ตามรอย “พ่อ” สู้วิกฤต รอดพอดีด้วยศาสตร์พระราชา

ขณะนี้ทั่วโลกกำลังประสบกับวิกฤตครั้งใหญ่เนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า 2019 หรือโควิด-19 ส่งผลให้เศรษฐกิจทุกประเทศได้รับผลกระทบอย่างหนัก โดยเฉพาะประเทศไทยมีแนวโน้มจะทรุดหนักยิ่งกว่าวิกฤตต้มยำกุ้ง เมื่อปี 2540 เพราะเหตุการณ์ครั้งนี้กระทบไปถึงประชาชนกลุ่มรากหญ้า หลายคนตกงาน รายได้หดหาย ขณะที่รายจ่ายอื่น ๆ ยังคงอยู่ บางรายไม่มีแม้แต่เงินสำรองที่จะนำไปซื้ออาหารประทังชีวิต จนรัฐต้องมีมาตรการออกมาเยียวยา และแม้ว่าตอนนี้จำนวนผู้ติดเชื้อจะมีแนวโน้มลดลง แต่เศรษฐกิจไทยยังต้องประคับประคองกันไป จนกว่าจะมีวัคซีนขึ้นมาช่วยยับยั้งการแพร่เชื้อได้

ผลเช่นนี้ จึงทำให้โครงการ “พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน” (ตามรอยพ่อฯ) ปีที่ 8 ซึ่งเกิดจากความร่วมมือของบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด, สถาบันเศรษฐกิจพอเพียง มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ได้มีการจัดกิจกรรมพิเศษ สนทนาสดออนไลน์ผ่านทางเฟซบุ๊ก โครงการพลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน ในหัวข้อ “ตามรอยพ่อฯ สู้วิกฤตโควิด-19 รอดพอดีด้วยศาสตร์พระราชา”

ด้วยการนำเสนอ “ศาสตร์พระราชา” ซึ่งเป็นศาสตร์แห่งการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานเป็นแนวทางในการปรับปรุงชีวิตความเป็นอยู่ของคน เพื่อเป็นหลักปฏิบัติในการรับมือกับวิกฤตต่าง ๆ รวมถึงวิกฤตโควิดครั้งนี้ด้วยเช่นกัน

“อาทิตย์ กริชพิพรรธ” ผู้จัดการใหญ่ฝ่ายสนับสนุนธุรกิจ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด กล่าวถึงโครงการว่า เรากำลังเผชิญกับวิกฤต ซึ่งไม่ได้มีแค่โรคระบาด หลายคนลืมไปว่าปัญหาภัยแล้งปีนี้ยังคงมีอยู่ และเชื่อว่าศาสตร์พระราชาที่พระองค์พระราชทาน คนที่นำไปปรับใช้ไม่ว่าจะเรื่องปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง หรือทฤษฎีใหม่ จะได้รับผลกระทบน้อย เพราะศาสตร์นี้ครอบคลุมทุกมิติในการเป็นหลักดำรงชีวิต

สิ่งที่โครงการตามรอยพ่อฯ ดำเนินการมาโดยตลอดจนเข้าสู่ปีที่ 8 ในปีนี้ คือ การสื่อสาร เพื่อสืบสานพระราชปณิธาน และน้อมนำศาสตร์พระราชาด้านการบริหารจัดการ ดิน น้ำ ป่า และพัฒนาคน มาเผยแพร่ให้ประชาชนทั่วไปได้รับรู้ เกิดความตระหนัก และนำไปสู่การปฏิบัติที่เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม นอกจากนี้ที่ผ่านมา โครงการยังประสบผลสำเร็จในการขยายจำนวน “คน” และ “เครือข่าย” ที่นำศาสตร์พระราชา และภูมิปัญญาท้องถิ่นมาสู่การปฏิบัติจริง โดยมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมในโครงการรวมแล้วกว่า 20,000 คน มีการร่วมกันจัดกิจกรรมเอามื้อสามัคคี เพื่อให้ภาคีเครือข่ายหลายภาคส่วนเข้ามาเรียนรู้ร่วมกัน จากนั้นจึงค่อยทำกิจกรรมร่วมกัน ในการสร้างความสัมพันธ์ต่าง ๆ เพื่อสื่อสารออกไปให้ประชาชนได้รับรู้

