คิดแบบความปกติใหม่ “ผู้บริหารต้องวางแผนธุรกิจปี 2021”

อริยะ พนมยงค์
อริยะ พนมยงค์

คงต้องยอมรับว่านับตั้งแต่มีวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตลอด 4 เดือนผ่านมา วงการต่าง ๆ

โดยเฉพาะวงการเอชอาร์ต่างพูดถึงคำว่า นิวนอร์มอล (new normal) กันค่อนข้างบ่อยครั้ง จนทำให้รู้สึกว่าคำคำนี้คงเข้ามาเปลี่ยน “ความปกติใหม่” ของทุก ๆ องค์กร จนทำให้หลายบริษัทต้องหาวิธีทำงานใหม่ที่จะช่วยให้ธุรกิจดำเนินต่อไปได้ในท่ามกลางวิกฤตครั้งนี้ ที่สำคัญ หลาย ๆ องค์กรยังพยายามหาคำตอบว่าการทำงานแบบนิวนอร์มอลที่กำลังผจญอยู่ตอนนี้ เหมาะกับการใช้ต่อไปในอนาคตหรือไม่

ผลเช่นนี้ จึงทำให้ “อริยะ พนมยงค์” ซีอีโอที่มีประสบการณ์ในการบริหารทั้งบริษัทข้ามชาติและไทย ทั้งยังเคยผ่านการนั่งแท่นผู้บริหารองค์กรใหญ่มามากมาย ไม่ว่าจะเป็น ทรู, กูเกิล ประเทศไทย, ไลน์ ไทยแลนด์ และช่อง 3 จึงมาแนะนำมุมมอง และเทคนิคการปรับตัวขององค์กร และคนทำงานในยุคนิวนอร์มอล ผ่านการเสวนากับสลิงชอท กรุ๊ป ในหัวข้อ “COVID and the Digital Micro-world We Live in” เมื่อไม่นานผ่านมา

 

เบื้องต้น “อริยะ” บอกว่า ความท้าทายของหลายองค์กรตอนนี้ คือ ความไม่พร้อม เพราะไม่ได้คาดเดาถึงสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่ตอนนี้มาก่อน ถึงแม้ทุกองค์กรจะรู้แล้วว่าต้องเปลี่ยนแปลงให้เร็วที่สุด แต่ไม่รู้ว่าต้องเปลี่ยนอย่างไร นิวนอร์มอลจึงถูกพูดถึงมาก แต่อย่างไรก็ตาม ความปกติใหม่จะต่างกันไปในแต่ละองค์กร เพราะวิธีการปรับตัวที่ใช้ได้ดีในองค์กรหนึ่ง ไม่ได้หมายความว่าจะใช้ได้ดีกับองค์กรอื่น

“ดังนั้นจึงต้องวิเคราะห์องค์ประกอบของแต่ละองค์กรก่อน ที่สำคัญต้องวิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภคของตนเองว่าเปลี่ยนไปทางไหน เพราะพฤติกรรมของผู้บริโภคจะเป็นตัวกำหนดกลยุทธ์ใหม่ ซึ่งตอนนี้หลายธุรกิจกำลังมุ่งปรับเปลี่ยนไปสู่ดิจิทัล แต่ความจริงแล้วผู้บริโภคหลายคนเริ่มเบื่อกับการใช้บริการบนดิจิทัลแพลตฟอร์ม เพราะต้องการมีประสบการณ์ใหม่ในการให้บริการจากที่ต่าง ๆ”

“อริยะ” บอกว่า การที่องค์กรจะเดินทางไปสู่การปรับตัวในยุคนิวนอร์มอล จึงต้องมี 3 แนวทางประกอบกัน คือ

