จิตอาสา “สมาคมเชฟ” ปรุงข้าวกล่อง “เชฟฮัก” 50 ชุมชนสู้โควิด

แม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทยมีแนวโน้มดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง อันเนื่องมาจากคนไทยทุกคนที่ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีต่อมาตรการภาครัฐ จนธุรกิจหลายประเภทเริ่มทยอยปลดล็อกสู่ความปกติ ทั้งร้านอาหาร, ร้านนวด, สปา ตามด้วยห้างสรรพสินค้า รวมไปถึงสวนสาธารณะ ซึ่งการปลดล็อกครั้งนี้เกิดขึ้นท่ามกลางแรงกดดันทางเศรษฐกิจ

เพราะหากย้อนกลับไปช่วง 4 เดือนที่ผ่านมานับตั้งแต่ไวรัสเริ่มแพร่ระบาดหนัก ธุรกิจ หรืออุตสาหกรรมขนาดเล็กจนถึงขนาดกลางบางประเภทตกอยู่ในสถานะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก บางแห่งจำเป็นต้องปลดพนักงาน ซ้ำร้ายบางธุรกิจถึงกับล้มหายตายจากไป จึงเป็นเหตุทำให้ตัวเลขคนตกงานเพิ่มขึ้นทั้งในระบบ นอกระบบอย่างรวดเร็ว จนถึงหลักล้านคนต่อเนื่องจากช่วงเศรษฐกิจชะลอตัวในปี 2562 ที่ผ่านมา

กล่าวกันว่าวิกฤตโควิด-19 อาจลากยาวไปจนถึงสิ้นปี 2563 หรือจนกว่าจะมีวัคซีนเกิดขึ้น แต่สิ่งที่น่ากังวล คือ กลุ่มคนผู้มีรายได้น้อย โดยเฉพาะในเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ จะอยู่อย่างไร แรงงานจำนวนมากถูกทิ้งไว้กลางทาง งานหาเช้ากินค่ำแทบทั้งหมดหยุดชะงัก ถึงแม้บางงานจะดำเนินการต่อ แต่รายรับอาจไม่เท่าเดิม ชุมชนส่วนหนึ่งในกรุงเทพฯต้องอยู่กันแบบอดอยาก เพราะไม่มีงานทำ ไม่มีรายได้มาจุนเจือ

แต่ทั้งนั้น เมื่อยามวิกฤตเกิดขึ้นในประเทศไทย ไม่ว่าจะเรื่องเล็ก หรือเรื่องใหญ่ ทุกคนจะเห็นทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชนคนทั่วไป ลุกขึ้นมาสวมบทบาท “ฮีโร่” ช่วยเหลือกันอยู่เสมอ อย่างเช่นครั้งนี้ ภาคเอกชนหลายแห่งร่วมเป็นกำลังให้สังคมต่อสู้กับโควิด จัดหาอุปกรณ์ เครื่องมือทางการแพทย์ บริจาคทุนทรัพย์ ที่ขาดแคลนให้กับโรงพยาบาล หรือแม้แต่สถาบันวิจัย สถาบันการศึกษา ก็มีส่วนร่วมคิดค้นนวัตกรรมใหม่ ๆ ทั้งการบริจาคเตียงผู้ป่วย เครื่องมือวัดอุณหภูมิ เจลแอลกอฮอล์ ฯลฯ

ส่วนประชาชนคนทั่วไปก็นำสิ่งของ อาหาร เครื่องดื่ม มาแจกให้กับผู้เดือดร้อน เช่นเดียวกับสมาคมเชฟประเทศไทย และไทยแลนด์ คัลลินารี อคาเดมี (Thailand Culinary Academy) ก็ได้ผนึกกำลังกันจัดทำโครงการ “ข้าวกล่อง CHEFHUG แบ่งปันชุมชนสู้ภัยโควิด” ขึ้น โดยมีเป้าหมายจัดทำอาหารกล่องที่มีคุณภาพกว่า 40,000 กล่อง แจกให้กับ 50 ชุมชนในกรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 11-20 พ.ค. 2563 นี้

“สมศักดิ์ รารองคำ” นายกสมาคมเชฟประเทศไทย กล่าวว่า ก่อนจะเป็นโครงการนี้ เดิมตนเองและเพื่อนร่วมวิชาชีพร่วมกันปรุงอาหารกล่องให้กับบุคลากรทางการแพทย์ และประชาชนทั่วไปก่อนแล้ว เพราะเล็งเห็นว่าทุกคนต่างได้รับความเดือดร้อนจากวิกฤตโควิด-19 ซึ่งผมเป็นหนึ่งในผู้ได้รับผลกระทบ และด้วยอาชีพหลักเป็นเชฟให้กับโรงแรมแห่งหนึ่ง โดย 70% ผู้เข้าพักไม่ใช่นักท่องเที่ยว แต่เป็นบรรดาลูกเรือของสายการบิน เมื่อเกิดโควิด-19 ทำให้ไม่มีเที่ยวบิน ไม่มีลูกเรือ และนักท่องเที่ยวมาพักเหมือนก่อน โรงแรมจึงปิด