“นับตั้งแต่ช่วงเวลานี้ไปจนถึงเดือนมิถุนายน โครงการจะมุ่งเน้นผลิตสื่อต่าง ๆ ที่เป็นองค์ความรู้ รวมถึงตัวอย่างผู้ประสบความสำเร็จจากการน้อมนำเอาศาสตร์พระราชามาใช้ในการดำรงชีวิต เพื่อเป็นแรงบันดาลใจแก่คนทั่วไปให้สามารถพึ่งพาตัวเอง เอาตัวรอดได้ในภาวะวิกฤต เพื่อเป็นแนวทางพร้อมรับวิกฤตอื่น ๆ ที่อาจจะตามมาในอนาคต ทั้งปัญหาทางเศรษฐกิจ ภาวะความยากจน การขาดแคลนอาหาร ภัยแล้ง และน้ำท่วม โดยเผยแพร่ทางช่องทางออนไลน์ และโซเชียลมีเดียของโครงการ ได้แก่ เว็บไซต์ เฟซบุ๊ก ไลน์ ยูทูบ และอินสตาแกรม”

“ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร” หรือ “อาจารย์ยักษ์” นายกสมาคมดินโลก และที่ปรึกษามูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ กล่าวเสริมว่า ศาสตร์พระราชาเป็นทางรอดในทุกวิกฤต ไม่ใช่แค่ภัยธรรมชาติ ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนี้พบว่า คนที่น้อมนำเอาศาสตร์พระราชา โดยยึดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และทฤษฎีใหม่มาใช้ ล้วนแต่ได้รับผลกระทบน้อยกว่าผู้อื่น

“เพราะขณะที่หลายคนขาดรายได้ ขาดแคลนอาหาร แต่คนเหล่านี้ยังมีแหล่งน้ำ แหล่งอาหารเป็นของตนเอง ทั้งยังสามารถนำผลผลิตที่มีไปแจกจ่ายให้ผู้อื่นต่อได้ เช่น คนที่อยู่ภาคเหนือมีผลผลิตพืชผักสวนครัวของตนเอง ก็ส่งไปให้คนที่อยู่ภาคใต้ ส่วนคนภาคใต้มีบ้านอยู่ใกล้ทะเลก็อาจจะส่งกุ้ง หอย ปู ปลา มาให้คนที่อยู่ภาคเหนือ แลกเปลี่ยนผลผลิตกันในเครือข่าย หรืออาจนำไปแจกจ่ายให้กับคนที่ไม่มีกินในพื้นที่อื่น ๆ ได้ ดังนั้น คนที่ทำตามศาสตร์ของพระองค์จะไม่มีทางอดอยาก”

“สำหรับโครงการตามรอยพ่อฯ เราน้อมนำข้อความใน ส.ค.ส.ที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 พระราชทานแก่คนไทยเมื่อปี พ.ศ. 2547 ที่ว่าสามัคคีเป็นพลัง ค้ำจุนแผ่นดินไทย ตรงนี้เป็นคติประจำใจในการดำเนินโครงการมาตลอด โดยข้อความดังกล่าวปรากฏอยู่ตรงกลางรูปแผนที่ประเทศไทย ซึ่งในแผนที่มีรูประเบิดจุดชนวนอยู่ 4 ทิศ อาจตีความได้ว่าประเทศกำลังเผชิญวิกฤต 4 ด้าน ทั้งวิกฤตด้านสิ่งแวดล้อม วิกฤตด้านเศรษฐกิจ วิกฤตด้านความเหลื่อมล้ำทางสังคม และวิกฤตด้านการเมือง ทั้งหมดส่งผลให้เกิดโรคระบาด ภัยแล้ง หมอกควัน ข้าวยากหมากแพง ความอดอยาก เกิดความขัดแย้ง แย่งน้ำ แย่งอาหาร แย่งอำนาจกัน”

