“ลอรีอัล” เชิดชูนักวิจัยสตรี For Women in Science

ลอรีอัลยึดมั่นต่อกลยุทธ์ขององค์กรในเรื่องของการค้นคว้าวิจัย และพัฒนานวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง โดยมีทีมงานวิจัย 3,870 คน ที่มุ่งตอบสนองต่อความปรารถนาด้านความงามของผู้คนทั่วโลก กระทั่งต่อยอดมาสู่โครงการทุนวิจัยลอรีอัล “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” (For Women in Science) ที่ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2540 ผ่านความร่วมมือกับยูเนสโก เพื่อเชิดชูเกียรติ และยกย่องบทบาทสตรีในสายงานวิทยาศาสตร์

“อรอนงค์ ประทักษ์พิริยะ” ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กรและองค์กรสัมพันธ์ บริษัท ลอรีอัล (ประเทศไทย) จำกัด สะท้อนภาพว่า จากสถิติประเทศที่พัฒนาแล้ว นักวิจัยสตรีมี 29% ก้าวมาอยู่ในระดับแนวหน้าด้านวิชาการ 10% และได้รับรางวัลระดับโนเบล 3% ส่วนในไทยนั้น แม้ผู้หญิงจะมีบทบาทด้านการศึกษา และงานวิจัยมากขึ้น โดยมีนักวิจัยสตรีอยู่ 53% อย่างไรก็ตาม มีเพียง 10% เท่านั้นที่ได้รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น

“ลอรีอัลจึงจัดงานเชิดชูเกียรตินักวิจัยสตรี เพื่อส่งเสริมสตรีไทยเข้ามามีบทบาทในวงการวิจัยมากขึ้น ซึ่งเราดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 15 โดยมอบทุนวิจัยทุนละ 250,000 บาท ให้กับนักวิจัยสตรีที่มีอายุระหว่าง 25-40 ปี ใน 3 สาขา ได้แก่ วิทยาศาสตร์ชีวภาพ วัสดุศาสตร์ และวิทยาศาสตร์เคมี โดยตลอดระยะเวลาดำเนินโครงการ มีนักวิจัยสตรีไทยที่ได้รับทุนสนับสนุนรวม 61 คน”

ปัจจุบันมีนักวิจัยสตรีที่ได้รับการสนับสนุนภายใต้โครงการนี้มากกว่า 2,500 คน จาก 112 ประเทศทั่วโลก โดยมี 2 คนได้รับรางวัลโนเบล คือ “Elizabeth Blackburn” ในสาขาสรีรศาสตร์ หรือการแพทย์ และ “Ada Yonath” จากสาขาเคมี รวมถึงมี “Ameenah Gurib-Fakim” ได้ก้าวสู่การเป็นประธานาธิบดีสาธารณรัฐมอริเชียส ทั้งนั้น ในโอกาสที่โครงการนี้ในประเทศไทยครบรอบ 15 ปี จึงมีการจัดทำรางวัลเชิดชูเกียรติพิเศษ “L”Oreal Woman Scientist Crystal Award” เพื่อมอบให้กับนักวิจัยสตรีดีเด่น 2 คน ที่เคยได้รับทุนวิจัยจากโครงการ และพัฒนางานวิจัยให้สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ คือ “ศ.ดร.พิมพ์ใจ ใจเย็น” จากสำนักวิชาวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมชีวโมเลกุล สถาบันวิทยสิริเมธี กับงานวิจัยหัวข้อ การศึกษาเอนไซม์ออกซิเจนเนสเพื่อการย่อยสลายอะโรมาติก

โดยมุ่งสร้างประโยชน์ด้านกระบวนการสังเคราะห์ เพิ่มมูลค่าสารเคมีเป็นเทคโนโลยีสะอาด เปลี่ยนของเหลือทิ้งจากภาคอุตสาหกรรมและภาคการเกษตรให้เป็นสารเคมีและพลังงานที่มีมูลค่าสูงขึ้น

และ “ดร.อัญชลี มโนนุกุล” จากห้องปฏิบัติการโลหะวิทยาขั้นสูง หน่วยวิจัยโลหะ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) ซึ่งทำงานวิจัยเรื่อง การพัฒนากระบวนการและผลิตภัณฑ์ด้วยการขึ้นรูปโลหะผง เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนโลหะของไทย

โดยมีผลงานสำเร็จ คือ ชุดโครงการพัฒนากระบวนการผลิตโฟมไทเทเนียม ที่ปัจจุบันบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งของไทยรับการถ่ายทอดเทคโนโลยี พร้อมกับผลิตและจำหน่ายเชิงพาณิชย์