“ซึ่งเหมือนกับกิจการโรงแรมทั่วประเทศไทยก็ประสบปัญหาเดียวกัน พนักงานหลายล้านคน รวมถึงพ่อครัว แม่ครัวในภัตตาคาร ต้องตกอยู่ในสถานะว่างงาน อย่างไม่รู้ว่ากิจการจะกลับมาปกติเมื่อใด และจะกลับมาเป็นแบบเดิมหรือไม่ ดังนั้น พวกเราจึงใช้วิชาชีพที่ติดตัวมาทำอาหารกล่องแจก ซึ่งทำมาได้ระยะหนึ่งกลับมองว่าอาหารที่ทำยังเข้าไม่ถึงชุมชนผู้เดือดร้อนจริง จึงอยากต่อยอดกิจกรรม ปรึกษาหารือกับทีมงานและพันธมิตร จนเกิดเป็นโครงการข้าวกล่อง CHEFHUG (เชฟฮัก) ขึ้นมา”

“โดยจุดประสงค์ของโครงการข้าวกล่องเชฟฮักไม่ใช่เพียงแค่การบรรเทาความเดือดร้อนของชุมชน ด้วยการนำอาหารไปแจกเท่านั้น แต่มุ่งหวังที่จะสร้างให้เป็น new normal ของ CSR และเป็นต้นแบบของการทำอาหารที่มีมาตรฐาน คุณภาพ และปลอดภัย”

“สมศักดิ์” กล่าวต่อว่า ตอนนี้เห็นหลาย ๆ คน องค์กร ร้านค้า ออกมาทำอาหารแจกช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบกันเป็นจำนวนมาก บางรายปรุงอาหารกันแต่เช้าตรู่ กว่าจะถึงมือผู้รับอาจทำให้อาหารเริ่มเย็น ที่สำคัญ งานวิจัยบอกว่าอาหารอยู่ข้างนอก 4 ชั่วโมง แบคทีเรียก็เริ่มทำงานแล้ว ดังนั้น อาหารที่ควรบริโภคจะต้องร้อนถึงจะทำให้มีความปลอดภัยสูง หรือบางแห่งถึงแม้จะปรุงอาหารสุกใหม่แจกทันที แต่ขั้นตอนการลำเลียงวัตถุดิบ ยังไม่ถูกต้องตามสุขอนามัยทั้งหมด

 

“ส่วนตัวมองว่าการแจกอาหารควรมีมาตรฐานที่ดีกว่านี้ ที่สำคัญคือการทำในสถานที่เย็น หรือห้องแอร์จะมีความปลอดภัยมากกว่าในสถานที่ที่มีอากาศร้อน เนื่องจากอากาศร้อนอาจจะทำให้เหงื่อตกลงสู่อาหารได้ นอกจากนี้ จุดประสงค์ของโครงการยังต้องการช่วยผู้ได้รับผลกระทบโควิด-19 จากการว่างงาน หรือตกงานด้วย และตอนนี้เราคัดเลือกผู้ร่วมงานจำนวนทั้งหมด 850 คน ไม่ว่าจะเป็นเชฟผู้อยู่ในแวดวงอาหาร ท่องเที่ยว รวมถึงผู้ขับแท็กซี่ พร้อมจัดสรรงบประมาณจำนวนหนึ่งจากสมาคม และผู้สนับสนุนอื่น ๆ สำหรับจ้างงานด้วย แม้ว่าอาจไม่ได้มากมาย แต่หวังว่าจะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนได้ส่วนหนึ่ง”

 

“เนื่องจากชุมชนในกรุงเทพฯมีมากกว่า 2,000 ชุมชน และหลายชุมชนต่างได้รับผลกระทบจากโควิดทั้งนั้น แต่หลังจากได้ปรึกษาหารือกับทีมงาน และภาครัฐ จึงมีการคัดเลือก 50 ชุมชนที่คิดว่าจะสามารถเข้าไปทำงานได้ง่ายขึ้น อาทิ เขตดินแดง, เขตพญาไท, เขตวังทองหลาง, เขตราชเทวี, เขตห้วยขวาง, เขตคันนายาว, เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย, เขตวัฒนา, เขตบางเขน, เขตดุสิต ฯลฯ ซึ่งรายชื่อจะอยู่ในเฟซบุ๊ก โครงการชื่อ Chef Hug”

“วิลแมน ลีออง” ประธาน Thailand Culinary Academy และประธานสมาคมเชฟโลก World Chefs Without Borders กล่าวเสริมว่า โครงการ “ข้าวกล่องเชฟฮัก” ได้รับการสนับสนุนและรับรองจากสมาคมเชฟโลก ซึ่งมี 110 ประเทศทั่วโลกเป็นสมาชิก มีสมาชิกเชฟ 10 ล้านกว่าคน โดยหน่วยงาน World Chefs Without Borders เป็นหน่วยงานจากสมาคมเชฟโลก ที่ให้การช่วยเหลือหายนภัยทั่วโลก โดยใช้ศักยภาพของบุคลากรเชฟจากทั่วโลกผ่านการระดมทุน การปรุงอาหาร การจัดการทางด้านอาหารแบบมืออาชีพในระดับสากล