หนึ่ง digitize your people คนในองค์กรต้องเข้าใจความสำคัญ และพลังของเทคโนโลยีดิจิทัล ไม่ใช่เพียงใช้เป็น หรือใช้เทคโนโลยีเพราะถูกบังคับ โดยที่ไม่ได้เข้าใจประโยชน์ ซึ่งต้องเริ่มจากผู้บริหารเพื่อไปสู่พนักงานทั้งองค์กร นอกจากนั้น ช่วงนี้หลายคนทำงานจากบ้าน จึงต้องจัดตารางงานในการพัฒนาตนเอง ด้วยการหาความรู้ใหม่ ๆ เช่น การฟังพอดแคสต์ (podcast) ในเรื่องใหม่ ๆ หรือเรื่องที่ตนเองสนใจ เพราะเมื่อถึงเวลาที่ต้องกลับมาทำงานเต็มตัว จะได้นำความรู้ที่ได้มาต่อแต้มในทันที

สอง digitize work culture ปรับวัฒนธรรมองค์กร หรือวิธีการทำงานจากบ้าน (work from home-WFH) หรือการทำงานนอกสถานที่ (remote working) ที่ตอนนี้กำลังกลายเป็นวิธีการทำงานของหลาย ๆ องค์กร แต่กระนั้นจะต้องพิจารณาว่าเหมาะสมที่จะใช้รูปแบบการทำงานนี้ต่อไปหรือไม่

ดังนั้น สิ่งที่องค์กรควรจะทำจากนี้ คือ การหาวิธีการวัดผลการทำงานจากบ้าน หรือนอกสถานที่ ยกตัวอย่าง องค์กรสายเทคโนโลยีอย่างกูเกิล หรือเฟซบุ๊ก ที่มีการให้พนักงานทำงานนอกสถานที่มานานแล้ว ฉะนั้น สิ่งที่ 2 องค์กรนี้มีความเหมือนกัน และทำให้รูปแบบการทำงานมีประสิทธิภาพ ไม่ได้มาจากการดูเวลาเข้า-ออกออฟฟิศ หรือนับชั่วโมงการทำงานของพนักงาน เพราะ 2 องค์กรนี้ดูที่ผลงาน ที่สำคัญ องค์กรเหล่านี้มีความยืดหยุ่น และเมื่อมีเครื่องมือในการวัดผลงานดี มีเป้าหมายชัดเจน องค์กรจะเกิดวัฒนธรรมความเชื่อใจ ไม่ว่าจะทำจากที่ไหน งานจะมีประสิทธิภาพ และมีความคล่องตัวมากขึ้น (agile)

นอกจากนั้น วัฒนธรรมที่แต่ละองค์กรต้องมี คือ คิดให้เร็ว และทำให้เร็วตามที่คิดด้วย

สาม digitize your business โควิด-19 ทำแผนของทุกองค์กรพังหมด ตอนนี้หลายธุรกิจหยุดชะงัก ขาดรายได้ ดังนั้น ต่อจากนี้ไปจะต้องทำอะไรที่แตกต่างจากเดิม และต้องทำในสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อน ฉะนั้น แผนธุรกิจปี 2020 ที่วางไว้ก่อนหน้านี้คงไม่สามารถช่วยให้องค์กรรอดพ้นวิกฤตได้ เพราะสิ่งต่าง ๆ ไม่เหมือนเดิมแล้ว สิ่งแวดล้อมทางธุรกิจก็เปลี่ยนไป

ดังนั้น ผู้บริหารจะคิดแผนของครึ่งปีหลัง 2020 ใหม่ และหาโมเดลธุรกิจใหม่สำหรับปี 2021 เพื่อให้องค์กรฟื้นตัวเร็วที่สุด ซึ่งระยะเวลาการฟื้นตัวหลังวิกฤต น่าจะประมาณ 1 ปีครึ่ง ฉะนั้น ทุกองค์กรต้องศึกษาเทรนด์ใหม่ ๆ เพื่อมาปรับใช้กับแผนธุรกิจ โดยสามารถดูได้จากหลากหลายช่องทาง เช่น Futures Platform Radar ของสลิงชอท กรุ๊ป หรือแม้กระทั่ง Google Search

