างที่ปิดกิจการเองชั่วคราว และเมื่อ ครม.ขยายมาตรการเยียวยาโดยให้โควิด-19 เป็นเหตุสุดวิสัยนั้น ทำให้ต้องมีการใช้เงินมากขึ้น อีกทั้งเชื่อว่าเงินกองทุนว่างงานนี้จะต้องถูกใช้จนหมดแน่นอน”

กฎหมายเปิดช่อง “รมว.” ชง ครม.

นายธีระวิทย์กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า สถานการณ์และการระบาดของโควิด-19 น่าจะยังส่งผลกระทบไปจนถึงสิ้นปี อีกทั้งจะมีผู้ประกันตนได้รับผลกระทบเพิ่มขึ้นอีกมาก ฉะนั้นต้องยอมรับว่า ทั้งในกลุ่มลูกจ้างด้วยกันก็มีความเห็นที่แตกต่าง โดยเฉพาะผู้ประกันตนตามมาตรา 33 หรือลูกจ้าง ผู้ซึ่งทำงานให้กับนายจ้างที่อยู่ในสถานประกอบการ ที่มีทั้งการปิดกิจการแบบถาวร หรือปิดชั่วคราว จะค่อนข้างได้รับผลกระทบอย่างหนัก และต้องการความช่วยเหลือที่รวดเร็ว หรือแม้แต่ภายในบอร์ดประกันสังคมเองก็ตาม ก็ยังมีความเห็นที่แตกต่างกันในการแก้ปัญหาครั้งนี้

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าในที่ประชุมบอร์ดประกันสังคมจะมีมติไม่อนุมัติให้เพิ่มเงินชดเชยให้กับผู้ประกันตน แต่กระทรวงแรงงานก็ยังสามารถนำเรื่องดังกล่าวเสนอในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ เพราะตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม ได้ระบุอำนาจหน้าที่ของบอร์ดประกันสังคมเป็นผู้ให้คำปรึกษา ตั้งข้อสังเกตได้เพียงเท่านั้น

ทั้งก่อนหน้านี้ได้มีการนำเสนอให้สำนักงานประกันสังคม ควรเป็น “องค์กรอิสระ” เพื่อให้มีความคล่องตัวในการดำเนินการที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ จากเหตุผลดังกล่าวเชื่อมั่นว่า หม่อมราชวงศ์จัตุมงคล โสณกุล รมว.กระทรวงแรงงาน จะยื่นเรื่องรายละเอียดเพิ่มเงินเยียวยาให้กับผู้ประกันตนที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19

รายงานข่าวระบุเพิ่มเติมถึงการดำเนินงานเพื่อช่วยเหลือแรงงาน เมื่อ 5 พ.ค. 63 ประกันสังคมได้เริ่มทยอยจ่ายเงินเยียวยาผู้ประกันตนจากการว่างงานแล้ว 990,523 ราย โดยเจ้าหน้าที่ได้วินิจฉัยอนุมัติแล้ว 492,273 ราย รวมเป็นเงิน 2,563.612 ล้านบาท

เสี่ยงขัด พ.ร.บ.ประกันสังคม

แหล่งข่าวจากคณะกรรมการประกันสังคมเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การดำเนินการตามนโยบาย หากไม่สอดคล้องกับมติบอร์ดก็มีความเสี่ยง และมีความล่อแหลมว่า การพิจารณาจ่ายเพิ่มเป็น 75% จะขัดกับ พ.ร.บ.กองทุนประกันสังคมฯ อย่างไรก็ตาม แนวทางตามนโยบายที่รัฐมนตรีแรงงานเสนอ ก็ยังสามารถนำสู่การพิจารณาของ ครม.ในสัปดาห์หน้าได้ โดยรัฐมนตรีสามารถใช้อำนาจลงนามหนังสือเพื่อเสนอมาตรการเพิ่มสิทธิประโยชน์ทดแทนการว่างงานจากโควิดเป็น 75% ได้โดยตรง

สำหรับสถานะของกองทุนประกันสังคมขณะนี้ ยังมีเพียงพอที่จะใช้รับภาระการจ่ายเงินชดเชยต่าง ๆ ได้ แต่ในอนาคตต้องหาแนวทางในการ “เพิ่ม” เม็ดเงินให้กับกองทุนประกันสังคม เพราะก่อนหน้านี้ รัฐบาลไม่เห็นชอบให้นำเงินกู้จากโควิดของรัฐบาลมาเติม แต่ให้กระทรวงแรงงานหาแนวทางเพิ่มเงินกองทุนเอง ซึ่งเป็นไปได้หรือไม่ที่จะดึงงบประมาณของกระทรวงส่วนหนึ่งมาเพิ่มให้กองทุน เพราะขณะนี้กองทุนมีรายรับจากเงินสมทบประกันสังคมลดลง ประกอบกับมีรายจ่ายจากการชดเชยต่าง ๆ กรณีว่างงานเพิ่มขึ้น

สมาพันธ์ SMEs ร้องขอเพิ่ม

ด้านนายแสงชัย ธีรกุลวาณิช เลขาธิการสมาพันธ์ SMEs ไทย เปิดเผยว่า สมาพันธ์ได้นำคณะเข้าพบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อขอให้เพิ่มมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่ประสบปัญหาขาดสภาพคล่อง โดยขอให้ประกันสังคมช่วยจ่ายค่าจ้างให้กับลูกจ้าง ในกรณีนายจ้างหยุดงานชั่วคราวโดยเหตุสุดวิสัย เพิ่มจาก 62% เป็น 70-75%

รวมทั้งขอให้ประกันสังคมรช่วยเหลือผู้ประกอบการจะได้มีสภาพคล่องพยุงการจ้างงาน โดยการขยายโครงการสินเชื่อเพื่อส่งเสริมการจ้างงาน วงเงิน 30,000 ล้านบาท และปรับเงื่อนไขการกู้ โดยไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน และให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้แทน สัดส่วน 10-20% ของวงเงินที่ผู้ประกอบการจ่ายสมทบ  ดอกเบี้ยต่ำ 3% หรือปลอดดอกเบี้ย 6 เดือน-1 ปี เพื่อเข้าถึงเงินทุนได้มากขึ้น