“ดังนั้น ความร่วมมือครั้งนี้เราจึงมุ่งหวังให้เป็นโครงการต้นแบบ การทำกิจกรรมเพื่อสังคมอย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะกิจกรรมแจกอาหารที่นำความรู้ ประสบการณ์ในการปรุงอาหาร การจัดการด้านอาหารอย่างมืออาชีพ ไปช่วยเหลือประชาชนในยามที่เกิดวิกฤตอย่างครบวงจร ทั้งอิ่ม ปลอดภัย ทั้งสร้างงาน สร้างรายได้ ซึ่งหลังจากเสร็จสิ้นโครงการนี้จะส่งภาพ และรูปแบบการจัดโครงการส่งไปยังสมาคมเชฟโลก เพื่อเผยแพร่ให้เห็นว่าการทำงานของเชฟที่ประเทศไทยเป็นต้นแบบให้เชฟประเทศอื่น ๆ นำไปปฏิบัติตาม”


“หลังเสร็จสิ้นโครงการแล้ว ในระยะเวลา 10 วัน หากองค์กรใดยังอยากที่จะให้ทำกิจกรรมต่อ สามารถสนับสนุนเข้ามาได้ โดยทำในนามขององค์กรนั้น ๆ เพราะถือว่าเป็นการช่วยเหลือเชฟที่ตกงานให้มีรายได้อีกทางหนึ่ง และอีกส่วนหนึ่งเป็นการช่วยเหลือประชาชนที่อยู่ในสถานการณ์วิกฤตให้ได้รับประทานอาหารที่สะอาด ปลอดภัย ได้มาตรฐาน ไม่บูดเสียหรือมีสารปนเปื้อน”


“อาณัติ ลิ้มจิระวัฒนา” ประชาสัมพันธ์โครงการ “ข้าวกล่องเชฟฮัก” กล่าวว่า ความพิเศษของโครงการนี้เพราะเรามีเป้าหมายใน 10 วันว่าจะผลิตข้าวกล่องทั้งหมด 40,000 กล่อง โดยจะดำเนินการผลิตที่ศูนย์อาชีพและธุรกิจมติชน (Matichon Acadamy) โดยเชฟ และผู้ช่วยเชฟจะปรุงอาหารวันละ 4,000 กล่อง แบ่งจัดทำรอบละ 800 กล่อง ทั้งหมด 5 รอบ เริ่มดำเนินการทุกวันตั้งแต่บ่ายโมงเป็นต้นไป แต่ละรอบมีการเว้นระยะห่างในการปรุงอาหารรอบละ 1 ชั่วโมง จากนั้นจะทยอยส่งชุมชนวันละ 5 ชุมชนทันที ระบบการทำงานจะคล้ายกับอาหารดีลิเวอรี่


“ส่วนผู้ร่วมงานล้วนเป็นผู้ว่างงาน สมัครเข้าร่วมโครงการ แบ่งเป็นเชฟ หรือผู้ช่วยปรุงอาหารที่ครัวกลางรวม 200 คน ด้วยการแบ่งให้จัดทำข้าวกล่องวันละ 20 คน คนเหล่านี้ได้รับค่าแรงคนละ 400 บาทต่อวัน จากนั้นทีมงานจะบรรจุอาหารใส่กล่องเพื่อเตรียมขนส่ง 200 คน ทำงานวันละ 20 คน ค่าแรงคนละ 300 บาท, ทีมงานช่วยลำเลียงและแจกจ่ายอาหารอีก 200 คน ทำงานวันละ 20 คน ได้ค่าแรงคนละ 300 บาท และคนขับแท็กซี่ขนส่งอาหาร 25 คันต่อวัน ได้ค่าขนส่ง 300 บาทต่อเที่ยว”

“ในกระบวนการจัดทำข้าวกล่องมี 10 มาตรการในการรักษาความสะอาด และอยากให้เป็นมาตรฐานสากลในการป้องกันโควิด-19 คือ 1.ต้องตรวจวัดอุณหภูมิก่อนเข้าอาคาร โดยคนที่มีอุณหภูมิสูงกว่า 37.5 องศา ไม่อนุญาตให้เข้ามา 2.บันทึกข้อมูลบุคคล 3.มีจุดแจกแอลกอฮอล์เจล 4.สตาฟในครัวล้างมือทุก ๆ 1 ชม. 5.ใส่หมวก และมียูนิฟอร์ม 6.มีถุงมือแจกทั้งในครัว ทีมแพ็ก และทีมแจกอาหาร 7.ทุกคนต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา 8.มีเฟซชีลด์ (face shield) ให้ทีมแพ็กอาหาร ทีมแจกอาหารทั้งหมด 9.แอลกอฮอล์เจลกระจายทุกที่ และ 10.เว้นระยะห่าง ทางสังคม (social distancing)”

ต้องถือเป็นโมเดลจิตอาสาที่หลายองค์กรธุรกิจน่าจะเข้ามาเรียนรู้ และใช้รูปแบบการทำงานอย่างเป็นระบบเพื่อเป็นต้นแบบสำหรับช่วยเหลือสังคมต่อไป