“หม่อมเต่า” ลุ้นชง “วาระจร” จ่ายว่างงาน 9.9 แสนคน 75 %

“หม่อมเต่า” ลุ้นชง “วาระจร” จ่ายว่างงาน 9.9 แสนคน 75 %
Photo by Mladen ANTONOV / AFP

รมว.แรงงาน ยังหวังนำวาระเพิ่มเงินชดเชยกรณีว่างงานจากเหตุสุดวิสัย จากจากเดิมร้อยละ 62 เป็นร้อยละ 75 ยาวถึงสิ้นปี แม้บอร์ดประกันสังคมคัดค้านเอกฉันท์ รอลุ้นอังคารที่ 12 พ.ค. อาจเข้าเป็นพิจารณาในคณะรัฐมนตรีเป็น “วาระจร” ชงปรับสัดส่วนเงินนำส่งกองทุนจากร้อยละ 12.3 เป็น 28.5

เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2563 ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า จนถึงขณะนี้ตนยังไม่ได้รับเอกสารการรายงานผลอย่างเป็นทางการจาก นายสุทธิ สุโกศล ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานบอร์ดประกันสังคม กรณีที่จะเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 12 พฤษภาคม 2563 พิจารณาเห็นชอบ ให้สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ปรับเพิ่มเงินชดเชยกรณีว่างงานจากเหตุสุดวิสัย เพราะได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ให้กับผู้ประกันตน มาตรา 33 ที่มีการลงทะเบียนขอรับเงินเยียวยาประมาณ 9.9 แสนคนเศษ จากเดิมร้อยละ 62 เป็นร้อยละ 75 แม้คณะกรรมการ (บอร์ด) ประกันสังคม ลงมติในการประชุมไปแล้วว่า ไม่เห็นด้วย

“ในวันที่ 12 พฤษภาคมนี้ สิ่งที่จะมีการนำเข้าหารือในที่ประชุม ครม.จึงมีเพียงการรายงานเรื่องความคืบหน้าการจ่ายเงินเยียวให้กับผู้ประกันตนในอัตราร้อยละ 62  ซึ่งผมจะต้องมีการรายงานผลต่อที่ประชุม ครม.ว่ามีการจ่ายเงินให้ผู้ประกันตนแล้วจำนวนกี่ราย เป็นเงินเท่าไร ส่วนเรื่องของการเสนอให้จ่ายเพิ่มเติมผู้ประกันตนเป็นร้อยละ 75 นั้น ในเมื่อวันนี้ยังไม่มีการรายงานผลการประชุมบอร์ดประกันสังคมมา ก็ต้องรอออกไปก่อน แต่ก็ไม่แน่นะ บางทีอาจจะมีการรายงานผลมาในเช้าวันอังคาร และนำเข้าที่ประชุม ครม.วาระจรก็ได้ ทุกอย่างเป็นไปได้เสมอ” ม.ร.ว.จัตุมงคล กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า แม้บอร์ดประกันสังคมจะไม่เห็นด้วยกับแนวคิดนี้ แต่มีแนวโน้มจะใช้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานบ้างหรือไม่ ม.ร.ว.จัตุมงคล กล่าวว่า “คราวก่อนได้ใช้อำนาจไปแล้วที่เพิ่มให้จากร้อยละ 50 เป็นร้อยละ 62 แต่รอบนี้จะขอดูเหตุผลของบอร์ดประกันสังคมก่อนว่ามีความคิดเห็นอย่างไรกับเรื่องนี้ โดยส่วนตัวได้มีการพิจารณาแล้วเห็นว่า ในขณะนี้ผู้ประกันตนก็เดือดร้อนจริง และมีตัวเลขที่ลงทะเบียนไม่ถึง 1 ล้านคน การจะเพิ่มให้เป็นร้อยละ 75 แม้จะยาวถึงปลายปี ก็ยังสามารถทำได้ เพราะเงินกองทุนก็มีสะสมอยู่ 2.1 ล้านล้านบาท ไม่ได้เป็นภาระอะไรมากมาย แต่ก็ขึ้นกับว่าจะอีก 3 เดือน หรือ 6 เดือน คนว่างงานเพิ่มขึ้นอีกหรือไม่ ถึง 2 ล้านคนหรือไม่ เรื่องการจ่ายเงินจึงไม่ใช่เรื่องใหญ่ สามารถไปบริหารจัดการได้”