“ฉะนั้น พระองค์จึงอยากให้คนไทยสามัคคีกันไว้ เพื่อนำพาให้ทุกคนผ่านพ้นวิกฤตดังที่กล่าวมา ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ถือเป็นเสาหลักในการกู้วิกฤตทั้ง 4 ด้าน โดยต้องปรับแนวความคิดการดำเนินชีวิตใหม่ จากการมุ่งเน้นหาเงินทอง เป็นการสร้างพื้นฐานปัจจัย 4 ได้แก่ อาหาร ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค เพื่อให้พอกิน พอใช้ พออยู่ และพอร่มเย็น”

“ดร.วิวัฒน์” กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ศาสตร์พระราชายังสามารถนำมาปรับใช้ได้กับทุกอาชีพ โดยเฉพาะอาชีพเกษตรกรเป็นเพียงหนึ่งในนั้น โดยจุดเริ่มต้นของคนที่อยากลงมือทำ คือ เริ่มจากศึกษาตัวอย่างของคนที่เขานำมาปรับใช้แล้วประสบผลสำเร็จ จากนั้นจึงหาช่องทางติดต่อเพื่อสร้างเครือข่ายแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ไม่ว่าจะคนเมือง หรือชนบท ก็สามารถนำศาสตร์พระราชามาปฏิบัติได้ โดยคนเมืองซึ่งมีอยู่ประมาณ 30% เป็นคนที่อยู่คอนโดมิเนียม, อยู่หอพัก หรือคนมีที่ดิน 50 ตารางวา อาจเริ่มด้วยการพึ่งพาตัวเอง เช่น การปลูกพืชผักสวนครัว ปลูกพืชริมรั้วกินได้ หรือการทำน้ำยาต่าง ๆ ใช้เอง เป็นต้น

“ส่วนอีก 70% เป็นคนที่อยู่ในชนบท ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ ก็สามารถปรับพื้นที่ทำการเกษตรตามแนวทางโคก หนอง นา โมเดล เก็บน้ำเพื่อให้มีน้ำกินน้ำใช้เพียงพอตลอดทั้งปี มีอาหารการกินไม่ต้องไปซื้อไปหา ผมจึงมีความเชื่อว่า โครงการรวมพลังคนสร้างสรรค์โลกที่ทำมาตลอด 7 ปี คนที่ทำตามจะมีชีวิตที่มั่นคง เอื้อเฟื้อถึงกันทั้งคนเมือง และชนบท อีกทั้งพระองค์เคยเตือนเอาไว้ด้วยว่า อย่าไปหวังความร่ำรวยฉาบฉวย ถ้าก้าวหน้าอย่างมาก เราจะถอยหลังอย่างน่ากลัว จงให้เราค่อย ๆ คิด ค่อย ๆ ทำ แล้วเราจะค่อย ๆ ประสบผลสำเร็จ”

“ในภาวะวิกฤตโควิดเช่นนี้ เราควรอยู่ในฐานที่มั่นของตนเอง พึ่งพาตนเองให้ได้มากที่สุด สร้างภูมิต้านทานให้ตนเอง ทำให้ร่างกายแข็งแรงด้วยการออกกำลังกาย กินอาหารที่ดีมีประโยชน์ หากเป็นอาหารที่เราปลูกเองโดยไม่ใช้สารเคมีจะยิ่งดี เพียงเท่านี้ไม่เพียงตัวเองอยู่รอด สังคมก็อยู่รอด ประเทศชาติก็จะอยู่รอดด้วย ผมเชื่อว่าคนรุ่นใหม่มีพลัง ถ้าลุกขึ้นมาศึกษา และไปดูตัวอย่างในพื้นที่จริง จะทำให้พวกเขาสนใจเรื่องนี้มากขึ้น ทั้งยังช่วยส่งต่อเรื่องราวต่าง ๆ กระตุ้นให้คนอยากมาเรียนรู้มากขึ้นด้วย”