“นักวิจัยทั้งสองคนจะไปทำเวิร์กช็อปที่ประเทศฝรั่งเศส ร่วมกับนักวิจัยสตรีดีเด่นจากประเทศต่าง ๆ รวมกว่า 30 คน โดยมีการอบรมด้านต่าง ๆ อย่างการตลาด การเงิน เพื่อเสริมศักยภาพนักวิจัยสตรีให้มีความรู้ในมิติต่าง ๆ และนำไปประยุกต์ใช้กับการทำงานได้”

สำหรับปีนี้ มีนักวิจัยสตรีไทยที่ได้รับทุน 3 ท่าน จาก 3 สาขา โดย “ผศ.ดร.มาริสา พลพวก” จากภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ ม.มหิดล ได้รับทุนวิจัยสาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ กับงานวิจัยหัวข้อ การศึกษากระบวนการออโตฟาจี ซึ่งเป็นกลไกทางภูมิคุ้มกันระดับเซลล์ เพื่อค้นหาเป้าหมายของยาตัวใหม่ที่สามารถใช้ในการฆ่าเชื้อมาลาเรียและวัณโรค

“งานวิจัยโมเลกุลกระตุ้นออโตฟาจีที่จะพัฒนาจากสารสกัดผลิตภัณฑ์ของไทย ทำให้ผลิตภัณฑ์เสริมสุขภาพ หรือยาตัวใหม่ที่ช่วยในการต้านเชื้อ และสามารถนำไปพัฒนาเป็นยาต้านโรคอัลไซเมอร์และพาร์กินสันได้ ส่วนงานวิจัยด้านเชื้อวัณโรค อาจต่อยอดไปสู่การยับยั้งและช่วยฆ่าเชื้อโรคมัยโคแบคทีเรียสายพันธุ์ไบจิง ซึ่งเป็นอีกหนึ่งเชื้อที่ระบาดมากที่สุด และดื้อยามากที่สุดในไทย”

ขณะที่ทุนวิจัยสาขาวัสดุศาสตร์ ผู้ได้รับทุน คือ “รศ.ดร.นพิดา หิญชีระนันทน์” จากภาควิชาเคมีเทคนิค คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้วยงานวิจัยเรื่องการประยุกต์ใช้ยางธรรมชาติเพื่อการสร้างผลิตภัณฑ์มูลค่าเพิ่มและพลังงานทางเลือกอย่างครบวงจร

“งานวิจัยนี้นำยางธรรมชาติที่ผ่านกระบวนการปรับปรุงโครงสร้างทางเคมีไปประยุกต์ใช้ ซึ่งนำไปต่อยอดเชิงพาณิชย์ได้ ขณะเดียวกัน ขยะยางจากภาคการขนส่งหรืออุตสาหกรรมยางก็สามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดผ่านการแปรรูปเป็นน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งหากมีการวิจัยและพัฒนาคุณภาพอย่างต่อเนื่อง ก็จะเป็นอีกหนึ่งในพลังงานทางเลือกที่เสริมความมั่นคงทางพลังงานให้แก่ประเทศชาติได้”

ในส่วนของทุนสุดท้าย “ดร.ผุศนา หิรัญสิทธิ์” จากศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ เป็นผู้ได้รับทุนสาขาวิทยาศาสตร์เคมี กับงานวิจัยหัวข้อ การประยุกต์ใช้การคำนวณด้วยระเบียบวิธี Sol-id-state DFT สำหรับออกแบบและพัฒนาตัวเร่งปฏิกิริยาระดับนาโนและวัสดุโครงสร้างนาโนให้สามารถใช้เพื่อการพัฒนาด้านพลังงานทดแทนและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

“ดร.ผุศนา” ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ตัวเร่งปฏิกิริยาเป็นหัวใจของกระบวนการปฏิกิริยาต่าง ๆ ซึ่งช่วยให้เข้าใจปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในระดับอะตอม และทราบถึงปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อความสามารถในการเร่งปฏิกิริยา เป็นผลดีในแง่ของการลดการพึ่งพาเครื่องมือการทดลองที่มีราคาสูง และขั้นตอนทดลองที่ซับซ้อน

“ในระยะยาวของการพัฒนางานวิจัยนี้ จะสามารถเปลี่ยนก๊าซ CO ให้เป็นเชื้อเพลิง และผลิตภัณฑ์เคมีที่มีมูลค่าสูงขึ้น ลดปริมาณ CO ในชั้นบรรยากาศ อันเป็นสาเหตุหลักของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั่วโลก”