“อริยะ” กล่าวด้วยว่า นอกจาก 3 แนวทางข้างต้น ยังมีเรื่องของทักษะที่คน และองค์กรต้องมีต่อจากนี้ไป ในที่นี้ ผมขอเรียกว่า 4M ประกอบด้วย

หนึ่ง mindset คือ ทัศนคติการทำงานที่ดี ต้องมองว่าการทำงานที่บ้านต้องตั้งใจไม่ต่างจากการทำงานในออฟฟิศ และมีวินัย ที่สำคัญ ต้องมีการจัดตารางเวลาการทำงานทั้งการทำงานที่บ้าน และชีวิตส่วนตัว เมื่อเป็นเวลาทำงานต้องทำอย่างเต็มที่ และเป็นมืออาชีพ ซึ่งการจัดตารางเป็นโครงสร้างให้เราทำงานได้ตามแผน และตามกำหนดเวลา ขณะเดียวกันต้องมีการจัดเวลาให้ตนเองผ่อนคลายพักผ่อน ดื่มกาแฟ หรือออกกำลังกาย เป็นต้น ดังนั้น ข้อดีของการทำงานที่บ้าน คือ การลดความเครียด และลดเวลาการเดินทาง เพื่อจะได้ทำงานอย่างมีประสิทธิผลมากขึ้น

สอง media เรียนรู้ใช้เครื่องมือเทคโนโลยี เช่น Zoom, Microsoft Team, Google Meet, WebEx เพื่อสามารถใช้งานได้อย่างคล่องแคล่ว มีประสิทธิภาพ และป้องกันข้อผิดพลาดที่จะเกิดขึ้น

สาม manner กฎ, กติกา, มารยาทในการทำงานจากบ้าน และการประชุมออนไลน์ เช่น การเปิดกล้องเมื่อทุกคนเปิด, ปิดไมค์เมื่อไม่ได้พูด

สี่ management การบริหารจัดการตนเองให้ทำงานตรงตามเป้าหมาย ขณะเดียวกัน องค์กรจะต้องมีความเชื่อใจในพนักงาน ดูกันที่ผลงาน มีความยืดหยุ่น และจากนั้นจะส่งผลให้มี agile ตามมา เพราะจะช่วยให้ทำงานได้เร็วขึ้น โดยลดการทำงานที่เป็นขั้นตอน และงานด้านเอกสารลง

“อริยะ” กล่าวในตอนท้ายด้วยว่า ผลของการแพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้คนตกงานจำนวนมาก เฉพาะประเทศไทยตอนนี้มีคนตกงานกว่า 7 ล้านคน หรือ 5 คนที่อยู่ใกล้ชิดเรา จะมีคนตกงาน 1 คน ส่วนสหรัฐอเมริกามีคนตกงานกว่า 33 ล้านคน หรือ 20% ของแรงงานทั้งหมดในประเทศ

“ในสถานการณ์เช่นนี้เป็นหน้าที่ และบทบาทของรัฐบาลหลายประเทศทั่วโลกที่ต้องใช้เงินกู้มาเพิ่มการสร้างงานในประเทศของตนเอง ขณะเดียวกัน คนทั่วไปอาจรวมกลุ่มกันหาวิธีทำงานใหม่ ๆ เช่น ตลาดจุฬาฯ มาร์เก็ตเพลส ซึ่งเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยน ซื้อขายสินค้า และบริการ ของนิสิตเก่าและนิสิตปัจจุบัน รวมถึงคนทั่วไปที่มองหาสินค้าและบริการ ที่ช่วยให้หลายคนในประเทศไทยมีงานทำและมีรายได้ เป็นต้น”

จึงนับว่าการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ครั้งนี้ ไม่เพียงสอนบทเรียนให้หลายองค์กรกล้าทำอะไรที่แตกต่าง หากยังทำให้เกิดการปรับตัวเพื่อสู้กับ “new normal” ในแบบของตนเองอีกด้วย