ขณะที่ “ฌอน บูรณะหิรัญ” นักคิด นักเขียน ในฐานะตัวแทนคนรุ่นใหม่ กล่าวว่า ผมมีเป้าหมายอยากอุทิศตนทำงานเพื่อสิ่งแวดล้อมเพื่อให้โลกใบนี้ดีขึ้น เพราะปัญหาสิ่งแวดล้อมในปัจจุบันวิกฤตมาก ไม่ว่าจะเป็นฝุ่น PM 2.5 น้ำท่วม ภัยแล้ง ดังนั้น นับตั้งแต่ผมเข้าร่วมโครงการเมื่อช่วงปลายปี 2562 จึงได้ไปเรียนรู้ที่บ้านใหม่ภูคา จ.น่าน การไปครั้งนั้นทำให้ผมได้เห็นภาพภูเขาหัวโล้นด้วยตาตนเอง และได้รับรู้ถึงต้นเหตุของปัญหาว่า การรุกทำลายป่าเพื่อปลูกพืชเชิงเดี่ยวส่งผลกระทบมากมายต่อทุกคนในทุกพื้นที่ ตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ เมื่อป่าถูกทำลายไม่มีต้นไม้มาซับน้ำให้ภูเขา เกิดดินถล่ม ดินตะกอนไหลไปทับถมในแม่น้ำและในเขื่อน ทำให้ตื้นเขิน เก็บน้ำไม่ได้ หน้าแล้งก็ไม่มีน้ำใช้ พอฝนตกมากก็ท่วมไปถึงกรุงเทพฯ เพราะไม่มีที่เก็บน้ำ

“ต่อมาเมื่อช่วงต้นปีนี้ 2563 ผมพาเพื่อน ๆ ไปร่วมกิจกรรมเอามื้อฯ ที่ อ.กัลยาณิวัฒนา จ.เชียงใหม่ ก็ได้ไปช่วยขุดคลองไส้ไก่ สร้างหลุมขนมครกให้เป็นที่เก็บน้ำบนภูเขาสูง พอขุดเสร็จเขาก็ปล่อยน้ำเข้ามา ซึ่งน่าตื่นเต้นมากที่เห็นน้ำไหลไปตามพื้นที่ที่เราขุดไว้ เราสามารถเก็บน้ำได้ บังคับน้ำให้ไหลไปตามพื้นที่ที่เราต้องการได้ จากการร่วมทำกิจกรรม ทำให้เห็นว่าไม่ว่าพื้นที่แบบไหน ถ้าเรามีความรู้ และลงมือทำจริง เราก็สามารถเปลี่ยนพื้นที่แห้งแล้งให้ปลูกพืชได้ สร้างความอุดมสมบูรณ์ได้ และที่สำคัญ จะมีกิน มีใช้ พึ่งพาตัวเองได้ โดยไม่ต้องไปรุกทำลายป่าและเผาป่า จนทำให้เกิดปัญหา PM 2.5 ซึ่งในภาคเหนือรุนแรงขึ้นทุกปี จนเกินกว่าที่มนุษย์จะอยู่ได้แล้ว ผมจึงเห็นว่าเราต้องช่วยกันรณรงค์อย่างจริงจัง”

“ที่สำคัญคือทุกกิจกรรมที่ได้ร่วม ทำให้เข้าใจคำว่า ศาสตร์พระราชา มากขึ้น เพราะถ้าไม่ได้เห็น และไม่ได้ลงมือทำด้วยตนเอง จะไม่เข้าใจคำคำนี้ว่าสามารถนำพาเราฝ่าวิกฤตได้อย่างไร ผมเชื่อว่าถ้าทำไปเรื่อย ๆ ขยายเรื่อย ๆ และมีการเผยแพร่โครงการมากขึ้น ต่อไปจะกลายเป็นเทรนด์ที่ทำให้คนรุ่นใหม่หันมาสนใจ และทำตามศาสตร์พระราชากันถ้วนหน้า”

ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่า ใครก็ตามที่น้อมนำศาสตร์พระราชาของในหลวงรัชกาลที่ 9 ไปปรับใช้ จะสามารถพึ่งพาตนเองได้ในยามเกิดวิกฤตขณะนี้