ดึงเอกชนกู้เศรษฐกิจหลังโควิด แก้ไขตรงจุด-เพิ่มการจ้างงาน

"ดร.ดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล" ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน

โควิด-19 ซ้ำเติมเศรษฐกิจไทยอย่างหนักในช่วงกว่า 3 เดือนที่ผ่านมา แม้สถานการณ์การระบาดจะเรียกได้ว่าควบคุมได้แล้วก็ตาม แต่ยังต้องเฝ้าระวังเพราะอาจจะกลับมาระบาดอีกครั้ง เนื่องจากรัฐบาล และศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด-19) (ศบค.) ได้เริ่มทยอยคลายล็อกมาตรการต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชนใช้ชีวิตตามปกติบ้างแล้ว

อย่างไรก็ตาม ต่อจากนี้หากโควิด-19 ไม่กลับมาระบาดอีกระลอก ถือว่าภารกิจสำคัญที่ทุกฝ่ายจะต้องให้ความร่วมมือนั่นคือ “กอบกู้เศรษฐกิจ” ของประเทศกลับคืนมา พร้อมทั้งสร้างบรรยากาศการลงทุนเพื่อให้เกิดการจ้างงานตามมาด้วย

“ดร.ดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล” ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงการเยียวยาผู้ประกอบกิจการ และผู้ตกงาน อันเนื่องมาจากสถานการณ์โควิด-19 ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 จนต้องหยุดกิจการหลังทั่วโลกช็อกกับสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่รุนแรงอย่างที่ไม่ได้คาดคิดมาก่อน หลังจากที่ก่อนหน้านี้กระทรวงแรงงานได้ดูแลผู้ประกันตนที่ตกงาน เนื่องจากมีการปิดกิจการ และถูกสั่งปิดชั่วคราวไปแล้ว ขณะที่ “หม่อมราชวงศ์จัตุมงคล โสณกุล” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้เน้นย้ำให้หน่วยงานในสังกัดทำงานอย่างเต็มที่เพื่อดูแลผู้ได้รับผลกระทบจากโรคระบาดโควิด-19 ในครั้งนี้

สำหรับการกอบกู้เศรษฐกิจนั้น มีแนวคิดที่จะเชิญผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบเข้ามาช่วยระดมความคิดเห็นเพื่อให้ได้ “มาตรการ” หรือ “วิธีการ” ที่ตรงกับความต้องการอย่างแท้จริง โดยภายในสัปดาห์นี้จะส่งหนังสือเชิญภาคเอกชน ผู้ประกอบการมาระดมความเห็นว่าจะร่วมกันฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศอย่างไร

ดึงเอกชนลุยแก้ปัญหา

“ดร.ดวงฤทธิ์” อธิบายว่า กระทรวงแรงงานยังขอความร่วมมือไปยังสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.), สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้เชิญ “สมาพันธ์ SMEs ไทย” ที่มีคนเกี่ยวข้องมากกว่า 1 ล้านคน เข้ามาเป็น “แนวร่วม” ในภารกิจกอบกู้เศรษฐกิจครั้งนี้ด้วย

ทั้งนี้ “ดร.ดวงฤทธิ์” ระบุอีกว่า การจะแก้ปัญหาด้านเศรษฐกิจของประเทศต้องให้ผู้ที่รู้ปัญหาอย่างแท้จริงเข้ามาหารือแนวทางเพื่อให้สามารถแก้ปัญหาได้ “ตรงจุด” ที่สุด นอกเหนือจากนี้เมื่อผ่านจุดสูงสุดมาแล้วในช่วงเดือน มี.ค.-เม.ย. 63 กลับพบว่ามีการปิดกิจการ และผู้ตกงานน้อยกว่าที่มีการคาดการณ์เอาไว้ รวมถึงยังมีธุรกิจเกิดใหม่จำนวนมากพอสมควรทำให้แรงงานบางส่วนที่ถูกเลิกจ้างไป ยังพอมีตำแหน่งงานรองรับได้

“ก.แรงงาน อาจจะไม่ใช่กระทรวงที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยตรง แต่ถือว่าได้ทำหน้าที่ส่งเสริมนโยบายของรัฐบาลให้สำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมได้มากที่สุด ผู้ที่ตกงานจะต้องกลับมามีงานทำ ผู้ประกอบการโรงงานจะต้องได้กลับมาเปิดโรงงานอีกครั้ง สิ่งเหล่านี้คือเป้าหมายของ ก.แรงงาน” ดร.ดวงฤทธิ์กล่าว