“เรื่องนี้ไม่ได้หยุด แต่เพียงแค่ต้องรอ ส่วนบอร์ดก็ต้องไปคิดว่าจะเอาไม่เอา แต่สำหรับผมเห็นว่ามีวิธีการ มันอยู่ที่การบริหารจัดการ ผมมีหน้าที่เซ็นเอกสาร ออกกฎกระทรวง ผมไม่คิดจะขัดแย้งกับใคร บอร์ดประกันสังคมอยู่มานานกว่า ผมเพิ่งเข้ามา และผมเพียงแต่มีแนวคิด เพราะเวลามีอะไรก็มาถามที่รัฐมนตรี เช่น เงินชดเชยว่างงานที่บอกว่าล่าช้า ผมก็ลองใช้วิธีการของผม คิดว่าคอมพิวเตอร์จะทำได้หมด ให้เขาทดลองเอารายชื่อคนที่ขอใช้สิทธิกรณีว่างงานเข้าไปคีย์ในคอมพิวเตอร์ แต่เจ้าหน้าที่ทำแล้วไม่ได้ เขาบอกว่าต้องรอให้คนครบ 5,000 คน คอมพิวเตอร์ถึงจะทำได้ ผมถึงรู้ว่าระบบคอมพิวเตอร์ของประกันสังคมมีปัญหา ล้าสมัยมานาน” ม.ร.ว.จัตุมงคล กล่าว

ม.ร.ว.จัตุมงคล กล่าวว่า ในฐานะที่ตนมีประสบการณ์ เคยดูแลงบประมาณ ทำเรื่องเงินมา เข้าใจดีถึงความรู้สึกของบอร์ดประกันสังคม และเจ้าหน้าที่ในสำนักงานประกันสังคม ที่เกิดความรู้สึกไม่มั่นใจ เกรงว่าหากดำเนินการตามแนวคิดนี้ กองทุนอาจจะเกิดปัญหาในอนาคต ดังนั้นต้องให้เงินอยู่ในกองทุนไว้ก่อน เพราะต้องมีการเตรียมเงินจำนวนมากไว้จ่ายให้กับผู้ประกันตนที่เกษียณอายุ ซึ่งในเร็ว ๆ นี้ต้องจ่ายจำนวนมาก และต้องนำไปจ่ายสิทธิประโยชน์ให้แก่ผู้ประกันตนในด้านอื่นๆ ด้วย แต่ยังเชื่อมั่นว่าหากมีการบริหารจัดการดีๆ กองทุนไม่มีปัญหา

“ผมตั้งข้อสังเกตว่า นับตั้งแต่มีการตั้งกองทุนประกันสังคมมากเป็นเวลา 30 ปี ขณะนี้มีการนำเงินเข้ากองทุนเพียงร้อย 12.5 เท่านั้น แต่ในประเทศที่พัฒนาเขามีการนำเงินเข้ากองทุนในลักษณะนี้ถึงร้อยละ 30.5 ซึ่งจะทำให้กองทุนมีเสถียรภาพ เกิดความมั่นคง และดูแลผู้ประกันตนได้แบบไม่ติดขัด ส่วนของประเทศไทยนั้น เห็นว่าควรจะนำเข้าประมาณร้อยละ 28.5” ม.ร.ว.จัตุมงคล กล่าว

รมว.แรงงานกล่าวด้วยว่า โดยส่วนตัวมีความเห็นว่าควรดำเนินการปรับปรุงโครงสร้างประกันสังคม ซึ่งกำลังศึกษาในรายละเอียด เพราะนับแต่ตั้งกองทุนมายังไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ แต่เรื่องนี้คงยังไม่ได้ทำในเร็วๆ นี้ ต้องรอให้วิกฤตโควิด-19 คลี่คลาย และต้องอาศัยเวลาศึกษาข้อมูลให้รอบด้าน


อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง