“โตโยต้า” ธุรกิจชุมชนพัฒน์ ขยายศูนย์เรียนรู้ช่วย ศก.ฐานราก

เพราะปรัชญาการดำเนินธุรกิจที่มุ่งส่งเสริมพัฒนาการและสวัสดิการของประเทศ ร่วมกับการเจริญเติบโตของชุมชน และประเทศที่โตโยต้าเข้าไปดำเนินธุรกิจ ของ “ซากิชิ โตโยดะ” ผู้ก่อตั้งโตโยต้า จึงทำให้บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด มุ่งมั่นที่จะร่วมพัฒนาสังคมไทยผ่านกิจกรรมเพื่อสังคมในหลากหลายโครงการ ทั้งยังมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง

โดยหนึ่งในนั้น คือ “โครงการโตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์” ที่เป็นการนำองค์ความรู้ของโตโยต้าในประเทศไทยมาช่วยพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก เพื่อสร้างความเป็นมืออาชีพให้ธุรกิจชุมชน จนบริหารธุรกิจ จัดการต้นทุน และตอบสนองความต้องการของลูกค้ามากขึ้น ซึ่งเป็นแนวคิดในการนำนวัตกรรมองค์กรมาเป็นตัวขับเคลื่อนสังคมไทยให้เข้าสู่ยุคแห่งการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ผลเช่นนี้ จึงทำให้ล่าสุดมีการส่งมอบโครงการโตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์ แก่ กลุ่มแม่บ้านโคกสว่าง ข้าวแตนสมุนไพรสายทิพย์ ต.คอนฉิม อ.แวงใหญ่ จ.ขอนแก่น ซึ่งเป็นธุรกิจชุมชนแห่งที่ 4 ต่อจากธุรกิจชุมชนในจังหวัดกาญจนบุรี, กระบี่ และประจวบคีรีขันธ์

“ภีมะ ฮัดเจสสัน” ผู้อำนวยการฝ่ายประชาสัมพันธ์ และกิจกรรมสังคม บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า โครงการโตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์ เริ่มต้นขึ้นในปี 2555 ซึ่งเป็นปีที่โตโยต้าดำเนินธุรกิจในประเทศไทยครบ 50 ปี โดยถือเป็นโครงการนวัตกรรมทางสังคมรูปแบบใหม่ของโตโยต้า ที่มุ่งสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ผ่านการสร้างความเข้มแข็งแก่เศรษฐกิจฐานราก

“ด้วยการนำนวัตกรรมทางความคิดของโตโยต้าที่ได้รับการยอมรับในระดับสากลมาช่วยองค์กรจนสามารถเติบโต และขยายธุรกิจไปทั่วโลกอย่างมั่นคง ทั้งระบบการผลิตแบบโตโยต้า (Toyota Production System : TPS) วิถีโตโยต้า (Toyota Way) และปรัชญาลูกค้าเป็นที่หนึ่ง (Customer First) มาถ่ายทอดสู่ผู้ประกอบการธุรกิจฐานราก ที่ส่วนใหญ่จะเป็นธุรกิจขนาดกลาง และขนาดย่อม (SMEs) โดยคิดเป็น 40% ของประเทศ ที่มีบทบาทสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย”

“ดังนั้นเพื่อให้ SMEs ดำเนินธุรกิจอย่างมืออาชีพ เพิ่มกำไร อยู่ได้ด้วยตนเองอย่างยั่งยืน โดยสอดคล้องกับทิศทางการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจของรัฐบาลภายใต้นโยบายประชารัฐ ที่เป็นการร่วมมือกันระหว่างภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาชน เพื่อให้ธุรกิจมีการเจริญเติบโต โตโยต้าจึงทำการส่งต่อความรู้ผ่านการร่วมแก้ปัญหาทางธุรกิจอย่างใกล้ชิด”

“โดยทุกขั้นตอนจะมีพนักงานเกษียณอายุจากบริษัทเข้าไปเป็นพี่เลี้ยง ร่วมคิด ร่วมแก้ปัญหากับผู้ประกอบการ เพื่อให้ธุรกิจสามารถทำการปรับปรุงต่อไปด้วยตนเอง ทั้งยังนำองค์ความรู้และประสบการณ์ต่าง ๆ ไปขยายผลสู่ผู้ประกอบการอื่น ๆ ต่อไป”

ในกระบวนการส่งมอบความรู้ “โตโยต้า” นำนวัตกรรมทางความคิดที่เกิดจากโรงงานอุตสาหกรรม มาปรับใช้ให้เข้ากับสภาพการทำงานของธุรกิจชุมชนไทย เพื่อให้เกิดเป็นบริบทใหม่ในการทำธุรกิจ 4 ขั้นตอน คือ

หนึ่ง รู้-ปัญหาในทุกกระบวนการ

สอง เห็น-ถึงแนวทางการแก้ไข

สาม เป็น-สามารถแก้ไขปัญหาเป็นด้วยตัวเอง

สี่ ใจ-ทำงานด้วยใจ เข้าใจ ใส่ใจ และถูกใจ

“ภีมะ” กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการดำเนินโครงการโตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์ กลุ่มแม่บ้านโคกสว่าง ข้าวแตนสมุนไพรสายทิพย์ บริษัท โตโยต้าขอนแก่น ผู้จำหน่ายโตโยต้า จำกัด และบุคลากรจากโตโยต้า เข้าไปร่วมสำรวจปัญหาของธุรกิจชุมชน ตั้งแต่เดือนตุลาคม ปี 2558 ผ่านมา

จากการสำรวจพบว่า ปัญหาหลักของธุรกิจชุมชน คือ การผลิตที่ไม่เต็มประสิทธิภาพ, การควบคุมคุณภาพผลผลิต, การจัดการสินค้าคงคลัง และการส่งมอบสินค้าอย่างไม่เป็นระบบ โดยบุคลากรจากโตโยต้า ผู้แทนจำหน่าย และเจ้าของธุรกิจชุมชน จึงร่วมมือในการปรับปรุงธุรกิจ ดังนี้

หนึ่ง เพิ่มผลิตภาพ โดยโตโยต้ามองเห็นปัญหาคอขวดในกระบวนการปั้นข้าว ที่ก่อให้เกิดความล่าช้าในการผลิต จนทำให้ผลิตไม่เต็มประสิทธิภาพ ตรงนี้จึงแก้ปัญหาด้วยการทำแม่พิมพ์การผลิตใหม่ให้มีมาตรฐาน จนเพิ่มผลิตภาพได้ถึง 2 เท่า จาก 600,000 ชิ้นต่อเดือน เป็น 1,200,000 ชิ้นต่อเดือน

สอง การควบคุมคุณภาพ ลดต้นทุนของเสีย โดยปรับการทำงานในกระบวนการปั้น-ตาก-โรยน้ำตาล เพื่อลดความสูญเปล่าในกระบวนการผลิต จากเดิมพบว่าแผ่นข้าวแตก หรือหักในกระบวนการผลิตที่ 11% (15 กิโลกรัมต่อวัน) แต่หลังจากปรับปรุงสามารถลดของเสียจากการผลิตเหลือเพียง 0.01% ซึ่งคิดเป็นมูลค่ากว่า 3,000 บาทต่อวัน

สาม สอนการวางแผนธุรกิจ, แผนการขาย และแผนการผลิต ภายใต้ระบบการผลิตแบบทันเวลาพอดี (just in time) โดยโตโยต้าจัดระบบการทำงานให้เป็นระเบียบมากขึ้น ผ่านการทำแบบฟอร์ม บอร์ดแห่งการมองเห็น และสนับสนุนให้มีการจัดประชุมระหว่างฝ่ายต่าง ๆ เพื่อให้ทุกคนมองเห็นถึงจำนวนงานเข้า-ออก และปัญหาต่าง ๆ ร่วมกัน ทั้งยังช่วยวางแผนการผลิต และส่งมอบสินค้าได้ดีขึ้น เพื่อป้องกันการผิดพลาด รวมถึงจัดการสินค้าคงคลังอย่างเป็นระบบมากขึ้น แม้ตลาดจะมีการขยายตัว

“การส่งมอบโครงการครั้งนี้ เราต้องการให้เจ้าของธุรกิจดำเนินงานปรับปรุงธุรกิจด้วยตัวเองต่อไป ซึ่งหวังว่ากลุ่มแม่บ้านโคกสว่าง ข้าวแตนสมุนไพรสายทิพย์ จะดำเนินธุรกิจอย่างมืออาชีพด้วยตัวเอง และสามารถรักษามาตรฐานการดำเนินงาน และวัฒนธรรมไคเซ็นอย่างต่อเนื่อง”

“อีกทั้งโตโยต้ายังมีการติดตามผลการดำเนินงานธุรกิจชุมชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มั่นใจว่าธุรกิจจะมีการพัฒนาต่อไปอย่างยั่งยืน และที่สำคัญ เราคาดว่าจะสามารถยกระดับธุรกิจชุมชนพัฒน์ กลุ่มแม่บ้านโคกสว่าง ข้าวแตนสมุนไพรสายทิพย์ เป็นศูนย์การเรียนรู้ภาคอีสานภายในปีนี้อีกด้วย”

ถึงตรงนี้ “ภีมะ” กล่าวเสริมว่า จากการดำเนินงานผ่านมา ทั้ง 4 ธุรกิจชุมชนพัฒน์ ความสำเร็จที่เกิดขึ้น คือ ผู้ประกอบการสามารถนำนวัตกรรมความคิดของโตโยต้า ไปประยุกต์ใช้กับธุรกิจอื่น ๆ พร้อมทั้งยังยกระดับเป็นศูนย์การเรียนรู้ เพื่อให้ผู้ประกอบการต่าง ๆ อาทิ ธุรกิจชุมชนพัฒน์ กลุ่มตัดเย็บเสื้อยืดโปโล ฮาร์ท โอทอป จ.กาญจนบุรี นำไปต่อยอดต่อไป

“ปีนี้เราคาดว่าจะสามารถเดินหน้าต่อยอดโครงการธุรกิจชุมชนพัฒน์ต่อไปอีก 8 แห่ง ใน 8 จังหวัด ทั้งยังตั้งเป้าที่จะขยายให้ครอบคลุมทุกจังหวัดทั่วประเทศ ภายในปี 2565 ซึ่งจะเป็นปีที่โตโยต้าครบรอบ 60 ปี ของการดำเนินธุรกิจในประเทศไทย แต่การจะทำเช่นนั้นได้ เราต้องทำงานร่วมกับภาครัฐ ชุมชน และผู้แทนจำหน่ายโตโยต้าทั่วประเทศ ด้วยการแนะนำแนวทางการเพิ่มศักยภาพแก่ธุรกิจชุมชนไทย ที่เปรียบเสมือนรากฐานทางเศรษฐกิจของประเทศเพื่อรองรับการแข่งขันต่อไปในอนาคต”

อันเป็นการขับเคลื่อนความมั่นคงของเศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืน พร้อมกับสร้างความสุขแก่สังคม และชุมชนต่อไป