นักลงทุนยังเชื่อมั่นไทย

นอกเหนือจากนี้ “ดร.ดวงฤทธิ์” ยังระบุเพิ่มเติมอีกว่า ไทยยังคงเป็นประเทศที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุนต่างชาติ เหตุผลคือมาตรการต่าง ๆ ที่รัฐบาลประกาศใช้เพื่อควบคุมสถานการณ์การระบาด ไม่ว่าจะเป็นการสั่งปิดกิจการที่มีความเสี่ยงที่จะติดโควิด-19 การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน รวมถึงการสั่งห้ามเดินทางข้ามจังหวัด และการจ่ายเยียวยาแรงงานผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม สิ่งเหล่านี้ทำให้หลาย ๆ ประเทศชื่นชมการบริหารจัดการของรัฐบาลไทย จำนวนการติดเชื้อที่ลดลง รวมถึงผู้ติดเชื้อรายใหม่ก็ลดลงอย่างเห็นได้ชัด ส่งผลให้คะแนน “ความเชื่อมั่น” เพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย ฉะนั้น อยากให้มองว่าในวิกฤตก็ยังคงมีโอกาสด้วยเช่นกัน

ปชป.เอาด้วยถก CEO ฟื้น ศก.

นอกเหนือจากกระทรวงแรงงานร่วมมือกับภาคเอกชนในการหาทิศทางเพื่อฟื้นคืนสภาพเศรษฐกิจให้กลับมาเป็นปกติแล้ว “ดร.ดวงฤทธิ์” ระบุเพิ่มอีกด้วยว่า ยังมี “แนวร่วม” ที่จะเข้ามาช่วยกันระดมความเห็นจากภาคเอกชนเพื่อหามาตรการเยียวยา และการช่วยเหลือตรงกับปัญหาของผู้ประกอบการให้ได้มากที่สุดคือ “พรรคประชาธิปัตย์” ที่อยู่ระหว่างส่งหนังสือเชิญระดับประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) และนักลงทุนจากองค์กรขนาดใหญ่ของประเทศ เพื่อร่วมหาแนวทางฟื้นเศรษฐกิจของประเทศภายหลังจากสถานการณ์การระบาดโควิด-19 ซึ่งถือว่าเป็นแนวทางที่มีความสอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงแรงงานเช่นกัน

รวมถึงการบริหาร และดูแลแรงงานต่างด้าวที่หลังจากนี้อาจมีการทยอยกลับเข้ามาทำงานในประเทศจะต้องมีมาตรการรองรับทั้งในแง่ของการควบคุมโรคระบาด และงานที่จะรองรับแรงงานเหล่านี้เป็นอย่างไร รวมถึงยังต้องซักซ้อมทำความเข้าใจกับทั้งนายจ้างที่มีการจ้างแรงงานต่างด้าวให้มีระบบการดูแลแรงงานที่ดีกับสภาพความเป็นอยู่ ฯลฯ ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยง และหยุดการระบาดของโควิด-19 ได้อีกด้วย ภายหลังการระดมความเห็นจากเหล่าผู้บริหารระดับสูงของภาคเอกชนแล้ว จะดำเนินการสรุปและนำเสนอแนวทางให้กับรัฐบาล เพื่อนำไปใช้แก้ปัญหาได้

ภาคการผลิตเลิกจ้างงานอันดับ 1

สำหรับสถานการณ์การเลิกจ้างในปีงบประมาณ 2563 เทียบปีงบประมาณ 2562 (ต.ค.-เม.ย.) ซึ่งรายงานโดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน สำหรับประเภทกิจการที่มีการเลิกจ้าง 3 อันดับสูงสุดในปี”63 คือ 1) กิจการการผลิต 2) กิจการการขายส่ง การขายปลีก การซ่อมแซมยานยนต์ จักรยานยนต์ ของใช้ส่วนบุคคลและของใช้ในครัวเรือน และ 3) บริการด้านอสังหาริมทรัพย์ ขณะที่ในปี”62 กิจการที่เลิกจ้างแรงงานมากที่สุดคือ รับเหมาก่อสร้าง ตามมาด้วยการจำหน่ายรถยนต์ และธุรกิจโรงแรม


สาเหตุสำคัญที่ผู้ประกอบการเลิกจ้าง 3 อันดับสูงสุดคือ ประสบภาวะขาดทุน และการผันผวนของค่าเงินบาท และเลิกกิจการ ในขณะที่ปี”62 สาเหตุการเลิกจ้าง 3 อันดับแรกคือ นายจ้างเลิกจ้าง ตามมาด้วยไม่ผ่านการทดลองงาน และนายจ้างไม่จ่ายค่าจ้าง ส่วนจังหวัดที่มีการเลิกจ้าง 3 อันดับสูงสุดคือ กทม. ตามมาด้วยสมุทรสาคร และจังหวัดระยอง ขณะที่ในปี”62 จังหวัดที่มีการเลิกจ้าง 3 อันดับแรกคือ จังหวัดสมุทรปราการ ตามมาด้วยระยอง นครสวรรค์ และ กทม. โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่เขตจตุจักร, ดอนเมือง, บางเขน, บางซื่อ และหลักสี่